ณ วันแรกที่เจ้านี่ออกมา ผมก็ทักไปที่ร้านlnwGadget (อ่านว่า เทพแกดเจ็ต) เพื่อขอยืมมารีวิวทันทีครับ และก็ได้ใช้งานมันเรื่อยมาเกือบสองอาทิตย์แล้ว ทีนี้ก็ได้เวลาใส่คอมเม้นต์ให้ได้อ่านกันซะทีว่าเป็นยังไง แต่ต้องออกตัวล้อฟรีก่อนว่า ผมไม่ใช่สาย Action camera นะครับ ผมแค่ชอบถ่ายรูปเวลาเที่ยว และพยายามเลือกใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุดก็เท่านั้นเอง และผมก็ไม่ใช่กูรูด้านการถ่ายภาพซะด้วย เป็นมือสมัครเล่นล้วนๆ ครับ แต่ผมก็มองว่า แบบนี้แหละดีแล้ว เพราะคนที่เป็นมือสมัครเล่นเหมือนกัน แต่อยากจะหาซื้อมาลองเล่นดู จะได้รู้ว่ามันเหมาะกับความต้องการไหม
ออกตัวล้อฟรีก่อน
DJI Osmo Pocket ตัวนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจากร้าน lnwGadget แกดเจ็ตขั้นเทพ โดยกูรูเพื่อคนรักแกดเจ็ตที่แท้ทรู ครับ ไม่ได้ซื้อมาใช้ แต่ทางร้านก็ยินดีให้รีวิวกันแบบเต็มเหนี่ยว ไม่ต้องเกรงใจแบรนด์เลย ฉะนั้น ความเห็นของผมในที่นี้ เป็นความเห็นของผมเกือบทั้งหมดครับ แต่จะมีข้อมูลที่ได้จากการรีวิวของบล็อกเกอร์หรือสื่อท่านอื่นที่ผมหยิบมาฝากบ้าง แต่ผมจะใส่ลิงก์ต้นทางให้ เพื่อไปดูแบบเต็มๆ อีกที
ต้องขอขอบคุณร้าน lnwGadget แบบจริงๆ จังๆ มาก เพราะให้ยืมมาแบบรวดเร็วมาก ชนิดเรียกว่าของเพิ่งเข้าก็ส่งมาให้ลองเลยครับ และเป็นแบบใหม่เอี่ยมแกะกล่องเลย แต่ต้องขออภัยที่ไม่ทำคลิปหรือภาพตอนแกะกล่องนะครับ ผมไม่ชอบทำอะไรแบบนั้นอ่ะ เสียเวลา (ฮา)

กล่องของ DJI Osmo Action ก็เรียบง่ายดีครับ แต่เหมือนจะถูกออกแบบมาให้ใช้แล้วทิ้งอะ เพราะพอแกะสติกเกอร์ออกแล้วเปิดกล่องดู มันจะปิดให้สนิทอีกไม่ได้ ยกเว้นจะเอาสก็อตช์เทปมาปิด ภายในกล่อง ก็จะมีอุปกณ์มาให้คือ ตัวกล้อง กรอบตัวกล้อง แบตเตอรี่ ตัวฐานยึดกล้องที่มีเทปกาว 3M เอาไว้ยึดกับหมวกกันน็อกหรือกระจกรถยนต์ และสายชาร์จที่เป็น USB Type-C ครับ

ตัวกล้อง DJI Osmo Action นี่ก็หน้าตาคล้ายๆ กับพวกกล้อง Action camera ในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น GoPro หรือ SJCAM อะครับ บอดี้เป็นอลูมิเนียม ทำออกมาได้ดีทีเดียว แต่ตัวเลนส์เป็นแบบวงกลม ดูแปลกตานิดนึง และที่น่าสนใจคือ มีจอ LCD ขนาด 1.4 นิ้ว แบบสี่เหลี่ยมจตุรัส อยู่ด้านหน้าด้วย เจ้านี่ถูกออกแบบมาให้ใช้เป็น Viewer เวลาที่จะถ่ายแบบเซลฟี่

ด้านขวาของตัวกล้อง จะเห็นปุ่มที่เขียนว่า QS อยู่ มันย่อมาจากคำว่า Quick Switch เป็นปุ่มอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนโหมดการถ่ายภาพ และด้านล่าง เป็นสวิตช์สำหรับเปิดฝาตัวเครื่อง ซึ่งจะมีสล็อตสำหรับใส่ MicroSD card และพอร์ต USB Type-C เอาไว้ชาร์จแบตเตอรี่อยู่ สังเกตว่าตรงฝามันจะมีซีลพลาสติกติดอยู่ด้วย

