วันก่อนผมโพสต์บล็อกเรื่อง 7 เหตุผลว่าทำไมควรซื้อสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter MAX และมีคนคอมเม้นต์ในเพจได้น่าสนใจ เรื่องราคาค่าตัวที่แพงกว่าเครื่องหิ้วมาก (ระดับ 100% เลยทีเดียว) เลยทำให้ผมรู้สึกว่า เออ ทำไมราคามันสูงจัง (วะ) เพราะ Ninebot Kickscooter MAX เนี่ย ราคาเฉียด 40,000 บาทเลยนะ ในขณะที่ราคาขายจริงที่เมืองนอก ที่เขาประกาศใน Indiegogo อยู่ที่ $799 หรือประมาณ 25,000 บาทเท่านั้นเอง ผมก็เลยพยายามวิเคราะห์ดูว่า ทำไมใันเป็นยังงั้นล่ะ? และนี่คือสิ่งที่น่าจะเป็นเหตุผล หลังจากที่ผมได้ลองคิดๆ ดูครับ
ตัวแทนจำหน่าย จะต้องรับผิดชอบเรื่องบริการหลังการขาย
ส่วนมากพวกเครื่องหิ้วจะไม่ค่อยมีประกันหลังการขาย แต่เป็นหน้าที่ของตัวแทนจำหน่ายเลยที่จะต้องให้บริการหลังการขาย เขาต้องแบกรับความเสี่ยงในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นในระหว่างที่รับประกัน เช่น จากประสบการณ์ตรงของผมเลย ผมเป็นคนที่ใช้งานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าโหดมากครับ ผมทำมอเตอร์ของ Ninebot Kickscooter ES2 พังใน 3 เดือนแรกที่ขี่ (ซัดไป 1,200 กิโลเมตรภายใน 3 เดือน) แต่เพราะมีการรับประกัน ร้านก็เลยเปลี่ยนมอเตอร์ให้ใหม่ (ค่าอะไหล่ศูนย์คือ 7,600 บาท) ให้ฟรี ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ซื้อที่ไม่น่าจะช่วยเหลือตัวเองได้ (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการซ่อมเอง หรือซื้อหาอะไหล่มาเอง) หากเกิดปัญหาขึ้นมา

อย่างไรก็ดี นี่อาจไม่ใช่เหตุผลหลักซะทีเดียวที่ทำให้ “ราคา” มันแพง เพราะถ้ามองว่าของดีมันไม่ควรเจ๊งภายในปีแรกที่ซื้อมาอยู่แล้วใช่แมะ มันก็เหมือนกับการทำประกันสินค้าไอทีอะ ที่ค่าใช้จ่ายต่อปีมันไม่ได้สูงมาก เพราะมันคือการวัดดวงกับความเสี่ยงว่าจะเสียหรือชำรุด นั่นเอง (ไม่มีใครอยากให้มันเสียหรอก) แต่มันก็เป็น “ส่วนหนึ่ง” ของต้นทุนของศูนย์ครับ
ในส่วนของร้านหิ้ว ผมก็เห็นว่าก็มีหลายร้านที่มีการรับประกัน แต่อาจจะเหลือ 3 เดือน หรือ 6 เดือน ก็ตามแต่ และการรับประกันมันครอบคลุมแค่ไหนนี่ผมก็ไม่แน่ใจเช่นกัน อันนี้คือ “ความเสี่ยง” นึงที่คนซื้อสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่หิ้วมาต้องแบกรับอยู่
ตัวแทนจำหน่าย ต้องแบกความเสี่ยงของการทำธุรกิจ
