Apple iPhone 11/11 Pro/11 Pro Max เพิ่งวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยไปหมาดๆ เมื่อวานผมไปเดินเล่นกับแฟนและแม่ที่ Central Westgate แล้วไปเห็นคนต่อคิวพรีออร์เดอร์ iPhone ตัวใหมากันเยอะมาก ประจวบเหมาะกับการที่มีคนพูดถึงเรื่องความคุ้มค่าของการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเรือธงทุกปี แทนที่จะใช้ไปหลายๆ ปีค่อยเปลี่ยนซักเครื่อง ผมก็เลยคิดว่า จะลองเอามาเขียนให้ได้อ่านกันในทุกแง่มุม แล้วชวนผู้อ่านทุกท่านมาถกกันดีกว่าว่า จริงๆ แล้ว แบบไหนมันคุ้มค่าที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมาร์ทโฟนเรือธงไปนานๆ แล้วค่อยเปลี่ยน หรือจะเป็นการเปลี่ยนเรือธงใหม่ทุกปี เราสามารถคำนวณต้นทุนที่เราต้องเสียไปเพื่อซื้อสมาร์ทโฟนเรือธง เพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบว่าวิธีไหนคุ้มค่ากว่าได้ ด้วยการคำนวณค่าเสื่อม ซึ่งสูตรก็คือ
ค่าเสื่อมราคาต่อปี = (มูลค่าทรัพย์สิน – ราคาซาก[ถ้ามี])/จำนวนปีที่ใช้งาน
ค่าเสื่อมต่อปียิ่งน้อย แสดงว่าเรายิ่งใช้งานมันได้คุ้มค่า ซึ่งปัจจัยที่จะมีผลต่อค่าเสื่อมต่อปีนี่ก็คือ
- ความผันผวนของราคาสมาร์ทโฟนมือสองในตลาดมือสอง เพราะเกิดอยู่ดีๆ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเกิดปรับลดราคากะทันหัน ราคามือสองนี่มีป่วนนะครับ เช่น Huawei P30 Pro ที่เปิดตัวมา 31,900 บาท พอ iPhone 11 เปิดตัวมา ก็ปรับลดราคาลงเหลือ 24,900 บาท หายไป 7,000 บาทในทันที ลองคิดแล้วกันว่าราคามือสองจะตกลงไปขนาดไหน
- โอกาสขายของมือสองในมือเรา มีมากน้อยแค่ไหน? เราไม่ใช่คนเดียวที่อยากจะขายนะครับ คนอื่นๆ ก็มีอีกเพียบ แล้วจำนวนไม่น้อยเลยที่อายุการใช้งานจะน้อยกว่าเรา และอาจขายในราคาที่ใกล้เคียงกับเรา เพราะต้นทุนในการซื้อถูกกว่าเราอีก (ซื้อทีหลัง ราคามันลง)
- ถ้าเราจะขายเครื่องของเราเป็นมือสอง เราก็ต้องใช้งานมันอย่างระมัดระวังเต็มที่ เพื่อให้สภาพออกมานางฟ้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราก็ต้องคิดนะครับว่าเราจะทำอย่างนั้นได้ไหม
- จำนวนปีที่เราใช้งาน ยิ่งใช้นาน ตัวหารยิ่งเยอะ ค่าเสื่อมราคาก็ยิ่งถูก แต่ปัญหาก็คือ ราคามือสองของสมาร์ทโฟน มันไม่ได้ตกลงด้วยอัตราคงที่ มันมีปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาสมาร์ทโฟนมือสองมากมาย (ซึ่งผมก็พูดถึงไปแล้วเมื่อกี้) ฉะนั้น ยิ่งใช้งานมานาน ยิ่งเสี่ยง
ตัวเลือกแรก: เรือธงมันแพง ใช้ไปซัก 3 ปี ค่อยเปลี่ยน
