หลังๆ เวลารีวิวโน้ตบุ๊กนี่เป็นยี่ห้อ ASUS ซะหมดเลยนะ ไม่ใช่อะไรหรอกครับ มีสองเหตุผลหลักๆ เลย คือ 1) ผมและแฟนของผมเปลี่ยนโน้ตบุ๊กตัวล่าสุดเป็น ASUS และ 2) ก็มีแต่ยี่ห้อนี้ที่เขาส่งมาให้รีวิวนิ (ฮา) สำหรับ ASUS ZenBook 13 UX333FN ตัวนี้ เป็นโน้ตบุ๊กที่ออกแบบมาให้มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักไม่มาก พกพาสะดวก แต่ยังได้ประสิทธิภาพดี พร้อมสำหรับการใช้งานหลากหลายรูปแบบ มาดูกันว่าผมมองเจ้านี่ว่าเป็นยังไงกัน
ออกตัวล้อฟรีก่อน
บล็อกตอนนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 13 UX333FN มาจาก ASUS Thailand เพื่อใช้รีวิวครับ โดยผมได้ใช้เวลาอยู่กับมันราวๆ เกือบสองสัปดาห์ เพื่อประเมินในเรื่องประสบการณ์ในการใช้งานระยะยาว ความเห็นทุกอย่างในรีวิวนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวของผมล้วนๆ โดยที่ทาง ASUS Thailand ไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายใดๆ ครับ
สิ่งที่ให้มาภายในกล่องโน๊ตบุ๊กประกอบไปด้วยตัวเครื่องโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 13 UX333FN ซึ่งผมได้สีแดง Burgundy red มารีวิว แล้วก็มีอะแด็ปเตอร์แบบ 65 วัตต์ (19V 3.42A) และตัวแปลง USB-A เป็น LAN RJ-45 ครับ เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการนำเจ้านี่ไปใช้งานในออฟฟิศที่ใช้การเชื่อมต่อผ่าน LAN หรือสำหรับคนที่ชอบเล่นเกม และอยากได้การเชื่อมต่อแบบเสถียร

หน้าตาของ ASUS ZenBook 13 UX333FN นี่สมกับที่ ASUS เขาโปรโมทจริงๆ ครับ คือเป็นโน๊ตบุ๊กขนาดหน้าจอ 13.3 นิ้วที่มีขนาดกะทัดรัดมาก เขาว่าเมื่อเทียบกับ ASUS ZenBook 13 UX331 ที่เป็นรุ่นเมื่อปีที่แล้ว มีขนาดเล็กลงถึง 14% เลยทีเดียว และด้วยหน้าจอแสดงผลแบบ NanoEdge ก็ทำให้ขอบจอบางเอามากๆ เลยครับ แต่ก็ยังสามารถใส่ 3D IR HD Camera มาให้เราได้นะ แม้ความละเอียดจะแค่ระดับ 720p แต่ก็เรียกว่าเพียงพอแล้วสำหรับการทำ Video call และด้วยความที่เป็น 3D IR camera ด้วย ก็ทำให้รองรับการใช้งาน Windows Hello (ปลดล็อกด้วยใบหน้า) ได้ดี

บอกตรงๆ ว่า ชอบสี Burgundy Red ของโน้ตบุ๊กตัวนี้มาก สวยเลยแหละ คีย์บอร์ดมีขนาดกะทัดรัด ปุ่มแอบเล็กนิดนึง แต่ก็ยังพอจะพิมพ์ได้สะดวกอยู่ และตรง TouchPad นี่ก็เป็นดีไซน์ใหม่ ที่ทำหน้าที่เป็น Num Pad (แป้นพิมพ์ตัวเลข) ได้ในตัวด้วย แต่ Num Pad นี้จะมีให้เฉพาะในรุ่นที่เป็น Core i7 เท่านั้นนะครับ

