คนใช้ macOS ก็อาจจะคุ้นกับโครงสร้างของไฟล์และไดเร็คทอรีของ Linux เพราะตัวระบบปฏิบัติการมันพัฒนามาจาก Unix เหมือนกัน แต่คนใช้ระบบปฏิบัติการ Windows มาเจอแบบนี้ก็จะงงหน่อยๆ แต่จริงๆ แล้ว ถ้ามองให้ดีๆ จะเห็นว่าโครงสร้างไดเร็คทอรีของ Linux ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจาก Windows มากเลย คือ ผู้ใช้งานทั่วๆ ไป แทบไม่ต้องไปใส่ใจไดเร็คทอรี (หรือจะเรียกว่าโฟลเดอร์ก็ตามแต่) ส่วนใหญ่เลย เหมือนกับที่เราไม่ต้องไปใส่ใจพวกไดเร็คทอรี Programe Files, Windows, System บนระบบปฏิบัติการ Windows
ที่ไม่ต้องไปสนใจเพราะว่า ในฐานะผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว ตัว File manager ที่ Ubuntu Linux (หรือ Linux ตัวอื่น) มีมาให้ ส่วนใหญ่แล้วถูกออกแบบมาให้แสดงพวกไดเร็คทอรีต่างๆ ที่ผู้ใช้งานใช้บ่อยๆ เอาไว้ให้เห็นและเข้าถึงได้ง่ายๆ อยู่แล้ว อย่างเช่น ในรูปด้านล่าง ด้านซ้ายมือ เราจะเห็นว่าเราสามารถเข้าถึง Home, Desktop, Documents, Downloads, Music, Pictures, Videos และ Trash ได้ง่ายๆ อยู่แล้ว และชื่อของไดเร็คทอรีเองมันก็สื่ออยู่แล้วว่าเราจะเอาอะไรไปเก็บไว้ตรงนั้น

ไดเร็คทอรีหลักๆ บนระบบปฏิบัติการ Linux มีดังนี้
/ หรือ Root
คือ ไดเร็คทอรีแรกสุดของ Linux ถ้าจะให้เทียบกับ Windows แล้ว ก็คือ C:\ นั่นแหละ ข้างใน Root ก็จะประกอบไปด้วยไดเร็คทอรีอื่นๆ อีก
/bin
เทียบเท่ากับไดเร็คทอรี System32 ของระบบปฏิบัติการ Windows คือ มันเก็บพวกไฟล์โปรแกรมประเภทคำสั่งของตัวระบบปฏิบัติการ หรือ Utilities ต่างๆ ของระบบเอาไว้ … เราจะไม่เข้ามายุ่งอะไรในนี้ ถ้าไม่จำเป็น
/boot
เอาไว้เก็บพวก Kernel และไฟล์ที่เกี่ยวข้องกับการบูตเครื่อง … เราจะไม่เข้ามายุ่งอะไรในนี้ ถ้าไม่จำเป็น
/dev
โฟลเดอร์นี้เขาเอาไว้เก็บพวกไฟล์อุปกรณ์ต่างๆ เอาไว้อ้างอิงอุปกรณ์ … คือต้องเข้าใจก่อนว่าพวกการตั้งค่า หรือค่าอ้างอิง อะไรพวกนี้ ระบบปฏิบัติการ Linux จะเก็บเอาไว้เป็นรูปแบบไฟล์ทั้งหมดเลย … เราจะไม่เข้ามายุ่งอะไรในนี้ ถ้าไม่จำเป็น
/etc
ชื่อไดเร็คทอรีนี้เหมือนคำว่า “อื่นๆ” ในภาษาอังกฤษ แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นไดเร็คทอรีที่สำคัญมาก เอาไว้เก็บพวกไฟล์ Configuration ของโปรแกรมต่างๆ เก็บพวกค่าการทำงานของระบบเครือข่าย เก็บพวกรหัสผ่านหรือไฟล์ที่เกี่ยวกับ User … เราจะไม่เข้ามายุ่งอะไรในนี้ ถ้าไม่จำเป็น
/home
เป็นที่ที่พวกไดเร็คทอรีของผู้ใช้งานทุกคนจะอาศัยอยู่ เอาไว้เก็บพวกโฟลเดอร์ Pictures, Documents, Downloads อะไรพวกเนี้ย ของผู้ใช้งานแต่ละคน ซึ่งคล้ายๆ กับที่เก็บ Desktop ของผู้ใช้งานแต่ละคนของระบบปฏิบัติการ Windows นั่นแหละ (คล้ายๆ C:\Users)
/lib
เอาไว้เก็บค่า Library ซึ่งก็คล้ายๆ กับพวกไฟล์ .dll ของระบบปฏิบัติการ Windows นั่นเอง พวกไฟล์ Library พวกนี้ จะมีความสำคัญในการเรียกใช้โปรแกรมต่างๆ ที่ติดตั้งเอาไว้ … เราจะไม่เข้ามายุ่งอะไรในนี้ ถ้าไม่จำเป็น
/lost+found