ออกตัวก่อนเลยว่าตอนผมเป็นบล็อกเกอร์แบบจริงจัง ผมเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเรือธงทุกปีครับ แต่สมัยนั้นเรือธงลำนึงหมื่นกว่าบาทถึงสองหมื่นกลางๆ การเปลี่ยนมันทุกปีไม่ใช่เรื่องโหดร้ายมากสำหรับผม และสมัยนั้น ของมันต้องมี เพราะผมต้องตามติดเทรนด์อะ ในฐานะบล็อกเกอร์ แต่พอราคามันวิ่งไปสองหมื่นปลายๆ จนถึงเกินสามหมื่นบาท แล้วประจวบกับว่าผมเริ่มกลับมาเขียนบล็อกเป็นงานอดิเรกแทน และสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่น่าสนใจ ผมก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นทนใช้สมาร์ทโฟนไปนานๆ

แล้วการใช้วิธีนี้ ต้นทุนค่าใช้จ่ายเป็นยังไง? ลองดูกรณีศึกษาของผมก่อนนะครับ ผมซื้อ iPhone 8 Plus 256GB มาในราคาประมาณ 38,500 บาท ใช้งานมาแล้ว 3 ปี ถ้าเอาไปขายมือสอง ซึ่งตอนนี้ยังสภาพงามอยู่ อาจจะได้ราคาซัก 13,000 บาท (คิดว่าน่าจะได้ราคาประมาณนี้ เพราะว่าเจอราคา iPhone 11 มือหนึ่งมากดดัน) ฉะนั้น ค่าเสื่อมต่อปีของผมก็จะอยู่ที่ 8,500 บาท หรือพูดง่ายๆ ผมมีค่าใช้จ่ายในการซื้อ iPhone 8 Plus ตัวนี้จริงๆ อยู่ที่ 25,500 บาท หรือเทียบเท่ากับการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนราคาตลาดล่างระดับไฮเอนด์ปีละเครื่อง
แต่การใช้งานแบบนี้ ถ้าจะให้คุ้มค่าที่สุดคือ เราต้องพยายามขายสมาร์ทโฟนเรือธงตัวเก่าของเราให้ได้ และให้ได้ราคาที่ดีที่สุด ไม่งั้นต้นทุนเราจะเพิ่มขึ้นมาในทันที เช่น ถ้าผมขาย iPhone 8 Plus ของผมไม่ออก ผมอาจต้องเปลี่ยนเป็นให้พวกญาติๆ ของผมไป แบบนี้ ค่าใช้จ่ายในการซื้อ iPhone 8 Plus ของผมตัวนี้ ก็จะเป็น 38,500 บาทเต็มๆ ไปในทันที หรือตก 12,900 บาท/ปี หรือก็คือเทียบเท่ากับการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนราคากลางๆ ทุกปี
โดยทั่วไปแล้ว ถ้าคิดจะเดินทางนี้ Worst-case scenario คือ ขายมือสองไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเกิดใช้มันมานานๆ มาก เพราะจะมีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ สเปกดีกว่า มาเป็นตัวเลือกให้เสมอ ดังนั้น ให้คิดว่าต้นทุนการซื้อสมาร์ทโฟนเรือธงของเราก็คือ ราคาซื้อ/จำนวนปีที่เราใช้ ไปเลยก็ได้ครับ ถ้าทำแบบนี้ ข้อดีคือเราไม่ต้องซีเรียสกับการรักษาสภาพของสมาร์ทโฟนให้สวยเป็นนางฟ้าตลอดเวลาก็ได้
ตัวเลือกที่สอง: ซื้อเรือธงมาใช้ปีเดียว แล้วรีบขายมือสอง แล้วซื้อเรือธงลำใหม่
นี่คือเส้นทางที่หลายๆ คนเลือกกัน และมีหลายคนเชื่อว่ามันคุ้มค่ามาก แต่ในกรณีนี้ เนื่องจากเราต้องขายมือสองในระยะเวลาเพียงปีเดียว การซื้อเครื่องศูนย์ โดยเฉพาะกรณีที่มีประกันยาวๆ (เช่น iPhone ซื้อ AppleCare ด้วย) การรับประกันที่ยังคงเหลืออยู่ มันจะทำให้ขายมือสองได้ราคาที่ขึ้น