ดีไซน์แบบ ErgoLift เวลากางหน้าจอจนสุดแล้ว มันจะยกตัวเครื่องเอียงเล็กน้อย 3 องศา ช่วยให้พิมพ์สะดวกขึ้น และลดอาการเมื่อยมือโดยไม่รู้ตัว และยังช่วยให้การระบายความร้อนทำได้ดีขึ้น และตำแหน่งการสะท้อนเสียงของลำโพงก็ดีขึ้น … เขาว่ายังงั้นอะนะ
ส่วนด้านซ้ายและขวา ก็ประกอบไปด้วยพอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆ ดังนี้ครับ
- ด้านซ้าย: ช่องเสียบอะแด็ปเตอร์, พอร์ต HDMI, USB-A 3.1 Gen 2, USB-C 3.1 Gen 2
- ด้านขวา: สล็อต MicroSD card, USB-A 2.0, ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. และมีไฟ LED 2 ดวง บอกสถานะการทำงานของเครื่องและการชาร์จแบตเตอรี่
น้ำหนักตัวเครื่อง 1.19 กิโลกรัม ถือว่าเบาเอาเรื่อง แม้จะไม่ได้สุดแบบรุ่นที่ผมหรือแฟนผมซื้อ ที่มีจุดเด่นในเรื่องของน้ำหนัก (เบากว่า 1 กิโลกรัม) แต่ก็ต้องบอกว่าสำหรับคนทั่วไปที่ชินกับโน้ตบุ๊กหนักแบบ 1.5 กิโลกรัม ละก็ รู้สึกถึงความแตกต่างได้ชัดเจนมากทีเดียวเลยล่ะ (แต่ถ้ามาฟินกับโน้ตบุ๊กที่หนักราวๆ 1 กิโลกรัมแบบ ASUS ZenBook S หรือ ASUS ZenBook 13 แบบที่ผมกับแฟนซื้อ ก็จะรู้สึกว่าหนักไปนิด … ฮา)
สำหรับสเปกอื่นๆ ของเครื่องนั้น ก็ตามนี้ครับ (อ้างอิงจากตัวที่ผมได้มารีวิวนะ)
- CPU: Intel Core i7-8565U 1.8GHz with Turbo Boost (up to 4.6GHz) 8MB cache
- GPU: NVIDIA GeForce MX150 2GB GDDR5 VRAM กับ Intel UHD Graphics 620
- RAM: 8GB DDR3L (on-board) 2133MHz
- Storage: SSD 512GB PCIe 3.0×2
- WiFi: 802.11a/b/g/n/ac
- Bluetooth 5.0
- มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home
รุ่นที่ผมได้มารีวิว สนนราคาค่าตัวคือ 35,990 บาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวท็อปสุดสำหรับซีรี่ส์นี้ที่ขายในประเทศไทย แต่สำหรับคนที่งบน้อยกว่านี้ ก็สามารถเลือกเป็น Core i5-8625U 1.6GHz with Turbo Boost (up to 3.9GHz) 6MB cache แบบไม่มีการ์ดจอแยก จะอยู่ที่ 26,990 บาท แต่ถ้าเอารุ่น Core i5-8625U แบบมีการ์ดจอ NVIDIA MX150 ก็จะอยู่ที่ 29,990 บาท ก็เลือกเอาตามความต้องการและงบที่มีเลย
ในแง่ของประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS ZenBook 13 UX333FN
เจ้านี่ไม่ได้ถือว่าเป็น “ที่สุด” ในทุกๆ ด้าน สเปกก็ไม่ได้ “แรงสุด” และก็ไม่ได้ “บางสุด” หรือ “เบาสุด” แต่ผมต้องขอชมว่า ASUS ได้ออกแบบเจ้านี้ให้มีความ “สมดุลที่สุด” เท่าที่จะทำได้ ทั้งในเรื่องของขนาด น้ำหนัก และสเปก คงเพราะว่าตั้งใจจะให้เจ้านี่สามารถใช้เล่นเกมได้ลื่นๆ ด้วย ก็เลยใส่ SSD ของ Intel ที่ประสิทธิภาพค่อนข้างดีมาให้ สามารถอ่านและเขียนได้ที่ความเร็ว 1,679.3MB/s และ 958.3MB/s ตามลำดับ เมื่อวัดด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 6.0.2 x64

หน้าจอแสดงผลขนาด 13.3 นิ้ว แบบ NanoEdge นี่สวยดีทีเดียว ขอบจอบางๆ นี่ทำให้รู้สึกดีจริงๆ เวลามอง แต่เสียดายตรงที่หน้าจอเป็นแบบกระจก สะท้อนแสงวิ้งๆ เชียว แต่ลองเอามือไปจับๆ แล้ว รู้สึกชอบนะ เขาเอากระจกมาป้องกันจอผลึกเหลว ซึ่งรองรับแรงกดได้ดีในระดับนึงเลย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเวลาเอามาใช้ทำงาน แล้วชอบมีคนเอานิ้วมาจิ้มมาชี้ตรงหน้าจอ
อ้อ! เจ้านี่ก็ตามเคยนะครับ ไม่ใช่จอสัมผัส มันเป็นอะไรที่ ASUS เลือกที่จะตัดออกไป เพื่อให้สามารถทำราคาแข่งขันกับคู่แข่งได้ดีกว่า และก็พอจะเข้าใจ ASUS นะ เพราะการสัมผัสนี่ไม่ใช่อะไรที่เราจะใช้บ่อยๆ ครับ คือ มันเป็นฟีเจอร์ที่มีก็ดี ไม่มีก็ไม่เสียหายอะไร ก็ยังใช้งานได้สบายๆ อยู่ แต่สิ่งที่ได้มาคือ เราได้โน้ตบุ๊กประสิทธิภาพดี ในราคาที่ประหยัดกว่ายี่ห้ออื่น ที่สเปกเดียวกัน แต่ใช้จอสัมผัสเลยแหละ

