ในฐานะที่เป็นคนขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเดินทางในกรุงเทพฯ มาสามปีเศษ เป็นระยะทางมากกว่า 4,000 กิโลเมตร บอกได้เลยว่า สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ถ้าเป็นแบบที่ความเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ละก็ มันก็คล้ายๆ กับการใช้รถจักรยานเดินทางเลยครับ ขี่ริมถนนเหมือนกัน ถ้าจักรยานไปที่ไหนได้ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็ไปได้ไม่แพ้กันด้วย ต่างกันแค่ว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเดินทางได้ในระยะทางจำกัด ก่อนที่จะต้องชาร์จแบตเตอรี่อีกรอบ ก็ประมาณนั้น มันจะเป็นตัวช่วยเรื่องการเดินทางในสภาพการจราจรที่ติดขัดของคนจำนวนหนึ่งได้ดีทีเดียว และช่วยลดมลพิษบนท้องถนนได้ไม่น้อย แต่น่าเสียดายที่ในทางปฏิบัติ ยังทำได้ยาก และอุปสรรคใหญ่ที่สุดของการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ก็คือ โครงสร้างพื้นฐานนี่แหละ
เลนจักรยาน ยังเป็น Mission Impossible ในกรุงเทพ
ถ้าถามผมว่าในกรุงเทพฯ มีเลนจักรยานไหม? ผมก็คงต้องบอกว่ามี เพราะเราได้เห็นความพยายามในการทำเลนจักรยานในหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ เอาแค่ใกล้ๆ บ้านนะ ตรงเส้นบางขุนเทียน-ชายทะเล มีเลนจักรยานจริงจังมาก เพราะนักปั่นชอบมาใช้เส้นทางนี้กันเยอะ ถนนสาทรนี่ก็มีเลนจักรยาน เส้นทางไปวงเวียนใหญ่ผมก็เห็นมีทาสีทำเลนจักรยานอยู่ แต่ถ้าถามผมว่า แล้วเลนจักรยาน มันเป็นทางวิ่งจักรยานจริงๆ ไหม? คำตอบผมก็คงต้องตอบว่าไม่ใช่ เพราะด้วยสภาพอากาศของประเทศไทย คนขี่จักรยานน้อยมาก มันร้อน แถมรถจักรยานยนก็ถือโอกาสมาวิ่งบนทางจักรยานอีก เพราะรถยนต์ไม่วิ่งผ่านนิ เส้นทางก็โล่ง เลี่ยงรถติดได้ดีเลย นี่ยังไม่นับพวกรถยนต์ที่มาจอดริมถนนทับเลนจักรยานอีกนะ

ด้วยความที่กรุงเทพฯ ขาดการวางผังเมือง และที่ผ่านมาก็มีแต่ความพยายามที่จะแก้ปัญหารถติดด้วยการเพิ่มถนนหรือขยายถนนเข้าไปอีก อย่าว่าแต่สร้างเลนให้จักรยานวิ่งเลยครับ ฟุตบาธที่จะให้คนเดินนี่ก็แทบจะไม่เหลือแล้ว ในหลายๆ พื้นที่ ทางออกเดียวของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็น่าจะเป็น การทำตัวให้เหมือนกับจักรยาน คือ ขี่ให้ริมถนนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซอกแซกผ่านรถยนต์บ้างเวลารถติด เท่านั้นแหละ ซึ่งในหลายๆ พื้นที่ในกรุงเทพฯ ก็ยังถือว่าทำได้อยู่
ต้องเพิ่มความสำคัญให้กับทางม้าลาย ต้องมีไฟแดงช่วยข้ามถนน สะพานลอยต้องเป็นมิตรกับจักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามากกว่านี้
ปัญหานึงในการใช้สกู๊ตเตอร์เดินทางก็คือ ตอนถึงทางแยก หรือตอนที่ต้องยูเทิร์นไปฝั่งตรงข้าม คือทำได้ยากมาก การมีสะพานลอยก็พอจะช่วยได้ แต่จักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าส่วนใหญ่น้ำหนักจะอยู่แถวๆ 10 กิโลกรัมหรือน้อยกว่า สกู๊ตเตอร์ที่หนักน้อยกว่า 10 กิโลกกรัมจะค่อนข้างบอบบางหรือไม่ก็วิ่งได้ไม่ไกล ส่วนจักรยานเบาๆ ก็แพงโฮกๆ การแบกของน้ำหนัก 10 กิโลกรัมหรือมากกว่า ขึ้นสะพานลอย ไม่ใช่เรื่อยง่ายๆ ครับ และไม่สะดวกด้วย จริงๆ ถ้าทำบ่อยๆ แบบไม่ถูกวิธี ก็ไม่ดีต่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นด้วยนะ

สะพานลอยเป็นวิธีที่ปลอดภัยสำหรับข้ามถนน เพราะคงไม่มีรถยนต์คันไหนเหินขึ้นมาชนคนเดินข้ามสะพานลอยได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเดินขึ้นสะพานลอยได้สะดวก และยิ่งเมื่อประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุด้วยแล้ว มันถึงเวลาที่จะต้องปรับโครงสร้างให้รองรับประชากรมากขึ้น ให้พวกเขาสามารถเดินข้ามถนนได้สะดวกๆ ซึ่งมันก็จะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ให้สามารถข้ามถนนได้สะดวกด้วยเช่นกัน และที่สำคัญที่สุด ต้องเพิ่มไฟสัญญาจราจรสำหรับคนข้ามถนนตรงทางม้าลายด้วย เดี๋ยวนี้ได้เห็นหลายจุดแล้ว แต่ขอบอกเลยว่าควรมีทุกจุด เพราะวันก่อนนี้ ผมเพิ่งพยายามข้ามถนน 3 เลนตรงทางม้าลาย พอไม่มีไฟแดงมาช่วยหยุดรถแล้ว หาจังหวะข้ามยากจริงๆ ต้องรอรถโล่งจริงๆ อ่ะ (ก็รู้กันอยู่ ว่ารถยนต์กรุงเทพเคารพทางม้าลายแค่ไหน)
แต่ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่มีแค่ในกรุงเทพหรอกนะ
ตอนแรกผมก็บ่นๆ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานในกรุงเทพฯ แต่ว่าเอาเข้าจริงๆ เมื่อสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเป็นที่นิยมขนาดนี้ ปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละประเทศมันก็แตกต่างกันไปนะ ลองดูวิดีโอด้านล่าง อันนี้คือปัญหาของสหรัฐอเมริกา เมืองนิวยอร์ก ที่เดี๋ยวนี้คนก็นิยมสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ากันเยอะมาก และจากประสบการณ์ที่ผมไปนิวยอร์กมาสองหน ก็ต้องบอกว่าที่นิวยอร์กนี่น่าจะขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าได้สะดวกกว่าที่กรุงเทพพอสมควรด้วยซ้ำ แต่เขาก็มีปัญหาในแบบของเขาเช่นกัน