ด้วยความที่การจราจรในกรุงเทพฯ นี่ก็คือจลาจลเราดีๆ นี่เอง ส่งผลให้ผู้คนหันมาใช้ยานพาหนะทางเลือกกันมากขึ้น เราได้เห็นผู้คนหันมาขี่จักรยานไปทำงานกันบ้าง (ส่วนนึงในนั้นก็ถือโอกาสรักษ์โลก ลดมลพิษไปด้วยในตัวเลย) พอผมได้จักรยานไฟฟ้า DYU D2F มาลองใช้งาน การขี่จักรยานไฟฟ้าก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการใช้งานที่ผมอยากทดลองครับ และบล็อกตอนนี้ก็จะมาพูดถึงประสบการณ์ในการขี่จักรยานไฟฟ้า DYU D2F ไปทำงานมาให้อ่านกัน เผื่อใครจะได้เอาไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
จักรยานไฟฟ้า DYU D2F คันนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจากทาง MONOWHEEL ผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการมาให้ยืมลองครับ แต่เนื้อหาในบทความรีวิวครั้งนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวของผมเองล้วนๆ จากประสบการณ์ในการใช้งานจริง โดยงวดนี้ผมได้ลองขี่ไป-กลับที่ทำงาน จากบ้านที่พระราม 2 ไปที่สีลม (แถวๆ สีลมคอมเพล็กซ์) เป็นระยะทางไปกลับราวๆ 36 กิโลเมตร โดยเป็นการปั่นแบบ Pedal assist ความเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง สลับกับโหมดขี่ด้วยไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เป็นไปตามการใช้งานจริงๆ มาเล่าประสบการณ์ให้อ่านกันครับ
สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านรีวิว จักรยานไฟฟ้า DYU D2F ตอนแรกของผม ไปอ่านก่อนได้ครับ มันจะพูดถึงดีไซน์ของตัวจักรยานด้วย เพราะในบล็อกตอนนี้ จะข้ามส่วนนี้ไปเนื่องจากพูดถึงไปแล้ว
ถ้าเราเลือกที่จะขี่จักรยานไปทำงาน (หรือไปเรียน) ส่วนใหญ่น่าจะเหมาะสำหรับคนที่บ้านอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงาน (หรือโรงเรียน) มาก เช่นซัก 10 กิโลเมตร น่าจะกำลังดี เพราะด้วยสภาพอากาศของประเทศไทย ที่แม้แต่ฤดูที่ควรจะเป็นฤดูหนาว มันก็ยังร้อนและชวนให้เหงื่อออกได้ง่าย แต่เมื่อได้ใช้จักรยานไฟฟ้า ผมว่าระยะทางไปทำงานของผมราวๆ 18 กิโลเมตร น่าจะเป็นอะไรที่น่าจะยังรับได้อยู่ครับ
หลังจากที่ผมได้ขี่ราวๆ 60 กิโลเมตร ผมเริ่มจับทางได้ว่า การขี่แบบ Pedal assist แบบ High ที่ได้ความเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง เนี่ย ก็ไม่ได้ยากอะไร และจากที่ได้ลองขี่ในช่วงถนนแถวๆ พระราม 2 ที่ริมซ้ายสุดของถนนค่อนข้างโล่ง การขี่ที่ความเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตร ก็ถือได้ว่าโอเคทีเดียว แต่ผมต้องขอออกตัวก่อนว่า สำหรับคนที่ไม่เคยขี่จักรยานแบบพวกนักปั่น ที่ทำความเร็วกัน 30-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนชิน มาเจอจักรยานไฟฟ้าไซส์มินิแบบนี้ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะรู้สึกว่ารถวิ่งเร็วพอสมควรเลยนะ

โหมด Pedal assist แบบ High นี่ ให้เราขี่ได้รวดเร็ว โดยใช้แรงน้อยมาก ผมพบว่าระยะทาง 18 กิโลเมตร ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยอะไรมากมาย และไม่ได้เมื่อยอะไรมาก ไม่เมื่อยตูดด้วยฮะ แต่ถ้าใครอยากจะขี่ประจำๆ ผมก็อยากแนะนำว่าหาทางเปลี่ยนเบาะให้นุ่มกว่านี้จะดีกว่า แต่การขี่จักรยาน 18 กิโลเมตร กลางแจ้ง และใช้เวลาเกือบๆ 45-55 นาที ผมก็อยากบอกว่า ได้เหงื่อซึมๆ นิดๆ เหมือนกัน (หน้าร้อนคงหนักกว่านี้)