ส่วน TouchPad ที่สามารถทำหน้าที่เป็น Num Pad ได้ในตัวนั้น เราสามารถเปิดปิดได้ไม่ยาก มันมีปุ่มให้แตะเพื่อเปิด/ปิดฟีเจอร์นี้อยู่ตรงมุมบนด้านขวาของ TouchPad โดยเราต้องแตะค้างไว้ 1 วินาที เพื่อเปิดหรือปิดฟีเจอร์นี้ ซึ่งเมื่อเปิดใช้แล้ว Num Pad ก็จะเรืองแสงครับ ทีนี้แค่แตะๆ ตามตัวเลข ก็พิมพ์ตัวเลขได้แล้ว และในขณะเดียวกัน TouchPad ก็ยังทำงานได้ตามปกติครับ

คงไม่ต้องให้พูดมากละมั้งว่าประสิทธิภาพในการทำงานนี่ดีแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผมได้รีวิวรุ่นท็อปที่เป็น Core i7 แบบนี้ บอกได้เลยว่าพลังในการประมวลผลนี่ยังเหลือเฟือครับ ในงานทุกๆ ด้านด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานทั่วๆ ไปอย่างงานเอกสาร ท่องเว็บ ดูหนัง ฟังเพลง ตลอดไปจนถึงงานที่ต้องใช้หน่วยประมวลผลเยอะๆ แรมแยะๆ อย่างการตัดต่อภาพ หรือตัดต่อวิดีโอ ก็ยังทำได้ดีไม่มีปัญหานะ คือ ไม่ถึงกับใช้งานรวดเร็วระดับมืออาชีพ แต่การทำแบบมือสมัครเล่น มันก็โอเคอยู่

อย่างไรก็ดี ในขณะที่เจ้านี่ให้ USB-A และ USB-C แบบ USB 3.1 Gen 2 ที่มีแบนด์วิธสูง 10Gbps มาให้ ถือเป็นเรื่องดี (คงเพราะต้องการให้รองรับกับความเร็วของ SSD ระดับ 1,700MB/s ล่ะนะ) แต่ USB-A อีกพอร์ตที่ให้มา ดันเป็นแค่ USB 2.0 เท่านั้นเอง คือ ทำไมทำกับชั้นแบบเน้!! เขาคงนึกว่า ด้านขวาก็เอาไว้เสียบเมาส์ แค่ USB 2.0 ก็พอแล้ว แต่อยากให้ ASUS ช่วยนึกถึงคนที่ถนัดใช้ TouchPad แล้วไม่ได้เสียบเมาส์ซะหน่อย การมีพอร์ต USB-A 3.1 Gen 1 หรือ Gen 2 อีกซักพอร์ต มันดีกว่าจริงๆ นะครับ USB 2.0 ให้มันสูญพันธุ์ไปได้แล้ว
ส่วนเรื่องของการนำมาใช้ทำงาน ดูหนัง ฟังเพลง หรือเล่นเกมนั้น ด้วยหน้าจอแสดงผลขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด 1080p สำหรับคนทำงานผมว่าเพียงพอ เอามาดูหนังฟังเพลงหรือแม้แต่เล่นเกม ผมก็ว่าเหลือๆ การที่มีความละเอียดหน้าจอแบบนี้ เวลาจะต่อกับโปรเจ็กเตอร์รุ่นเก่าๆ มันก็รองรับได้ดีกว่าความละเอียดหน้าจอที่สูงกว่านี้ ปัญหาน้อยกว่า
การ์ดจอ NVIDIA GeForce MX150 แรม 2GB DDR5 นี่ไม่ได้ประสิทธิภาพแรงสุด แต่ก็เพียงพอสำหรับการใช้เล่นเกมแบบกราฟิกพื้นๆ หลายๆ เกมได้สบายๆ ครับ ผมไม่ใช่ขาเกม เลยไม่ได้มีเกมเอาไว้ทดสอบเท่าไหร่ แต่จากที่หาข้อมูลการรีวิวจากเว็บอื่นๆ (รวมถึงยี่ห้ออื่นๆ ที่ใช้ NVIDIA GeForce MX150 ด้วย) ก็ได้ข้อสรุปตรงกันว่า เล่นเกมได้แหละ ภายใต้กราฟิกที่ดีประมาณนึง แต่เห็นว่ามันมีข้อจำกัดนึงคือตัวซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่ลดความร้อนของตัวเครื่อง ด้วยการลดประสิทธิภาพในการประมวลผลลง ซึ่งอาจส่งผลให้เกมกระตุกได้