ด้านหลังของกล้อง เป็นหน้าจอแสดงผลขนาด 2.25 นิ้ว ความละเอียด 640×360 พิกเซล เป็นแบบจอสัมผัส เอาไว้ทั้งดูมุมถ่ายของกล้อง และตั้งค่าต่างๆ ได้ด้วย ตอนแกะกล่องมาใหม่ๆ จะมีแผ่นพลาสติกปิดอยู่ และบนแผ่นพลาสติกจะอธิบายปุ่มกดที่อยู๋ด้านบน ซึ่งประกอบไปด้วยปุ่ม Power/Display Off/Display On และปุ่มชัตเตอร์ครับ และด้านบนก็จะมีไมโครโฟน กับไฟแสดงสถานะอยู่ด้วย

ส่วนด้านล่างของกล้อง เห็นแล้วอย่าเพิ่งตกใจ เพราะ DJI เขาออกแบบมาให้ฝาปิดแบตเตอรี่มันอยู่ติดกับตัวแบตเตอรี่เลยครับ ฉะนั้นถ้าไม่ใส่แบตเตอรี่ กล้องก็จะเปลือยโล่งโจ้งแบบนี้ครับ อ้อ! เวลาใส่แบตเตอรี่ ตอนจะล็อกแบตเตอรี่ ต้องเช็กให้ดีนะครับว่าตัวล็อกแบตเตอรี่มันล็อกสนิทดีหรือยัง มันมีสองจุดนะครับ ล็อกไม่แน่นนี่อาจมีปัญหาตามมาได้ โดยเฉพาะ หากเอามันลงน้ำ
ลองเปิดใช้งาน DJI Osmo Action
ตอนผมได้มาลองตอนแรกๆ มันยังไม่มีแอปบน iOS (ซะงั้น) แต่ตอนนี้แอป DJI Mimo มันอัพเดตแล้ว ให้รองรับแล้วเรียบร้อย ฉะนั้นจะใช้ Android หรือ iOS ก็ไม่มีปัญหาครับ เราจะ Activate กล้อง ก็ต้องทำผ่านแอป DJI Mimo นี่แหละครับ
ใครที่ชินๆ กับ User Interface ของ GoPro Hero มาก่อน มาเจอเจ้านี่ ต้องทำความเข้าใจใหม่นิดนึงครับ
- การปาดจากด้านบนลงด้านล่าง จะเป็นการเรียกใช้เมนูการตั้งค่า ซึ่งมี 8 อย่าง ได้แก่ การเซฟการตั้งค่า, ปรับระดับความสว่าง, ล็อกหน้าจอ (ถ้าจะปลดล็อก ต้องสไลด์ปลดล็อกหน้าจอ), การตั้งค่าของตัวเครื่อง (Settings จริงๆ), การหมุนหน้าจออัตโนมัติ หรือ ล็อกการแสดงผลของหน้าจอ, เปิดปิด Spot metering, เปิดปิดการสั่งงานด้วยเสียง และสุดท้ายคือ การปรับการแสดงผลของจอด้านหน้า ว่าจะแสดงแบบเต็มจอ (แต่โดนตัดภาพด้านข้าง ซ้าย-ขวา ออกไป) หรือแสดงแบบไม่เต็มจอ (แต่จะได้ภาพครบถ้วน)
- การปาดจากขวามาซ้าย คือการเปิดเมนูการตั้งค่าประจำโหมดนั้นๆ ซึ่งหลักๆ เราจะปรับได้สองส่วน คือ
- เลือกเป็น Auto หรือ Manual สำหรับการปรับพวก EV, ISO
- เลือก White balance, เปิดปิด Dewarp (คือโหมดการลดการ Distortion ของภาพ เทียบเท่ากับโหมด Linear ของ GoPro) และรูปแบบของภาพ (JPEG อย่างเดียว หรือ JPEG + RAW)
- การปาดจากด้านล่างขึ้นด้านบน เป็นการตั้งค่าจำพวก อัตราส่วนการแสดงผล ความละเอียดในการบันทึกวิดีโอ ตั้งเวลาถ่าย ฯลฯ อะไรพวกนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในโหมดการถ่ายแบบไหน
- การปาดจากซ้ายมาขวา คือการเรียกดูไฟล์ภาพหรือวิดีโอที่เราถ่ายเอาไว้
