วันก่อนตอนที่รีวิว WD My Passport Ultra for Mac ไป ทำให้รู้สึกว่า เออ ควรจะเขียนบล็อกสอนเอาไว้เหมือนกัน ว่าถ้าเกิดเผลอไปซื้อฮาร์ดดิสก์ หรือเจอฮาร์ดดิสก์ ที่ถูกฟอร์แมตมาสำหรับใช้งานบน macOS แล้วเราจะทำยังไงให้ใช้บนระบบปฏิบัติการ Windows ได้ หรือในกรณีที่เราต้องการจะให้ฮาร์ดดิสก์มันใช้เขียนและอ่านได้บนทั้ง Windows และ macOS เนี่ย จะทำยังไง
เผื่อใครไม่ทราบ ปกติแล้วถ้าเกิดจะฟอร์แมตให้ฮาร์ดดิสก์ใช้งานบน Windows ได้แบบเต็มเหนี่ยว ไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดไฟล์หรือขนาดพาร์ติชัน รองรับฟีเจอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงให้กับไฟล์ การเก็บ Change journal เอาไว้ เพื่อให้สามารถกู้คืนได้ในกรณีที่เครื่องคอมพิวเตอร์แฮงก์ กำหนดโควต้าเนื้อที่เก็บข้อมูล และอื่นๆ อีกมากมาย ก็ต้องฟอร์แมตเป็น NTFS แต่ว่า macOS จะอ่านข้อมูลจากไฟล์ระบบแบบ NTFS ได้ แต่จะเขียนข้อมูลไม่ได้
แต่ถ้าเกิดจะใช้บน macOS มันก็จะมี APFS เป็นตัวหลัก และถ้าใช้กับพวก External HDD หรือ Flashdrive ก็จะเป็น HFS+ ซึ่งมันก็จะมีฟีเจอร์หลายๆ อย่าง ที่ใช้บน macOS เช่นกัน แต่ก็อีกเช่นกัน (จริงๆ คือ หนักกว่าด้วย) คือ Windows อ่านและเขียนข้อมูลลงบนดิสก์ที่เป็น APFS หรือ HFS+ ไม่ได้เลยครับ ฉะนั้น ในส่วนของ External HDD หรือ Flashdrive ต่างๆ ที่อยากจะใช้ร่วมกันระหว่าง Windows และ macOS นั้น ก็จะต้องทำการฟอร์แมตให้เป็นไฟล์ระบบ (File system) ตระกูล FAT ครับ ซึ่งเมื่อก่อนที่นิยมใช้ก็คือ FAT32 (และปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่) แต่มันก็มีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง เช่น ขนาดของ Volume ใหญ่สุดได้ไม่เกิน 2TB (ถ้าเกิดจะใช้ฮาร์ดดิสก์ 3TB ก็ต้องแยกพาร์ติชันเป็น 2TB กับ 1TB ไรงี้) ขนาดไฟล์เองก็ใหญ่สุดได้ไม่เกิน 4GB แต่ปัจจุบันเขามี exFAT ที่เป็นไฟล์ระบบใหม่ล่าสุด ที่ฟอร์แมตแล้วก็จะใช้ได้ทั้ง Windows (ตั้งแต่ Windows 7 ขึ้นไป หรือถ้าเป็น Windows Vista ก็ต้องติดตั้ง Service Pack 2) และ macOS (10.6.6 หรือใหม่กว่า)
ฉะนั้น ง่ายสุดเลยนะครับ ก็ฟอร์แมตเป็น exFAT ซะ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งบนระบบปฏิบัติการ Windows และ macOS นั่นแหละ ในบทความนี้ผมขอใช้หน้าจอของ Windows 10 และ macOS Mojave (10.14.6) เป็นตัวอย่างนะครับ
ถ้าเกิดฮาร์ดดิสก์ถูกฟอร์แมตมาเป็น NTFS หรือ FAT16/FAT32 อยู่ก่อนล่ะ?
สำหรับ macOS แล้ว ไม่ว่าจะ NTFS หรือ FAT16/FAT32 ก็มองเห็นดิสก์ครับ ฉะนั้น เปิด Disk Utility ขึ้นมา คลิกที่ฮาร์ดดิสก์ที่ต้องการจะฟอร์แมต แล้วก็คลิกปุ่ม Erase (อยู่ใต้คำว่า Disk Utility ด้านบน) จากนั้นก็ตั้งชื่อไดร์ฟซะ แล้วเลือก Format เป็น ExFAT แล้วคลิกปุ่ม Erase ครับ แป๊บเดียวจบ ง่ายสุดๆ

