QNAP NAS ก็เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนึงนั่นแหละครับ เพียงแต่มันเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อที่ใส่ข้อมูลเยอะๆ (เพราะใส่ฮาร์ดดิสก์ได้หลายๆ ลูก และทำ RAID ได้) และเอาไว้ให้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลด บริหารจัดการรูปภาพ บริหารจัดการไฟล์วิดีโอ ทำตัวเป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้น ต้องใช้ทรัพยากรทั้งส่วนของการประมวลผล แบนด์วิธของเครือข่าย และที่สำคัญมากๆ อีกอันก็คือ แรม (RAM) หรือหน่วยความจำของระบบนั่นเอง การมีหน่วยความจำเยอะ ก็ช่วยให้เปิดบริการต่างๆ พร้อมๆ กันได้มาก ก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ที่แรมเยอะๆ ก็เปิดแอป เปิดโปรแกรมพร้อมๆ กันได้เยอะนั่นแหละ
ทีนี้ตอนซื้อ QNAP NAS มา มันก็มีหลายรุ่นให้เลือกครับ บางรุ่นก็มีโมเดลที่มาพร้อมกับจำนวนแรมที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น TS-453A ที่ผมใช้อยู่ มันก็มีโมเดลที่มาพร้อมกับแรม 4GB กับ 8GB ซึ่งตอนซื้อมาตอนแรกอ่ะ เราก็อาจจะคิดว่าแค่ 4GB พอแล้ว แต่พอใช้ๆ ไป เฮ้ย เริ่มเอาไปทำโน่นทำนี่เพิ่ม แรมมันชักจะไม่พอ (เช่น บางคนก็เอาไปรันพวก Virtual Machine หรือทำ Container เอาไว้พัฒนาแอป หรือ IoT อะไรแบบนี้) มันก็ต้องอัพเกรดสิครับ เดี๋ยวนี้แรมก็ไม่ได้แพงมากเท่าไหร่แล้วด้วย และการอัพเกรดแรมให้ QNAP NAS นั้น ง่ายมาก ไม่ยากเลยครับ

จริงๆ ต้องบอกว่า การหาแรม DDR3L (เป็นแรม DDR3 แบบ Low voltage คือใช้ไฟ 1.35V แทนที่จะเป็น 1.5V ตามปกติ) มากกว่าครับ เพราะผมลองไปหาทั้ง J.I.B, Banana IT, IT City แถวบ้าน คือทุกร้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หมดจ้า ไม่มีขายแล้ว เขาไม่ผลิตแล้ว แรมมันเก่าไปแล้ว … แต่ก็ไม่ใช่จะหาซื้อไม่ได้เลยนะครับ เขาบอกว่าตามร้านประกอบคอมฯ อะไรพวกนี้ยังมีอยู่ ส่วนผม ผมสอยมาจาก Lazada ครับ เป็นแรมแบบ SODIMM (พูดง่ายๆ แรมโน้ตบุ๊กอะ) Crucial 16GB DDR3L บัส 1600MHz 2 ตัว โดนไป 3,790 บาท (ใครที่อยากจะซื้อ เพราะผมทดสอบแล้วใช้ได้กับ QNAP NAS ก็กดซื้อตามได้ที่นี่ ณ ตอนที่เขียนบล็อกนี้อยู่ เหลือ 2 ชิ้นแล้ว … ตอนผมซื้อมันบอกเหลือ 3 ชิ้น) อันนี้เขาขายแรมเป็นคู่ครับ เพราะว่าเอาไว้ใส่แบบ Dual channel ซึ่งเว็บไซต์ของ QNAP เองเขาก็บอกว่า ถ้าจะใส่แบบ Dual channel ให้ใส่แรมที่เหมือนกันเป๊ะๆ ไปสองตัวเลยนะ (จริงๆ ใส่ไม่เหมือนเป๊ะก็พอลุ้นได้แหละ คือ มันอาจจะทำงานไม่เข้ากัน 100% แล้วความเร็วก็จะยึดที่สเปกแรมตัวที่ต่ำสุด แต่มันมีเสี่ยงตรงที่เครื่องอาจบูตไม่ติดน่ะเสะ)

ทีนี้คำถามต่อมาคือ ตามสเปกในรูปด้านบน มันเขียนเอาไว้ว่า TS-453A มันอัพเกรดแรมไปได้สูงสุด 8GB แต่ทีนี้ผมซื้อแรมมา 8GB 2 ตัว รวมเป็น 16GB เอามาอัพเกรดใส่ทั้งหมดเลยจะได้ไหม? คุณคิดว่ายังไงล่ะ? พูดกันตรงๆ นะ ในความเป็นจริง พวกเมนบอร์ด หรือ หน่วยประมวลผล มันมีข้อจำกัดในการอ้างอิงแอดเดรสของหน่วยความจำ ฉะนั้น มันไม่ได้รองรับแรมทุกความจุในโลกหล้านะครับ ควรทำตามที่ระบุไว้ในสเปกจะชัวร์สุด แต่สำหรับกรณีของผม ผมเช็กมาแล้วว่ามีคนเคยอัพเกรดมาเป็น 16GB ได้ ผมก็เลยลองมั่ง (ฮา)