ก็อย่างที่เห็น มันแตกต่างจากของ GoPro อยู่นิดนึงครับ ผมไม่ขอพูดว่าอันไหนใช้งานง่ายกว่าอันไหน เพราะแล้วแต่คนถนัดจริงๆ แต่ตอนผมทดลองใช้ ผมเอามาสลับใช้กับ GoPro Hero 7 Black แอบมึนไปเหมือนกัน แต่สิ่งที่ผมชอบก็คือ มันสามารถเซฟการตั้งค่าต่างๆ เอาไว้ได้ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานที่มีการเซ็ตค่าในบางโหมดเป็นการเฉพาะ แล้วมักจะเรียกใช้งานการตั้งค่านี้บ่อยๆ สะดวกขึ้นอย่างมาก ดีงามๆ

ปุ่ม Quick Switch ของเจ้านี่ก็มีฟีเจอร์ง่ายๆ แต่ได้ประโยชน์ นั่นก็คือ การที่เราสามารถเข้าไปปรับเลือกได้ว่า จะให้การกดปุ่มนี้แล้วมันจะสลับไปมาระหว่างโหมดอะไรบ้าง ซึ่งเหมาะมากสำหรับคนที่ใช้แค่บางโหมดเป็นหลัก ไม่ได้ใช้ทั้งหมด สามารถปรับตั้งได้ตามใจมากๆ อย่างเช่น ผมอาจจะชอบใช้อยู่แค่ Photo, Video และ Timelapse เท่านั้น ก็เลือกไว้แค่นี้พอ
ในแง่ของการถ่ายภาพและวิดีโอในโหมดต่างๆ นั้น DJI Osmo Action มีให้เลือกแบบนี้ครับ
- ถ่ายภาพนิ่ง: Photo, AEB (Auto Exposure Bracketing), Burst, Timed
- ถ่ายวิดีโอ: Video, HDR Video, Slow motion, Timelapse
AEB (Auto Exposure Bracketing) คืออัลไล?
เวลาที่เจอภาพที่มีทั้งจุดที่สว่างและมืดในภาพเดียว การจะถ่ายภาพในลักษณะแบบที่มี Dynamic range สูงๆ แบบนี้ ภายในภาพเดียว มันทำได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ทำไม่ได้ครับ กล้องดิจิทัลสมัยนี้ โดยเฉพาะกล้องสมาร์ทโฟน จะมีโหมดถ่ายภาพแบบ HDR (High Dynamic Range) มาให้ โดยตัวกล้องจะประมวลผลภาพแบบ HDR มาให้โดยอัตโนมัติในการถ่ายครั้งเดียว แต่ก็มีหลายๆ คนชอบที่จะประมวลผลภาพ HDR ด้วยซอฟต์แวร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่า ก็จะชอบถ่ายภาพแบบ “ถ่ายคร่อม” คือ ถ่ายภาพช็อตเดิมๆ หลายๆ หน แล้วเอามารวมกันด้วยซอฟต์แวร์ เพื่อให้ได้ภาพที่สามารถเก็บรายละเอียดได้ครบ
การถ่ายภาพด้วยโหมด AEB นี้ จะถ่ายภาพต่อเนื่องหลายภาพ โดยจะมีภาพที่แสงพอดี สว่าง และมืด เพื่อเอามาใช้ประมวลผล สร้างภาพแบบ HDR อีกที โดยตัวกล้อง DJI Osmo Action นี้ จะถ่ายภาพต่อเนื่อง 3 ภาพ ที่มีค่า Exposure ต่างกัน 1 stop ออกมา
นอกจากนี้ Quick Switch นี่ ถ้ากดค้างไว้ ก็จะเป็นการสลับใช้งานจอด้านหน้ากับด้านหลังด้วยนะครับ ซึ่งจอด้านหน้านี่คือเอาไว้แสดงภาพที่ได้จากกล้องครับ มีประโยชน์อย่างมากในการถ่ายเซลฟี่ เพราะช่วยให้เราจัดองค์ประกอบของภาพได้ดีมาก ไม่ต้องวุ่นวายเชื่อมต่อตัวกล้องกับสมาร์ทโฟน เพื่อใช้สมาร์ทโฟนในการดูมุมภาพ ซึ่งก็เปลืองแบตเตอรี่อีก ฟีเจอร์นี้เป็นอะไรที่ยังไม่มีในกล้อง Action camera ยี่ห้ออื่นๆ ครับ แต่ถ้า DJI มาแบบนี้ ผมว่าอนาคตเราคงได้เห็นยี่ห้ออื่นๆ ทำตามกันบ้างล่ะ

