ปกติ เหตุผลของการเลือกใช้ NAS มาเป็นโซลูชันในการเก็บข้อมูล สาเหตุหลักๆ ก็จะมาจาก 3 ฟีเจอร์หลัก ที่อุปกรณ์จำพวก NAS มีก็คือ 1) สามารถเพิ่มความจุได้สูงๆ กว่าฮาร์ดดิสก์แบบปกติ 2) สามารถแชร์เนื้อที่เก็บข้อมูลให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ได้ ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และ 3) มีโซลูชันป้องกันการสูญหายของข้อมูล และในบล็อกตอนนี้ ผมก็จะมาขอพูดถึง HBS 3 ซึ่งเป็นโซลูชันในการแบ็กอัพข้อมูลของ QNAP NAS ครับ

สำหรับมือใหม่ ผมแนะนำให้อ่านบล็อกเรื่องการวางแผนแบ็กอัพยังไงไม่ให้ชิบหายของผมก่อนนะครับ ซึ่งโปรแกรม HBS 3 ของ QNAP NAS (เดิมเคยถูกเรียกว่า Hybrid Backup Sync แต่พอมาเป็นเวอร์ชัน 3 แล้ว โดนรีแบรนด์มาเป็น HBS 3 แทน) เป็นโปรแกรมที่จะตอบโจทย์ทุกการวางแผนแบ็กอัพของเราได้หมดเลย เป็นโปรแกรมที่ผมแนะนำให้หัดใช้ครับ
โปรแกรมนี้ตัวเดียวช่วยให้ผู้ใช้งาน QNAP NAS สามารถตั้งค่าสำหรับการแบ็กอัพข้อมูลจาก NAS ตัวที่ใช้อยู่ไปยัง NAS ตัวอื่นก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ภายใน LAN เดียวกัน หรืออยู่นอกสถานที่ หรือจะแบ็กอัพไปยังบริการ Cloud storage ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับ Business อย่าง Alibaba, Amazon, BlackBlaze B2 หรือแม้แต่ Azure หรือระดับ Personal แบบ Box.net, OneDrive, Dropbox ฯลฯ

นอกจากนี้ Hybrid Backup Sync นี่ยังสามารถทำการซิงก์ข้อมูลแบบทางเดียว หรือสองทาง กับพวก NAS หรือบริการ Cloud storage อื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งตรงนี้จะตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่ต้องการสำรองข้อมูลแบบ Real-time อย่างมากครับ แล้วยังสามารถเอามาประยุกต์ใช้อย่างอื่นได้อีกนะ เช่น กรณีของผม ที่มีคอมพิวเตอร์บางเครื่องใช้ระบบปฏิบัติการ Linux ทำให้ไม่สามารถใช้งาน OneDrive ได้อย่างเต็มที่เพราะมันดันไม่มี OneDrive client บน Linux ผมก็ใช้วิธีเอา HBS 3 นี่แหละ ทำการซิงก์ข้อมูลระหว่าง QNAP NAS กับ OneDrive จากนั้นก็ค่อยซิงก์ข้อมูลจากโฟลเดอร์นี้แหละ มาที่ Linux ผ่าน Qsync อีกที ก็ถือว่าสะดวกใช้ได้ทีเดียวล่ะ
แนะนำพอหอมปากหอมคอแค่นี้ เดี๋ยวจะเริ่มสอนวิธีการใช้งานในตอนหน้านะครับ