สำหรับระบบปฏิบัติการ Windows นี่คือง่ายครับ ไปที่ Windows Explorer แล้วคลิกขวาตรงไดร์ฟที่เราต้องการจะฟอร์แมตเป็น exFAT ครับ จากนั้นเลือกตัวเลือก Format… ครับ จากนั้นก็เลือก File system เป็น exFAT และตั้งชื่อด้วย Volume label แล้วคลิก Start ได้เลย แค่นี้ก็ฟอร์แมตเสร็จเรียบร้อยแล้ว

เลือก Allocation unit size เป็นเท่าไหร่ดี?
สังเกตดีๆ จะเห็นว่าตอนฟอร์แมตมันมีให้เลือกด้วยว่า Allocation unit size จะเป็นเท่าไหร่ดี ซึ่งมีตัวเลือกตั้งแต่ 256KB ยัน 32,768KB ครับ โดยค่าปริยายคือ 1,024KB แต่จริงๆ แล้ว ควรจะเลือกเป็นเท่าไหร่ดีล่ะ? คำตอบคือ อยู่ที่การใช้งานครับ Allocation unit size มันคือ หน่วยที่เล็กที่สุดที่เอาไว้เก็บไฟล์ครับ คิดซะว่ามันคือขนาดของกล่องก็แล้วกัน เวลาคอมพิวเตอร์จะเก็บไฟล์อะไรก็ตาม มันก็จะเอาข้อมูลมาใส่ไว้ในกล่องนี่ ไฟล์ขนาดใหญ่แค่ไหน ก็จะถูกหารด้วยขนาดของ Allocation unit size ครับ แต่ถ้าหารไม่ลงตัว เศษที่เหลือ มันก็จะกินเนื้อที่ของ Allocation unit size ไปฟรีๆ นั่นเอง
สมมติว่าเรามีไฟล์ขนาด 2,048KB แล้วเรากำหนด Allocation unit size ให้เป็น 1,024KB ก็เท่ากับว่าเราจะเก็บข้อมูลไฟล์นี้ลงใน 2 กล่องพอดีๆ แต่ถ้าเกิดว่าเรามีไฟล์ขนาด 1,920KB ล่ะ? มันก็ยังเก็บไว้ 2 กล่องพอดีๆ เช่นกันครับ นั่นแสดงว่าเราจะสิ้นเปลืองเนื้อที่ไปราวๆ 896KB ครับ
ฉะนั้น จะตั้งขนาดแค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าเรากะเอาไว้ว่าจะเก็บไฟล์แบบไหน ถ้าไฟล์ขนาดเล็ก ก็ตั้ง Allocation unit size ไว้เล็ก แต่ถ้าไฟล์มีขนาดใหญ่เป็นส่วนใหญ่ ก็ตั้ง Allocation unit size เอาไว้ใหญ่ๆ นั่นเอง แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเกิดตั้งไว้เล็ก ก็จะมีจำนวน Block อยู่เยอะ และส่งผลให้เวลาฮาร์ดดิสก์จะต้องค้นหาข้อมูลก็จะใช้เวลานานกว่ากรณีที่ตั้ง Allocation unit size เอาไว้ใหญ่กว่า มีจำนวน Block น้อยกว่า
ทว่า ด้วยเทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์ปัจจุบัน ความจุมันเยอะมากครับ และความเร็วในการทำงานก็รวดเร็ว จนคนทั่วไปไม่ต้องไส่ใจเรื่อง Allocation unit size แล้ว เลือกเป็น Default ไปเลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นสายฮาร์ดคอร์ ที่ต้องการเค้นประสิทธิภาพสุดๆ ก็อาจจะอยากตั้งค่าให้ถูกใจล่ะนะ
ถ้าเกิดฮาร์ดดิสก์ถูกฟอร์แมตมาเป็น HFS+ อยู่ก่อนล่ะ?
ถ้าคุณมีเครื่อง Mac วิธีการก็แบบเดียวกับกรณีของการฟอร์แมต NFTS หรือ FAT16/FAT32 ให้เป็น ExFAT ครับ คือ ไปที่ Disk Utility แล้วก็คลิกที่ดิสก์ที่ต้องการจะฟอร์แมต แล้วคลิก Erase ให้เป็น ExFAT นั่นแหละ