กรอบเคสสำหรับใส่กล้อง เพื่อเอาไปใช้ยึดกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ ก็เป็นอะไรที่คล้ายๆ กับของ Action camera ยี่ห้ออื่นๆ นั่นแหละครับ ตัวล็อกด้านบนก็ถูกออกแบบมาดี มีช่องว่างเว้นเอาไว้เพื่อไม่ให้บังไมโครโฟน และไฟ LED แสดงสถานะ แต่ผมยังไม่ได้ลองว่าอุปกรณ์เสริมต่างๆ ส่วนนึงก็เพราะมันออกมาใหม่ครับ เลยยังไม่มีอุปกรณ์เสริมจาก DJI ออกมาเท่าไหร่ แต่ด้วยความที่กล้อง Action camera มันก็มีขาตั้งเหมือนๆ กัน ก็เลยลองเอาไปเสียบกับพวกนั้นดูก่อนได้


ผมลองเอาไปใช้กับ Shorty ของ GoPro Hero 7 Black แล้ว แต่ดูจากเคสของ DJI Osmo ACtion มันถูกออกแบบมาไม่เหมาะกับ Shorty ของ GoPro อะ คือ เวลาใส่แล้ว มันทำให้ปรับกล้องก้มเงยได้ไม่ดีเท่าไหร่ (คือแทบไม่ได้เลยเหอะ) ผมลองเอามาใส่กับตัวจับจักรยานที่ซื้อมาจาก Lazada ก็ใส่ได้อยู่นะ แต่ใส่ยากนิดนึง ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นผลมาจากดีไซน์ที่ไม่ดีพอของตัวจับซะมากกว่า
คุณภาพของภาพถ่ายเป็นยังไงบ้าง? เป็นคำถามที่ดีครับ ลองไปถ่ายรูปมาแล้วในหลายๆ สถานการณ์ เช่น ถ่ายกลางแจ้งตอนฟ้าสวย ถ่ายกลางแจ้งตอนฟ้าครึ้ม ถ่ายกลางคืน ซึ่งภาพที่ได้มานั้น เรียกว่าอยู่ในเกณฑ์โอเค ภาพมีการ Distort ประมาณนึง แต่ไม่มากเท่าไหร่ ส่วนนึงคงเพราะว่าเลนส์มันแค่ 145 องศาเท่านั้นเอง และถ้าเกิดเปิดฟีเจอร์ Dewarp (เป็นฟีเจอร์ที่ให้ตัวกล้องช่วยปรับภาพเพื่อลด Distortion ที่เกิดจากเลนส์ แต่แลกมาด้วยการที่ภาพจะโดน Crop ไปประมาณนึง) ภาพที่ได้ก็ยังคงเป็นภาพมุมกว้าง แต่ไม่มี Distortion ซึ่ง DJI Osmo Action ถือว่าทำมาได้ดี อย่างไรก็ดี เห็นเขาว่าภาพจะโดน Crop ไปราวๆ 18% ครับ ภาพถ่ายตอนกลางคืน สังเกตได้ว่าจะมี Noise ไม่มาก แต่แลกมาด้วยโอกาสที่จะเบลอสูงครับ อย่างรูปถ่ายในเยาวราชด้านบน ถ่ายแบบออโต้ จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/30 วินาที และ ISO1600 เลยจะเห็นว่าภาพของรถตุ๊กตุ๊กด้านซ้ายมือ และคนที่เดินด้านขวามือ จะเกิด Motion blur ครับ แล้วก็ภาพที่ถ่ายได้นั้น สีสันไม่ค่อยสดสวยซักเท่าไหร่ อาจจะเหมาะกับการถ่ายแบบ JPEG+RAW แล้วค่อยเอามาปรับสีกันทีหลังมากกว่า และแอบเสียดายที่เจ้านี่ไม่มี GPS ในตัว ซึ่งก็ส่งผลให้เวลาถ่ายรูปเสร็จแล้ว ถ้าอยากจะฝังพิกัด GPS ลงไปในรูป ต้องใช้ซอฟต์แวร์ช่วยแยกต่างหาก ซึ่งไม่สะดวกซักเท่าไหร่
ทีนี้ลองเอาไปถ่ายวิดีโอดูบ้างครับ ก็ต้องยอมรับว่าระบบกันสั่นของกล้องทำงานได้ดีทีเดียว ผมลองเอาไปขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ายาวๆ 12 กิโลเมตร ใช้เวลาราวๆ 20 กว่านาที แล้วถ่ายวิดีโอแบบ 4K 30fps โดยเปิดฟีเจอร์ RockSteady (ฟีเจอร์กันสั่น) เอาไว้ ซึ่งรีวิวในต่างประเทศบอกว่า แต่ตัวกล้องจะทำการตัดวิดีโอออกมาเป็นไฟล์ทุกๆ 5 นาที 27 วินาที นะครับ เพราะขนาดของไฟล์จะถึง 4GB ซึ่งเป็นขีดจำกัดครับ … อ้อ! การถ่ายวิดีโอ 4K นี่ต้องใส่ MicroSD card ที่มีความเร็วในการอ่านสูงหน่อยนะครับ ตัวที่ผมใช้ทดสอบก็คือ SanDisk Extreme 64GB ครับ
