Ninebot Kickscooter MAX เป็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ารุ่นล่าสุดของค่ายนี้ (อ่านรีวิวของผมได้ที่นี่) และหลังจากที่ได้ลองขี่มาราวๆ 1 สัปดาห์เต็มๆ เป็นระยะทางราวๆ 200 กิโลเมตร ทั้งแบบระยะสั้นๆ (3 กิโลเมตร) ไปจนถึงระยะยาวๆ (มากกว่า 40 กิโลเมตร) แบบต่อเนื่อง ผมก็ตัดสินใจแล้วล่ะ ว่าจะกัดฟันซื้อเจ้า Ninebot Kickscooter MAX มาใช้เพิ่มอีกหนึ่งตัว กะว่าเอามาสลับวิ่งกับ Ninebot Kickscooter ES2 และนี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงตัดสินใจเลือกซื้อเจ้านี่ครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
ตัว Ninebot Kickscooter MAX ที่ผมได้มาใช้ทดสอบ เป็นความเอื้อเฟื้อจากทาง MONOWHEEL ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าของค่ายนี้ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ แต่ความเห็นทั้งหมดทั้งสิ้นในบทความฉบับนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวจากผมล้วนๆ ครับ เพราะซื้อมาเองใช้เองจริงๆ และจริงจังมากด้วย (ใครที่ติดตามผมจะรู้ว่าผมใช้งานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าหนักหน่วงขนาดไหน)
ก่อนอื่น ผมอยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่าการใช้งานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าของผม หลักๆ คือการใช้แทนยานพาหนะในการเดินทางจากบ้านที่แถวๆ เซ็นทรัลพระราม 2 ไปที่ทำงานที่สีลม (อนาคตจะย้ายกลับไปที่แถวๆ สนามหลวง) เป็นระยะทางราวๆ 18 กิโลเมตร (ไป-กลับ 36 กิโลเมตร) โดยประมาณ ทุกวัน และอาจจะมีการขี่ไปที่อื่นๆ บ้าง เช่น ไปประชุม ไปร่วมงานบล็อกเกอร์ ตามสถานที่ต่างๆ เช่น แถวๆ สยามงี้ แถวๆ พระราม 9 งี้ ปัจจุบัน ผมมีประสบการณ์ในการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามากกว่า 3 ปี และเป็นระยะทางมากกว่า 4,000 กิโลเมตรแล้ว (ส่วนใหญ่เป็นในกรุงเทพ)
และจากการที่ได้ทดลองขี่ Ninebot Kickscooter MAX มา 1 สัปดาห์ โดยเน้นไปที่ประสบการณ์ในการขับขี่ และความสามารถของตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เทียบกับรุ่นก่อนหน้าอย่าง Ninebot Kickscooter ES2 ที่ติดตั้งแบตเตอรี่เสริมแล้ว และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจจะเลือกซื้อมาใช้ครับ
1. แบตเตอรี่ที่เพิ่มมากขึ้น วิ่งได้ไกลมากขึ้น
ตัว Ninebot Kickscooter ES2 เนี่ย ต่อให้ใส่แบตเตอรี่เพิ่มมา ระยะทางที่เดินทางได้ ด้วย Standard mode ความเร็ว 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมประเมินไว้ที่ราวๆ 30-32 กิโลเมตร เซฟๆ กลับถึงบ้านแน่นอน ไม่ต้องลาก แต่ Ninebot Kickscooter MAX นี่จะสามารถเดินทางได้ไกลมากถึง 45-47 กิโลเมตร ด้วย Standard mode ความเร็ว 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับสภาพของผิวถนน และน้ำหนักของคนขี่) ทำให้จากเดิมที่ผมขี่ ไป-กลับ ออฟฟิศ ผมจะต้องชาร์จครั้งนึงที่ออฟฟิศ และชาร์จอีกครั้งที่บ้าน กลายเป็น ผมชาร์จที่บ้านทีเดียวจบ แถมมีแบตเตอรี่เหลือๆ สำหรับใช้ขี่ไปไหนมาไหนได้อีกเล็กน้อยระหว่างวันอีกด้วย
2. ชาร์จแบตเตอรี่ได้สะดวกขึ้น เพราะมีที่ชาร์จในตัว
ถ้าเป็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าทั่วไป รวมถึง Ninebot Kickscooter ES2 เนี่ย เวลาจะชาร์จนอกจากสถานที่ เราก็จะต้องพกอะแดปเตอร์ติดตัวไปด้วย ซึ่งบางทีมันเป็นอะไรที่ไม่สะดวกเท่าไหร่ แต่ Ninebot Kickscooter MAX นี่ เอาแค่สายไฟมาเสียบ ก็ชาร์จได้เลยครับ เพราะมันมีอะแดปเตอร์ในตัว ส่วนสายไฟ ก็เป็นสายไฟมาตรฐาน ที่เราๆ ท่านๆ เจอได้ในพวกอะแดปเตอร์โน้ตบุ๊กหลายๆ ยี่ห้อครับ (สังเกตรูจากในภาพด้านล่าง)