แต่ถ้าเกิดคุณใช้ระบบปฏิบัติการ Windows อยู่ คุณต้องไปที่ Disk Management ก่อน (บน Windows แค่พิมพ์ค้นหาได้เลย มันจะอยู่ในหมวดหมู่ Settings > Create and format hard disk partitions) ถ้าเปิดมาแล้ว เราจะเห็นฮาร์ดดิสก์ที่เราเสียบไปครับ เราต้องดูก่อนนะว่าอันไหนเป็นอันไหน อย่างกรณีตัวอย่างในรูปด้านล่าง Disk 0 เป็นฮาร์ดดิสก์ในเครื่องโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook S ของผม ส่วน Disk 1 คือ WD My Passport Ultra for Mac 4TB ที่ผมรีวิวไปเมื่อวันก่อนนั่นเอง

จะเห็นว่ามันถูกแบ่งออกเป็น 3 Partition ซึ่งจะมี 200MB เป็น EFI System Partition และ 129MB เป็น Unallocated ส่วนที่เราจะต้องลบทิ้งคืออันที่เป็น 3,725.67GB ที่เป็น Primary Partition ครับ ตัว Disk Management ของ Windows จะมองเห็นฮาร์ดดิสก์ มองเห็นพาร์ติชัน แต่ว่าใน Windows Explorer จะมองไม่เห็นไดร์ฟอะไรเลยครับ

ฉะนั้น สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ กำจัดพาร์ติชันเดิมที่เป็น HFS+ ก่อนครับ ถ้ามีข้อมูลอะไรอยู่ในนี้ ก็อปปี้ไปไว้ที่อื่นก่อนนะ จากนั้น คลิกขวาตรงพาร์ติชันที่เราจะลบ จากนั้นเลือก Delete Volume… ครับ มันจะถามว่า The selected partition was not created by Windows and might contain data recognized by other operating systems. Do you want to delete this partition? หรือแปลตรงๆ คือ พาร์ติชันที่เลือก(จะลบ)ไม่ได้ถูกสร้างโดย Windows และอาจมีข้อมูลที่ระบบปฏิบัติการอื่นยังอ่านได้ ต้องการจะลบพาร์ติชันทิ้งไหม … อย่างที่บอกครับ ถ้ามีให้ก็อปปี้ข้อมูลออกไปก่อน ถ้ามั่นใจว่าไม่มีข้อมูลแน่ๆ แล้ว (หรือมีข้อมูล แต่เราไม่ต้องการแล้ว เพราะสำรองข้อมูลออกไปแล้ว) ก็คลิก Yes เลย

พอทำเรียบร้อย มันก็จะกลายเป็น Unallocated อันใหญ่ครับ คลิกขวา แล้วเลือก New Simple Volume… เพื่อสร้างพาร์ติชันใหม่ ซึ่งการเลือกตัวเลือกนี้ เราจะได้ฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์ให้เป็น exFAT ได้ โดยขั้นตอนเริ่มจาก หน้าจอแรก กำหนดขนาดของพาร์ติชัน ซึ่งในกรณีที่เราต้องการใช้เป็น External HDD ละก็ ทำเป็นพาร์ติชันเดียวจบก็ง่ายครับ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็ไม่ต้องกำหนดอะไร คลิก Next ไปเลย

ถัดมาก็คือการกำหนดไดร์ฟ ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก คลิก Next ไปได้ออีกเช่นกัน และสุดท้าย คือการฟอร์แมตพาร์ติชัน ให้เราเลือก Format this volume with the following settings แล้วเลือก File system เป็น exFAT จากนั้น ก็ตั้งชื่อได้ที่ Volume label ซึ่งในที่นี่ ผมตั้งเป็น WD4TB ครับ และถ้าเกิดเราจะใช้เอง ก็ติ๊กถูกตรง Perform a quick format เอาไว้ แล้วคลิก Next ครับ จากนั้นที่หน้าจอถัดไปที่จะเป็นการสรุปการตั้งค่าของเรา เราก็แค่คลิก Finish

แค่นี้ พอเราดูที่หน้าจอ Disk Management เราจะเห็นว่า Disk 1 มันกลายเป็น exFAT แล้ว แบบเต็มๆ ไม่มีส่วนที่เป็น Unallocated แล้ว และถ้าเราไปที่ Windows Explorer ก็จะเห็นฮาร์ดดิสก์ตัวนี้เป็นไดร์ฟ D ครับ แค่นี้ฮาร์ดดิสก์ตัวนี้ก็เอาไปใช้กับ macOS ด้วยได้แล้ว