วันก่อนผมไถหน้าจอสมาร์ทโฟนแว้บๆ เห็นมีคนโพสต์บน Facebook หรือ Twitter ก็จำไม่ได้ บ่นเรื่องการที่มีคนขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนถนน แล้วพูดถึงเรื่องอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อตัวผู้ขับขี่ และต่อรถราที่สัญจรบนท้องถนน และบอกด้วยว่ามันผิดกฎหมาย ในฐานะที่เป็นคนที่ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าคนนึง และใช้งานสัญจรบนถนนด้วย ก็เลยอยากเขียนถึงประเด็นเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความเห็นส่วนตัวของผมดังนี้ครับ
ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนถนน ผิดกฎหมายหรือไม่?
ว่ากันตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แล้ว สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไปตรงกับนิยามของคำว่า จักรยานยนต์ ครับ (และจักรยานไฟฟ้าที่มีการติดเครื่องยนต์ด้วย ก็เข้าข่ายนี้เช่นกัน) และเนื่องจากว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ไม่เข้าข่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนได้ เพราะเขากำหนดเอาไว้ว่า ต้องมีมอเตอร์ที่มีกำลังไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 250 วัตต์ และทำความเร็วสูงสุดได้ไม่ต่ำกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง (อ่านรายละเอียดจากประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2560) ฉะนั้น เมื่อพิจารณาจาก มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ว่า
มาตรา ๗ ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่มิได้ติดแผ่นป้ายเลขทะเบียน แผ่นป้ายเครื่องหมายเลขทะเบียนหรือป้ายประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่ง กฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน กฎหมายว่าด้วยรถลาก หรือกฎหมายว่าด้วยรถจ้าง มาใช้ในทางเดินรถ
พระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522
ก็เลยทำให้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ ไม่สามารถใช้ ทางเดินรถ ได้ ซึ่งนิยามของคำว่า ทางเดินรถ ตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ก็คือ พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับการเดินรถไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน ครับ พูดง่ายๆ ชาวบ้านก็เรียกว่า ถนน นั่นแหละ
ฉะนั้น ถ้าว่ากันตามกฎหมายเป๊ะๆ ก็วิจารณ์กันได้ถูกแล้วว่าการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าผิดกฎหมายครับ เพียงแต่จากประสบการณ์ในการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าของผม คุณตำรวจจราจรจะมองเราเป็นแค่เหมือนกับจักรยานครับ เพราะเราขับได้เร็วไม่มาก
กฎหมายประเทศอื่นเกี่ยวกับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า
กฎหมายในสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับเรื่องการนำเข้ายานพาหนะ (ข้อ 06) มองว่าถ้าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ยืนขี่ หรือจักรยานไฟฟ้ามีมอเตอร์กำลังไฟฟ้าต่ำกว่า 750 วัตต์ หรือทำความเร็วได้ไม่ถึง 20 ไมล์/ขั่วโมง (ประมาณ 32 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ส่วนกฎหมายแต่ละรัฐอาจจะมีความแตกต่างกันไป เกี่ยวกับเรื่องการนำสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไปใช้บนท้องถนน

ในขณะที่ฝรั่งเศส จะจัดสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไปอยู่ในหมวดหมู่ของ Personal Light Electic Vehicle (PLEV) และหากทำความเร็วไม่เกิน 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็จะวิ่งบนเลนจักรยานได้ แต่เพิ่งออกกฎหมายมาห้ามวิ่งบนฟุตบาธครับ ส่วนที่สวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย ก็อนุโลมให้ขี่บนถนนได้ถ้าความเร็วอยู่ที่ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสำหรับประเทศเยอรมนี ถ้าจะขี่บนทางเท้า ความเร็วจะทำได้แค่ 6 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไม่มีที่ยืนเลยในประเทศอังกฤษ เพราะขี่บนถนนก็ไม่ได้ (เข้าใจว่าเพราะกฎหมายห้าม) ขี่บนเลนจักรยานก็ไม่ได้ (เพราะมีมอเตอร์ไฟฟ้า) และขี่บนทางเท้าก็ไม่ได้อีกเช่นกันเพราะกฎหมายห้าม
พูดง่ายๆ ในต่างประเทศนั้น ก็ยังปรับกฎหมายกันไม่ทันเรื่องสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และก็ยังมองยานพาหนะนี้ในมุมที่แตกต่างกันออกไป
การขี่จักรยาน vs การขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า บนถนน อันไหนอันตรายกว่ากัน?
แต่ถ้าพิจารณาสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ ความเร็วที่สามารถทำได้จะอยู่ที่ 20-25 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นอย่างมาก (ยกเว้นบางยี่ห้อ เช่น Ninebot Kickscooter ES2 ที่ติดแบตเตอรี่เสริมแล้วจะกลายเป็นวิ่งได้เร็วสุด 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับการขี่จักรยานทางไกล ที่มักจะขี่ด้วยความเร็วพอๆ กัน แต่ผมก็เห็นบางคนขี่จักรยานเร็วกว่าผมขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าอีกนะเออ ขี่ตามไม่เคยทันเลยเหอะ ฉะนั้น หากไม่นับความที่มันเป็นระบบไฟฟ้า มีมอเตอร์ขับเคลื่อน มันก็จะคล้ายๆ กับการขี่จักรยานบนถนนเราดีๆ นี่เองครับ

