เวลาพูดถึง QNAP NAS เรามักจะนึกถึงตัว NAS รูปทรงเหมือนทาวเวอร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ เหลี่ยมๆ สูงๆ ถ้าหลาย Bay หน่อย ก็จะทรงออกแนวลูกบาศก์ และด้วยความที่มีฮาร์ดดิสก์หลายตัวทำงานพร้อมๆ กัน ความร้อนก็จะสูงประมาณนึง ก็จะมีเสียงพัดลมฟู่วๆ ซึ่งแม้จะไม่ดังมาก แต่ถ้าอยู่ในห้องเงียบๆ ก็จะแอบรำคาญได้ แต่ QNAP HS-453DX ที่เพิ่งนำเข้ามาโปรโมทล่าสุดนี้ เป็น QNAP NAS รุ่นที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในห้องนั่งเล่น ห้องนอน ได้สบายๆ เลยครับ มาดูกันว่าเจ้านี่มีจุดเด่นยังไงบ้าง และราคาเท่าไหร่กัน
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
รีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก QNAP Thailand ที่ให้ยืม QNAP HS-453DX มาลองเล่น และรีวิวให้ได้อ่านกัน แต่ความเห็นทั้งหมดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตัวนี้ จะเป็นความเห็นของผมล้วนๆ และว่ากันตามตรง ดีก็ว่าดี ไม่ดีก็ว่าไม่ดี เพื่อให้ผู้ที่สนใจ ได้ตัดสินใจเลือกซื้อได้ถูกต้องครับ ท้ายบทความ ผมจะทิ้งลิงก์สำหรับไปสั่งซื้อไว้ให้ครับ
จากประสบการณ์ในฐานะเป็นผู้ใช้งาน QNAP NAS เอง ผมเอามาใช้ทำหลายอย่างครับ ผมอัพเกรดแรมเข้าไปเป็น 16GB แล้วก็ทำ Virtual Station เพื่อรัน Windows 10 เอาไว้เผื่อมีความจำเป็นต้องใช้ Windows จากนอกบ้าน แต่พกแค่สมาร์ทโฟนหรือ iPad ไรงี้ ก็จะได้สามารถ Remote access เข้ามาใช้งานได้ และผมก็เปิด Photo Station เอาไว้ ตอนนี้กำลังทดสอบใช้งานสำหรับที่ออฟฟิศของผม เพื่อให้เพื่อนร่วมงานสามารถเข้ามาดูรูปที่เก็บไว้ใน Photo archive และดาวน์โหลดไปใช้งานได้ด้วยตนเอง จะได้ลดเวลาในการที่จะต้องมาติดต่อแผนกสื่อสารองค์กร แล้วให้เขาช่วยเลือกรูปให้ หรือต้องวุ่นวายกับการส่ง External HDD เอาไปให้เลือกกันเอง
แต่ถ้าถามผม ว่าผมใช้งาน QNAP NAS ด้านไหนมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของมัลติมีเดีย โดยเฉพาะการเก็บพวกไฟล์หนัง ไฟล์ซีรี่ย์ต่างๆ เพื่อเปิดดูได้ตามใจชอบ และแชร์ให้คนทั้งบ้านดู ไม่ว่าจะแม่ของผมที่จะเปิดผ่าน Smart TV หรือ Android TV และน้องชายที่อยู่คนละบ้าน แต่สามารถดูผ่าน iPad Pro ได้ ซึ่งปัจจุบันผมเอา QNAP NAS ของผม ไปวางไว้ในห้องทำงาน (ผมเรียกว่าห้องเซิร์ฟเวอร์ เพราะเอาไว้เก็บพวกอุปกรณ์เน็ตเวิร์กและ NAS) แต่จริงๆ แล้ว QNAP NAS ส่วนใหญ่ มาพร้อมกับพอร์ต HDMI ให้เราสามารถเชื่อมต่อออกพวกจอแสดงผลที่รองรับ HDMI ได้อยู่แล้ว แต่ผมเลือกที่จะไม่ทำ เพราะเหตุผลสำคัญ 2 เรื่องคือ ดีไซน์ของตัวเครื่องทรงลูกบาศก์ที่หาที่วางที่ลงตัวได้ยาก และเสียงพัดลมของตัวเครื่องนั่นแหละ
QNAP HS-453DX ดีไซน์ที่ลงตัวสำหรับภายในบ้าน
แต่ดีไซน์ของ QNAP HS-453DX นี่เป็นแบบสำหรับเอาไว้ติดตั้งใช้ภายในบ้านจริงๆ ครับ คือ ดีไซน์ในแบบที่เขาว่าเหมือนพวก Set top box สำหรับพวกทีวี (แต่จริงๆ ผมว่ามันเหมือนเครื่องเล่น DVD มากกว่านะ เมื่อพิจารณาจากขนาดของพวก Set top box ในปัจจุบัน … ฮา) แม้ว่ามันจะดูมีขนาดใหญ่ แต่ว่ามันก็บางพอสมควร มีความหนากว่าฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5″ เล็กน้อย ฝาเครื่องเป็นอลูมิเนียมส่วนตัวบอดี้เป็นพลาสติก


