ในฐานะคนที่ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเดินทางในกรุงเทพเป็นประจำ บอกเลยว่าผมใฝ่ฝันที่จะมีทริปเที่ยวกรุงเทพมหานคร และสถานที่ท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ ด้วยสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า มันคงชิลน่าดูเลย และด้วยความที่ปัจจุบันก็มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และมีความนิยมในการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามากขึ้นแล้ว มันก็น่าจะทำได้จริงปะ? และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทเมคไอโอ ผู้แทนจำหน่ายสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot เขาจัดทริปทัวร์ 4 วัดขึ้นมา แล้วถามว่าผมอยากจะแจมไหม เอ้า! ใครจะยอมพลาดกันล่ะครับ
ทำความเข้าใจกันก่อน…
บล็อกนี้ไม่ได้พูดถึงการเที่ยว 4 วัดเป็นหลักนะครับ ฉะนั้นใครที่คาดหวังว่าจะเห็นผมรีวิวการเที่ยว คงต้องผิดหวังไป แต่ผมจะเล่าถึงประสบการณ์ในการขี่สกู๊ตเตอร์ทัวร์ เป็นระยะทางเกือบ 20 กิโลเมตร แล้วพูดถึงข้อดี และข้อจำกัดของการทำทัวร์แบบนี้ เผื่อมีใครสนใจอยากจะจัดบ้างครับ

กำหนดการทัวร์เริ่มออกเดินทางแถวๆ 10:00 และจบตอน 16:00 ครับ ระยะทางก็อย่างที่บอก คือ เกือบๆ 20 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นมาจากที่สวนหลวงสแควร์ แถวๆ สามย่านนั่นแหละ ขี่ตัดมาที่ถนนพระรามที่ 4 ออกไปทางเยาวราช ทะลุดิโอลด์สยามพลาซ่า ออกไปที่วัดโพธิ์ เป็นจุดหมายแรก จากนั้นก็แว้บต่อไปที่วัดพระแก้วเป็นจุดหมายที่สอง แล้วขี่เลียบท่าพระจันทร์ไป แวะทานข้าวที่ร้านแอ๊ว ท่าพระจันทร์ จากนั้นจึงทะลุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านป้อมพระสุเมรุ ไปทางบางลำภู เพื่อไปวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นจุดหมายที่สาม ก่อนที่จะขี่ต่อไปที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือ วัดภูเขาทอง เป็นจุดหมายสุดท้าย ก่อนที่จะตัดกลับมาผ่านโรงพยาบาลหัวเฉียว ตรงไปบรรทัดทอง และขี่กลับมาที่สวนหลวงสแควร์ ก็ประมาณนี้ครับ

การวางแผน เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการจัดทริปสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า
ทริปสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมหลายสิบคนอยู่เหมือนกัน จำนวนคนนี่ก็สำคัญมากนะครับ เพราะว่าน้อยไปก็ขี่กันไม่สนุก มันจะเสียบรรยากาศของทัวร์ไป แต่หากมากเกินไป ก็จะวุ่นวายในหลายๆ เรื่อง และขบวนก็จะใหญ่มากเกินไป กลายเป็นเกะกะการจราจรอีก ผมมองว่าถ้าจะให้กำลังดีๆ ก็ควรจะซักเต็มที่ไม่เกิน 20 คน ครับ ขบวนก็จะไม่ใหญ่เกินไปด้วย

ด้วยความที่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าใช้งานได้ในระยะทางที่จำกัด โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีแบตเตอรี่สำรอง ระยะทางสูงสุดที่จะวิ่งได้คือ 25 กิโลเมตร ฉะนั้น การวางแผนเส้นทางการเดินทางนี่สำคัญมากๆ ครับ เพราะถ้าแบตเตอรี่หมดระหว่างทางละก็ หมดสนุกชัวร์ๆ ครับ แต่ถึงแม้จะวางแผนเส้นทางมาดีแล้ว ก็ประมาทไม่ได้นะ อย่างกรณีของผม ตอนก่อนจบทริป แบตเตอรี่ผมลดฮวบลงไปเยอะกว่าที่คิด (ไม่รู้ทำไม) ทำให้ต้องเปลี่ยนสกู๊ตเตอร์ระหว่างทางครับ ใครที่จะจัดทริปเนี่ย แนะนำว่า
- จัดให้ระยะเที่ยวสั้นลง เหลือซัก 15 กิโลเมตร แทน เพราะว่าจะช่วยให้มีระยะเผื่อไว้นิดนึง เกิดสมาชิกผู้ร่วมทริปเขาอยากจะขี่วนไปวนมาเล่นๆ หรือซ้อมขี่ก่อนออกเดินทางจริงๆ ซักหน่อย อะไรแบบนี้
- กันเหนียว เตรียมสกู๊ตเตอร์สำรองเอาไว้ซัก 10% ของจำนวนผู้เข้าร่วมทริป แล้วเตรียมเอาไปไว้แถวๆ จุดสุดท้ายของทริป เผื่อใครจำเป็นต้องสลับสกู๊ตเตอร์เพราะแบตเตอรี่ใกล้จะหมด

