วันก่อนผมทวีตออกไปในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงโซเชียลมีเดีย และทำเรื่องการตลาดออนไลน์มาบ้าง เพราะแอบสงสารทีมงานของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่อุตส่าห์ปั้นแบรนด์แม่มณีขึ้นมา โดยอาศัยภาพลักษณ์ของนางกวัก เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าได้ง่าย แต่ตอนนี้แบรนด์นั้นดันโดนเข้าใจผิดเพราะข่าวคดีฉ้อโกงดังล่าสุด แชร์แม่มณี ที่ดันไปชื่อตรงกับแบรนด์พอดีซะนี่ ที่น่าสนใจก็คือกลยุทธ์ในการหลอกลวงแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เขาเรียกว่า การฉ้อฉลแบบพอนซี (Ponzi Scheme)

กลยุทธ์ในการฉ้อฉลแบบพอนซีมีวิธีการไม่ยากครับ เริ่มด้วยการที่ตัวคนเริ่มหลอกให้มาลงทุนโดยให้สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนดีงามมากๆ จากนั้นเมื่อมีผู้มาลงทุน ก็ล่อใจด้วยการให้ผลตอบแทนตามที่สัญญาจริงๆ กลับไป เมื่อผู้ลงทุนหลงเชื่อ ก็จะมีการไปชักชวนคนมาลงทุนเพิ่ม ถึงตอนนี้แหละที่คนเริ่มจะเอาเงินจากผู้ลงทุนรายใหม่มาจ่ายเป็นผลตอบแทน และจะพยายามหาเรื่องมาทำให้ผู้ลงทุนไม่อยากถอนตัวออก
กลยุทธ์นี้มีการถูกพูดถึงกันในนิยายหลายครั้งหลายคราว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1844 หรือร่วมๆ 175 ปีมาแล้ว แต่มาเป็นที่รู้จักกันดี และได้ชื่อพอนซีมาก็เพราะอีตาคนชื่อ ชาร์ลส พอนซี ที่เอากลยุทธ์นี้ไปใช้หลอกลวงผู้คนจนโด่งดัง แต่ครั้งที่เสียหายมากที่สุดในโลก เป็นเคส Madoff scandal ในปี ค.ศ. 2008 ที่มีการประเมินมูลค่าความเสียหายราวๆ 65,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือของประเทศไทย ที่่าจะรู้จักกันก็คือ แชร์แม่ชม้อย ที่มีมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านในปี พ.ศ. 2528
หลังๆ นี่ มีการพูดถึงการนำกลยุทธ์นี้ไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ๆ อย่างเช่นเหรียญคริปโต (Cryptocurrency) เป็นต้น เพราะมันทำให้รู้สึกว่านี่คือสิ่งใหม่ และอาจมีหลายๆ อย่างที่ไม่เข้าใจ ก็อาจจะทำให้เหยื่อที่กำลังโดนความโลภบังตาอยู่ มองข้ามอะไรหลายๆ อย่างไป และเลิกสงสัย
ถามว่าทำไมคนถึงยังถูกหลอกได้ซะทุกที ทั้งๆ ที่มันเป็นกลยุทธ์การฉ้อโกงที่มีมาเกือบจะสองร้อยปีแล้ว? นั่นก็เพราะสามปัจจัยสำคัญครับ
- อย่างแรกเลยคือความโลภ (Greed) เพราะผลตอบแทนมันดีมาก มากจนดูเกินจริง ซึ่งปกติแล้วมันจะทำให้คนสงสัย