ด้วยดีไซน์แบบนี้ พอเอาไปวางที่ชั้นวางทีวี จะวางอยู่ใต้ทีวี หรืออยู่ในช่องที่เขาออกแบบมาให้ใส่พวก Set top box และเครื่องเล่น DVD/Blu-ray อะไรพวกนี้ ก็พอเหมาะพอเจาะมากครับ ซึ่งเป็นอะไรที่ QNAP NAS ปกติมันใส่เข้าไปไม่ได้อะ

ฝาด้านหน้าของตัวเครื่องเป็นพลาสติก แต่ยึดติดกับตัวเครื่องเอาไว้ด้วยแม่เหล็กเฉยๆ ทำให้แกะออกมาง่ายมาก ด้านในจะมีถาดใส่ฮาร์ดดิสก์สองถาด สำหรับใส่ฮาร์ดดิสก์แบบดั้งเดิมขนาด 3.5″ ก็ได้ หรือจะใส่ขนาด 2.5″ หรือ SSD แบบ SATA ก็ได้เช่นกัน เนื่องจาก NAS ตัวนี้ถูกออกแบบมาให้ขนาดบางและค่อนข้างกะทัดรัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ การถอดและใส่ฮาร์ดดิสก์ จำเป็นต้องมีไขควงเอาไว้ขันน็อตด้วย ไม่ได้ออกแบบมาเป็น Tool-less แต่อย่างใด

เมื่อพยายามดีไซน์ออกมาให้กะทัดรัดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่งผลให้การถอดถาดฮาร์ดดิสก์ออกมาจากตัวเครื่องทำได้ยากครับ ด้านข้างของถาดมันจะมีสลักล็อกอยู่ แต่พอกดแล้ง มันไม่ได้ดีดฮาร์ดดิสก์ออกมาให้ เราต้องเอานิ้วล้วงเข้าไปพยายามดึงออกมา แต่เนื่องจากฮาร์ดดิสก์เสียบกะพอร์ต SATA ค่อนข้างแน่นมาก และพื้นที่ในการสอดนิ้วเข้าไปมีจำกัด ไม่สะดวกซักเท่าไหร่เลย เผลอๆ เจ็บนิ้วอีก ซึ่งเป็นอะไรที่ผมไม่ชอบเท่าไหร่ แต่ข่าวดีก็คือ เราไม่ได้จำเป็นต้องถอดฮาร์ดดิสก์เข้าๆ ออกๆ อยู่แล้ว จึงไม่ใช่ข้อเสียที่ร้ายแรงมากนัก (แต่ผมก็อยากให้ QNAP ปรับปรุง)

รุ่นนี้เขาประกาศว่าเป็น Silent NAS 4-bay แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่า เห็นภาพแล้วมันใส่ฮาร์ดดิสก์ได้แค่สองตัวเองนี่นา แล้วมัน 4-bay ได้ยังไง? คำตอบก็คือ อีก 2-bay ที่เหลือ มันเป็นถาดสำหรับ SSD M.2 ครับ การจะใส่ก็ต้องแกะฝาเครื่องด้านบนออกมาก่อน ถอดน็อตทั้งสิ้น 5 ตัว เปิดฝาออกมาแบบนี้เลย เราจะเห็นเครื่องในมันทั้งหมด แม้กระทั่งตัว CPU ครับ