ร้านหิ้วเขาอาจจะเลือกที่จะสต็อกของน้อยเพื่อลดความเสี่ยง เปิดรับเป็นพรีออร์เดอร์ ให้แน่ใจว่ามีความต้องการสั่งซื้อแล้วค่อยสั่งมาขาย ลูกค้าก็ยอมรอได้ประมาณนึง เพื่อได้ราคาที่ถูกกว่า(เยอะ) บางร้านที่มีลูกค้าสั่งเยอะหน่อย ก็อาจจะสต็อกของเอาไว้ประมาณนึง ในระดับที่มั่นใจว่าขายได้แน่นอน แต่ตัวแทนจำหน่ายมักจะต้องสต็อกของให้มากพอที่จะขาย มันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเชื่อมั่นว่าร้านไม่หนีไปไหนแน่ และการที่ลูกค้ายอมจ่ายแพงก็เพราะอยากได้ของเลย ไม่ใช่มานั่งรอให้เงกด้วย (ยกเว้น ตอนที่ร้านขายดีเกิน จนของหมด สั่งมาขายไม่ทัน) เวลาทำธุรกิจแบบเป็นทางการแบบนี้ อาจจะมีเรื่องของการตกลง “ยอดขาย” กับผู้ผลิตเอาไว้ด้วย มันเป็นเรื่องของการต่อรองราคา การบริหารจัดการสต็อกจึงเป็นความเสี่ยงนึงที่ตัวแทนจำหน่ายต้องแบกรับเอาไว้ ซึ่งร้านหิ้วมักมีความยืดหยุ่นในเรื่องนี้มากกว่ามาก

อีกความเสี่ยงนึงที่ตัวแทนจำหน่ายต้องแบกรับ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยก่อนหน้าก็คือ ความเสี่ยงอันเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนครับ ซึ่งตอนนี้เราอาจจะรู้สึกว่าตัวแทนจำหน่ายได้เปรียบ เพราะค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ต้นทุนเขาลดลง ซึ่งอันนี้ผมเห็นด้วยเลย แต่ถ้าเกิดบาทอ่อนขึ้นมาล่ะ? ก็อยู่ที่จริยธรรมของร้านแล้วครับ เพราะถ้าเกิดร้านขึ้นราคาสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเพราะบาทแข็ง ก็อาจโดนลูกค้าก่อดราม่าได้ว่าทำไมไม่ลดราคาสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าตอนบาทอ่อนบ้าง แต่ปกติแล้ว ราคามันไม่ได้ขึ้นลงกันปุบปับแบบนั้น เพราะการสั่งของมันทำกันล่วงหน้า ค่าเงินบาทที่แข็งหรืออ่อนในปัจจุบัน มันจะไม่ได้ส่งผลกับราคาของสินค้ากัน ณ บัดเดี๋ยวนี้ขนาดนั้น
ตัวแทนจำหน่าย ต้องเสียภาษีนำเข้า
ผมไม่แน่ใจว่าต้องเสียเท่าไหร่ ผมพยายามหาข้อมูลพิกัดภาษีนำเข้าแล้ว ใกล้เคียงที่สุด น่าจะเป็นการนำเข้าจักรยานไฟฟ้า ซึ่งเผอิญว่ามีเจ้าหน้าที่จากศุลกากรที่เชียงใหม่เคยตอบไว้ในกระทู้ ว่าภาษีนำเข้าอยู่ที่ 60% ของมูลค่าสินค้า และต่อให้มี Form E ก็ยังโดนภาษีนำเข้า 50% และยังมี VAT อีก 7% อยู่ พวกนี้แหละ คือสิ่งที่ต้องบวกเข้าไปในค่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแน่นอน ในฐานะต้นทุน
Form E คืออัลไล?
