จักรยานไฟฟ้า DYU D2F เป็นอะไรที่ผมเปรยๆ กับทาง MONOWHEEL เอาไว้ตั้งกะตอนไปขี่สกู๊ตเตอร์ทัวร์ 4 วัดแล้วว่าอยากรีวิว ล่าสุดนี่เขาก็เอา DYU D2F ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดที่บริษัทเขาจะนำเข้ามาจำหน่ายส่งมาให้ลองถึงที่บ้าน เห็นว่าเป็นคันแรกในประเทศไทยเลย (ว่าเข้าไปนั้น) และพอได้ของมาปุ๊บ ตอนค่ำวันศุกร์ ก็เอามาขี่ลองแถวๆ หน้าบ้านพักใหญ่ๆ ทำความคุ้นเคย แล้ววันถัดมา ก็ลองเอามาขี่ตะลุยจากบ้าน (กรุงเทพมหานคร) ไปที่ศาลพันท้ายนรสิงห์ (สมุทรสาคร) เลยจ้า จะได้รู้กันไปเลยว่าประสบการณ์ในการขี่มันเป็นยังไงบ้าง เพราะผมไม่คิดว่า การขี่วนๆ หน้าบ้าน หรือขี่ไปซื้อของที่ 7-Eleven แถวบ้าน มันคงเข้าใจอะไรได้ไม่มากพอที่จะมาเขียนรีวิวอะฮะ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
จักรยานไฟฟ้า DYU D2F คันนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจากทาง MONOWHEEL ผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการมาให้ยืมลองครับ แต่เนื้อหาในบทความรีวิวครั้งนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวของผมเองล้วนๆ จากประสบการณ์ในการใช้งานจริง ซึ่งแม้อาจจะสั้นเพียงแค่วันเดียว แต่บอกได้เลยว่าขี่มาอย่างทรหดมาก เพราะจัดระยะทางต่อเนื่องไปเต็มๆ 55 กิโลเมตร ไป-กลับ กรุงเทพฯ-สมุทรสาคร กันเลยทีเดียว ซึ่งเส้นทางนั้นผมว่ามีทุกรูปแบบการใช้งานให้เอามาเล่าประสบการณ์ได้จริงๆ จังๆ แน่นอน
รูปร่างหน้าตาของ DYU D2F


รูปทรงของ DYU D2F ผมว่าคล้ายๆ กับจักรยานพับได้ครับ และเจ้านี่ก็สามารถพับคอเก็บได้นิดหน่อย เพื่อให้เหมาะสมกับการเก็บลงไปในกระโปรงหลังรถยนต์ เผื่อใครอยากจะพกพาไปขี่เล่นนอกสถานที่ ขนาดของมันถ้าเทียบกับ Ninebot Kickscooter ES2 แล้ว ก็เรียกว่าเตี้ยกว่านิดหน่อย แต่ล้อใหญ่กว่าเยอะ เพราะเจ้านี่ใช้ยางลมขนาด 12 นิ้ว ผมลองเอามาวางเทียบกับจักรยานพับที่ผมมีอยู่ที่บ้าน ขนาดของเจ้านี่ก็จะเล็กกว่าหน่อย ล้อก็เล็กกว่าพอสมควร วัสดุที่ใช้ทำตัวรถ เป็นเหล็กครับ น้ำหนักก็เลยแอบโหดนิดหน่อยคือ 17 กิโลกรัม

แต่ถ้าจำเป็นต้องหิ้วยกไปไหนมาไหน เช่น ยกขึ้นท้ายรถ ยกเดินขึ้นสะพานลอย มันมีการทำตัวจับให้มือหยิบหิ้วได้สะดวกๆ อยู่ และเท่าที่ผมลองดูแล้ว ก็ไม่ได้แย่อะไร ผมพอจินตนาการการยกแบกขึ้นสะพานลอยได้อยู่ แต่ด้วยน้ำหนักที่ถ่วงไปทางล้อหลังเพราะมอเตอร์ไฟฟ้าอยู่ตรงล้อหลัง และความที่พื้นที่ในการจับยกจำกัด ทำให้ใช้สองมือช่วยยาก ก็ทำให้ผมรู้สึกว่าถ้าจะต้องแบกขึ้นสะพานตากสินซึ่งสูงราวๆ ตึก 4 ชั้นนี่ผมคงขอบายจริงๆ


