ปัจจุบันผมและแฟนเป็นผู้ใช้งานโน้ตบุ๊กของ ASUS อยู่ครับ แต่เป็นสาย ZenBook เพราะตระกูลนี้มันเน้นไปที่ความบางและเบา แต่ต้องแลกมาด้วยสเปกที่อาจจไม่สูงมากหากต้องการราคาที่พอเอื้อมไหว (แบบ ASUS ZenBook 13 UX331UAL ของแฟนผม) หรือต้องยอมจ่ายกันหน่อย หากอยากได้สเปกแบบไฮโซไปเลย (แบบ ASUS ZenBook S UX391UA ของผม) แต่ถ้าต้องการหาสมดุลระหว่างราคาและประสิทธิภาพแล้ว โดยที่ยอมทนแบกน้ำหนักเพิ่มมาเป็น 1.4 กิโลกรัมแทน ทางเลือกก็น่าจะเป็น ASUS VivoBook S14 S430UN นี่แหละครับ
เทียบกับตอนที่ผมแกะกล่อง ASUS ZenBook 13 UX331UAL หรือ ASUS ZenBook S UX391UA แล้ว ของที่มาในกล่องของ ASUS VivoBook S14 S430UN นี่ถือว่า Minimal สุดๆ เลยครับ มันมีแค่ตัวโน้ตบุ๊ก และ AC adapter แบบ 45/65 วัตต์ (Output: 19V DC, 2.47A, 45W / 19V DC, 3.42A, 65W) มาให้ แค่นั้นเองเลยครับ ตรงนี้คิดว่าคงเพราะมันมีพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ มาครบเครื่องแล้ว เลยไม่ต้องแถมอะไรเพิ่มละมั้ง
ดีไซน์ของ ASUS VivoBook S14 S430UN
ดีไซน์ของตัวเครื่อง เป็นสไตล์ใหม่ของ ASUS ตรงที่มีการใช้ดีไซน์แบบ ErgoLift ที่ช่วยยกตัวเครื่องให้เอียงสูงขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายความร้อนของระบบให้มากขึ้น และการเอียงเล็กน้อย ก็ทำให้คีย์บอร์ดเอียงรับการพิมพ์ของข้อมือมากขึ้นด้วย สมกับชื่อของ ErgoLift ที่คำว่า Ergo มาจาก Ergonomics หรือ การยศาสตร์ นั่นเอง

หน้าจอแสดงผลขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด Full HD แบบ Matted display หรือแบบด้าน กันแสงสะท้อนได้ดีเยี่ยมมาก แม้จะใช้งานอยู่โดยมีแหล่งกำเนิดแสงอยู่ด้านหลัง แสงมันก็จะไม่สะท้อนเข้ามาแยงตาเลย ทำให้มันเหมาะกับการใช้งานเพื่อความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังหรือเล่นเกม ขอบจอดีไซน์ NanoEdge Dislay ก็บางพอสมควรสำหรับโน้ตบุ๊กในช่วงราคานี้

รอบๆ ตัวเครื่อง จะเห็นว่ามีการฝังวัสดุประเภทพลาสติกที่มีสีสันต่างๆ เอาไว้ มีให้เลือก 5 สี ได้แก่ สีเขียว Firmament green, สีแดง Star grey, สีเงินตัดน้ำเงิน Silver blue, สีโลหะ Gun metal และ สีทอง Icicle gold โดยตัวที่ผมได้มารีวิวเป็นสีแดง Star grey ครับ มีพอร์ตการเชื่อมต่อและสล็อตต่างๆ ค่อนข้างครบเครื่อง ซึ่งก็สมกับที่แลกมาด้วยขนาดของตัวเครื่องที่หนาขึ้นมาเป็น 18 มิลลิเมตรนะครับ มีพอร์ต USB-A 2.0 2 พอร์ต สล็อต MicroSD card และไฟ LED แสดงผลอยู่ทางด้านซ้ายมือของตัวเครื่อง ส่วนด้านขวามาก็มีช่องเสียบ AC adapter มีพอร์ต USB-A และ USB-C ที่เป็น 3.1 Gen 1 อีกอย่างละหนึ่งพอร์ต กับพอร์ต HDMI และช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม.