ลำโพง harman kardon ที่ให้มากับตัวเครื่อง ให้โปรไฟล์เสียงที่ผมชอบนะ แต่ความดังของเสียงเนี่ยไม่มากเท่าไหร่ ไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้เปิดฟังในที่โล่งกว้าง และมีเสียงรบกวนเยอะๆ แต่ถ้าเปิดฟังแค่ในห้องปิด เงียบๆ นี่ก็โอเค เสียงให้มิติดีมากทีเดียวด้วย จะดูหนังหรือเล่นเกม
สองอย่างที่ผมไม่ชอบเกี่ยวกับ ASUS ZenBook 13 UX333FN
ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบครับ บอกตรงๆ ว่า ASUS ZenBook 13 UX333FN นี่จริงๆ แล้ว การออกแบบและอะไรหลายๆ อย่างนี่ทำออกมาได้ดีทีเดียว แต่สุดท้าย มันก็มีจุดให้ต้องบ่นเพราะไม่ชอบจนได้ (ฮา)

อย่างแรกเลยที่ผมไม่ชอบเกี่ยวกับเจ้านี่คือแป้นพิมพ์ และผมว่าเป็นความผิดพลาดในการออกแบบที่ร้ายแรงด้วย ก็คือ ปุ่ม Shift ข้างขวา ที่ทำซะขนาดเล็กมากๆ (ขนาดเท่าๆ กับปุ่มลูกศร) และดันไม่วางไว้ในตำแหน่งขวาสุดอีกต่างหาก มันทำให้เวลาพิมพ์แบบสัมผัสแล้ว มีโอกาสกดผิด ไปกดปุ่มลูกศรขึ้นแทน มันทำให้ความเร็วในการพิมพ์ลดลงไปเยอะเลย โดยเฉพาะเวลาพิมพ์ภาษาไทย เพราะมีความจำเป็นต้องกดปุ่ม Shift บ่อยๆ … แต่ความรู้สึกนี้จะเป็นกับเฉพาะคนที่ชินกับการกด Shift ขวา แบบผมนะครับ ใครที่ชินกับการกด Shift ซ้ายนี่ไม่มีปัญหาอะไร

อย่างที่สอง ก็เป็นตัว TouchPad ที่ทำหน้าที่เป็น Num Pad ได้นั่นแหละ คือ เวลาที่เปิดใช้งานแล้ว ตัว Num Pad มันแอบ Sensitive ไปนิดนึงครับ แตะนิดแตะหน่อยนี่แบบ เหมือนกดปุ่มแล้ว บางทีแค่แตะแล้วพักไว้แป๊บนึง ขอคิดก่อนว่าจะลากไปไหน มันก็พิมพ์ตัวเลขให้เลยจ้า และเมื่อเปิดใช้งานแล้ว การใช้ Multitouch gesture อย่างการแตะสองนิ้วพร้อมกันเพื่อให้เป็นคลิกขวา ก็จะต้องปรับเป็นการคลิกด้วยสองนิ้ว หรือ การคลิกตรงมุมด้านล่างขวามือของ TouchPad เอง … ซึ่งหมายความว่าเราต้องปรับพฤติกรรมการใช้อยู่พอสมควร
อย่างไรก็ดี ไอ้ที่ผมไม่ชอบเกี่ยวกับ TouchPad นี่ ถ้าเกิดเราเสียบเมาส์ละก็ ความรู้สึกรำคาญก็จะหายไป และการเอา TouchPad มาใช้เป็น Num Pad ก็จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ฉะนั้นจะเรียกว่าให้อภัยได้ก็คงได้ละมั้ง
บทสรุปการรีวิว ASUS ZenBook 13 UX333FN
ตัวนี้ถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่อยากได้โน้ตบุ๊กที่บาง เบา และมีประสิทธิดี มีสมดุลของทุกอย่างครบถ้วน ราคาก็ไม่แพงมากด้วย ถ้าเราเลือกรุ่นที่เป็น Core i5 และมี GeForce MX150 นี่คือเรียกว่าพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์แล้ว 29,990 บาท ถือว่าราคาไม่เลว (สำหรับผมนะ) การจ่ายแพงขึ้นอีก 6 พันบาท เพื่อให้ได้เป็น Core i7 และมี TouchPad ที่เป็น Num Pad ได้ ผมว่ายังไม่คุ้มเท่าไหร่ครับ แต่สิ่งเดียวที่จะทำให้บางคน (คนที่เวลากด Shift จะกดข้างขวา) รู้สึกรำคาญมากที่สุดก็จะเป็นเรื่องปุ่ม Shift ข้างขวาที่เล็ก และวางอยู่ในตำแหน่งที่จะกดปุ่มผิดได้ง่ายนั่นแหละ
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโน้ตบุ๊กรุ่นนี้ ดูได้ที่เว็บไซต์ของ ASUS Thailand ครับ