สำหรับคนที่อยากลองใช้งานระบบปฏิบัติการ Linux มีตัวเลือกให้เลือกเยอะครับ ที่เห็นพูดถึงกันบ่อยๆ ก็มี Mint, CentOS กับ Ubuntu นี่แหละ และสำหรับตัวเลือกของผม ผมใช้ Ubuntu ครับ เพราะดูมีประวัติยาวนานสุด และผมเองก็เคยใช้ในเวอร์ชันแรกๆ มาก่อนด้วย แต่หลายๆ คนจะมีภาพลักษณ์ที่ติดตามว่า Linux มันเป็นเรื่องของระดับเซิร์ฟเวอร์ หรือไม่ก็พวกนักพัฒนาโปรแกรม ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่เลยนะครับ มันมี Linux ในระดับผู้ใช้งาน หรือที่เรียกว่าระดับเดสก์ท็อป ที่เดี๋ยวนี้ก็ใช้งานได้ไม่ยากแล้ว ฉะนั้น หากใครที่สนใจ อยากลองศึกษา Linux ไปด้วยกันกับผม ก็มาดิครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บทความนี้เป็นความตั้งใจส่วนตัวที่อยากจะ “บันทึก” ประสบการณ์ในการลองใช้ระบบปฏิบัติการ Linux เอาไว้ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมใช้ Linux แต่ผมไม่ค่อยได้ใช้แบบจริงจังเท่าไหร่ ดังนั้นจะเรียกว่าผมพยายามหัดเรียนหัดใช้ Linux ใหม่เลยก็ว่าได้ ฉะนั้น บทความในซีรี่ส์ Living with Ubuntu นี้จึงเหมาะกับผู้ใช้งานมือใหม่มากกว่านะครับ
ด้วยความที่ผมไม่สามารถหาคอมพิวเตอร์ (หรือแม้แต่ Virtual machine) มาทดลอง Linux ได้ทุก Distro ในโลกหล้า ผมจึงขอเลือก Ubuntu ที่เป็น Distro ที่ผมคุ้นเคยที่สุดมาใช้ในการเขียนบทความซีรี่ส์นี้ (และก็คือที่มาของชื่อ Living with Ubuntu นี่แหละ) ส่วนใครจะใช้ Distro อื่น บางอย่างที่ผมพูดถึงในบทความซีรี่ส์นี้ ก็น่าจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ครับ เพราะสุดท้ายมันก็คือ Linux เหมือนกันอะ
ถ้าใครยังคิดว่า Linux เป็นระบบปฏิบัติการที่สั่งงานต่างๆ ด้วย Command line เหมือนระบบปฏิบัติการ DOS ในสมัยก่อน คุณมาผิดยุคแล้วครับ Linux นี่เขาพัฒนาให้มีส่วนติดต่อผู้ใช้งานแบบกราฟิก หรือ Graphic User Interface (GUI) มายี่สิบปีได้แล้วมั้ง และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย เพียงแต่อยากให้คิดถึง Linux ว่าเป็นระบบปฏิบัติการ Android ก็แล้วกันครับ ในแง่ที่ว่ามันมีหลายค่าย โดยแต่ละค่ายก็มีความโดดเด่นที่แตกต่างกันออกไป และเลือกใช้หน้าตาของเดสก์ท็อปที่แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน


ผมขอยกตัวอย่าง Ubuntu กับ Elementary OS ให้ดูครับ Ubuntu นี่จะมีหน้าตาของ Desktop ที่เหมือนจะผสมผสานระหว่าง Windows และ macOS คือ มันจะมี Taskbar อันใหญ่ๆ (ค่า Default มันจะอยู่ทางซ้ายมือ แต่ผมชอบให้อยู่ด้านล่างมากกว่า เลยตั้งไว้แบบนั้น) แต่จะมีแถบด้านบนที่เป็นเมนูสำหรับทุกอย่างในโลกหล้า คล้ายๆ กับพวก macOS แต่ Elementary OS นี่จะลอกแนวการออกแบบของ macOS มาเลย

