ถ้าให้ผมแนะนำ QNAP NAS สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปในระดับ Power user ประมาณนึง และภาคธุรกิจระดับ SMB (Small and Medium Business) แล้วละก็ ผมว่า TS-453Be นี่น่าจะเหมาะสมมากที่สุดครับ ด้วยสนนราคาที่อยู่ในเกณฑ์เอื้อมไหว เริ่มต้นที่ 22,220 บาท สำหรับรุ่นแรม 2GB และ 23,970 บาท สำหรับรุ่นแรม 4GB (ทั้งหมดเป็นราคารวม VAT แล้ว) โดยเจ้านี่มีสเปกที่พร้อมสำหรับงานต่างๆ ที่หลากหลาย และพร้อมขยับขยายได้เพิ่มอีกด้วย PCIe expansion slot
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์เป็น QNAP TS-453Be มาจาก QNAP Thailand ครับ แต่ความเห็นทั้งหมดในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมล้วนๆ ทาง QNAP Thailand ไม่ได้เข้ามากำหนดอะไรแต่อย่างใด ยกเว้นกรณีที่ผมให้ข้อมูลผิดพลาด เขาก็อาจจะมีทักมาแก้ไขบ้าง ส่วนแบรนด์ฮาร์ดดิสก์ที่ใช้ประกอบการรีวิวนี้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ QNAP ครับ แต่เป็นแบรนด์ที่ผมใช้เป็นประจำและใช้ในการทดสอบอุปกรณ์ต่างๆ ของผมเอง
ตัว TS-453Be นี่เป็นดีไซน์ใหม่ของทาง QNAP ที่ทำให้ดูทันสมัยมากขึ้นครับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการตัดฟีเจอร์บางอย่างที่หลายคนอาจจะไม่ได้ใช้ออกไป เช่น ไม่รองรับ SD card แล้ว ไม่มีฟีเจอร์ USB QuickAccess (เป็นฟีเจอร์ที่ช่วยให้เราสามารถเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับ QNAP NAS ได้โดยตรง ไม่ต้องเชื่อมต่อกับเครือข่ายใดๆ) และตัดเอาจอแสดงผลแบบ OLED ออกไป ซึ่งช่วยให้เจ้านี่สามารถทำราคาได้ถูกกว่า TS-453B ปกติร่วมครึ่งหมื่น ในสเปกด้านประมวลผลและรองรับ PCIe เหมือนกัน

ด้านหน้าของตัวเครื่อง จึงมีแค่ฝาพลาสติกที่ปิดถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ ปุ่ม Power ไฟ LED แสดงสถานะการทำงานของตัวเครื่อง LAN และ USB และก็มีพอร์ต USB 3.1 Gen 1 (หรือจะเรียกว่า USB 3.0 ก็ได้) และมีปุ่ม Quick copy ที่ใช้สำรองข้อมูลที่อยู่ใน External HDD ที่เสียบอยู่กับพอร์ต USB นี้เข้าไปใน QNAP NAS โดยอัตโนมัติ

ส่วนด้านหลังของ QNAP TS-453Be นี่ ที่เห็นเด่นชัดก็คือพัดลมขนาดใหญ่สำหรับระบายความร้อนให้กับตัวเครื่องและฮาร์ดดิสก์ มีพอร์ตเชื่อมต่อครบเครื่องมาก ไม่ว่าจะเป็นช่องเสียบไมโครโฟน 2 ตัว เผื่อใครอยากจะร้องคาราโอเกะ (แต่อยากบอกว่าเป็นฟีเจอร์ที่ผมว่า QNAP ก็ควรจะตัดออกนะ เพราะว่าคงไม่มีใครซื้อ QNAP NAS มาเพื่อร้องคาราโอเกะแน่ และแอปสำหรับใช้ร้องคาราโอเกะ ก็ไม่ใช่แอปยอดนิยมในหมู่คนร้องคาราโอเกะในประเทศไทยซักเท่าไหร่) แล้วก็มีช่องเสียบออดิโอไว้ต่อกับลำโพง
มีพอร์ต HDMI ให้ 2 พอร์ต เวอร์ชัน 1.4b ทั้งคู่ รองรับการแสดงผลที่ระดับ 4K 30Hz กับพอร์ต USB 3.1 Gen 1 มาอีก 4 พอร์ต เอาไว้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คีย์บอร์ด เมาส์ (ในกรณีที่เราจะใช้ HD Station) External HDD หรือแม้แต่จะต่อพริ้นเตอร์ (ใช่ครับ เราสามารถใช้ QNAP NAS เป็น Print server ได้ ถ้าอยากทำ) และมี Gigabit LAN มาให้อีก 2 พอร์ต ซึ่งตรงนี้ถือว่าน้อยกว่า TS-453A ที่เป็นรุ่นก่อนหน้า แต่นั่นคงเพราะว่าในระดับ SMB คงจะไม่มีใครได้ใช้ประโยชน์จากการมี Gigabit LAN เยอะระดับ 4 พอร์ตละมั้ง
และในขณะเดียวกัน TS-453Be นี่มีสล็อต PCIe มาให้อยู่ด้านบนครับ เอาไว้ใส่อุปกรณ์เสริมได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น 10GbE หรือ LAN แบบ 10 Gigabit เผื่อ SMB ไหนต้องการแบนด์วิธสูงๆ หรือแม้แต่การเพิ่ม SSD แบบ M.2 เข้าไป เพื่อทำ Cache acceleration ก็สามารถทำได้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ QNAP ในส่วนของ Storage accessories กับ Interface cards)

