ผมเชื่อว่าคงมีหลายคนที่สงสัยในคำถามนี้แหละ ว่าทำไมพวกบริษัทต่างๆ ชอบที่จะระบุเอาไว้ในหน้าประกาศรับสมัครงานว่าเงินเดือนนี่สามารถต่อรองได้ แต่พอเรียกไปจริงๆ ก็โดนตอบกลับมาว่าจ่ายไม่ไหว เรียกสูงไป แล้วเราก็จะบ่นในใจว่า ก็ทำไมไม่บอกมาเลยฟะว่าจ่ายไหวแค่ไหน ตูจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาสมัคร ไรงี้ … เคยแมะ? ในฐานะที่ผมก็ทำงานมาเกือบ 20 ปีแล้ว และก็อยู่ในฐานะที่เป็นคนสัมภาษณ์งาน เพื่อรับพนักงานหรือเจ้าหน้าที่คนใหม่เข้ามาทำงาน ผมเลยขอแชร์ความเห็นของตัวเองว่า ทำไมบริษัทเขาถึงทำแบบนี้
จริงอยู่การบอกฐานเงินเดือน ช่วยเซฟเวลาทั้งผู้สมัครและบริษัท
ไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะปิดเงียบเรื่องฐานเงินเดือนครับ เราจะเห็นว่าหลายๆ บริษัทก็มีการบอกฐานเงินเดือนเช่นกัน ผมลองไปค้นๆ ดูประกาศรับสมัครงานที่เว็บ Adecco ก็เห็นมีตั้งหลายตำแหน่งที่ระบุว่าช่วงเงินเดือนจะประมาณเท่าไหร่ อย่างเช่น Application Support นี่ก็อยู่ในช่วง 40,000 – 50,000 บาท เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ตำแหน่งงานที่จะมีการระบุช่วงเงินเดือนเอาไว้ มักจะเป็นตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะเงินเดือนที่ได้ก็จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ แต่ผมก็ยังเห็นว่ามีบางตำแหน่งเหมือนกันนะ ที่ต้องการประสบการณ์แค่ 0 ปี แต่ก็ยังมีช่วงเงินเดือนที่ระบุเอาไว้เช่นกัน
การระบุฐานเงินเดือนเอาไว้ชัดเจนอ่ะ มันมีประโยชน์ทั้งต่อผู้สมัครและบริษัทนะครับ ก็อย่างที่มีคนคอมเม้นต์กันแหละ ว่าทำไมไม่บอกฐานเงินเดือนไปเลยว่าจ่ายไหวแค่ไหน ถ้าบอกมา คนที่อยากได้มากกว่าก็จะไม่มาสมัคร เซฟเวลาทั้งผู้สมัครทั้งบริษัท ไม่ต้องมาดูเรซูเม่ ไม่ต้องเสียเวลามานัดสัมภาษณ์ Win-Win
แต่หลายบริษัทก็เลือกที่จะไม่บอกฐานข้อมูล เพราะเหตุผลหลายๆ ด้าน
แต่ถึงมันจะช่วยเซฟเวลาให้กับตัวผู้สมัครและทั้งเวลาและทรัพยากรให้กับตัวบริษัท เราก็ยังเห็นหลายๆ บริษัทไม่บอกผู้สมัครว่าพร้อมจ่ายแค่ไหน จริงปะล่ะ นั่นก็เพราะเขาก็มีเหตุผลหลายๆ อย่างครับ หลักๆ ก็มี
- บริษัทยังต้องการเจรจาต่อรองเงินเดือน เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท
- การบอกฐานเงินเดือน อาจทำให้ผู้สมัครหลายคนไม่สนใจที่จะสมัคร บริษัทอาจจะพลาดโอกาสได้คนเก่งๆ มาทำงาน ซึ่งบ่อยครั้งแม้บริษัทจะมีการกำหนดงบเอาไว้ว่าให้เงินเดือนได้มากสุดแค่ไหน แต่ถ้าผู้สมัครเจ๋งจริงๆ ก็มีกรณีที่เขายอมจ่ายนะ
- หลายๆ บริษัทไม่อยากให้คู่แข่งรู้ฐานเงินเดือนว่าจ่ายไหวแค่ไหน เพราะไม่งั้นคู่แข่งอาจใช้วิธีซื้อตัว หรือแข่งเรื่องเงินเดือนเพื่อแย่งตัวผู้สมัคร
ฟังดูแล้วก็มีเหตุผลของเขาเหมือนกันนะ … เพียงแต่ผู้สมัครอาจจะรู้สึกว่า เหตุผลพวกนี้ไม่ Win-Win เท่าไหร่ เพราะคนได้ประโยชน์คือบริษัท
แต่จริงๆ แล้ว การบอกฐานเงินเดือน ก็ยังอาจจะดีกว่านะ
แต่ถึงจะมีเหตุผลอย่างที่บริษัทคิดมาในข้างต้น สำหรับผม ผมก็ยังรู้สึกว่าบอกฐานเงินเดือนไปซะน่าจะดีกว่าครับ เพราะยังไงซะ
- บริษัทก็ยังสามารถต่อรองเงินเดือนได้อยู่ดี เพียงแต่มันจะแค่อยู่ในช่วงที่ประกาศรับสมัครงานเอาไว้แค่นั้นแหละ ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่บริษัทพึงกระทำ เพราะถ้าคุณต่อลงไปโหดมาก โหดกว่าที่คุณคิดว่าคือขั้นต่ำที่คุณจะจ่าย มันอาจจะทำให้ผู้สมัครอยู่ได้ไม่นาน ก็ย้ายไปทำงานที่อื่น ในระยะยาวไม่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท
- ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการมาเพิ่มงบทีหลัง ในกรณีที่เจอคนเก่งๆ แล้วอยากได้มาทำงาน คือ ถ้าเกิดอยากให้มีคนเก่งๆ ขนาดนั้นมาทำงาน ก็ควรระบุช่วงเงินเดือนสูงสุดที่ยอมจ่ายให้ครอบคลุมไปเลยดีกว่า เพราะยังไงซะ ถ้าเกิดได้คนที่ Overqualified มากๆ มาทำงาน ในระยะยาวเขาก็อาจจะไม่อยู่กับเรานาน เพราะงานเริ่มไม่ท้าทาย
- เรื่องกลัวคู่แข่งรู้ฐานเงินเดือน อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญมากๆ ที่ทำให้หลายๆ บริษัทไม่อยากระบุฐานเงินเดือน แต่ในความเป็นจริง หากคุณมั่นใจว่าคุณพร้อมจ่ายไม่ต่ำกว่าท้องตลาดละก็ ไม่ต้องห่วงอะไรเลยครับ การที่คู่แข่งจะเกทับด้วยการเพิ่มเงินเนี่ย ส่งผลกระทบเชิงลบต่อคู่แข่งในระยะยาวมากกว่า ถ้ายอมจ่ายเงินเดือนมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น
แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น มันก็แค่ความเห็นส่วนตัวของผมล้วนๆ นะครับ ไม่ได้มีเชิงวิชาการอะไรมารองรับด้วย … ก็แค่บ่นๆ ในฐานะคนทำงาน และคนที่ทำหน้าที่รับสมัครงานคนอื่นมาแล้วเท่านั้นเอง
เห็นด้วยเลยครับ