น่าเสียดายที่ตัวทดสอบที่ QNAP Thailand ส่งมาให้ ใส่ฮาร์ดดิสก์ Seagate 4TB มาให้สองลูก แต่ไม่ได้ใส่ SSD M.2 มาให้ด้วย ฉะนั้นการทดสอบครั้งนี้ ผมเลยไม่ได้ลองประสิทธิภาพหลังจากใส่ SSD M.2 นะครับ ออกตัวไว้ก่อนเลย แต่บอกได้เลยว่า สองสล็อตนี้ ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใส่ SSD M.2 เพื่อใช้เก็บข้อมูลเป็นหลักครับ แต่เอาไว้ทำเป็น SSD Cache Acceleration มากกว่า … เอ๊ะ แล้วจะทำไปทำไม สำหรับผู้ใช้งานตามบ้าน เดี๋ยวผมจะพูดถึงอีกทีนะครับ

ค่อยยังชั่วหน่อยที่ QNAP NAS รุ่นใหม่ๆ เริ่มหันมาใช้แรม DDR4 ซะทีครับ เจ้านี่ใช้แรม DDR4 บัส 2400MHz โดยรุ่นที่ผมได้มารีวิวเป็นรุ่นแรม 4GB เลยใส่แรม 2GB มาให้สองตัว เขามีขายรุ่นแรม 8GB อีกครับ ซึ่งในฐานะที่ผมเคยใช้ QNAP NAS แบบแรม 4GB มาก่อน แล้วอัพเกรดเป็น 16GB ภายหลัง บอกเลยว่า สู้ไหว จัดแรม 8GB มาเถิด ราคาต่างกันไม่กี่พันครับ เพราะเวลาอัพเกรดแรม มันควรจะอัพเกรดทีเป็นคู่ ทำให้เราต้องเปลี่ยนแรมออกทั้งคู่ เสียดายอ่ะ ใส่ 8GB มาเลย มันก็เพียงพอสำหรับการใช้งานส่วนใหญ่แล้ว (และแม้ว่าสเปกจะบอกว่าใส่แรมได้สูงสุด 8GB แต่ผมว่าถ้าฝืนยัดไป 16GB มันก็มองเห็นนะ ผมทำมาแล้วกับ TS-453A)

ด้านหลังของตัวเครื่อง QNAP HS-453DX ก็จะเป็นพอร์ตต่างๆ ครับ ไล่จากซ้ายไปขวาก็ตามนี้เลย
- ช่องเสียบปลั๊กไฟ DC
- รูสำหรับรีเซ็ตเครื่อง
- พอร์ต LAN 1GbE
- พอร์ต LAN 10GbE
- พอร์ต USB Type-C 3.1 Gen 1 (5Gbps)
- พอร์ต USB 2.0 2 พอร์ต
- พอร์ต USB 3.0 2 พอร์ต
- ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. และ ช่องเสียบไมค์แบบ 3.5 มม. อีกสองพอร์ต
- พอร์ต HDMI 2 พอร์ต อันนึงรองรับ HDMI 2.0 (4K @ 60Hz) อีกพอร์ตเป็น HDMI 1.4b (4K @ 30Hz)
พิจารณาจากพอร์ตต่างๆ แล้ว บอกได้เลยว่าพร้อมรับอุปกรณ์สมัยใหม่ๆ และเตรียมพร้อมทั้งการแสดงผลไฟล์วิดีโอความละเอียดสูงออกจอทีวีโดยตรง หรือจะสตรีมไฟล์มัลติมีเดียก็สามารถมีแบนด์วิธได้พอ จากพอร์ต LAN 10GbE (แต่คุณจำเป็นต้องเตรียมระบบเครือข่ายในบ้านให้รองรับก่อนนะ และอุปกรณ์ 10GbE นี่ราคาก็ประมาณนึงล่ะ)
ลองเซ็ต ลองใช้ QNAP HS-453DX
ในขณะที่รุ่นเก่าๆ อย่าง QNAP TS-453A ของผมยังใช้ QTS 4.3.6 อยู่ แต่ตัว HS-453DX นี่มาพร้อมกับ QTS 4.4.0 แล้วครับ การติดตั้งก็ยังง่ายๆ สไตล์ QNAP เหมือนเดิม คือ มี Initialization wizard ให้ใช้ เลือกแค่ว่าจะตั้งชื่อว่าอะไร ตั้งรหัสสำหรับ admin และเลือกว่าจะให้มีบริการไฟล์รองรับระบบปฏิบัติการอะไรบ้าง (Windows, macOS, Linux) แค่นี้ รอแป๊บเดียวเสร็จ (อ่านเกี่ยวกับ NAS Initialization ได้ใน QNAP NAS 101)