อย่างกรณีของบริษัทเมคไอโอ การจัดทริปนี้หลักๆ จะเป็นการประชาสัมพันธ์ประสบการณ์ในการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ฉะนั้นจึงต้องทำใจว่าอาจจะมีคนที่มีประสบการณ์เยอะ (แบบผม) และคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ขี่สกู๊ตเตอร์มาก่อนเลย ปะปนกันอยู่ ซึ่งแม้ว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจะขี่ได้ไม่ยาก แต่ก็ต้องระวังครับ เพราะการทัวร์มันต้องวิ่งบนถนน ดังนั้น หากไม่สามารถจัดทัวร์เฉพาะสำหรับคนที่มีประสบการณ์ในการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าพอสมควรแล้วได้ ก็ควรจะต้องให้มีการ “ซ้อม” ซักพักนึงก่อน เพื่อทำความเข้าใจ
และแน่นอน ที่ขาดไม่ได้คือต้องติดต่อไปยังตำรวจจราจร เพื่อขอการสนับสนุน ให้ช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างทัวร์ให้ครับ เพราะการขี่สกู๊ตเตอร์แบบเดี่ยวๆ เนี่ย มันไม่รบกวนการจราจรเท่าไหร่ แต่หากมีจำนวนเป็น 10-20 คัน แล้วต้องไปเป็นกลุ่มละก็ มันจะต้องกินเลนจราจรไปหนึ่งเลนเอาง่ายๆ เลยในหลายๆ จังหวะ ระหว่างการรอที่สี่แยกไฟเขียวไฟแดง ถ้าไม่มีคุณตำรวจมาช่วยอำนวยความสะดวกละก็ ยุ่งยากพอสมควรเลย
เรื่องที่จอดสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าระหว่างเที่ยวก็สำคัญ
จุดอ่อนของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็คือ มันไม่สามารถจอดทิ้งไว้เฉยๆ ได้เหมือนมอเตอร์ไซค์ และการล่ามเข้ากับพวกเสาไฟฟ้าก็ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ เพราะดีไซน์มันไม่ได้เหมือนอะไรแบบนั้นไว้เลย ยิ่งถ้าทำทัวร์ จอดทีเป็นสิบๆ คันแบบนี้ ที่จอดสกู๊ตเตอร์เป็นเรื่องสำคัญนะครับ ต้องพิจารณาด้วยว่าจะสามารถจอดที่ตรงไหนได้บ้าง จะเป็นริมถนน บนฟุตบาธ หรืออะไรก็ตามแต่

และถ้าจะให้ดี อย่าให้มันจอดตากแดดครับ เพราะไม่ดีต่อแบตเตอรี่ และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ายี่ห้อดีๆ เนี่ย เขาจะมีระบบป้องกันการโอเวอร์ฮีท ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถขับขี่ได้ชั่วคราว อ้อ! แล้วก็อย่าลืมจัดให้มีทีมงานซัก 1-2 คน ช่วยกันอยู่ดูแลสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่จอดอยู่ด้วยนะครับ เดี๋ยวหายไม่รู้ตัว (ฮา)
ไกด์นำเที่ยว พร้อมกับอุปกรณ์หูฟังไร้สาย
สิ่งที่ขาดไปในทริปนี้ แต่ควรจะต้องมีสำหรับใครที่อยากจะทำทริปนำเที่ยว คือ ไกด์นำเที่ยว ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวให้กับผู้เข้าร่วมทัวร์ว่าสถานที่ไหนมีอะไรน่าสนใจ หรือมีความสำคัญอะไรบ้าง เช่น ทริปทัวร์ 4 วัดนี่ ก็ควรจะมีคนอธิบายว่าแต่ละวัดสำคัญยังไง อะไรที่น่าสนใจบ้าง อะไรแบบนี้

และก็ต้องไม่ใช่แค่ตอนที่อยู่ ณ สถานที่นั้นๆ นะครับ ระหว่างทางที่ขี่ ก็ควรจะมีการพูดเล่าให้ฟังด้วย อะไรแบบนี้ ฉะนั้น ควรพิจารณาให้มีอุปกรณ์ไมค์และหูฟังไร้สาย เพื่อให้ไกด์ที่เป็นผู้นำทัวร์ได้พูดคุยกับผู้เข้าร่วมทัวร์ หูฟังที่ให้ผู้เข้าร่วมทัวร์ใช้เนี่ย ก็เป็นแบบหูข้างเดียวพอครับ เวลาขี่ก็จะได้ฟังเสียงของสิ่งรอบตัวได้ แต่ก็ยังสามารถฟังสิ่งที่ไกด์เล่าให้ฟังได้เช่นกัน
ทัวร์สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าคือดีงาม แต่ก็ทำไม่ได้ง่ายๆ
อยากจะบอกว่า สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานคร หลายๆ อย่างนี่เอามารวมๆ แล้วจัดเป็นทริปทัวร์สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าได้เลยนะครับ เช่น ทริปชมพิพิธภัณฑ์ หรือ ทริปชมวัดต่างๆ ในต่างจังหวัด ทริปชมวัดก็ดีงามใช่ย่อย หรือที่อยุธยา หรือสุโขทัย ถ้ามีทริปสกู๊ตเตอร์ชมเมืองเก่าคือเริ่ดฮะ แต่กาจจะจัดทีนึงนี่ก็ไม่ใช่ง่ายๆ นะครับ เพราะว่ามันต้องวางแผน และติดต่อประสานงานไม่น้อยทีเดียว และหากมีบ่อยๆ เป็นประจำๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ผมว่าโดนคนที่ขับขี่รถยนต์บ่นอุบแน่นอน ตรงนี้เป็นอะไรที่น่าเสียดายจริงๆ เพราะผังเมืองมันไม่เอื้ออำนวย แต่ผมอยากฝากให้มีคนพิจารณาลองทำทริปแบบนี้ในอยุธยา หรือ สุโขทัย จริงๆ ครับ
อ้อ! ไม่จำเป็นต้องเป็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็ได้นะ จักรยานไฟฟ้าก็ไม่เลวเหมือนกันนะ