ถ้าให้ผมเลือกแนะนำฮาร์ดดิสก์ซักยี่ห้อ ผมก็ขอเลือกแนะนำ WD หรือ Western Digital นี่แหละครับ นี่ล่าสุดเขาเพิ่งออกตัว WD My Passport Ultra ตัวใหม่ ความจุ 1TB, 2TB และ 4TB มา โดยมีทั้งเวอร์ชันสำหรับ Windows และ macOS ครับ เพียงแต่เวอร์ชัน for Mac จะมีแค่ 2TB กับ 4TB ให้เลือกเท่านั้น ผมก็ขอถือโอกาสเอาตัว 4TB มารีวิวให้ได้อ่านกันว่าเจ้านี่มีดียังไงบ้าง
ออกตัวล้อฟรีก่อน
บทความครั้งนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อ WD My Passport Ultra for Mac มาจาก WD Thailand ครับ แต่เนื้อหาทั้งหมดภายในบล็อกตอนนี้เป็นความเห็นของผมล้วนๆ โดยที่ WD ไม่ได้มีการเข้ามากำหนดอะไรใดๆ ทั้งสิ้น และตัวผมเองก็เป็นผู้ใช้งานฮาร์ดดิสก์ WD มาตั้งกะสมัยมัธยมแล้ว (ถึงได้ยินดีที่จะรีวิวของยี่ห้อนี้อย่างเต็มใจ) ดังนั้นความเห็นของผมอาจเอนเอียงไปบ้าง ในฐานะคนที่นิยมใช้ของยี่ห้อนี้นะครับ
แกะกล่อง WD My Passport Ultra for Mac จะเห็นว่าดีไซน์ของเจ้านี่ยังคงสไตล์เดิม คือเป็น Metal design ครับ ตัวฝากล่องด้านนึงจะเป็นโลหะ แต่อีกด้านจะเป็นพลาสติก มี Interface สำหรับการเชื่อมต่อเป็น USB-C ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเริ่มมาตรฐานใหม่ จากเมื่อก่อนที่จะเป็น MicroUSB Type B ครับ แต่ในแง่ของความเร็วนั้น เบื้องต้นผมยังไม่คิดว่าเราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะว่าตัวฮาร์ดดิสก์ยังเป็นแบบเดิมอยู่ ซึ่งความเร็วเต็มที่ก็อยู่แถวๆ 130-160MB/s อยู่แล้ว

นอกเหนือจากช่องเสียบที่เป็นพอร์ท USB-C แล้ว ก็มีไฟ LED สำหรับแสดงสถานะการทำงานของฮาร์ดดิกส์เท่านั้นแหละครับ แต่เราสามารถสั่งปิดหรือเปิดได้จากแอป WD Discovery ครับ

ตัวสาย USB ที่แถมมาให้ด้วย เป็นแบบ USB-C ครับ แต่หากต้องเสียบกับเครื่อง MacBook รุ่นเก่าที่ไม่มี USB-C หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ยังไม่มี USB-C ก็สามารถเอาหัวแปลงมาเสียบได้ แปลงจาก USB-C เป็น USB-A ที่เป็นหัวแบบดั้งเดิม
WD My Passport Ultra for Mac ต่างจาก for Windows ตรงไหน?
ตัว WD My Passport Ultra มันมีเวอร์ชันสำหรับ macOS และ Windows ครับ หลายคนก็อาจจะงงว่า แล้วสองอันนี้มันต่างกันตรงไหน คำตอบก็คือ ตัว for Mac มันจะถูก format มาเป็น HFS+ มาให้ (ซึ่ง Windows อ่านและเขียนไม่ได้) ส่วน for Windows มันจะเป็น NTFS ครับ (ซึ่ง macOS อ่านได้ แต่เขียนไม่ได้) นอกจากนี้ ตัว for Mac จะเริ่มต้นที่ความจุ 2TB แต่ตัว for Windows เริ่มต้นที่ 1TB ครับ
ลองใช้ WD My Passport Ultra for Mac
เอาล่ะ ก็ได้เวลาลองใช้เจ้านี่กันละครับ เราไม่ต้องใช้เครื่อง Mac รุ่นล่าสุดก็ได้ เพราะว่าตัวฮาร์ดดิสก์ความเร็วตามสเปกคือราวๆ 130MB/s เท่านั้น แบนด์วิธจากพอร์ต USB 3.1 Gen 1 (5Gbps หรือสูงสุด 625MB/s) ถือว่าเหลือเฟือครับ ด้วยความที่มีการฟอร์แมตมาเป็น HFS+ อยู่แล้ว ก็เลยเสียบปุ๊บ พร้อมใช้งานได้เลย ภายในไดรฟ์จะมีไฟล์มาให้อยู่แล้วสองไฟล์ คือ ตัวติดตั้งแอป WD Discovery สำหรับ mac และสำหรับ Windows