โดยตัวสเปกของเจ้านี่ ใช้หน่วยประมวลผล Intel® Celeron® J4105 quad-core 1.5 GHz processor (burst up to 2.5 GHz) ที่เป็นหน่วยประมวลผลที่สถาปัตยกรรม 14nm และแม้ว่าจะมีมาตั้งกะปี 2017 แล้ว แต่จากที่ผมเช็กจากเว็บไซต์ของ Intel เจ้านี่เป็น Celeron ตัวที่น่าจะประสิทธิภาพดีที่สุดใน J-series แล้ว (เป็นหน่วยประมวลผลแนวประหยัดพลังงาน เน้นใช้ในอุปกรณ์ที่ไม่ต้องการให้มีอุณหภูมิสูงๆ) แน่นอนว่า ประสิทธิภาพอาจจะไม่ได้ดีระดับ Intel Core-i แต่จากประสบการณ์ใช้งาน QNAP TS-453A ที่เป็น Intel® Celeron® N3150/3160 เนี่ย ผมก็ไม่ได้มีปัญหาในการทำ On-the-fly transcoding ของวิดีโอนะครับ แต่ที่จะหน่วงๆ ก็เห็นจะเป็นตอนทำ Virtualization ที่ต้องเน้นเรื่องประสิทธิภาพของการประมวลผล และหากได้ SSD มาช่วยคงจะดีกว่านี้
แต่ที่พูดถึงในข้างต้นเนี่ย QNAP HS-453DX นี่จะทำได้ดีกว่า NAS ของผมนะครับ เพราะมันรองรับทั้ง SSD M.2 ที่เอามาใช้เป็น Cache acceleration เพื่อช่วยเรื่องการ Buffer ข้อมูลสำหรับการทำสตรีมมิ่ง และยังสามารถใช้ LAN แบบ 10GbE ได้อีก ทำให้มั่นใจได้เลยว่าจะมีแบนด์วิธมากพอสำหรับอุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจจะรุมเข้าถึงข้อมูลภายใน NAS และถ้าเกิดอยากจะรับส่งไฟล์เข้าออกจาก NAS ก็ทำได้รวดเร็ว (แต่ในเงื่อนไขว่าเชื่อมต่อแบบ 10GbE นะครับ)


การใช้งาน HybridDesk Station เนี่ย QNAP มีรีโมทคอนโทรลมาให้ด้วย ซึ่งก็เอาไปใช้งานส่วนใหญ่ได้สบายๆ ครับ แต่ว่าเท่าที่ผมลองใช้ดู มันยังมีข้อจำกัดอยู่ในหลายๆ ด้าน ซึ่งสุดท้ายแล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือ การใช้รีโมทในการควบคุมแบบง่ายๆ แต่ตอนที่จะต้องตั้งค่าหรือล็อกอินแต่ละโปรแกรมอะไรพวกนี้เนี่ย เสียบคีย์บอร์ดกับเมาส์ จะดีสุดครับ ซึ่ง QNAP HS-453DX ก็มีพอร์ต USB 2.0 เอาไว้ให้สองพอร์ต พร้อมเสียบอุปกรณ์เสริม