อันนี้ไม่แน่ใจว่าเหมือนอะไรในระบบปฏิบัติการ Windows หรือมันจะมีรึเปล่าก็ไม่รู้ แต่สำหรับระบบปฏิบัติการ Linux แล้ว ไดเร็คทอรีนี้เอาไว้เก็บพวกไฟล์ที่เสียหายจากการทำงานผิดพลาดต่างๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น เกิดปิดเครื่องแบบไม่ได้สั่ง Shutdown หรือ แบตเตอรี่หมดขณะที่กำลังเรียกใช้ไฟล์อยู่ มันจะมีโปรแกรม fsck ไปตรวจสอบตอนที่บูตเครื่องใหม่มา แล้วเอาไฟล์ที่ผิดพลาดไปเขียนไว้ในไดเร็คทอรีนี้ … เราจะไม่เข้ามายุ่งอะไรในนี้ ถ้าไม่จำเป็น
/media กับ /mnt
คือโฟลเดอร์ที่เอาไว้เมาท์อุปกรณ์และระบบไฟล์ของระบบพาร์ทิชันต่างๆ … พวกพาร์ทิชันจะอยู่กับ /mnt ส่วนพวก Flashdrive หรือ External HDD จะอยู่กับ /media แต่เดี๋ยวนี้ดูจะไม่ค่อยมีประโยชน์แล้ว เพราะ Linux หลายๆ ตัว ที่พยายามจะให้คนใช้งานมันง่ายๆ จะแสดงอุปกรณ์ที่ถูกเมาท์ไว้แยกต่างหาก เหมือนพวก Windows หรือ macOS แล้ว
/opt
เป็นไดเร็คทอรีที่เอาไว้เก็บพวกไฟล์โปรแกรมที่ได้จากการคอมไพล์ด้วยตัวเอง … เราจะไม่เข้ามายุ่งอะไรในนี้ ถ้าไม่จำเป็น
/proc
เอาไว้เก็บข้อมูลในระหว่างที่มีการทำงาน พวกนี้เป็นไฟล์เสมือนที่เอาไว้กำหนดค่าการทำงานของ Kernel … เราจะไม่เข้ามายุ่งอะไรในนี้ ถ้าไม่จำเป็น
/sbin
เอาไว้เก็บพวกไฟล์โปรแกรมที่ทำงานขณะที่บูตระบบ อะไรที่อยู่ในนี้ มีเฉพาะผู้ใช้งานที่มีสิทธิเป็น Root เท่านั้นที่จะสั่งให้รันได้ … เราจะไม่เข้ามายุ่งอะไรในนี้ ถ้าไม่จำเป็น
/tmp
เอาไว้เก็บพวกไฟล์ขยะหรือไฟล์ชั่วคราวของผู้ใช้งานทุกคน ซึ่งระบบปฏิบัติการ Windows ก็มีโฟลเดอร์นี้นะ … เราจะไม่เข้ามายุ่งอะไรในนี้ ถ้าไม่จำเป็น บน Windows ก็เช่นกัน ถ้าเราอยากจะกำจัดขยะพวกนี้ บน Windows ก็จะมีเครื่องมือให้เคลียร์ข้อมูล
/srv
เอาไว้เก็บพวกไฟล์ข้อมูลของเครื่องเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้บริการต่างๆ … เราจะไม่เข้ามายุ่งอะไรในนี้ ถ้าไม่จำเป็น โดยเฉพาะถ้าเราเป็นผู้ใช้งานทั่วไป ที่ไม่ได้คิดจะรันเซิร์ฟเวอร์อะไรอยู่แล้ว
/usr
คิดซะว่าไดเร็คทอรีนี้คือ Program Files ของระบบปฏิบัติการ Windows ก็แล้วกัน มันเอาไว้เก็บข้อมูลของพวกโปรแกรมต่างๆ และอื่นๆ ซึ่งข้างในก็จะมีการแตกเป็นไดเร็คทอรีย่อยๆ อีกเพียบ … เราจะไม่เข้ามายุ่งอะไรในนี้ ถ้าไม่จำเป็น
/var
ไดเร็คทอรีนี้ทำหน้าที่เก็บพวก Log file ของเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ เอาไว้ (ถ้าเรามีเปิดให้บริการ) อะไรที่อยู่ในนี้จะถูกเขียนและอ่านตลอดเวลา … เราจะไม่เข้ามายุ่งอะไรในนี้ ถ้าไม่จำเป็น ยกเว้นกรณีที่เราต้องการตรวจสอบ Log file เวลาที่เกิดปัญหาขึ้นมา แล้วเราอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
ย้ำอีกทีก็แล้วกันนะครับ เอาเข้าจริงๆ เราก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องไปยุ่งเกี่ยวกับพวกไดเร็คทอรีต่างๆ ที่พูดถึงไปในข้างต้นซักเท่าไหร่หรอก ในฐานะผู้ใช้งานทั่วๆ ไปน่ะ ไดเร็คทอรีที่ต้องใช้บ่อยๆ บนระบบปฏิบัติการ Linux, macOS หรือ Windows มันก็จะมีความคล้ายๆ กันอยู่แล้ว คือ Downloads, Picture, Video, Documents ก็ประมาณนี้แหละ เพราะมันคือไดเร็คทอรีที่เอาไว้เก็บพวกไฟล์หรือข้อมูลที่ผู้ใช้งานทั่วไปใช้กันบ่อยๆ นั่นแหละ