ตัวแอป WD Discovery นั้นไม่ได้ออกแบบมาแค่สำหรับ My Passport Ultra เท่านั้นหรอกนะครับ แต่รองรับฮาร์ดดิสก์ของ WD ทุกตัว รวมถึงอุปกรณ์ที่เป็น WD My Cloud ด้วยเลย แอปนี้แอปเดียว บริหารจัดการทุกอุปกรณ์ของ WD ได้เลย และภายในแอป เราก็จะเลือกติดตั้งได้อีก 2 แอปเพิ่มเติม คือ WD Drive Utilities และ WD Security
- WD Drive Utilities จะมีเครื่องมือให้เราหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การทดสอบไดร์ฟ (Drive status check), การสแกนไดร์ฟแบบรวดเร็ว เพื่อดูว่ามีปัญหาไหม (Quick drive test) และการทดสอบแบบเต็มรูปแบบ (Complete drive test) ซึ่งเอาไว้ตรวจสอบไดร์ฟเพื่อดูว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ และช่วยให้เราฟอร์แมตไดร์ฟได้อีกด้วย
- WD Security เอาไว้เข้ารหัสข้อมูลภายในดิสก์ แล้วล็อกด้วยรหัสผ่าน เพื่อให้มั่นใจว่าแม้ใครจะได้ฮาร์ดดิสก์เราไป ก็จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในนั้นได้ มันจะเข้ารหัสแบบ AES-256 bit ครับ ข้อควรระวังคือ ถ้าลืมรหัสผ่าน ก็บ๊ายบายเลยนะข้อมูล แต่ยังมีข้อดีตรงที่ว่า ใน WD Discovery เราสามารถตั้งได้ว่า ถ้าเกิดเสียบฮาร์ดดิสก์กับเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนี้แล้ว ให้ปลดล็อกเลย แบบนี้ก็ปลอดภัยน้อยลงหน่อย แต่ก็หมดห่วงเรื่องลืมรหัสผ่านไปได้เปลาะนึง