แต่ด้วยความที่มันถูกปรับปรุงมาเป็นสิบปีแล้ว และพยายามทำให้เหมือนกับพวกระบบปฏิบัติการ Windows กับ macOS เพื่อลดความจำเป็นในการที่จะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มันก็ส่งผลให้อะไรต่อมิอะไรมันง่ายขึ้น เช่น การติดตั้งโปรแกรม ก็สามารถทำได้ผ่านตัวติดตั้งเหมือนกับพวก Windows หรือ macOS และในหลายๆ Distro ที่ยอดนิยม ก็จะมี App Store ไว้ช่วยให้ค้นหาและติดตั้งแอปได้ง่ายๆ ด้วย
นอกจากนี้ ในแง่ของการรองรับฮาร์ดแวร์ต่างๆ และอุปกรณ์เชื่อมต่อ ถ้าเป็นยี่ห้อดังๆ คนใช้เยอะๆ ก็มักจะมีการทำไดรเวอร์สำหรับระบบปฏิบัติการ Linux ไว้ให้แล้ว และแม้จะไม่ได้มีไดรเวอร์เฉพาะเจาะจง ตัวระบบปฏิบัติการเองก็มักจะรองรับฮาร์ดแวร์จำนวนไม่น้อย ด้วยไดรเวอร์มาตรฐาน ก็อาจจะมีบ้างที่ฮาร์ดแวร์อาจจะไม่รองรับ เช่น กรณีที่มี Stylus แบบพิเศษใช้ สำหรับโน้ตบุ๊กประเภท 2-in-1 หรือพวกโน้ตบุ๊กที่เลือกใช้ฮาร์ดแวร์แบบพิเศษจริงๆ (เช่น GPD Win ที่แม้แต่การใช้ระบบปฏิบัติการ Windows เอง ก็ยังต้องการไดรเวอร์แบบพิเศษจริงๆ) อันนี้คือสิ่งที่ใครอยากลองใช้ Linux ต้องจำไว้ จะใช้กับฮาร์ดแวร์ที่พิสดารเกินไปไม่ได้นะครับ

ในขณะเดียวกัน Linux ก็ยังคงเป็น Linux ครับ GUI มันเป็นแค่การทำให้การสั่งงานแบบ Command line มันดูมีรูปร่างมากขึ้น แต่หากต้องการสั่งงานด้วย Command line จริงๆ มันก็ยังทำได้อยู่ เช่น การสั่งติดตั้งโปรแกรมด้วยคำสั่ง sudo apt install นี่เป็นต้น และบางโปรแกรมเองมันก็ไม่ได้มีช่องทางการติดตั้งด้วยวิธีอื่น นอกจากใช้ Command line หรือบางโปรแกรม ก่อนที่จะติดตั้งแบบปกติได้ ก็ต้องมีการติดตั้งโปรแกรมอะไรบางอย่างก่อน ซึ่งไอ้อะไรบางอย่างนั่น ต้องติดตั้งผ่าน Command line เป็นต้น แต่ข่าวดีก็คือ ส่วนใหญ่เราแค่ Copy & paste คำสั่งไปเท่านั้นแหละครับ … แต่สำหรับมือใหม่ที่ไม่ค่อยคุ้นเรื่องคอมพิวเตอร์ก็อาจจะมึนๆ ไปได้ … แต่ไม่เป็นไรนะ เราค่อยๆ เรียนรู้กันไป
แล้วระบบปฏิบัติการ Linux มันตอบโจทย์การใช้งานทั่วไปไหม? – กรณีศึกษา Ubuntu 18.04 LTS
ถ้าเป้าหมายการใช้งานของคุณคือ ท่องเว็บ เล่นโซเชียลมีเดีย ดูหนัง ฟังเพลง พวกนี้ Ubuntu และ Linux ทั้งหมด สามารถตอบโจทย์คุณได้แน่นอน พวกเบราวเซอร์ดังๆ อย่าง Firefox, Opera, Google Chrome หรือแม้แต่ Brave มีเวอร์ชันสำหรับ Linux แล้ว (Brave จะมีขั้นตอนการติดตั้งวุ่นวายหน่อย เพราะทำผ่าน Command line) และเมื่อเข้าเว็บไซต์ได้ การเล่นโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ย่อมสบายครับ ส่วนการดูหนังฟังเพลง มันก็มีโปรแกรมจำพวกนี้ด้วยเช่นกัน ใครที่จะเล่นเกม ถ้าคุณใช้ Steam อยู่ การใช้ SteamOS + Linux ก็จะช่วยให้เราเล่นเกมบนระบบปฏิบัติการ Linux ครับ
Brave browser คืออัลไล?
