ก่อนหน้านี้ผมได้ลองเล่นตัวทดสอบที่ทาง Segway เขาส่งให้ตัวแทนจำหน่ายได้ลองไปราวๆ 1 สัปดาห์ (ย้อนกลับไปอ่านรีวิวของผมได้) ซึ่งแน่นอนว่าผมติดใจในความหนักแน่น บึกบึน และวิ่งได้ระยะทางไกลมากๆ ไกลกว่า Ninebot Kickscooter ES2 ที่ติดแบตเตอรี่สำรองของผมซะอีก แน่นอนว่าผมสั่งซื้อเรียบร้อย และผมก็ได้มาใช้สี่วันแล้ว (รวมวันนี้) ผมก็เลยขอมาเขียนรีวิวภาค 2 เพื่อพูดถึงประสบการณ์ขี่เพิ่มเติม ในเวอร์ชันที่เขาขายจริงให้ได้อ่านกันครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
รีวิวตอนนี้ ผมซื้อมาเอง ใช้เอง จริงๆ จังๆ แต่ความเห็นของผมอาจจะมีการลำเอียงนิดๆ เพราะผมชอบเจ้านี่จริงๆ จังๆ และด้วยความที่ไม่ได้มีใครสนับสนุนในเรื่องการรีวิวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ เลย ผมจึงไม่สามารถเปรียบเทียบเจ้านี่กับยี่ห้ออื่นๆ รุ่นอื่นๆ ได้นะครับ
เพราะครั้งนี้เป็นรีวิวภาค 2 ผมแนะนำว่าถ้าใครยังไม่ได้อ่านรีวิวภาคแรก ควรไปอ่านก่อนนะครับ แล้วค่อยมาอ่านภาค 2 นี่ครับ เพราะอันนี้จะเป็นการรีวิวเสริมเนื้อหาส่วนที่ยังขาดไป และพูดถึงความแตกต่างและประสบการณ์ในการขี่ Ninebot Kickscooter MAX เวอร์ชันที่จำหน่ายจริงครับ

ในส่วนของการแกะกล่อง Ninebot Kickscooter MAX เพื่อมาประกอบใช้งานเนี่ย ไม่ยุ่งยากครับ เพราะโดยส่วนใหญ่นี่ถูกประกอบเสร็จเกือบหมดแล้วฮะ มีแค่ตรงส่วนคอของสกู๊ตเตอร์ที่เขาถอดออก คงเพื่อให้สามารถพับเก็บได้เล็กกว่านี่อีกหน่อย ไม่งั้นกล่องคงทั้งใหญ่ทั้งกว้างน่าดู ซึ่งประกอบไม่ยาก อุปกรณ์มันก็มีมาให้หมดแล้วทั้งน็อต ทั้งประแจหกเหลี่ยม ขันน็อต 6 ตัว ก็เป็นอันเรียบร้อย แบตเตอรี่ชาร์จมาให้แล้วราวๆ 50% พร้อมขี่ได้เลย แค่ไม่ได้ระยะทางสุดติ่งเท่านั้นเอง

อย่างแรกสุดที่ผมรู้สึกได้ ซึ่งตอนรีวิวรอบแรกไม่ทันได้สังเกต เพราะว่ายังไม่ได้ซื้อแกดเจ็ตมาใช้ด้วยเยอะเท่าไหร่ นั่นก็คือ พื้นที่สำหรับ “เกี่ยว” เพื่อติดโน่นติดนี่ มันน้อยกว่า Ninebot Kickscooter ES2 พอสมควรเลยครับ ถ้าเป็น ES2 นะ ผมจะสามารถติด Handle bar เพิ่มได้ แล้วยังมีพื้นที่สำหรับใส่กระเป๋าเก็บของได้อีก

แต่พอมาเป็น Ninebot Kickscooter MAX แล้ว ถ้าผมติด Handle bar แล้ว มันจะไม่มีที่ให้เกาะเกี่ยวกระเป๋าใส่ของนี่อะสิ ที่ผมติดได้ก็มีแค่ สวิตช์ไฟเลี้ยว และ Handle bar เท่านั้นแหละ ฉะนั้นอยากจะติดอะไรเข้าไป ต้องคิดหน่อยจริงๆ (จนถึงตอนนี้ ผมกำลังมองหาทางเลือกอื่นๆ อยู่ เพราะอยากได้กระเป๋าใส่ของเอาไว้ใส่เสื้อกันฝน)

นอกเหนือจาก Handle bar ที่ผมแนะนำว่าควรจะติด เพื่อเราจะได้สามารถหาแกดเจ็ตต่างๆ มาติดเสริมได้แล้ว แกดเจ็ตนึงที่ผมอยากให้หามาติดก็คือ ตัวยึดสมาร์ทโฟน ครับ เพราะว่าเจ้านี่ขี่ได้ระยะทางยาวไกลมาก บางทีการมีสมาร์ทโฟนไว้ให้ดู Google Maps นี่จะมีประโยชน์อย่างมากครับ