ลองทดสอบความเร็วในการเขียนและอ่านข้อมูลดูบ้างครับ ความเร็วในการอ่านอยู่ที่ 117MB/s และความเร็วในการเขียนอยู่ที่ 110MB/s ครับ แอบรูปสึกว่ามันช้ากว่าสเปกไปพอสมควรเลยนะเนี่ย ผมลองทดสอบอยู่หลายหน ความเร็วก็ประมาณนี้ตลอดอะ อาจจะเป็นเพราะผมเป็น MacBook รุ่นเก่า แล้วเชื่อมต่อกับ WD My Passport Ultra ผ่านตัวแปลง USB-A
ลองเอามาใช้กับ Windows ดูบ้างครับ … การที่ฟอร์แมตมาเป็น HFS+ มา ทำให้ Windows อ่านข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ไม่ได้ แต่ตัว Windows Disk Management จะเห็นตัวฮาร์ดดิสก์นะครับ ถ้าเราอยากจะอ่านข้อมูลในฮาร์ดดิกส์ที่เป็น HFS+ บน Windows เรามีสองวิธีหลักๆ เลย คือ ดาวน์โหลดและติดตั้งไดร์เวอร์สำหรับ HFS+ ซึ่งมียี่ห้อที่แนะนำกันหลักๆ คือ Paragon Software และ MacDrive ครับ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 680 บาท ไปยันพันกว่าบาทเลย แต่ซอฟต์แวร์สองตัวนี้ จะทำให้เราสามารถอ่านและเขียนข้อมูลได้เลย และสะดวกมากๆ แต่ถ้าจะอ่านข้อมูลเพียงอย่างเดียว ก็ไปดาวน์โหลด Apple HFS+ Driver package มาจาก Mac Rumors แล้วติดตั้งได้ตามวิธีการในเว็บครับ
แต่ในกรณีของผม ผมทดสอบง่ายกว่านั้น (ฮา) นั่นก็คือ ไปที่ Windows Disk Management แล้วลบ Volume ทิ้ง สร้าง Volume ใหม่ แล้วฟอร์แมตเป็น exFAT ไปเลยครับ แค่นี้ก็ใช้งานได้สบายแล้ว และที่สำคัญคือ exFAT นี่ใช้ร่วมกับ macOS ได้ด้วย ทั้งอ่านและเขียน สะดวกกว่าเยอะ
แล้วทำไมเขาไม่ใช้ exFAT ไปเลยล่ะ?
ก็เพราะว่า exFAT มันยังไม่ดีเท่า APFS หรือ HFS+ น่ะสิครับ แม้ว่ามันจะแก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดในเรื่องขนาดไฟล์และขนาดของพาร์ติชันแล้วก็ตาม แต่ exFAT นั้นมีโอกาสเกิด File fragmentation ได้ง่ายกว่า และพวกฟีเจอร์หลายๆ อย่าง รวมถึง Metadata ที่ macOS ใช้ ก็ไม่มีด้วย ฉะนั้น หากต้องการใช้กับ macOS ละก็ ยังไงซะ ฟอร์แมตมาเป็น HFS+ ก็ดีที่สุดแล้ว

ผมลองทดสอบด้วย CrystalDiskMark 6.0.2 x64 ได้ความเร็วในการอ่าน 131MB/s และความเร็วในการเขียน 122MB/s ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับสเปกที่ผมคาดเอาไว้ แต่ผมตั้งข้อสังเกตกับผลการทดสอบแปลกๆ (เช่นเคย ผมลองหลายๆ หนก็ได้ผลเหมือนเดิม) คือ ในการทดสอบการเขียนแบบ 4KiB ทั้งแบบ Q8T8, Q32T1 และ Q1T1 ซึ่งเป็นการทดสอบที่โหดกว่า Sequential มาก จึงไม่แปลกที่ความเร็วจะตกลงมาเหลือแถวๆ 10MB/s แต่ว่าน่าแปลกตรงที่ความเร็วในการอ่านมันตกลงไปเหลือ 0.5MB/s นี่สิ ไม่น่าจะเป็นไปได้ครับ
บทสรุปการรีวิว WD My Passport Ultra 4TB
เดี๋ยวนี้ราคาของฮาร์ดดิสก์ไม่แพงแล้วครับ 4TB นี่ สนนราคาค่าตัว 3,790 บาท เองด้วยซ้ำ ผมเพิ่งไปซื้อ WD My Passport แบบปกติ 2TB มา ก็ 1,890 บาท (ถ้าซื้อออนไลน์ก็ 1,790 บาท) เรียกว่าเจ้านี่แพงกว่าเล็กน้อยเท่านั้นเอง แต่ได้ดีไซน์ Metal สวยเลยฮะ (ถ้าเป็น My Passport ปกติ จะเป็นพลาสติก) แต่ก็แล้วแต่ชอบจริงๆ นะ
ในแง่ของประสิทธิภาพ จากที่ทดสอบในเรื่องของความเร็วในการเขียนและอ่านข้อมูล ก็ได้ตามสเปกแบบที่มันควรจะเป็น ดีไซน์ที่กะทัดรัด พกพาสะดวก ความจุที่ใหญ่ถึงใจขนาดนี้ บอกได้เลยว่าคุ้มค่าน่าใช้มากครับ
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ WD My Passport Ultra for Mac