Brave browser เป็นเบราวเซอร์ที่พัฒนามาจาก Chromium ซึ่งเป็นรากฐานเดียวกันกับ Google Chrome ฉะนั้น มันก็เลยเป็นเบราวเซอร์ที่สามารถติดตั้ง Extension ของ Google Chrome ได้ และเปิดเว็บได้ดีพอๆ กับ Google Chrome แต่ด้วยแนวทางในการพัฒนาที่เคารพต่อความเป็นส่วนตัวมากกว่า มันเลยมาพร้อมกับฟีเจอร์ในการบล็อกพวกโฆษณาและป้องกันพวก Tracking cookie ได้ดีกว่า Google Chrome โดยไม่ต้องติดตั้ง Extension อะไรเพิ่มเติมเลย
สนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดได้ที่ brave.com
จะวุ่นวายขึ้นมาหน่อย ก็คือถ้าเกิดเราอยากจะเอามาทำงานอย่างอื่นล่ะ เช่น งานเอกสาร ที่ใช้โปรแกรมออฟฟิศ (ที่บน Windows หรือ macOS มี Office 365) หรือพวกงานกราฟิกและตัดต่อวิดีโอ (ที่บน Windows หรือ macOS ก็มี Adobe Photoshop และ Premiere ที่หลายๆ คนคุ้นเคย) เราจะทำยังไง? มันก็ไม่ใช่จะไม่มีเลยนะครับ เพียงแต่อาจจะใช้งานร่วมกับโปรแกรมดั้งเดิมอย่าง Office 365 หรือ Photoshop อะไรพวกนี้ ได้ไม่สมบูรณ์ 100% หรืออาจจะใช้ร่วมกันได้ ในกรณีที่ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก ก็เท่านั้นเอง มันอาจจะเหมาะกับการใช้งานแบบ ไม่สุงสิงกับใคร หรือ ไม่เน้นซับซ้อนยุ่งยาก อะไรแบบนี้ เป็นต้นมากกว่าครับ
โดยรวมแล้ว Linux ไม่ยาก เล่นได้ สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป
เอาโดยสรุปนะ ถ้าใครอยากลองเล่นบ้าง หาคอมพิวเตอร์ที่ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว สเปกไม่ต้องสูงมากหรอกครับ เอามาลง Ubuntu แบบผมก็ได้ ดาวน์โหลดได้จากที่เว็บ Ubuntu นี่แหละ วิธีการก็แค่ดาวน์โหลดไฟล์ ISO มา จากนั้นก็ทำ Bootable USB ด้วยโปรแกรมอย่าง Universal USB Installer (วิธีใช้งานก็อยู่ในเว็บนี้) แล้วก็บูตเครื่องด้วย USB นี่แหละ จากนั้นก็เริ่มกระบวนการติดตั้ง ซึ่งไม่วุ่นวายมาก
แต่ถ้าอยากได้ประสบการณ์ในการใช้งานให้ดีๆ ซักหน่อย จัดแรมเพิ่มเป็นซัก 8GB และใส่ SSD ซัก 240GB ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่แพงมากแล้ว ของผมนี่เป็น Core i3 รุ่นหกปีก่อน อัพเกรดแรมจาก 4GB เป็น 8GB และเปลี่ยน HDD 500GB ออกมาใส่ SSD 240GB ของ SanDisk เข้าไปแทน เวิร์กฝุดๆ ครับ