Ninebot Kickscooter MAX มีจำหน่ายเป็นสองเวอร์ชันใหญ่ๆ ครับ เวอร์ชันนึงขายในยุโรป ความเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง กับรุ่นที่ขายในอเมริกา ความเร็วสูงสุด 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งรุ่นที่มาจำหน่ายในประเทศไทย ที่ MONOWHEEL เขานำเข้ามาเป็นโมเดล G30P ที่หมายความว่าวิ่งได้สูงสุด 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง
สเปกยังคงบอกว่ารองรับน้ำหนักสูงสุด 100 กิโลกรัม แต่จากการทดสอบคราวก่อน ผมพบว่าเจ้านี่ให้ผมกับแฟนขี่พร้อมๆ กันได้ น้ำหนักรวมราวๆ 140 กิโลกรัมเลยทีเดียว สบายๆ ครับ แต่ผมเพิ่งสังเกตว่าน้ำหนักตัวรถ มันไม่ใช่ 18.5 กิโลกรัมแฮะ แต่เป็น 19.1 กิโลกรัมอ้ะ

คราวก่อนผมได้ลองทดสอบการขึ้นเนินชันๆ แล้ว ก็พบว่าการที่ล้อมันใหญ่ขึ้น และมีมอเตอร์ขับเคลื่อนที่ล้อหลัง มันวิ่งขึ้นทางชันๆ ได้ดีกว่า Ninebot Kickscooter ES2 มากๆ ครับ นี่ลองขับขึ้นเนินชันๆ ราวๆ 15 องศา เป็นระยะทางหลายสิบเมตรอยู่ วิ่งขึ้นสบายๆ เลยครับ ด้วย Sport mode
ตัวรถที่หันมาใช้ยางลมขนาดใหญ่ หน้าตัดกว้างมากขึ้นแทน ทำให้ได้ประโยชน์สองอย่างเลย คือ ขับขี่นุ่มนวลขึ้น พื้นขรุขระนี่เวลาขี่รู้สึกนุ่มขึ้นเยอะ และการที่เป็นยางใหญ่ขึ้นหน้าตัดกว้างขึ้น ส่งผลให้ยึดตืดกับผิวถนนดีขึ้น เวลาขี่ตอนพื้นถนนเปียกๆ เนี่ย ไม่รู้สึกว่าลื่นเลย แม้กระทั้งตอนขี่ด้วย Sport mode ที่มีแรงบิดสูง ก็ไม่ลื่น ซึ่งถ้าเป็น Ninebot Kickscooter ES2 นี่ ถ้าพื้นลื่นๆ ขี่ไม่ดี มีล้อสะบัดอะ

เฟิร์มแวร์ล่าสุดของ Ninebot เนี่ย ความเร็วในการขี่ Ninebot Scooter MAX ทำได้สามแบบ คือ
- Eco ความเร็วสูงุสด 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง สามารถปรับลดได้อีกผ่านทางแอป
- Normal (ตรงหน้าปัดจะขึ้น D) ความเร็วสูงสุด 27 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- Sport (ตรงหน้าปัดจะขึ้น S) ความเร็วสูงสุด 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จากประสบการณ์ที่ผมใช้มา เมื่อขี่ด้วยความเร็วระดับ Normal ในขณะที่ Ninebot Kickscooter ES2 ความเร็วจะเริ่มตกเมื่อแบตเตอรี่ใกล้จะหมด และความเร็วจะตกลงฮวบๆ มากๆ เมื่อแบตเตอรี่เหลือต่ำกว่า 10% ตัว Ninebot Kickscooter MAX นี่ ความเร็วจะตกเป็นสามช่วงหลักๆ ครับ คือ พอแบตเตอรี่เหลือ 50% ความเร็วสูงสุดมันจะลดลงมาเหลือ 26 กิโลเมตร/ชั่วโมง และพอลงมาเหลือ 30% ก็จะลงมาเหลือ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง และพอต่ำกว่า 20% ก็จะลงมาเหลือ 24 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ตอนที่ผมลองขี่ตัวทดลอง ระยะทางไกลสุดที่คิดว่าทำได้คือ 45-47 กิโลเมตร แล้วแบตเตอรี่จะเหลือราวๆ 10%-15% งวดนี้ผมเลยลองขี่แบบเต็มเหนี่ยวที่สุดเท่าที่จะทำได้ แบตเตอรี่ขึ้นตัวแดงเลยครับ เหลือ 6% สามารถวิ่งได้ระยะทางราวๆ 50 กิโลเมตร ครับ ผมลองประเมินดูแล้ว วิ่งแบบเต็มเหนี่ยวสุดๆ คือ น่าจะได้ซัก 52-53 กิโลเมตร ครับ แต่ระยะทาง 5 กิโลเมตรสุดท้ายนี่ ถ้าเจอสะพานหรือเนินชันๆ นี่อาจไปไม่รอดครับ
ระยะทางที่สามารถวิ่งได้ด้วยแบตเตอรี่ 50% แรกคือราวๆ 30 กิโลเมตรครับ ตอนแรกยังแบบ เฮ้ย แบบนี้ถ้าวิ่งแบบแบตเกลี้ยง 100% เลย มันก็ต้องได้เกือบๆ 60 กิโลเมตรล่ะวะ แต่ปรากฏว่าจริงๆ แล้ว พอแบตเตอรี่มันต่ำกว่า 50% ปุ๊บ ความเร็วสูงสุดเริ่มค่อยๆ ตกลงไป แรงบิดลดลง มันก็กินแบตเตอรี่มากกว่าเดิมเล็กน้อยครับ สุดท้าย 50% สุดท้าย มันก็วิ่งไม่ได้ถึงระดับ 30 กิโลเมตร เหมือนตอน 50% แรกอ่ะ