ผมไม่ใช่คนที่ใช้งานกล้องของ DJI ผมก็เลยแอบมึนๆ กับวิธีการตั้งค่าวิดีโอแบบ Timelapse ของ DJI Osmo Action อยู่พอสมควร เพราะมันให้เลือกตั้งแยกเป็น เวลาที่เราต้องการจะถ่าย และระยะเวลา Interval ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิดีโอสอนการใช้งาน หรือแม้แต่ในตัว User Interface เอง ก็ไม่มีการอธิบายด้วยว่าอะไรคืออะไร ซึ่งสำหรับมือโปร หรือคนที่คุ้นเคยดีแล้ว ก็อาจจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่สำหรับมือใหม่หัดใช้ นี่คือ Learning curve ที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นเลยจริงๆ อะ ซึ่งเทียบกับ GoPro Hero 7 Black แล้ว อันหลังนี่มีการอธิบายว่าการตั้งค่าของ Timelapse มันหมายถึงอะไรเอาไว้ใน User Interface ด้วยเลย เลยทำให้เข้าใจง่ายกว่าเยอะมาก
อีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจของเจ้านี่คือ HDR Video ครับ เห็นว่าเป็น Action camera ตัวแรกของโลกที่ถ่ายวิดีโอแบบ HDR ได้ ซึ่งดูๆ แล้ว เป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้ถ่ายวิดีโอในสภาพที่มี Dynamic range สูงๆ ได้ดี ดูจากโพสต์ของเฮียเบสท์ ร้าน lndGadget ด้านบนได้ จะเห็นว่าตอนถ่ายวิดีโอย้อนแสงแล้ว DJI Osmo Action มันถ่ายภาพหน้าคนออกมาได้สว่างกว่า GoPro Hero 7 Black ครับ แล้วประกอบกับฟีเจอร์ D-Cinelike ที่เวลาถ่ายแล้ว สีจะดูจืดกว่าวิดีโอที่ถ่ายแบบปกติ แต่จะช่วยให้เรามาทำ Color grading (การจัดระดับสี) ได้ดีมาก ซึ่งใครที่ชอบถ่ายก่อน แล้วมาปรับแต่งตามใจทีหลัง จะรักฟีเจอร์นี้มาก
อย่างไรก็ดี มีคนตั้งข้อสังเกต (ดูวิดีโอด้านบน) ว่าฟีเจอร์ HDR ของ Osmo Action นี่ อาจจะไม่ใช่ HDR ที่แท้ทรูครับ เขาก็ให้เหตุผลมายาวเหยียดมาก และก็แสดงให้เห็นว่าเขาสามารถทำการปรับแต่งภาพของวิดีโอให้ได้อะไรที่คล้ายๆ กันกับ HDR Video ของ Osmo Action เลย อันนี้ก็เป็นความเห็นที่น่าสนใจเหมือนกันนะ ฟังหูไว้หู
แต่จากการเอาไปลองถ่ายวิดีโอดูในหลายๆ สถานการณ์แล้ว รู้สึกได้เลยว่าการใช้ DJI Osmo Action ให้ได้เต็มเหนี่ยวนี่ อาจจะต้องรออีกซักพักครับ เพราะอุปกรณ์เสริมนี่ยังต้องรอมันทยอยออกมาครับ ไม่ว่าจะเป็นพวกไม้เซลฟี่ รีโมทคอนโทรล หรือแม้แต่อุปกรณ์สำหรับต่อไมโครโฟนแยกออกมาจากตัวเครื่อง โดยเฉพาะใครที่อยากจะเอามาถ่ายแบบ Vlog ที่ต้องมีการพูดๆ ใส่เข้าไปในวิดีโอเนี่ย ถ้าไม่สะดวกที่จะใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงแยก แล้วค่อยเอามาจับใส่วิดีโอทีหลัง การต่อไมค์แยกได้นี่คือสำคัญมากครับ