วิธีการอัพเกรด ก่อนอื่นก็สั่งปิด NAS แล้วถอดปลั๊ก ถอดสาย LAN ถอดทุกสิ่งอัน แล้วยก NAS ลงมาครับ เราจะเห็นตรงกรอบของตัวเครื่อง มันจะมีน็อตอยู่ 3 ตัว ที่ยึดเฟรมของเคสเอาไว้ (3 ตัวที่อยู่วงนอกสุดอะ) ที่เราต้องขันออกก็คือน็อตสามตัวนี้ จากนั้น เราจะสามารถค่อยๆ ถอดเคสของ NAS ออกมาได้ คล้ายๆ กับการถอดเคสของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าๆ เลยอ่ะ (แหม่ นึกถึงความหลังเมื่อครั้งประกอบคอมฯ เอง)

แกะฝาเคสออกมาแล้ว ดูที่ด้านซ้ายของตัวเครื่อง จะเห็นเมนบอร์ดของตัวเครื่องครับ มีแผ่นพลาสติกใสแปะอยู่ อย่าไปแกะออกล่ะ มันออกแบบมาไว้ให้กันฝุ่นครับ ถ้าใครเปิดเครื่องทิ้งไว้นานๆ ไม่ได้ทำความสะอาด ตรงส่วนที่เป็นสล็อตแรมที่เป็นแนวตั้ง ฝุ่นจะเพียบเลยครับ เอาเครื่องดูดฝุ่นมาดูออกด้วยล่ะ แต่ตรงส่วนที่เป็นแรมนั้น พลาสติกจะมีการกรีดเอาไว้ให้สามารถถอดแรมออกได้สะดวกๆ ครับ … พูดง่ายๆ QNAP เขาออกแบบมาเผื่อให้อัพเกรดกันอยู่แล้ว

ก่อนอื่นก็ถอดแรมเดิมที่มีอยู่ออกครับ วิธีการถอดไม่ยาก ตรงด้านซ้ายและด้านขวาของสล็อตใส่แรม มันจะมีสลักอยู่ แค่ดันออกด้านข้างเบาๆ แรมก็จะเด้งปุ๊ออกมาครับ เอาออกมาแล้ว เราก็ใส่อันใหม่เข้าไปเท่านั้นเอง วิธีการใส่ก็คือ ใส่เอียงๆ เข้าไปให้ตรงร่อง แล้วดันแรมเข้าไปในสล็อตจนสลักมันเด้งกลับมาล็อกแรมนั่นแหละ ดู GIF ด้านล่างประกอบคำบรรยาย

ทำแบบนี้กับแรมทั้งสองตัวครับ จากนั้นก็ปิดฝาเคสกลับเข้าที่ ขันน็อตสามตัวกลับที่เดิม แล้วลองเปิดเครื่องดูครับ ถ้าเกิดบูตไม่ขึ้น ให้ลองดูว่าใส่แรมแน่นพอไหม ใส่ถูกต้องไหม ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย แต่ยังไม่ขึ้นอีก ให้ลองถอดแรมออกตัวนึงจาก DIMM2 แล้วลองบูตใหม่ เหลือแรม 8GB พอ ดูว่ามันเปิดติดไหม ถ้าติด แสดงว่าแรมไม่ได้เสีย ใครอยากให้ชัวร์ ปิดเครื่อง ถอดแรมมาสลับดู แล้วเปิดอีกทีก็ได้ ถ้าเห็น 8GB ทั้งคู่ แสดงว่าแรมทั้งคู่ไม่ได้เสียฮะ ลองเสียบใหม่อีกที

ที่บอกแบบนี้เพราะ ผมก็เจออาการเดียวกัน บูตไม่ขึ้น รอตั้งนาน ปิดเปิดใหม่ตั้งหลายรอบ ก็ไม่ขึ้น ถอดฝาออกมาดู ถอดแรมออกมาเหลือตัวเดียว แล้วลองบูตใหม่ เออ มันก็ติดนี่หว่า แรมไม่ได้เสีย ก็ลองใส่แรมเข้าไปใหม่ เสียบให้มั่นใจว่าแน่นพอ ไม่มีปัญหา แล้วบูตอีกที

เรียบร้อยครับ ตอนนี้ TS-453A ของผมมีแรม 16GB (8GB 2 ตัว Dual-channel) เรียบร้อยแล้ว ได้เวลาลองเล่น Virtual Station จริงๆ จังๆ ซะที … นี่แสดงว่าเอาเข้าจริงๆ TS-453A นี่ใส่แรมได้เยอะกว่าที่สเปกระบุอีกนะเออ … แล้วแรม 2GB 2 ตัวเก่าที่ผมมีเอาไปทำอะไรน่ะเหรอ? ผมก็ถอดไปอัพเกรด TS-253Pro ของผม จาก 2GB เป็น 4GB น่ะสิครับ (ผมถอด 2GB ตัวเก่าออกมาเลยนะ แล้วใส่ 2GB 2 ตัวที่เอาออกมาจาก TS-453A เข้าไปแทน เพราะแรมมาเป็นคู่อยู่แล้วนิ)