นอกจากนี้ ใครที่เป็นเจ้าของ Ninebot Kickscooter ES2 อยู่แล้ว ก็ยังสามารถใช้ที่ชาร์จของ ES2 นั่นแหละ ชาร์จได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าจะใช้เวลาในการชาร์จนานกว่า
3. ยางลมขนาด 10 นิ้ว ทำให้ประสบการณ์ขี่นิ่มนวลยิ่งขึ้น
เทียบกับยางตันขนาด 8 นิ้วของ Ninebot Kickscooter ES2 แล้ว ยางลมขนาด 10 นิ้วของ Ninebot Kickscooter MAX นี่ช่วยให้ขี่ได้นุ่มนวลขึ้นมาก ถนนขรุขระแบบเล็กน้อย ปกตินี่เราจะรู้สึกได้ถึงความสะเทือนที่ฝ่าเท้าเลย ถ้าเราใช้ยางตัน แต่เมื่อใช้ยางลมแล้ว ชิลมากๆ นอกจากนี้ ขนาดยางที่ใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถวิ่งผ่านพวกพื้นผิวนูน หรือ เป็นร่อง เล็กๆ ได้แบบนิ่มนวลมากกว่าระบบโช้กสปริงของ Ninebot Kickscooter ES2 อีก

ลุ้นตัวโก่งเลย กับระบบปะยางอัตโนมัติ
มันมีฟีเจอร์ล่าสุดที่มีการประกาศบนเว็บ Indiegogo อันเนื่องมาจากที่มีผู้สนใจสนับสนุนโปรเจ็กต์การผลิต Ninebot Kickscooter MAX มาก นั่นก็คือ Self-healing tire หรือ ยางปะตัวเองได้เมื่อแตก ซึ่งหลักการมันก็คือ ทางผู้ผลิตเขาจะมีการอัดสารจำพวก Sealant เข้าไปในยางเอาไว้ก่อน เมื่อยางถูกทิ่งตำ ทำให้เป็นแผลขนาดไม่เกิน 6 มม. สาร Sealant นี่จะเข้ามาอุดรูรั่วให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับสาร Sealant ที่ใช้ในการปะยางฉุกเฉินนั่นเอง
แต่ผมไม่แน่ใจว่า ตัว Ninebot Kickscooter MAX ที่จะเข้ามาจำหน่าย (ไม่ใช่ล็อตที่ส่งให้กับพวก Backer ทาง Indiegogo) นี่เขาจะได้ฟีเจอร์นี้มาด้วยไหม อันนี้ผมกำลังฝากให้ทาง MONOWHEEL เช็กไปยังผู้ผลิตอยู่
4. ฐานที่ยืนใหญ่ขึ้น ซ้อนก็สะดวกขึ้น
ปกติแล้ว สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจะถูกออกแบบมาให้ขี่ได้คนเดียวครับ เพราะพื้นที่เหยียบมันน้อย แต่ Ninebot Kickscooter MAX นี่มีฐานที่ยืนใหญ่ขึ้นมาก มีพื้นที่มากพอให้ผู้ใหญ่ยืนพร้อมๆ กันได้สองคนเลย และแม้ว่าในสเปกมันจะระบุ Pay load (น้ำหนักที่รองรับ) ไว้ที่ 100 กิโลกรัม แต่ในทางปฏิบัติ ผมเคยลองขี่ซ้อนกับแฟน (น้ำหนักรวมราวๆ 137 กิโลกรัม) แล้ว ก็ขี่ได้สบายๆ แม้จะลองวิ่งที่ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง (Standard mode) ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี ผมแนะนำว่าถ้าซ้อน แล้วอยากปลอดภัย จงวิ่งที่ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ใช้ Eco mode)
5. ฐานที่ยืนใหญ่ บังโคลนดีไซน์ดี กันน้ำกระเซ็นได้ดีขึ้นมากี
ความน่ารำคาญของการขี่ Ninebot Kickscooter ES2 เวลาฝนตก ก็คือบังโคลนล้อหลังมันกันน้ำได้ไม่สมบูรณ์ ล้อมันจะดีดน้ำขึ้นมาเปื้อนเต็มหลังเลยครับ ถ้าขี่ลุยน้ำหรือที่เฉยๆ แต่สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นเลย กับ Ninebot Kickscooter MAX ผมลองแล้วลองอีก หลายรอบมาก ทั้งแบบพื้นแฉะๆ หรือแม้กระทั่งพื้นที่มีน้ำขัง

