เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาสะเทือนทุกวงการกันเลยทีเดียว มีความพยายามในการพัฒนาให้ปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถในการทำงานแทนมนุษย์ได้มากขึ้น ซึ่งจุดแข็งของปัญญาประดิษฐ์อย่างนึงก็คือ ความสามารถในการตรวจจับรูปแบบ วิเคราะห์ และทำการตัดสินใจตามเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ ยิ่งข้อมูลมีจำนวนมาก (Big data) และตัวปัญญาประดิษฐ์ได้รับการเรียนรู้มากขึ้น การตัดสินใจก็จะแม่นยำมากขึ้น และเมื่อวงการแพทย์ยังสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวินิจฉัยโรคได้ ทำไมวงการทรัพยากรบุคคล หรือ HR จะใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยงานบ้างไม่ได้ล่ะ
ปัญญาประดิษฐ์ช่วยกรองผู้สมัครในชั้นต้น
ในโลกของการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย มีผู้ให้บริการพวก Social media analytics เริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการเรียนรู้ อารมณ์ ความรู้สึก (Sentiment) ของเนื้อหาที่มีการโพสต์กันแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการสอนให้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ อารมณ์ ความรู้สึก และคุณภาพของใบสมัครที่ผู้สมัครส่งมาได้เหมือนกัน

แต่ถ้าพูดถึงแค่ใบสมัคร การใช้ปัญญาประดิษฐ์ก็อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก โดยเฉพาะบริษัทที่ไม่ได้มีจำนวนผู้สมัครในตำแหน่งเดียวกันเยอะๆ เพราะมันจะไม่ได้ช่วยเซฟเวลาอะไรเท่าไหร่เลย แต่ถ้าเกิดเรารวมเอาเรื่องการส่องโซเชียลมีเดีย ที่เหล่า HR สมัยนี้นิยมใช้ประกอบการพิจารณาด้วยล่ะ?
เพราะในยุคนี้สมัยนี้ คนเรากล้าเปิดเผยตัวตนไว้บนโซเชียลมีเดียกันเยอะมากขึ้น การส่องโซเชียลมีเดีย ก็ช่วยให้ HR สามารถเรียนรู้ถึงตัวผู้สมัครได้มากขึ้น หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น แนวหนังสือที่ชอบ แนวภาพยนตร์หรือซีรี่ย์ที่ชอบ นิสัยในการท่องเที่ยว ยันความชอบทางเพศ แทบจะเห็นได้ชัดเจนผ่านโซเชียลมีเดียเลย และหลายๆ คนก็ประมาท เผลอปล่อยตัวตนที่แท้จริงออกมาเต็มๆ บนโซเชียลมีเดียเลย
ปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยส่องทั้งโซเชียลมีเดีย วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้สมัคร และข้อมูลพวกนี้ สามารถเข้ามาช่วยในการตัดสินใจของ HR ได้ … นี่ยังไม่รวมถึงการไปช่วยค้น Google อีกนะ ว่ามีข่าวคราว หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับคนชื่อนี้นามสกุลนี้อีกไหม และถ้าถามว่า แบบนี้ผิดกฎหมายไหม? ผิดจริยธรรมไหม? ก็ถ้าข้อมูลพวกนี้มันถูกตั้งค่าเป็น สาธารณะ มันก็ไม่ผิดกฎหมายอะไร จริงปะ
ปัญญาประดิษฐ์ ช่วยในการสัมภาษณ์งาน
เดี๋ยวนี้ปัญญาประดิษฐ์มันเจ๋งถึงขั้นช่วยสัมภาษณ์งานกันได้แล้วเหรอ? คำตอบคือใช้ เพราะ Uniliver เริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการเฟ้นหาผู้สมัครที่ดีที่สุดในการสัมภาษณ์งานแล้ว โดยให้อัลกอริธึ่มทำการประเมินภาพวิดีโอของผู้สมัครในระหว่างการสัมภาษณ์ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลใบหน้าและภาษากว่า 25,000 ชิ้น ซึ่งได้มาจากการสัมภาษณ์งานก่อนหน้าของผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือก แล้วมีผลการประเมินงานอยู่ในเกณฑ์ดี

แต่ก็เช่นเคยครับ การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบนี้ มันก็ยังคงเหมาะกับบริษัทใหญ่ๆ (อย่าง Uniliver นี่แหละ) เพราะต้องมีข้อมูลจำนวนมากในการป้อนให้ปัญญาประดิษฐ์ได้เรียนรู้ และแม้ว่าอาจเป็นไปได้ที่จะใช้ข้อมูลจากบริษัทอื่นๆ จำนวนมากๆ มาช่วย แต่ข้อมูลที่ดีที่สุดก็คือ ต้องมาจากภายในบริษัทเองล่ะนะ
ปัญญาประดิษฐ์ลำเอียงได้มั้ย?
หลายๆ เคสเลย ที่เลือกใช้ปัญญาประดิษฐ์เพราะบอกว่านอกจากจะช่วยจัดการข้อมูลจำนวนมากๆ ได้รวดเร็วและแม่นยำแล้ว ยังปราศจากความลำเอียงอีกด้วย เอ้า ลองคิดดู ถ้าให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลพิจารณาเอง การตัดสินใจก็อาจจะมีโอกาสเอียงได้ อันเป็นผลจากอคติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลเอง ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ปราศจากสิ่งนั้น
แต่จริงๆ แล้ว ปัญญาประดิษฐ์มันก็ลำเอียงได้นะครับ มันลำเอียงได้จากสองจุดใหญ่ๆ ครับ คือ
- ตัวอัลกอริธึ่มที่ปัญญาประดิษฐ์ใช้ในการพิจารณาและตัดสินใจ กับ
- ตัวข้อมูลที่เอามาใช้สอนปัญญาประดิษฐ์
ถ้าคนเตรียมสองอย่างนี้มีความลำเอียง ผลการตัดสินใจมันก็เอียงครับ เพราะปัญญาประดิษฐ์มันทำได้แค่ตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ในอัลกอริธึ่ม กับข้อมูลที่มันเรียนรู้มานั่นแหละ