ตัวรถเหมาะสำหรับผู้ขับขี่ที่มีส่วนสูงระหว่าง 110-180 เซ็นติเมตร ส่วนสู้ผมถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอดี มันปรับความสูงของแฮนด์จักรยานไม่ได้ แต่มันปรับความสูงของเบาะให้เหมาะสมกับความสูงของผู้ขี่ได้ มันมีไฟหน้าอยู่ตรงด้านหน้า และมีไฟท้ายอยู่ตรงด้านหลัง เหนือล้อหลังนิดหน่อย และถ้าใครจะติดไฟเลี้ยว ก็ยังเหลือพื้นที่ใต้เบาะนั่งให้ติดตั้งได้ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ผมว่ารถที่ตามหลังมาก็ยังพอเห็น ถ้าเราไม่อยู่ติดกับเขามากไป
พื้นที่ตรงส่วนที่มีการเจาะช่องไว้ให้เอามือจับหิ้วได้เนี่ย เอาไว้ติดเบาะเด็กเสริมได้ด้วยครับ แต่ถ้าติดแล้วก็จะหิ้วจะยกลำบาก จะพับคอจักรยานก็ลำบากด้วย ฉะนั้น วางแผนกันให้ดีๆ ก่อนนะ

แฮนด์ด้านซ้ายเป็นสวิตช์เปิด-ปิด แล้วก็แตรไฟฟ้า ส่วนแฮนด์ด้านขวามี E-throttle เอาไว้ดูข้อมูลการขี่ (เช่น ขี่มารวมแล้วกี่กิโลเมตร หรือ การขี่ครั้งนี้ขี่ไปแล้วกี่กิโลเมตร หรือ แรงดันไฟฟ้าของแบตเตอรี่ เป็นต้น) ดูปริมาณแบตเตอรี่ และเปลี่ยนโหมดในการขี่ (Eco, Mid, High) และตรงแฮนด์ด้านขวา มันก็มีคันเร่งแบบบิดมาให้ด้วย แต่บิดได้แค่ส่วนโคนๆ ของตัวจับของแฮนด์ด้านขวานะครับ
สำหรับการชาร์จแบตเตอรี่ ใช้ที่ชาร์จแบตเตอรี่แบบ DC แบบ 42V 1.5A (63 วัตต์) มันจะมีช่องให้เสียบชาร์จแบตเตอรี่อยู่ตรงด้านข้างของจักรยาน ซึ่งอาจจะเห็นได้ยากซักหน่อย แต่ถ้าเกิดว่าใช้เป็นประจำแล้วก็จะชินเองแหละว่ามันอยู่ตรงไหน