ส่วนลำโพงของตัวเครื่อง อยู่ด้านล่าง ใช้เทคโนโลยี SonicMaster ของ ASUS ซึ่งจากความเห็นส่วนตัวของผม ผมชอบพวกที่ออกแบบให้ลำโพงอยู่ตรงหน้าจอ ใต้คีย์บอร์ด หรือด้านบนของตัวเครื่อง ที่หันหน้าเข้าหาตัวคนฟังเลยมากกว่า มันได้เสียงที่ดังดีกว่าครับ แต่คุณภาพเสียงที่ได้จากการดีไซน์แบบนี้จะเป็นยังไงนั้น เดี๋ยวมาว่ากันอีกที

ผมเห็นในหลายๆ รีวิวเขาเขียนว่าเจ้านี่เป็นโน้ตบุ๊กที่บางเบา แต่ผมก็ต้องขอบอกว่า อันนี้แล้วแต่คนมองจริงๆ ว่าเอาไปเทียบกับอะไร ถ้าถามผมกับแฟน ที่ใช้ ZenBook อยู่ละก็ เจ้านี่ไม่ได้บาง และไม่ได้เบาซักเท่าไหร่หรอกครับ หนักกว่าตัวที่พวกผมใช้เกือบครึ่งกิโลกรัมเลยทีเดียวแหละ ผมขอเรียกมันว่า เป็นโน้ตบุ๊กที่ไม่หนาและหนักมากก็แล้วกันเนอะ
ด้านประสิทธิภาพ ASUS VivoBook S14 S430UN เน้นสมดุลทั้งงานและเกม
ตัวที่ผมได้มารีวิวเป็นรุ่นท็อปของโมเดลนี้เลย คือ เป็น Core i7-8550U 1.8GHz แรม 8GB DDR4 2400MHz แต่ด้วยความที่ ASUS ต้องการรักษาสมดุลระหว่างงานและเกม เลยเลือกใส่มาให้หมดทั้ง SSD 256GB และ HDD 1TB สนนราคา 29,990 บาท โดยที่เอา SSD มาเป็นไดร์ฟสำหรับตัวระบบปฏิบัติการ (และโปรแกรมอื่นๆ) ในขณะที่เอา HDD มาเป็นไดร์ฟสำหรับเก็บข้อมูล โดยเฉพาะพวกเกม

ในแง่ของประสิทธิภาพ ก็อย่างที่รู้กันครับว่า SSD นี่เหนือกว่า HDD อย่างเห็นได้ชัด พิจารณาประสิทธิภาพในการเขียนและอ่านแบบ Sequential ที่มักจะเอามาใช้เป็นตัวบอกสเปกความเร็วของสื่อบันทึกข้อมูล จะเห็นว่าความเร็วในการเขียนและอ่านข้อมูลในส่วนของ SSD นั้นก็อยู่ที่แถวๆ 520MB/s และ 420MB/s ตามลำดับ ส่วนของ HDD ก็อยู่แถวๆ 130MB/s ทั้งคู่ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เรียกว่า “กลางๆ” ไม่ได้เลวร้าย และไม่ได้เยี่ยมยอด