Form E คือ เอกสารที่รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ผลิตและส่งออกจากประเทศสมาชิกในเขตการค้าเสรี อาเซียน-จีน หรือ ACFTA (ASEAN-China Free Trade Area) เป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นมาเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ (บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประสาธิประไตยประชาชนลาว มาเลเซีย เมียนมา สาธารัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน) โดยมุ่งไปที่การขยายการค้าและการลงทุน มีผลบังคับใช้มาตั้งกะ 1 มกราคม 2547
ถ้าเราคิดกันแบบนี้ แสดงว่าค่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าคือ +60% โดยประมาณอยู่แล้ว และเมื่อบวกพวกค่าความเสี่ยงต่างๆ ที่ผมพูดถึงไปข้างต้น บวกกำไรของการประกอบธุรกิจ ผมว่าก็ไม่น่าแปลกใจที่ราคามันจะราวๆ เท่าตัวของพวกที่หิ้วมานะครับ

ผมฟันธงไม่ได้ว่าร้านหิ้วเขาเสียภาษีนำเข้ามาอย่างถูกต้องหรือเปล่า แต่ลองคิดง่ายๆ ว่า ราคาของ Ninebot Kickscooter ES2 ที่ Official Store ในอังกฤษ อยู่ที่ 499 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 19,000 บาท แต่ร้านหิ้วขายกันได้ที่แถวๆ 13,000-17,000 บาทได้เนี่ย ถ้าต้องเสียภาษีนำเข้าด้วย แถมเสีย VAT อีก ผมว่าไม่น่าจะมีทางทำกำไรได้เลยนะ … การนำเข้าแบบเลี่ยงภาษี อาจจเป็นอีกวิธีนึงที่ร้านหิ้วสามารถทำราคาต่ำกว่าตัวแทนจำหน่ายจริงๆ ได้ครับ
ป.ล. อนาคตเหมือนว่ารัฐบาลจะมีการยกเว้นภาษีนำเข้าของรถยนต์ไฟฟ้า ก็ไม่รู้ว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจะเกี่ยวเข้าไปด้วยไหม แต่ผมคิดว่าเขาไม่น่าจะมองแบบนั้น เพราะแม้ว่ามันจะใช้เดินทางแทนรถยนต์ได้ แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่เหมาะกับการเดินทางระยะไกลๆ และสภาพของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ยังไม่เหมาะกับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเหมือนต่างประเทศ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าน่าจะยังต้องสำแดงและชำระภาษีนำเข้าอยู่ดี (น่าจะอยู่ในหมวดจักรยานไฟฟ้า)
ทีนี้ถามว่า ซื้อร้านหิ้วดีกว่าซื้อจากศูนย์ไหม? ก็มันประหยัดกว่าตั้งเยอะ
เอาเป็นว่า ผม ในฐานะบล็อกเกอร์ และคนที่จำเป็นต้องพึ่งพาศูนย์ไทย เพราะจะให้ไปซ่อมสกู๊ตเตอร์ด้วยตัวเองก็คงไม่ไหว (ขี้เกียจทำ ขี้เกียจฝึกทักษะเพิ่มอีกอย่าง แค่หน้าที่การงานประจำ กับงานอดิเรกในฐานะบล็อกเกอร์ก็เยอะแล้ว) ผมก็ยังอยากให้ศูนย์ไทยไปรอด เพื่อความอยู่รอดของผม (ฮา)
ส่วนคนอื่น ผมคงห้ามอะไรไม่ได้ ก็คงได้แต่บอกว่า Do it at your own risk หรือ ถ้าจะซื้อร้านหิ้วก็ต้องเข้าใจความเสี่ยงนะครับ ถ้าคุณมั่นใจว่าคุณมีทักษะช่างมากพอที่จะซ่อมเองได้ถ้าจำเป็น และรู้ว่าจะไปหาซื้ออะไหล่ได้ยังไง ที่ไหน คุณอาจจะรู้สึกว่า ซื้อร้านหิ้วก็ไม่เป็นไรก็ได้ครับ
ในอนาคต ผมคิดว่าถ้าเกิดสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเป็นที่นิยมกันมากขึ้น แล้วศุลกากรเริ่มสังเกตว่ามีการลักลอบนำเข้าแบบไม่เสียภาษีให้ถูกต้อง แล้วหันมาเข้มงวด พวกราคาในร้านหิ้วก็อาจจะสูงขึ้น หรือ ของมีน้อยลง … อันนี้ก็แค่การคาดการณ์อะนะ