ดีไซน์ของล้ออาจจะทำให้รู้สึกว่าสูบลมยากหน่อย แต่ว่าถ้าใช้ที่สูบลมพกพาสำหรับจักรยาน คิดว่าไม่น่าจะติดอะไร ตรงส่วนของบังโคลนดูแล้วน่าเป็นห่วงว่ามันจะกันพวกน้ำพวกดินที่กระเด็นมาเวลาขี่เร็วๆ ได้ไหม เพราะมันดูสั้นไปหน่อย แต่มันถูกออกแบบมาให้ถอดเปลี่ยนได้ไม่ยากครับ ฉะนั้นหากใครคิดว่าไม่ชอบ ก็น่าจะหาซื้อมาเปลี่ยนแบบ DIY ได้
ลองขี่จักรยานไฟฟ้า DYU D2F จริงจัง กรุงเทพฯ-สมุทรสาคร
ผมเคยคิดว่าจะหาซื้อจักรยานไฟฟ้ามาซักคัน แบบว่าจะได้เอาไว้ขี่จากบ้านไปร่อนแถวๆ บางขุนเทียนชายทะเล หรือไปตามจุดที่นักปั่นนิยมไปขี่กันในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์อะไรแบบนี้ ฉะนั้นเมื่อได้มาลองรีวิว วันถัดมา (เสาร์เช้า) ผมก็คว้าเจ้านี่ออกไปขี่ตามเส้นทางที่ผมเคยรีวิว Ninebot Kickscooter MAX เลยครับ คือ จากบ้านไปศาลพันท้ายนรสิงห์ แต่ผมเปลี่ยนเส้นทางขากลับนิดหน่อย คือ จงใจขี่อ้อมกว่าเดิมอีกนิด เพื่อที่จะได้ประเมินได้ว่าเจ้าจักรยานไฟฟ้านี่มันขี่ได้ระยะทางยาวเต็มที่กี่กิโลเมตรกันแน่
คือต้องทำความเข้าใจกันก่อนครับ ว่าจักรยานไฟฟ้าคันนี้ มันจะมีการขี่อยู่สองโหมดหลักๆ คือ
- ขี่แบบใช้ไฟฟ้าอย่างเดียว ด้วยการบิดคันเร่ง ทำความเร็วได้สูงสุด 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยากให้เร็วแค่ไหน ก็บิดเอา ถ้าใช้โหมดนี้ ระยะทางที่ได้จะอยู่ที่สูงสุดราวๆ 20 กิโลเมตร (แต่ผมยังไม่ได้มีโอกาสลองใช้โหมดนี้ เลยตอบยากว่าระยะทางจริงจะเป็นเท่าไหร่)
- ขี่แบบ Pedal assist คือ ปั่นเหมือนปั่นจักรยานนี่แหละ แต่จะมีระบบไฟฟ้าเข้ามาช่วยปั่น ทำให้เรารู้สึกปั่นเบาขึ้นเยอะมาก การใช้โหมดนี้ จะทำระยะทางได้ไกลขึ้นเป็น 40-60 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับว่าใช้โหมดไหน Eco, Mid หรือ High
ในการทดสอบของผมครั้งนี้ ผมวางแผนจะขี่ไกลมากๆ ประเมินเอาไว้ตอนแรกคือราวๆ 50 กิโลเมตร ครับ ฉะนั้นผมก็เลยเลือกทดสอบด้วย Pedal assist มากกว่าที่จะขี่แบบใช้ไฟฟ้าอย่างเดียว (และโดยความเห็นส่วนตัวของผม ถ้าจะใช้ไฟฟ้าอย่างเดียว ซื้อสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าน่าจะคล่องตัวกว่าเยอะอ่ะ) โดยตั้งใจตอนแรกว่าจะขี่แบบ Eco เป็นหลักครับ ซึ่งถ้าใครเคยขี่จักรยานพับแบบเล็กๆ ที่ไม่มีเกียร์ทดมาช่วยผ่อนแรงจะค่อนข้างหนัก แต่เมื่อมี Pedal assist แล้ว จะรู้สึกได้เลยว่าขี่จักรยานพุ่งไปข้างหน้าได้เร็ว ในขณะที่ใช้แรงน้อยมาก

สะพานสูงๆ นี่ไม่มีปัญหาเลยครับ เปิดโหมด Eco หรือ Mid นี่ผ่านไปได้สบายๆ เลย และดีกว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าตรงที่ เพราะมันเป็น Pedal assist ครับ เราสามารถเริ่มปั่นตอนอยู่ที่เชิงสะพาน หรืออยู่ระหว่างการขี่ขึ้นสะพานสูงก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเนี่ย หมดสิทธิ์ ต้องเข็นสถานเดียวครับ ประสบการณ์ในการขี่จักรยานไฟฟ้าขึ้นสะพานสูงด้วย Pedal assist นี่ดีมากเลย รู้สึกแบบคันถีบเบา ปั่นสบายๆ เลย เหมือนปั่นบนพื้นราบ ตามสเปกแล้ว ทางชันซัก 15 องศา ปั่นขึ้นได้สบายๆ