พื้นแฉะๆ นี่ขี่ลุยได้เลยครับ ไม่มีปัญหา แต่พื้นน้ำขัง ผมแนะนำว่า ถ้ามองไม่เห็นว่าน้ำขังมันลึกแค่ไหน เลี่ยงได้จะดีที่สุด เพราะถ้าเกิดมันเป็นหลุมขึ้นมานี่บรรลัยเลย แต่ถ้าน้ำที่ขังมันใสๆ แล้วเราได้เห็นว่ามันไม่ลึกมาก เราก็ขี่ไปแบบช้าๆ ซัก 10-15 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อไม่ให้น้ำที่แหวกมันกระเด็นมาหาเรา

นอกจากนี้ เจ้านี่ยังกันน้ำกันฝุ่นระดับ IPX5 คือ กันฝุ่นจริงจัง และกันน้ำประเภทกระเด็น หรือฉีดเข้ามาได้อย่างสบายๆ ฉะนั้นจะขี่ลุยน้ำนิดหน่อย หรือขี่ตอนฝนตกบ้าง (ถ้าหลบฝนไม่ทัน ต้องฝ่านิดนึง) ก็ยังพอทำได้อยู่ (แต่ไม่แนะนำให้ขี่ลุยน้ำขังยาวๆ หรือจอดแช่น้ำ)
6. มอเตอร์ล้อหลัง ช่วยให้เข็นขึ้นเนินหรือสะพานสูงๆ สะดวกกว่า
สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่มอเตอร์อยู่ที่ล้อหน้า จะมีปัญหาเวลาเข็นขึ้นเนินหรือสะพานสูงๆ เพราะล้อหลังมันเบา มันจะกระดก ทำให้เข็นยาก การมีมอเตอร์ไว้ที่ล้อหลัง ทำให้ช่วยถ่วงน้ำหนักได้ดี เวลาเข็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขึ้นเนินหรือสะพานสูงๆ ล้อหลังไม่กระดก เข็นขึ้นง่ายกว่าเดิมมาก

และจากที่ผมทดลองขับขี่มา ถ้าเกิดก่อนขึ้นสะพาน เว้นระยะทางไว้นิดนึง เปิดโหมด Eco ไว้ด้วย แล้วคอยกดคันเร่งเป็นระยะๆ มอเตอร์ก็จะช่วยขับเคลื่อนให้เข็นขึ้นสะพานได้สะดวกยิ่งขึ้นไปอีก … ส่วนใครอยากฟิต วิ่งขึ้นสะพานไปเลย ใช้วิธีเปิด Standard mode แล้วเข็นวิ่งขึ้นสะพานได้เช่นกัน ผมลองมาแล้ว
7. เบรกมือที่สั่งงานเบรกล้อหน้าและหลังพร้อมกัน หยุดสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าได้มั่นใจกว่า

ตอนขี่ Ninebot Kickscooter ES2 ระยะเบรกถ้าเกิดขี่มาด้วยความเร็วระดับ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือ หากอยู่ในจังหวะกำลังเร่งเครื่องด้วยแรงบิดสูงสุด จะอยู่ที่แถวๆ 4 เมตร ซึ่งแน่นอนว่าเบรกกะทันหันไม่ทันแน่นอน ต้องเอาเท้าลงมาช่วยเบรก แต่ Ninebot Kickscooter MAX นี่ ใช้เบรกมือแบบจักรยาน เวลาเบรก จะเบรกล้อหน้าแบบดรัมเบรก และเบรกล้อหลังด้วยเบรกไฟฟ้า การเบรกไม่รู้สึกกระตุกหรือกระชาก และเบรกได้หยุดนิ่งในระยะเบรกสั้นกว่ามากๆ เบรกฉุกเฉินได้วางใจกว่ามากทีเดียว