ส่วนเรื่องการติดตั้ง TS-453Be เพื่อใช้งาน ไม่ยุ่งยากเลย เพราะออกแบบมาเป็น Tooless ไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ ในการติดตั้งเพิ่มเติมเลย แค่เสียบปลั๊ก เอาฮาร์ดดิสก์ใส่ลงในถาด ซึ่งไม่ต้องขันน็อตใดๆ มันจะมีอุปกรณ์สำหรับยึดตัวฮาร์ดดิสก์มาให้แกะปิดง่ายๆ เลย
TS-453Be เป็น NAS แบบ 4-bay ที่ครบเครื่องสำหรับการใช้งานทั้งกับผู้ใช้ทั่วไป และผู้ใช้ในระดับธุรกิจ พอมี 4-bay ก็ทำให้เริ่มต้นที่ฮาร์ดดิสก์แค่ 2 ลูกทำ RAID1 ได้ เพื่อให้ได้ความสามารถในการป้องกันข้อมูลสูญหายกรณีที่ฮาร์ดดิสก์เสีย และค่อยเพิ่มฮาร์ดดิสก์เข้าไป อัพเกรดเป็น RAID5 ในภายหลัง และเพิ่มความจุได้สูงสุดถึง 30TB บน RAID5 ด้วยฮาร์ดดิสก์ที่ใหญ่สุดในปัจจุบัน (ลูกละ 10TB) ซึ่งน่าจะมาเกินพอสำหรับการเก็บข้อมูลแทบทุกรูปแบบแล้วละครับ (ผมดาวน์โหลดพวกรูปภาพและวิดีโอมาเก็บบน NAS อย่างต่อเนื่อง ผ่านไปสามปีกว่านี่ก็เพิ่งใช้เนื้อที่ไปไม่ถึง 10TB เลย

การติดตั้ง ก็เช่นเคย ไม่ยุ่งยากครับ มี Smart Installation Guide ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการตั้งค่าเบื้องต้นให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งชื่อ NAS กำหนดรหัสผ่านของ Admin และการตั้งค่าอื่นๆ เช่น พวก IP Address (จะเลือกกำหนดเอง หรือกำหนดผ่าน DHCP) และการรองรับบริการไฟล์ของระบบปฏิบัติการต่างๆ ทั้ง Windows Linux และ macOS
การติดตั้งใช้เวลาไม่นานเลยครับ จะมานานก็ตอนที่เราจะสร้าง RAID group มากกว่า แต่นั่นก็กินเวลาไม่กี่นาทีเช่นกัน นั่นก็คงเป็นเพราะว่าฮาร์ดดิสก์มันเริ่มจากว่างๆ ไม่มีข้อมูลอะไรนี่นะ จะเริ่มใช้เวลาก็อีกตอนที่จะก็อปปี้ข้อมูลมาเก็บไว้บน NAS ละนะ แต่ในระหว่างการติดตั้ง ถ้าอยู่ใกล้ๆ ตัว NAS ก็อย่าตกใจไปนะครับ มันมีการส่งเสียงแจ้งเตือนผลการดำเนินการเป็นระยะๆ เช่น พอเริ่มจะทำ RAID มันก็จะบอกว่าพูดว่า Initialize RAID อะไรแบบนี้ … อันนี้เป็นปกติครับ

สำหรับมือใหม่ QNAP เขามีเตรียมแอปต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มความสามารถใน NAS เอาไว้ที่ AppCenter แล้ว มีตั้งแต่เพิ่มความสามารถด้านการสำรองข้อมูล การทำ Home automation การพัฒนา IoT รวมไปถึงการเป็นมัลติมีเดียเซิร์ฟเวอร์สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปด้วย แอปที่ QNAP พัฒนาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Photo Station, Music Station หรือแม้แต่ Video Station ก็ช่วยให้เราบริหารจัดการไฟล์มัลติมีเดีย และสามารถเชื่อมต่อกับพวก Mobile device ต่างๆ ได้

หรือถ้าเกิดว่าแค่นั้นยังมีฟีเจอร์ไม่มากพอ ลองใช้ Plex Media Server ดูก็ได้ครับ เป็นแอปที่ผมว่าช่วยบริหารจัดการไฟล์หนังต่างๆ ใน NAS ได้ยอดเยี่ยมมากทีเดียว เพราะนอกจากจะสแกนพวกไฟล์หนังใน NAS และเอามาแสดงเป็นรายการหนังให้โดยอัตโนมัติได้แล้ว ยังสามารถดาวน์โหลดพวกข้อมูลและปกหนัง (รวมถึงซีรี่ส์ด้วย) มาให้ได้อีก และยังรองรับการสตรีมมิ่งไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ได้ โดยสามารถแปลงไฟล์ให้เหมาะสมเพื่อเล่นบนอุปกรณ์นั้นๆ ได้อีกด้วย และหากซื้อ Plex Pass ด้วย ก็จะสามารถ Sync เข้าอุปกรณ์เพื่อดูออฟไลน์ได้อีก