ถ้าแค่ลองปั่นตอนแรกๆ เราจะรู้สึกเลยว่า แค่โหมด Eco ก็ค่อนข้างเร็วแล้วนะ แต่จริงๆ แล้ว Pedal assist ในโหมด Eco นี่จะการันตาความเร็วที่ราวๆ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่านั้นเองนะครับ ถ้าเปลี่ยนเป็น Mid ก็จะวิ่งได้ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง และถ้าไปถึง High ก็จะทำความเร็วได้ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดังนั้น พอผมปั่นไปได้ราวๆ 6 กิโลเมตร ผมก็เลยเริ่มรู้สึกตัวว่า เฮ้ย! Eco นี่มันไม่ได้เร็วอย่างที่คิดในตอนแรก แต่ก็ด้วยความที่อยากจะลองดูว่า Eco มันจะวิ่งได้ไกลสุดเท่าไหร่ ก็เลยปั่นต่อไปเรื่อยๆ ครับ แต่พอไปถึงระยะประมาณ 12 กิโลเมตร เริ่มรู้สึกว่า มันไม่ค่อยได้ไปไหนไกลเท่าไหร่แล้วดิ (คือ ต้องเข้าใจว่าผมเคยขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามาเส้นนี้มาก่อน ด้วยความเร็ว 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง) และเห็นพวกพี่ๆ น้าๆ นักปั่นเขาแซงฟุ่บๆ ไปตั้งหลายคัน ก็เลย เอาก็เอาวะ ปรับมาที่ Mid แล้วกัน เออ เร็วขึ้นเยอะเลย

จริงๆ เบาะของ DYU D2F นี่ถือว่านิ่มเอาเรื่องนะ แต่พอขี่มาซักชั่วโมงกว่าๆ เริ่มรู้สึกได้ว่าเมื่อยตูดนิดๆ ครับ ต้องแวะพักตูดบ้าง (ตอนนี้เข้าใจแล้วล่ะ ว่าทำไมพวกนักปั่นเขาแวะพักข้างทางกันเยอะจัง) แล้วใครที่คิดว่าจักรยานไฟฟ้าขี่แล้วไม่ได้ออกกำลังกาย เพราะมันมีไฟฟ้าช่วยปั่น ขอบอกตอนนี้เลยนะว่าไม่จริงครับ ถ้าขี่ด้วย Pedal assist ละก็ มันยังต้องใช้แรงถีบอยู่นะครับ ขี่ซัก 1-2 ชั่วโมงนี่เหงื่อแตกแน่ๆ
Pedal assist นี่จะปั่นไฟกลับเข้าแบตเตอรี่ไหม?
หลายคนคิดกันว่า Pedal assist มันช่วยให้ขี่ได้ไกลขึ้นแบบที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าช่วยเนี่ย เพราะไอ้ที่เราปั่นๆ ไป มันจะชาร์จแบตเตอรี่กลับไปด้วย ขอบอกเลยว่า มันไม่ใช่นะครับ Pedal assist นี่มันแค่ช่วยประหยัดการใช้แบตเตอรี่เท่านั้นเอง เมื่อปั่นไปพร้อมๆ กับการใช้ไฟฟ้า เราจะไม่ทันรู้สึกว่าเราได้ออกแรงไปเยอะ ถ้าเกิดว่ามันปั่นไฟกลับไปที่แบตเตอรี่จริงๆ ละก็ คันถีบหนักกว่านี้อีกเยอะครับ ซึ่งจะผิดเป้าหมายของจักรยานไฟฟ้าไป

เทียบกับจักรยานทั่วไปแล้วจักรยานไฟฟ้า DYU D2F นี่มีล้อที่เล็กกว่า แต่มีขนาดของล้อที่ใหญ่กว่า ผมลองเอาไปขี่ในหลายๆ สภาพถนนแล้ว รวมถึงลูกรังด้วย ก็โอเคอยู่นะครับ แต่เสียดายตรงที่มันไม่มีโช้ก ซึ่งแม้ว่าล้อลมยางจะช่วยทำให้การขับขี่มันนุ่มนวลขึ้น แต่ถ้ามันมีโช้กอีกซักหน่อย โดยเฉพาะตรงอานนั่ง ก็จะทำให้เวลาขี่ไปตกหลุมตกร่องนิดๆ หน่อย ก็สบายตูดขึ้นเยอะ