ความลำบากที่เพิ่มเข้ามาแบบเห็นได้ชัด เมื่อเปลี่ยนมาใช้ Ninebot Kickscooter MAX ก็น่าจะประมาณนี้ครับ
- สกู๊ตเตอร์มันคันใหญ่ขึ้นมาก การพกไปกับรถยนต์ต้องดูกันหน่อยครับว่าเป็นยี่ห้ออะไรรุ่นอะไร อย่าง Mitsumishi Mirage นี่ เอาใส่ตรงที่วางขาของเบาะหลังแทบไม่ได้เลย ถ้าไม่เลื่อนเบาะหน้าหลบไปเยอะๆ ก่อน
- ไม่ใช่แค่มีปัญหาตอนเอาใส่รถยนต์นะครับ เอาขึ้นรถเมล์นี่ก็ลำบากเลย เพราะเจ้านี่พับแล้วจับตั้งไม่ได้แล้วครับ การพกขึ้นรถเมล์ โดยเฉพาะที่แน่นๆ คือหมดสิทธิ์ แล้วตอนที่พับเก็บแล้ว ก็จะเข็นไม่ได้ง่ายๆ ด้วย
ส่งท้ายรีวิว Ninebot Kickscooter MAX
ถ้าจะซื้อ Ninebot Kickscooter MAX เพื่อกะว่าเอาพกใส่รถไว้ขี่เที่ยวชิลๆ รถยนต์จำพวก Eco car นี่อาจจะไม่เหมาะสมซักเท่าไหร่นะครับ คือ ไม่ใช่ว่าใส่ไม่ได้เลยนะ แต่แบบ หยิบเข้าหยิบออกลำบาก เหมาะที่สุดคือ รถที่มีกระโปรงหลัง มีเนื้อที่ว่างเยอะๆ หน่อย จะดีกว่า แต่ถ้าต้องการพกสะดวก วิ่งได้ไกลประมาณนึง ผมแนะนำใช้ Ninebot Kickscooter ES4 (หรือก็คือ ES2 ที่ติดแบตเตอรี่สำรอง) ก็พอกล้อมแกล้มแล้วครับ
Ninebot Kickscooter MAX คือ ตอบโจทย์คนแบบผมที่สุดแล้ว คือ คนที่ซื้อมาเพื่อใช้ขี่ระยะทางยาวๆ ประมาณนึง แล้วกะว่าจะเผื่อเหลือแบตเตอรี่ขี่ไปทำธุระอื่นๆ ต่อได้อีก อย่างผมเนี่ย ขี่ไปกลับที่ทำงาน 38 กิโลเมตร ถ้าจำเป็น ก็ขี่ไปหาข้าวกินตอนกลางวัน ที่ไกลๆ ออฟฟิศหน่อยได้สบายๆ โดยไม่ต้องชาร์จ หรือถ้าชาร์จแบตเตอรี่แล้ว ก็ยิ่งทำให้ตอนเย็นสามารถเถลไถลได้อีกหน่อยด้วย
Ninebot Kickscooter MAX ไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่คิดว่าจะใช้เป็นตัวกลางในการเดินทาง แบบ ขี่ออกจากบ้าน ไปขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้า แล้วลงรถไฟฟ้าแล้วค่อยขี่มาที่ออฟฟิศ เพราะขนาดที่ใหญ่ แค่จะแบกขึ้นลงรถเมล์หรือเข้าออกสถานีรถไฟฟ้าก็ไม่สะดวกแล้ว ไหนจะลำบากอีกถ้าเจอรถเมล์หรือรถไฟฟ้าแน่นๆ ไม่เวิร์กแน่นอนครับ