ผมไม่ใช่คนที่เน้นเล่นเกม ดังนั้นก็เลยต้องขอทดสอบประสิทธิภาพของตัวโน้ตบุ๊กด้วยโปรแกรม PerformanceTest 9.0 ซึ่งคะแนนที่ได้ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เกือบจะอยู่แถวๆ กลางของการทดสอบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในโลกหล้าที่ใช้โปรแกรม PerformanceTest นี้ และคะแนนที่ได้ ค่อนข้างจะอยู่ในระดับบนของ Middle range ของการทดสอบด้วยนะครับ
ส่วนที่ทำคะแนนได้ดีที่สุด คือ ตัว SSD ที่ดูจากผลการทดสอบแล้ว เป็นของ Micron ซึ่งผลการทดสอบแล้ว ได้คะแนนออกมาดีกว่า Samsung EVO 840 250GB ซะอีกนะครับ แต่ส่วนที่ทำคะแนนได้แย่ที่สุด ก็คือหน่วยความจำ ที่มีค่าต่ำกว่าค่ากลางของทั่วโลกนิดหน่อย แต่ในภาพรวมแล้ว ถ้าอ้างอิงจากผลการทดสอบของ PerformanceTest 9.0 เมื่อเทียบกับรุ่นที่มีสเปกใกล้เคียงกันแล้ว ก็ต้องบอกว่าประสิทธิภาพของ ASUS VivoBook S14 S430UN (ตัวท็อป) ถือได้ว่าโอเค ทำได้ดีกว่ามาตรฐานอยู่เล็กน้อยครับ
มาพูดถึงประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS VivoBook S14 S430UN บ้าง
ผมเป็นคนนึงล่ะ ที่ไม่เห็นประโยชน์ของการยัดหน้าจอแสดงผลความละเอียดสูงระดับ 4K มาใส่โน้ตบุ๊กขนาดหน้าจอ 13-15.6 นิ้วซักเท่าไหร่ เพราะด้วยขนาดพื้นที่หน้าจอแค่นี้ ใส่ความละเอียดสูงมากซะขนาดนั้น มันไม่ได้ให้ Value-added อะไรเพิ่มเข้ามาเลย หนำซ้ำ ยังอาจทำให้มีปัญหาเวลาจะไปต่อกับโปรเจ็กเตอร์ด้วย ในขณะที่แม้หน้าจอแสดงผลจะความละเอียดแค่ Full HD แต่เวลาไปต่อพวกจอแสดงผลภายนอกที่รองรับความละเอียด 4K แบบพวกทีวีที่เป็น UHD มันก็จะไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะสเปกมันดีอยู่แล้ว หน้าจอแสดงผลแบบที่เป็น Matted display กันแสงสะท้อนได้ดีมากครับ ใช้งานแล้วสบายตาดีทีเดียว
ในขณะที่หลายๆ ยี่ห้อส่วนใหญ่ให้หน้าจอแสดงผลแบบทัชสกรีนมา ASUS กลับตัดออกไปครับ เพื่อให้สามารถขายได้ในราคาที่พอๆ กัน แต่ยัดสเปกมาให้ดีกว่าได้ ซึ่งในแง่ของการใช้งานทั่วไป การไม่มีทัชสกรีนไม่ได้ทำให้ยากลำบากขึ้น และเผลอๆ จะดีด้วยซ้ำเวลาทำงาน เพราะใครเอานิ้วมาจิ้มหน้าจอก็ไม่เป็นไร แต่ในความเห็นส่วนตัวของผม แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ทัชสกรีนบ่อยมาก แต่หากมีมันก็ช่วยอำนวยความสะดวกในหลายๆ จังหวะได้เช่นกัน แต่ก็ยังจัดอยู่ในระดับแค่ มีก็ดี…ไม่มีก็ได้ การเอามันออก แล้วได้สเปกอื่นดีขึ้นในราคาเท่าเดิม คุ้มครับ