แต่ความท้าทายในการใช้จักรยานไฟฟ้า ตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกจากบ้านของผมเลยก็คือ การแบกขึ้นสะพานลอย เพื่อข้ามถนนไปอีกฝั่งครับ ด้วยน้ำหนัก 17 กิโลกรัม มันไม่ใช่เบาๆ เลย และแม้ว่าจะมีน้ำหนักเบากว่า Ninebot Kickscooter MAX อยู่เล็กน้อย แต่ด้วยดีไซน์แบบจักรยาน มันเทอะทะ แบกยากกว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าครับ ผมประเมินแล้ว จนปัญญาแบกข้ามสะพานตากสินจริง
แต่ผมพบว่าขาตั้งจักรยานไฟฟ้า DYU D2F นี่มันดีมากจริงๆ ครับ คือ ตอนขึ้นเรือข้ามฟากตรงท่าเรือเป๊บซี่ ผมลองตั้งขาตั้งจักรยานเอาไว้เฉยๆ คือ มันทำให้จักรยานอยู่นิ่งๆ ได้ดี ไม่ไถลไปไหนเลย (ถ้าเอาขาตั้งขึ้นปุ๊บ รถจักรยานไหลเลยจ้า) ถ้าขึ้นเรือข้ามฟากแล้ว หาที่นั่งได้ เอาขาตั้งลง แล้วเอามือจับแฮนด์เอาไว้เผื่อเหนียว แค่นี้ก็พอแล้ว

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการขี่จักรยานไฟฟ้าแบบ Pedal assist ที่ผมพบก็คือ มันไม่เหมาะสำหรับเวลาที่รถติดๆ เพราะในโหมด Pedal assist นี่มันขี่แบบชะลอๆ ไม่ค่อยได้ครับ เพราะพอถีบไปได้รอบสองรอบ ระบบไฟฟ้ามันจะเข้ามาช่วยปั่น รถจักรยานมันจะพุ่งไปข้างหน้าเร็วประมาณนึงเลย อันตราย ถ้าไม่ระวังอาจจะไปชนรถคันหน้าได้ง่ายๆ เวลาเจอรถติดๆ หน่อย วิธีที่ดีที่สุดก็คือใช้โหมดขี่ด้วยไฟฟ้าอย่างเดียวครับ
นี่ก็เลยเป็นที่มาที่เวลาผมใช้งานจริง ผมเลือกขี่ด้วย Pedal assist แบบ High เพื่อให้เดินทางได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเหนื่อยน้อยที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็สลับมาใช้การขี่ด้วยไฟฟ้าอย่างเดียว ในพื้นที่ที่รถติดๆ ซึ่งส่งผลให้แบตเตอรี่ลดฮวบเร็วกว่าการขี่จักรยานชิลล์ๆ ระยะทางไกลๆ ที่ใช้ Pedal assist แบบ Mid สลับกับ Eco เยอะเลย ระยะทาง 18 กิโลเมตรเนี่ย ขี่ไปถึงออฟฟิศแล้ว ผมก็ต้องชาร์จแบตเตอรี่เลยแหละ เพื่อให้ชัวร์ว่าแบตเตอรี่ยังเหลือพอที่จะขี่กลับบ้านได้อีก 18 กิโลเมตร ว่างั้น … ดังนั้น ความยุ่งยากของการใช้จักรยานไฟฟ้าในการขี่ไปกลับที่ทำงาน (หรือโรงเรียน) ในระยะทางไกลๆ แบบ ไป-กลับ 38 กิโลเมตร ก็คือการที่ต้องพกที่ชาร์จติดตัวไปด้วยนี่แหละ
บทสรุปการรีวิวขี่จักรยานไฟฟ้า DYU D2F ไปทำงานในกรุงเทพฯ
ในระยะทางสั้นๆ ซัก 10 กิโลเมตร ผมว่าจักรยานไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ดีอีกทาง สำหรับคนที่อยากจะเลี่ยงการขับรถยนต์ และอยากได้ความ “ออกกำลังกาย” นิดหน่อยด้วย แต่ถ้าระยะมันไปถึง 15-20 กิโลเมตร (เฉพาะขาไปหรือขากลับ) ก็อาจจะต้องตัดสินใจกันเล็กน้อยครับ เพราะจะต้องวุ่นกับการพกพาที่ชาร์จติดตัวไปด้วย เผื่อเหนียว เนื่องจากสภาพการจราจรของกรุงเทพ ทำให้เราต้องสลับมาขี่ด้วยไฟฟ้าอย่างเดียวที่เปลืองแบตเตอรี่มากขึ้น และการขี่โหมด Pedal assiset แบบ Mid นี่ความเร็ว 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ช้าไปถ้าเกิดเราจะขี่ไประยะทางไกลๆ แบบนี้ (ระยะ 15-20 กิโลเมตร จะกลายเป็นต้องใช้เวลา 50-65 นาที กว่าจะถึง) และผมว่าไม่เหมาะสำหรับคนที่เวลาเดินทางไปกลับ มันไม่มีจุดให้ข้ามถนนง่ายๆ ด้วยนะ (เช่น ยูเทิร์นกลับรถยาก เพราะอันตราย หรือ ต้องข้ามสะพานลอย) ยิ่งถ้าเกิดไม่สะดวกแบกขึ้นสะพานลอยด้วยแล้วอะนะ