ถามว่ามันอันตรายไหม? ก็อันตรายพอๆ กับการขี่จักรยานบนถนนครับ ในความเห็นของผม ทั้งต่อตัวเอง ทั้งต่อรถคันอื่นๆ … ไม่สิ จริงๆ แล้วในบางด้าน อาจจะอันตรายน้อยกว่าจักรยานด้วย เพราะลักษณะของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า จะมีความคล่องตัวมากกว่าจักรยาน ที่จะมีขนาดใหญ่เทอะทะกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ในบางด้านก็จะมีอัตรายกว่าจักรยานเช่นกัน ซึ่งก็เป็นผลมาจากการออกแบบให้คล่องตัว และมีล้อที่เล็กกว่าจักรยานนั่นเอง (อ่านบล็อกเล่าประสบการณ์ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครของผม)
ส่วนถ้าถามผมว่า แล้วสภาพถนนในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดนี่ ขับขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแล้วจะปลอดภัยเหรอ ก็มีตัวอย่างจากรถจักรยานยนต์ให้ได้เห็นแล้วนี่นาว่าเกิดอุบัติเหตุได้ … ดูภาพจาก Facebook ที่มีคนแชร์เอาไว้ด้านบนโน่น

โดยส่วนตัวผมก็เคยล้มมาแล้วครับ ตอนสมัยยังขี่ MONOWHEELair ซึ่งเป็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแบบ OEM จากจีน ล้อเล็ก 5 นิ้ว โดนหลุมที่ไม่ทันระวัง เล่นเอาตัวลอยไปบนถนนเลยทีเดียว บาดแผลน่ะเหรอ ก็มีตรงข้อศอกแบบที่เห็นบนรูปด้านบน และมีตรงหัวเข่ากับฝ่ามือนิดหน่อยครับ คือ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามันวิ่ง 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง บาดเจ็บก็เลยประมาณจักรยานล้มครับ
แต่ถ้าถามผมนะ จักรยานยนต์ยังไงๆ ก็อันตรายกว่าอยู่ดีครับ ทั้งเรื่องที่ว่ามันเป็นยานพาหนะที่สามารถวิ่งบนช่องทางจราจรใดก็ได้ (สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขี่ได้ไม่เร็ว เลยต้องวิ่งชิดซ้ายขอบทางตลอด จะวิ่งออกเลนอื่นได้เฉพาะตอนรถติดไม่ขยับนั่นแหละ)
กฎหมายการจราจรทางบกมีอัพเดต แต่คงต้องมีอัพเดตอีก
จากที่ผมลองอ่านๆ กฎหมายต่างๆ ดู ต้องขอชมเชยว่าประเทศไทยมีการอัพเดตกฎหมายเกี่ยวกับรถและการจราจรทางบกพอสมควรทีเดียวครับ มีการคิดเผื่อถึงใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ มีการทำให้ครอบคลุมพวกจักรยานไฟฟ้า สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า (แม้จะไม่มีการเรียกชื่อตรงๆ) และรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว
ถามว่าในอนาคตต้องมีการอัพเดตให้ครอบคลุมสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และจักรยานไฟฟ้า (ทั้งแบบที่มีคันถีบช่วยถีบได้ และแบบที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าอย่างเดียว) เพื่อให้มีที่ยืนอยู่บนถนนบ้าง อย่างน้อยก็ระบุไปเลยว่าให้ขี่อยู่ช่องทางซ้ายสุดของช่องทางเดินรถอะไรแบบนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางในกรุงเทพมหานครบ้าง เพราะปัจจุบันการจราจรในกรุงเทพติดสาหัสมาก ผมออกจากบ้านที่พระราม 2 ไปทำงานที่สีลม ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าใช้เวลาราวๆ 40-45 นาที ถ้านั่งรถเมล์จะตกราวๆ 1 ชั่วโมง 15 นาที หรือนานกว่านั้น และเคยโหดสุดคือ 2 ชั่วโมงครึ่ง
แต่ตอนนี้ กฎหมายยังไม่มี ก็ขอให้คิดซะว่า สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ความเร็วไม่เกิน 25-30 กิโลเมตร/ชั่วโมง มันก็คือจักรยานที่ขี่บนถนนเราดีๆ นี่เองแหละครับ อาจจะมีไปโผล่บนฟุตบาธบ้าง แต่ผมเห็นในชุมชนสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเขาขอความร่วมมือ มีมารยาทในการขี่ คือ ถ้าปลอดคน ขี่ไม่เกิน 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง และหากมีคนเดินอยู่ ให้เปลี่ยนมาใช้ขาถีบให้สกู๊ตเตอร์เคลื่อนที่แทน ซึ่งผมว่าก็ยังดูโอเคดีอยู่ครับ
ไอ้ที่ผมเป็นห่วงมากกว่าคือ กฎหมายไทยยังไม่อัพเดตในเรื่องการจำกัดการนำเข้าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าประเภทที่มีความเร็วสูง เพราะผมเห็นมีขายกันเกลื่อนมากขึ้นแล้ว สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ขี่ได้เร็วแบบ 60-80 กิโลเมตร/ชั่วโมง พวกนี้ผมว่าอันตรายครับ อันตรายกว่ารถจักรยานยนต์อีก เพราะด้วยดีไซน์ของมันอะ