- ปัจจัยที่สอง ซึ่งก็คือกลยุทธ์ในการสร้างความไว้วางใจ (Trust) “จ่ายค่าตอบแทน” เพื่อหลอกให้เหยื่อตายใจ คิดว่ามันไม่ใช่การหลอกลวง เพราะได้รับผลตอบแทนจริงๆ นอกจากนี้พวกมิจฉาชีพยังอาจพยายามสร้างความไว้วางใจให้กับเหยื่อ ด้วยการพูดถึงการฉ้อโกงเพื่อให้เหยื่อเกิดระแวงนิดๆ แล้วพยายามให้คำมั่นกับเหยื่อว่าแต่การลงทุนของตนไม่ใช่การฉ้อโกง พร้อมแสดงหลักฐานด้วย
- ปัจจัยสุดท้าย คือ พวกเหยื่อในรอบแรกๆ ที่พอเห็นว่าได้รับผลตอบแทนจริง ก็ทำตัวเป็นแม่ข่ายระดับแรกๆ เพื่อหาลูกข่ายเพิ่ม โดยหวังกินหัวคิว ได้เงินง่ายๆ แบบไม่ต้องลงทุนเงินตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Social proof หรือ การพิสูจน์ด้วยสังคม ซึ่งหมายถึง การทำให้ดูน่าเชื่อถือด้วยการบอกว่า ใครๆ เขาก็ทำกัน หรือ มีคนอีกจำนวนมากที่ไว้ใจ อย่างในกรณีของแชร์แม่มณี ให้ผลตอบแทน 93% ก็มีพวกหวังเป็นแม่ข่าย กินหัวคิว ไปหาลูกค้าเพิ่ม โดยการให้ผลตอบแทนแค่ 50% (กินหัวคิว 43%) เป็นต้น

แล้วทำไมถึงได้มีคนยังก่อคดีแบบนี้กันอยู่อีก? ผมว่าเป็นเพราะผลตอบแทนสูงครับ ความโลภของคนเราทำให้ความเสียหายจากคดีนี้สูงมาก ถ้ารอดไปได้นี่คือเสพสุขไปตลอดชีพเลย ในขณะที่หากโดนคดี แม้บทลงโทษจะเหมือนหนัก แต่มันก็แค่จำคุกซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องโทษสูงสุด และยังมีเรื่องการอภัยโทษอีก อย่างกรณีของแชร์แม่ชม้อยนี่ ตอนตัดสินคือโดนโทษจำคุกไปแสนกว่าปี แต่เอาเข้าจริงๆ กฎหมายก็กำหนดว่าโทษของทุกคดีรวมกันจำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี และพอทำตัวดีๆ เป็นนักโทษชั้นดี แม่ชม้อยก็ถูกปล่อยออกมาหลังถูกจำคุกไปแค่ 7 ปีเท่านั้นเอง (ปัจจุบันเห็นว่าไม่มีใครรู้แล้วว่าแม่ชม้อยหายไปไหน แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ตาม)
และข้อย้ำนะ แชร์แม่มณี ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ แม่มณี SCB จ้า
ผมไม่รู้หรอกนะว่า น.ส. วันทนีย์ หรือ แม่มณี ที่เป็นผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกง แชร์แม่มณี ล่าสุด เขาเล็งเห็นเรื่องการนำแบรนด์แม่มณีมาใช้ในการเพิ่มความน่าเชื่อถือของกลโกงของตัวเองไหม แต่ที่แน่ๆ ธนาคารไทยพาณิชย์รับผลกระทบไปเต็มๆ เลยครับ แบรนด์ที่สร้างมาแทบตาย โดนคนจำนวนมากสงสัยว่า แอปแม่มณีเกี่ยวอะไรกับแชร์แม่มณีไหม … บอกตรงนี้ ย้ำตรงนี้เลย ว่าไม่ใช่แม้แต่น้อยนะฮะ
สาเหตุที่คนเข้าใจผิดกัน ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ของการฉ้อโกงครั้งนี้ ที่มาในรูปแบบการออมเงิน ซึ่งคล้ายๆ กับธุรกิจธนาคาร และยิ่งสามารถโอนเงินเพื่อออมได้ผ่านแอปของธนาคารไทยพาณิชย์ เจ้าของแบรนด์แม่มณีตัวจริงซะอีก ยิ่งทำให้คนเชื่อมโยงกันเองซะเฉยเลย นั่นเอง