ในกรณีนี้ สมมติว่าผมซื้อ iPhone 8 Plus 256GB มาราคาเต็ม 38,500 บาท ใช้ปีเดียวแล้วขายต่อเลย ในราคามือสอง 27,900 บาท ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายในการซื้อ iPhone 8 Plus 256GB นี่ก็คือ 10,700 บาท ซึ่งหากไปเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ผมคำนวณเอาไว้ก่อนหน้า ในกรณีที่ใช้งาน 3 ปี คิดแบบนี้แล้ว มันก็ถูกกว่าจริงๆ ครับ แถมยังมีข้อดีตรงที่เราจะได้ของใหม่ทุกปี ได้เทคโนโลยีใหม่สุด ฮาร์ดแวร์ล่าสุด ฟีเจอร์ล่าสุดแน่นอน
แน่นอนว่ามันยังมีความเสี่ยงเรื่องการขายมือสอง แต่เนื่องจากเราเปลี่ยนทุกปี จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะขายมือสองไม่ออกน้อยกว่า และราคาขายมือสองก็มีโอกาสที่จะดีกว่าอยู่ครับ
สรุปแล้ว การเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเรือธงทุกปี คุ้มกว่า สินะ? … ก็งั้น … มั้ง
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่ากรณีศึกษาที่ผมยกมา คือ Apple iPhone นะครับ ยี่ห้อนี้มันมีราคามือสองดีที่สุดแล้ว เพราะ Apple ไม่มีคู่แข่งโดยตรง จึงไม่จำเป็นต้องทำการตลาดด้วยการลดราคา (ที่เห็นลดราคาๆ กัน มันมาจากตัวแทนจำหน่าย ไม่ใช่ Apple) และความต้องการ iPhone ในตลาดมือสอง มันก็มีมากกว่า Android
แต่ไม่ใช่สมาร์ทโฟนเรือธงทุกยี่ห้อทุกรุ่นจะสามารถขายราคามือสองกันได้คุ้มค่าขนาดนี้ พวก Android smartphone มันราคาตกไวมาก ไม่ใช่ทุกรุ่นที่จะมีคนอยากซื้อ และแบรนด์ก็ลดราคากันฮวบๆ แบบคาดเดาได้ยากมาก อย่างผมเนี่ย เคยซื้อ Vivo X21 มารีวิว 17,900 บาท แล้วกะขายมือสองทันทีเลย 12,900 บาท ยังขายไม่ออกเลยครับ (ฮา) แถมโดนแบรนด์ลดราคาถล่มซ้ำอีก จบกัน ปัจจุบันกลายเป็นสมาร์ทโฟนของแม่ไปแล้ว (เลยยังถือว่าคุ้มค่าอยู่)
ฉะนั้นมันก็ชัดเจนครับ วิธีการแรก ต้นทุนมันสูงกว่า วิธีการที่สอง แต่ความเสี่ยงก็น้อยกว่า (เพราะเราทำใจไว้แล้วว่าขายมือสองไม่ออก) และเราไม่ต้องไปซีเรียสว่าเราซื้อยี่ห้อไหน รุ่นไหนมา แถมไม่ต้องรักษาสภาพเครื่องให้สวยเป็นนางฟ้าด้วย แต่แลกมาด้วยการอยู่กับของเก่าๆ หลายปี ส่วนวิธีการที่สอง ต้นทุนต่ำกว่าประมาณนึง ได้เล่นฟีเจอร์ใหม่ๆ ตลอด แต่มีความเสี่ยงมากขึ้น จากการที่ขายมือสองไม่ออก และเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงนั้น เราก็จะต้องยึดติดกับสมาร์ทโฟนเรือธงยี่ห้อและรุ่นที่เป็นที่นิยม และมีความต้องการในตลาดมือสองมากนะครับ อีกทั้งยังต้องพยายามรักษาสภาพเครื่องให้สวยแจ่มด้วย
แล้วคุณคิดว่าแบบไหนเหมาะกับคุณ และคุ้มค่าที่สุดสำหรับคุณ?