ในแง่ของการใช้งาน คีย์บอร์ดของเจ้านี่มีขนาดที่พอเหมาะ มีปุ่มแต่ละปุ่มอยู่ในตำแหน่งที่พิมพ์ง่าย และไม่ทำให้รู้สึกสับสนเมื่อเปลี่ยนจากคีย์บอร์ดปกติมาเป็นคีย์บอร์ดโน้ตบุ๊กแบบนี้ มีไฟ LED ใต้คีย์บอร์ดส่องแสง ปรับได้สามระดับ หรือจะปิดไม่ใช้เลยก็ได้ ส่วนทัชแพดเองก็มีขนาดใหญ่เบิ้ม ใช้งานลื่นไหลดีมากมาย และสำหรับรุ่นท็อปแบบนี้ มันเลยมีตัวสแกนลายนิ้วมือ ที่ทำงานร่วมกับ Windows Hello ใช้การสแกนลายนิ้วมือเพื่อล็อกอินเข้าคอมพิวเตอร์ได้ด้วย ค่อนข้างสะดวกดี
ในการใช้งานปกติ ความร้อนของตัวเครื่องถือว่าไม่มาก และแม้ว่าจะเอามาทดสอบด้วยโปรแกรม Benchmark แล้ว ก็ไม่ได้ร้อนขึ้นอะไรมากมาย ถือว่าโอเคครับ อย่างไรก็ดี ในส่วนของแบตเตอรี่ ก็เป็นแบบ 42Wh 3-cell Lithium-prismatic battery จากที่ผมลองใช้งานดู มันจะอยู่ได้แถวๆ 4 ชั่วโมง เอาอยู่ ซึ่งบางคนอาจจะรู้สึกว่าน้อยไป สำหรับการใช้งานโน้ตบุ๊ก ซึ่งอุตส่าห์ยอมแบกหนัก 1.4 กิโลกรัมแล้วแท้ๆ (ใช่ครับ สำหรับผมแล้ว โน้ตบุ๊กหากหนักเกิน 1 กิโลกรัมนี่เรียกหนัก … ฮา) แต่ถ้ามีปลั๊กให้เสียบ อันนี้ก็อยากบอกว่าหมดห่วงนะครับ อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าตัว AC adapter มันเป็นแบบ 45/65 วัตต์ มันเลยรองรับ Fast charging สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ถึง 60% ภายใน 49 นาที (จากสเปกที่ระบุไว้ในเว็บไซต์)
จุดที่ผมต้องติ คือเรื่องของระบบเสียงครับ ซึ่งเป็นอะไรที่ต้องติมาหลายรุ่นแล้วจริงๆ (ฮา) คือ คุณภาพเสียงที่ได้จากลำโพงของตัวเครื่องเนี่ย ถือว่าได้มิติดีมาก ให้เสียงคุณภาพดี แต่อาจจะออกเสียงย่านต่ำได้ไม่ตึบ สำหรับคนที่ชอบเบสหนักๆ ซักเท่าไหร่ แต่ที่เป็นปัญหาที่ ASUS ควรปรับปรุงที่สุด น่าจะเป็นเรื่องของ “ความดัง” ครับ คือ ลำโพงมันไม่ดังเอาซะเลย ขนาดเป็นในห้องที่บ้าน แบบไม่มีเสียงอื่นรบกวน ก็ยังรู้สึกว่า เปิดดังสุดแล้ว ได้แค่นี้เองเหรอ(วะ) ฉะนั้น หากอยากจะใช้งานจริงๆ แนะนำให้หาหูฟังมาเสียบกับช่องเสียบ 3.5 มม. หรือไม่ก็ต่อผ่านบลูทูธเลยก็แล้วกันครับ
บทสรุปของการรีวิว ASUS VivoBook S14 S430UN
สำหรับโน้ตบุ๊กในช่วงราคา 29,990 บาทเหมือนเจ้าตัวท็อปของ ASUS VivoBook S14 S430UN นี่แล้ว ผมว่า ASUS ให้สเปกมาคุ้มค่ากับราคาที่สุดแล้ว เท่าที่ผมลองเช็กๆ ดู ยี่ห้ออื่นเขาไม่ได้ให้ Hybrid storage มาแบบนี้ (ส่วนใหญ่จะให้ SSD 256GB เฉยๆ) และบางยี่ห้อก็ให้แค่ GeForce MX130 ด้วย แต่มันแลกมาด้วยการที่ ASUS ไม่ได้ให้หน้าจอเป็นทัชสกรีนมานะครับ แต่จากประสบการณ์ในการใช้งานของผม การไม่มีทัชสกรีนไม่ได้ทำให้ประสบการณ์ในการใช้งานแย่แต่อย่างใด
เจ้านี่เป็นโน้ตบุ๊กที่มีประสิทธิภาพคุ้มราคา มีความสมดุลดีในระหว่างการใช้งานเพื่อทำงาน และการใช้งานเพื่อเล่นเกม แม้ว่าจะไม่สามารถเล่นเกมที่ต้องการสเปกโหดๆ ได้แบบเต็มที่ แต่ถ้าปรับมาเป็นระดับต่ำหรือกลาง หลายๆ เกมก็สามารถเล่นได้ โดยที่เฟรมเรตอยู่ที่แถวๆ 30-45fps ได้ ซึ่งแม้จะไม่ได้ประสบการณ์ที่ดีเลิศ แต่ก็ไม่เลวร้ายนะครับ