DJI Osmo Action นี่จะใช้งานแบบไม่มีต้องแอปเลยก็ได้นะครับ เพราะการสั่งงานมันทำได้ผ่านตัวกล้องโดยตรงอยู่แล้ว และการจะเอาไฟล์ภาพและวิดีโอออกจากกล้อง ก็แค่ถอด MicroSD card ออกมาเสียบกับเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วก็อปปี้ไฟล์ออกมาก็ได้ แต่จากที่ผมได้ลองใช้แอป DJI Mimo ในการควบคุมกล้องแล้ว ผมรู้สึกว่า ถ้าทำได้ ผมก็อยากจะใช้แอปบนสมาร์ทโฟนควบคุมมากกว่าแฮะ เพราะ User Interface มันใช้ง่ายกว่าเยอะอะ (ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะหน้าจอมันใหญ่กว่า แสดงผลอะไรต่อมิอะไรได้มากกว่านี่นา) และการรับส่งข้อมูลระหว่างตัวกล้อง กับตัวสมาร์ทโฟน ก็ถือว่าทำได้ดีทีเดียว ภาพที่เราเห็นบนหน้าจอสมาร์ทโฟนนี่แทบจะเป็น Real-time อยู่แล้ว ตรงนี้ผมชอบ
ฟีเจอร์ในการสั่งงานด้วยเสียง (Voice control) ของเจ้านี่ ตัวไมโครโฟนไม่ใช่ไมค์ระยะไกลครับ ฉะนั้นเวลาสั่งงานก็ต้องอยู่ใกล้ๆ กับตัวกล้องพอสมควร ไม่อย่างนั้นก็ต้องตะโกนกันดังนิดนึงล่ะ การสั่งงานด้วยคำสั่ง Take photo (ถ่ายรูป), Start recording (เริ่มบันทึกวิดีโอ), Stop recording (หยุดบันทึกวิดีโอ) และ Shutdown (ปิดเครื่อง) ช่วยได้เยอะเวลาที่เราไม่สะดวกที่จะกดปุ่ม เช่น เวลาที่เราจะเริ่มขี่จักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า แล้วเราต้องการให้เริ่มถ่ายวิดีโอ หรือถ่ายภาพ อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเราอยู่ในที่ที่มีเสียงรบกวนประมาณนึงละก็ การสั่งงานด้วยเสียงนี่คือยากมากเลยแหละ และจากที่ผมลองวางกล้องเอาไว้เฉยๆ ผมสังเกตว่า บางทีกล้องมันก็ถ่ายรูปเองบ้างล่ะ ถ่ายวิดีโอเองบ้างล่ะ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีใครพูดคีย์เวิร์ดที่เป็นคำสั่งเลยนะ (ผมนั่งดูโคนันอยู่ชิลๆ)
บทสรุปการรีวิว DJI Osmo Action
ในขณะที่ GoPro เป็น Action camera ที่ครองตลาดอยู่ในปัจจุบัน การมาของ DJI Osmo Action ถือได้ว่าเป็นเรื่องดี เพราะเราก็จะมีตัวเลือกมากขึ้น และจริงๆ ก็ต้องบอกว่า DJI ทำออกมาได้ดีทีเดียวล่ะ มีฟีเจอร์หลายต่อหลายอย่างที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ในการใช้งาน ที่ขาใหญ่ผู้ครองตลาดยังไม่ได้ใส่มาให้เลยด้วยซ้ำ แน่นอนว่ายังมีข้อจำกัดอยู่บางอย่าง เช่นภาพ JPEG ที่ถ่ายได้ สีสันยังไม่สดเท่าไหร่ หรือไม่ได้มีการฝังพิกัด GPS มาให้ด้วยเลย เพราะตัวกล้องไม่มี GPS แต่รุ่นแรกก็ทำออกมาได้ดีแบบนี้แล้ว ก็ชวนให้ติดตามจริงๆ ว่ารุ่นสองจะเป็นยังไงต่อไป