ใครที่มี Android TV หรือ Amazon Fire TV ก็สามารถดาวน์โหลดแอป QmediaTV นี่ไปติดตั้ง แล้วมันก็จะเชื่อมต่อกับ พวก Photo Station, Music Station และ Video Station ที่ติดตั้งบน QNAP NAS เพื่อให้เราสามารถเลือกรับชมรับฟังพวกไฟล์มัลติมีเดียบน NAS ได้ผ่าน Android TV หรือ Amazon Fire TV นี่สบายๆ

ในส่วนของภาคธุรกิจล่ะ? หลักๆ ก็จะมีเรื่องของการสำรองข้อมูล ซึ่ง TS-453Be นี่ก็สามารถให้บริการแบบครบวงจรได้ด้วย Hybrid Backup Sync ซึ่งในอนาคตพอ Hybrid Back Sync เวอร์ชัน 3 ตัวเต็มออกมาให้ใช้แล้ว ผู้ดูแลระบบจะได้อานิสงส์ในแง่ของความสามารถที่เพิ่มขึ้นมาอย่างเต็มที่เลย โดยเฉพาะฟีเจอร์ที่น่าสนใจที่สุดคือ QuDedup ที่ช่วยในเรื่องของการทำ Dedulplication ข้อมูลที่ทำการแบ็กอัพ เพื่อให้ขนาดของข้อมูลลดลงอย่างมากตั้งแต่ต้นทาง ช่วยให้ประหยัดแบนด์วิธและเวลาในการสำรองข้อมูล (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของ QNAP)
สำหรับ SMB ที่มีงบประมาณจำกัด TS-453Be ตัวนี้ มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีพอที่จะเอาไปใช้ทำเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ ได้อีกมากมาย ไม่ใช่แค่เป็น File server เท่านั้น แต่จะเอามาทำ Web server ง่ายๆ หรือแม้แต่เป็น Container สำหรับเว็บแอปพลิเคชันต่างๆ หรือทำ Virtualization จำลองเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องเอาไว้ใช้ก็ได้ครับ เพียงแต่อาจจะต้องอัพเกรดแรมกันหน่อย เพราะเจ้านี่มีจำหน่ายแค่ 2 รุ่น คือ แรม 2GB และ 4GB แต่ตามสเปกเขาก็เขียนว่าอัพเกรดได้สูงสุด 8GB แต่จากประสบการณ์ของผม มันอัพไปได้ถึง 16GB สบายๆ แค่ซื้อแรม 8GB แบบ DDR3L (1.35V) มาสองตัวเพื่อติดตั้ง (อ่านบล็อกเรื่องการอัพเกรดแรมให้ QNAP NAS ของผม)

และอย่างที่บอก ถ้าสเปกที่ TS-453Be ให้มายังไม่พอ ก็สามารถเพิ่มได้ด้วย PCIe expansion card ไม่ว่าจะเป็น M.2 SSD, USB 3.1 Gen 2, SAS, 10GbE LAN หรือแม้แต่ Wireless ซึ่งทำให้ TS-453Be สามารถรองรับการทำงานในรูปแบบต่างๆ ได้เพิ่มอีกมาก เช่น งานที่ต้องการแบนด์วิธสูงๆ ก็ใส่ 10GbE เข้าไปสิ หรือถ้าต้องการให้เข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว ก็อาจจะทำ Cache acceleration หรือถ้าต้องย้ายไปติดตั้งในที่ที่ LAN ไปไม่ถึง หรือออฟฟิศไม่เคยได้เดิน LAN เอาไว้ ก็ใส่ Wireless card เข้าไปก็ได้
บทสรุปการรีวิว QNAP TS-453Be
ถ้าต้องการ QNAP NAS ประสิทธิภาพดี พร้อมใช้งานอย่างหลากหลาย และสามารถขยับขยายเพิ่มเติมในอนาคตได้อีก TS-453Be คือเจ็บแต่จบสำหรับ SMB หรือแม้แต่ผู้ใช้งานทั่วไปแล้วครับ สนนราคาเริ่มต้น 22,200 บาท หลายคนอาจจะรู้สึกว่าแพง (ยังไม่รวมฮาร์ดดิสก์นี่นะ) แต่อยากบอกว่าเจ้านี่มีอายุการใช้งานหลายปีนะครับ ผมเองใช้ TS-453A มาสามปีแล้ว เปิดแทบจะ 24/7 เลย ก็ยังไม่มีปัญหาอะไรมากวนใจ (ไม่ได้อยู่ในห้องแอร์ด้วย) เมื่อหารค่าเสื่อมแล้ว ผมว่าคุ้มค่าครับ