จากทริปนี้ ผมลองขี่ด้วย Pedal assist สลับกันระหว่างโหมด Eco และ Mid ราวๆ ครึ่งๆ ประกอบกับผมประเมินระยะทางผิดไปหน่อย เลยทำให้ทริปนี้กลายเป็นระยะทาง 55 กิโลเมตร ใช้เวลาไปทั้งหมดทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง 20 นาที และพบว่าแบตเตอรี่มันอ่อนจนไม่มี Pedal assist ตอนได้ระยะประมาณ 50 กิโลเมตร ซึ่งก็ตรงตามสเปกดีอยู่ครับ ถ้าหากผมยอมขี่ช้าลง เลือกใช้แต่ Eco อย่างเดียว อาจจะวิ่งได้ไกลถึง 60 กิโลเมตรได้
พอแบตเตอรี่มันเหลือน้อย (แบตเตอรี่ขีดสุดท้ายกระพริบ) Pedal assist ก็จะไม่ทำงานแล้ว ทีนี้ล่ะ ปั่นด้วยแรงตัวเองล้วนๆ ครับ 5 กิโลเมตรสุดท้ายของทริปนี่แบบ ทรมานมากครับพี่น้องครับ เพราะไหนจะหมดแรงจากการขี่มาตั้ง 50 กิโลเมตรแล้ว ตัวโซ่ของจักรยานมันก็ไม่มีเฟืองทดเพื่อช่วยผ่อนแรงด้วย ต้องปั่นด้วยแรงตัวเองล้วนๆ เลยครับ 6 กิโลเมตรสุดท้ายนี่คือ ทำความเร็วแค่ 12 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเอง แถมตอนขึ้นสะพานก็ต้องเข็นด้วย ปวดต้นขาตึบ เหงื่อโชกเลยครับพี่น้องครับ
ความเห็นของผม เกี่ยวกับประสบการณ์ขี่จักรยานไฟฟ้า DYU D2F
- ระยะทางเซฟๆ สำหรับการขี่จักรยานไฟฟ้า DYU D2F แบบ Pedal assist คือ 50 กิโลเมตร โดยขี่สลับระหว่าง Eco กับ Mid นะครับ แต่ถ้าเกิดจะขี่แบบ Mid อย่างเดียวเลย ผมว่า 40 กิโลเมตร น่าจะเป็นระยะทางไกลที่สุดวิ่งได้ (ยังไม่ได้ลอง)
- จักรยานไฟฟ้าเล็กแบบนี้ ไม่ใช่อะไรที่ถูกออกแบบมาให้ขี่ยาวๆ ระยะทางระดับ 40-50 กิโลเมตร ขี่นานๆ เป็นสามชั่วโมงแบบนี้แน่นอน ปวดตูดสุดๆ ครับขอบอก ผมแนะนำว่าระยะซัก 20 กิโลเมตร นี่จะเหมาะสุด และเราก็สามารถเลือกเป็น Pedal assist หรือจะไฟฟ้าล้วนๆ เลยก็ว่ากันไป
- โหมด Pedal assist มันเหมือนกับการเหยียบคันเร่งด้วยขา เราไม่ต้องคอยเอามือกดคันเร่งที่แฮนด์ค้างไว้ ทำให้การขับขี่มือเดียวทำได้ง่ายกว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามาก แต่ถ้าขี่ด้วยความเร็วไม่สูง แฮนด์จะส่ายง่ายอยู่ เพราะความกว้างของแฮนด์ไม่มาก มือใหม่ต้องระวังครับ
- แตรไฟฟ้าของเจ้านี่ มีก็เหมือนไม่มี เสียงเบามาก ขนาดอยู่บนถนนที่โล่ง ไม่มีรถเลย ยังแทบไม่ค่อยได้ยินเสียงเลยครับพี่น้องครับ ถ้าไปอยู่บนถนนที่จอแจละก็ ใครมันจะได้ยิน
- ถ้าจะใช้ Pedal assist ต้องระวังเวลาจะขี่ตีวงเพื่อยูเทิร์น เพราะถ้าเกิดระบบตัวช่วยปั่นด้วยไฟฟ้าเริ่มทำงาน จักรยานจะพุ่งไปอีกนิดนึง ไม่ระวังอาจะเป็นอันตรายได้