ในแง่ของเสียง ก็เพราะว่าไม่มีพัดลม ชัดเจนเลยว่าเสียงเงียบมาก เอามาไว้ไว้ในห้องนั่งเล่นหรือห้องนอน ไม่ต้องห่วงเลยว่าจะรำคาญเสียงพัดลม และความร้อนก็ไม่ได้สูงมาก ลองจับๆ ตัวเครื่องดู น่าจะซัก 40 องศาเซลเซียสนิดๆ คือรู้สึกอุ่นๆ ไม่ได้ร้อนอะไร เอามาเชื่อมต่อกับทีวีโดยตรง ก็มี HDMI 2.0 ที่รองรับการแสดงผล 4K ที่ 60Hz ฉะนั้น ทำให้เจ้านี่เหมาะกับการเก็บพวกไฟล์หนังต่างๆ อย่างมาก ใช้คู่กับ HybridDesk Station และ Video Station แล้ว จะช่วยให้บริหารจัดการพวกไฟล์หนังและซีรี่ย์ต่างๆ ได้ดีมาก แต่ถ้าจะมีข้อจำกัดก็คือ จะต้องลากสาย LAN มาที่ตัว QNAP NAS นี่แหละครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าต้องการแบนด์วิธระดับ 10GbE ก็จะต้องเดินสาย 10GbE มาด้วยครับ ซึ่งเป็นอะไรที่ในบ้านของหลายๆ คน ไม่ค่อยได้เตรียมเผื่อเอาไว้ เพราะยุคนี้สมัยนี้ เขา Wireless กันหมดแล้วอ่ะ
อย่างไรก็ดี ต้องทำใจนิดๆ ว่าในทางปฏิบัติแล้ว เจ้านี่จะใส่ฮาร์ดดิสก์ได้ 2 ลูกเท่านั้นนะครับ อีกสองน่ะ เอาไว้ใส่ SSD M.2 เพื่อทำ Cache acceleration และจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราต้องการใช้งานสตรีมมิ่งความละเอียดสูง และมีอุปกรณ์ที่จะเข้าถึงหลายๆ ชิ้นพร้อมๆ กัน นั่นหมายความว่า หากต้องการเพิ่มความจุ แล้วยังต้องการทำ RAID เอาไว้เพื่อป้องกันข้อมูลสูญหายกรณีที่ฮาร์ดดิสก์เสียไปซักลูกเนี่ย ก็จะได้ที่แถวๆ 10TB อยู่ในตอนนี้ และราคาฮาร์ดดิสก์ไม่ใช่ถูกๆ ด้วย ที่ความจุขนาดนี้ … สำหรับคนที่อยากเก็บไฟล์หนังเอาไว้เยอะๆ อาจต้องมองโซลูชันในการเพิ่มความจุเข้าไป เช่น เสียบ External HDD ไหม หรือ หา QNAP NAS หรือ Expansion set มาต่อเพิ่ม โดยเชื่อมต่อด้วย 10GbE ไปเลย
บทสรุปการรีวิว QNAP HS-453DX
สนนราคาจาก QNAP Thailand ของ QNAP HS-453DX ตัวนี้อยู่ที่ 30,520 บาท รวม VAT แล้ว (ณ เวลาที่เขียนบล็อกตัวนี้) ถือว่าแอบแรงนิดๆ สำหรับ NAS แบบกึ่งๆ 4-bay (ผมขอเรียกแบบนี้ เพราะมันใส่ฮาร์ดดิสก์ปกติได้แค่ 2 อีก 2 เป็น SSD M.2) แต่หากอยากได้ NAS มาใช้เป็น Multimedia server ที่สามารถเชื่อมต่อกับทีวีโดยตรง เก็บไฟล์หนังใหญ่ๆ 4K แจ่มๆ ไว้ดูกับทีวีแบบ QHD ได้สบายๆ ในขณะที่จะไปวางตรงไหนก็ยังดูดี เจ้านี่ดูจะเหมาะสุดๆ เลยละครับ
อย่างไรก็ดี ขอให้จำเอาไว้ว่า หากต้องการใช้งานด้านมัลติมีเดียแบบสุดๆ ไปเลย ก็ต้องสายเปย์นิดนึงนะครับ เพราะอุปกรณ์พวกนี้ราคาไม่ใช่ถูกๆ ฮะ อยากแจ่มสุด ก็ต้องเปย์ให้สุดเช่นกัน