- สำหรับคนที่ยังติดกับภาพที่ว่า จักรยานมันต้องปั่น และมันต้องปั่นแล้วรู้สึกว่ามีแรงต้านนิดๆ Pedal assist แบบ Eco กับ Mid นี่คือความเร็วในระดับที่ขาถีบทัน แต่ถ้าปรับไป High ปุ๊บ ขาถีบไม่มันครับ ปั่นเป็นหนูถีบจักรเลย สภาพทุเรศตัวเองมาก (ฮา) ผมไม่แนะนำ
- แต่สำหรับคนที่เริ่มชินกับการขี่จักรยานไฟฟ้าแล้ว จะรู้ว่าไม่จำเป็นต้องปั่นเป็นหนูถีบจักรขนาดนั้น แค่ปั่นชิลล์ๆ ไปตามวงรอบการถีบของเราก็พอ ถ้าชินกับสเต็ปนี้ได้ ขี่ที่โหมด Pedal assist แบบ High ก็ยังสบายๆ ครับ
- ด้วยความที่จักรยานมันคันเล็ก สำหรับคนตัวสูงๆ แล้ว ความสูงของเบาะกับความยาวของขาผู้ขี่อาจจะไม่เหมาะกัน ทำให้เวลาขี่แล้วขาจะยืดไม่สุด ซึ่งจะเป็นภาระกับเข่าของเรา ในตอนใช้ Pedal assist แบบที่เราขี่แล้วเราก็ไม่ได้ออกแรงปั่นมากก็อาจจะไม่เป็นอะไรเท่าไหร่ แต่ถ้าปั่นยาวๆ ปั่นนานๆ ก็ตอบยาก แต่คิดว่าถ้าเน้น Pedal assist ก็จะไม่เท่าไหร่ เพราะไม่ต้องออกแรงถีบเยอะ ภาระต่อหัวเข่าก็จะน้อย แต่ถ้า Pedal assist หมด ต้องปั่นเอง คราวนี้ล่ะ ภาระมาเต็มๆ (ปัจจุบันผมก็ยังปวดต้นขาอยู่เลย แต่ไม่ปวดเข่า แต่นั่นคงเพราะมันแค่ 5 กิโลเมตร และไม่ได้ปั่นแบบต่อเนื่อง)
- แบตเตอรี่ชาร์จเสร็จค่อนข้างเร็ว ราวๆ 4 ชั่วโมง คิดว่าคงเพราะแบตเตอรี่ไม่ได้ใหญ่มาก (เนื่องจากใช้ Pedal assist ช่วยประหยัดแบตเตอรี่)
บทสรุป สำหรับคนที่จะซื้อจักรยานไฟฟ้า DYU D2F ไว้ขี่เที่ยว
สนนราคา 28,900 บาท กับจักรยานไฟฟ้า สำหรับผม ผมว่าเป็นราคาที่แอบแรงนิดนึงครับ (ถ้าอยากได้ รีบสอยตอนราคาโปรโมชัน 25,900 บาท จะอยู่ในระดับรับได้มากกว่า) ตัวจักรยานมีขนาดก็เล็ก สามารถใส่ท้ายรถได้สบายๆ ไม่ว่าจะรถขนาดปกติอย่าง Nissan Sylphy หรือรถ Eco car อย่าง Mitsubishi Mirage ลองมาแล้วละครับ ระบบ Pedal assist ช่วยให้การขี่ขึ้นเนิน ขึ้นสะพานสูงๆ ทำได้ไม่ยากเลย แหม นึกภาพขี่เที่ยวเขาใหญ่ เขื่อนแก่งกระจาน อะไรแบบนี้เลยฮะ


แต่เจ้านี่ ไม่ใช่อะไรที่เหมาะกับการเอาไปขี่เที่ยวไกลๆ เป็นเวลานานๆ เลยนะครับ ในแง่ของการยศาสตร์แล้วมันยังไม่เหมาะจริงๆ ครับ แต่ถ้าระยะสั้นๆ 10-20 กิโลเมตร ผมว่าสบายๆ เพลินๆ ครับ ฉะนั้นเวลาจะเอาไปขี่เที่ยว ประเมินระยะทางให้ดีๆ ก่อน ก็จะดีมากครับ
ในตอนหน้า ผมจะมาเล่าประสบการณ์ในกรณีที่ซื้อเจ้านี่มาเพื่อขี่ไปทำงานในกรุงเทพฯ ดูครับ เส้นทาง พระราม 2-สีลม ระยะทางไปกลับ 36 กิโลเมตรครับ