ปีนี้มีสมาร์ทโฟนอยู่สองรุ่นที่น่าจับตามอง คือ Samsung Galaxy Fold กับ Huawei Mate X เพราะเป็นสมาร์ทโฟนจอพับได้ ที่ปกติเราจะใช้งานในแบบสมาร์ทโฟนปกติ แต่สามารถกางหน้าจอออกมาให้กลายเป็นหน้าจอใหญ่ขึ้น เพื่อใช้งานในรูปแบบคล้ายๆ แท็บเล็ตด้วย ถือเป็นอีกครั้งที่ระบบปฏิบัติการ Android จะมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หลังจากที่มีการทำแท็บเล็ต และ TV box ออกมาละครับ แต่ประสบการณ์ในการใช้งานจะเป็นยังไงนั้น ยังเป็นที่น่ากังขาอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า การออกแบบให้ Android smartphone พับจอได้ มันไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ ก่อนหน้านี้ ยี่ห้อ Kyocera เขาก็ปล่อยรุ่น Echo มาแล้วเมื่อ 8 ปีก่อน (พ.ศ. 2554) ตอนนั้นยังเป็น Android 2.2 อยู่เลยครับ ยังไม่มีแท็บเล็ตเลยด้วยซ้ำ และด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีกับซอฟต์แวร์ กับราคาที่แอบแรง (เพราะมันมีสองจอนี่นา) ก็ส่งผลให้สมาร์ทโฟนสองหน้าจอแบบพับได้นี่ไม่เป็นที่นิยม และก็ไม่ได้มีการพัฒนาใดๆ ต่อ

แต่บัดนี้สมควรแก่เวลาแล้ว (ละมั้ง) บรรดาค่ายต่างๆ ก็ต้องหาความว้าวมากระตุ้นต่อมความอยากของผู้ใช้งาน ก็เลยอวดโฉมสมาร์ทโฟนจอพับได้กันใหญ่เลย ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีจอภาพแบบ AMOLED และหน้าจอแบบพลา่สติก ที่มีความยืนหยุ่น สามารถพับได้ ทำเป็นสมาร์ทโฟนที่พับได้ขึ้นมาครับ แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีใครได้เล่นแบบจริงๆ จังๆ กัน มีแค่ Huawei ที่เขาเอา Mate X มาอวดโฉมวนไปตามประเทศต่างๆ ให้บล็อกเกอร์และสื่อได้จับๆ ถือๆ กัน แต่ไม่ได้ลองใช้หรอกนะ เวลาสาธิต จะมีคนของ Huawei สาธิตให้อีกทีนึง

ด้วยความกระหายใคร่รู้ ว่าการใช้สมาร์ทโฟนแบบจอพับได้มันจะเป็นยังไงบ้าง ผมก็เลยตัดสินใจครับ กดสั่ง ZTE Axon M ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนจอพับได้ ที่ออกแบบมาแนวทางเดียวกับ Kyocera Echo มาลองใช้งานดูครับ เนื่องจากว่าเมื่อได้อ่านรีวิวแล้ว พบว่ามันมีโหมดการใช้งานที่คล้ายๆ กับของ Huawei Mate X และด้วยสเปก Qualcomm Snapdragon 821 แรม 6GB และความจุ 128GB เนี่ย ก็น่าจะให้ประสบการณ์ที่โอเคประมาณนึง ลองใช้แล้วก็น่าจะเข้าใจได้แหละว่าเมื่อได้ใช้สมาร์ทโฟนจอพับได้แล้ว จะเป็นยังไงบ้าง
รูปแบบการออกแบบของสมาร์ทโฟนจอพับได้
แต่ก่อนที่เราจะไปพูดถึงประสบการณ์ในการใช้งาน ขอพูดถึงดีไซน์ของสมาร์ทโฟนแบบจอพับได้กันก่อนครับ ตอนนี้มันมีสองแนวทางใหญ่ๆ ก็คือ
เอาจอใหญ่มาพับแล้วกลายเป็นจอย่อยๆ สองจอ ซึ่งเป็นสไตล์ของ Huawei Mate X, Royale FlexPai และ ZTE Mate X คือทำหน้าจอใหญ่ๆ แล้วให้พับกลับไปทางด้านหลัง แบ่งหน้าจอกลายเป็นสองหน้าจอ ซึ่งสามารถเอาไปใช้งานได้ทั้งสองหน้าจอ
เอาจอใหญ่ๆ มาพับปิด แล้วทำจอเล็กๆ ไว้ด้านนอกอีกอัน ซึ่งเป็นสไตล์ของ Samsung Galaxy Fold ครับ คือ ออกแบบให้กางหน้าจอออกมาเป็นจอใหญ่ๆ ใช้เสร็จก็พับปิดเข้าหากัน แล้วไปใช้หน้าจอเล็กๆ ที่อยู่ด้านนอกในฐานะสมาร์ทโฟนแทน พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ได้แบ่งจอใหญ่เป็นสองจอตอนพับเป็นสมาร์ทโฟน แต่ใช้สองจอแยกกันเลยสำหรับโหมดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต
ประสบการณ์ใช้งานสมาร์ทโฟนจอพับได้ ด้วยกรณีศึกษาจาก ZTE Axon M
แม้ว่า ZTE Axon M จะไม่ได้เป็นหน้าจอ AMOLED ไม่ได้เป็นหน้าจอขนาดใหญ่ๆ อันเดียวที่พับได้ แต่เป็นสองหน้าจอเอามาต่อกัน ซึ่งอาจจะเห็น “เส้นแบ่ง” อันเกิดมาจากการต่อสองจอเข้าด้วยกันอยู่ประมาณนึง และเป็นแค่ Android 8.1 แต่ในแง่ของการใช้งานในแบบการสลับไปมาระหว่างโหมดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต มีความใกล้เคียงกับแนวทางของ Samsung Galaxy Fold กับ Huawei Mate X อยู่ประมาณนึงครับ แม้จะไม่ได้ดีเทียบเท่าก็ตาม

ยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ เช่น ความสามารถในการแสดงผลโดยใช้พื้นที่จากสองจอเต็มๆ ให้ทำหน้าที่เหมือนแท็บเล็ตแบบนี้ครับ เพียงแต่ว่า ไม่ว่าจะเป็น ZTE Axon M หรือ Samsung Galaxy Fold หรือ Huawei Mate X ก็ตาม ก็จะได้อัตราส่วนการแสดงผลราวๆ 1:1 กว่าๆ ครับ (เช่น ZTE Axon M นี่คือ 1:1.125 เป็นต้น) ฉะนั้น ไม่ว่าจะใช้ยี่ห้อไหนรุ่นไหน เราก็จะได้แท็บเล็ตที่มีการแสดงผลแปลกๆ เกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสด้วยกันทั้งนั้น

นอกจากนี้ก็สามารถที่จะแสดงผลแบบแบ่งครึ่งหน้าจอได้ เอาไว้รันสองแอปได้พร้อมๆ กัน แบบ Multitasking เลย แต่มันจะแตกต่างไปจากแนวทางในการทำ Multitasking ของ Samsung Galaxy Fold กับ Huawei Mate X ที่มองการแสดงผลจอใหญ่เป็นจอเดียว แล้วการเปิดหลายๆ แอป คือการแบ่งพื้นที่การแสดงผล ให้แสดงหน้าจอของแอปต่างๆ ไป แต่ ZTE Axon M นี่จะเป็นการแบ่งหน้าจอออกเป็นเหมือนสมาร์ทโฟนสองเครื่องเลยครับ

อันดับแรกเลย การสลับไปมาระหว่างโหมดสมาร์ทโฟนและโหมดแท็บเล็ต จากที่ผมทดลองใช้งานมา มันก็สามารถสลับไปมาได้ค่อนข้างลื่นไหลดีประมาณนึงนะครับ เพียงแต่จะใช้เวลาประมาณเกือบๆ 1 วินาทีในการปรับ User Interface ซึ่งผมคิดว่าต่อให้เป็น Samsung Galaxy Fold หรือ Huawei Mate X ก็คงจะใช้เวลาแป๊บนึงเช่นเดียวกันครับ

ถัดมาคือเรื่องของการแสดงผลแอปสลับไปมาระหว่างโหมดสมาร์ทโฟนและโหมดแท็บเล็ต ข่าวดีก็คือ แอปสมัยนี้ไม่ได้มีการแยกระหว่างเวอร์ชันสมาร์ทโฟนและเวอร์ชันแท็บเล็ตแล้วครับ ดาวน์โหลดแอปเดียวเอาอยู่หมด แต่ในแง่ของการสลับไปมานั้น แม้แต่ Android 8.1 ก็รองรับได้ประมาณนึงแล้ว จากที่ผมลองใช้บางแอป เช่น Gmail ซึ่งตรงนี้ผมว่าอยู่ที่การออกแบบแอป ซึ่งทางตัวระบบปฏิบัติการ จะรองรับอุปกรณ์จำพวก Foldable แล้ว โดยจะเรียกว่า Screen continuity ครับ ซึ่งดูจากทวีตที่เขาแสดงให้ดู จะเห็นว่าแอปมันจะสามารถปรับการแสดงผลจากเวอร์ชันสมาร์ทโฟนเป็นเวอร์ชันแท็บเล็ตได้เนียนมากขึ้นเลยครับ แต่ยังไง ZTE Axon M คงไม่ได้ใช้แน่ๆ แต่ Samsung Galaxy Fold, Huawei Mate X และรุ่นถัดๆ ไป คงได้ใช้กัน
อนาคตไม่รู้จะเป็นยังไง แต่ตอนนี้บางแอปดูมันจะยังมีข้อจำกัดครับ เช่น พวกเบราวเซอร์อย่าง Google Chrome หรือ Mozilla Firefox คือ ต้องเริ่มเปิดใช้แอปตอนที่กางหน้าจอออกมาแล้ว ถึงจะแสดงผลแอปเป็นเวอร์ชันแท็บเล็ต และมันจะยังอยู่ในเวอร์ชันนี้ แม้เราจะพับหน้าจอกลายเป็นโหมดสมาร์ทโฟนแล้วก็ตาม ถ้าเราอยากจะให้เปลี่ยนวิธีการแสดงผลสลับเวอร์ชัน ต้องปิดแอป (กด Recent apps แล้วกด x เพื่อปิดแอป)


แต่ถ้าเรายังไม่ปิดแอปให้เรียบร้อย แอปมันจะแสดงผลเป็นเวอร์ชันล่าสุดที่เคยเปิด เช่น ถ้าเคยเปิดเป็นเวอร์ชันสมาร์ทโฟนอยู่ เวลากางหน้าจอออกมา มันก็ยังจะคงเป็นเวอร์ชันสมาร์ทโฟน และแน่นอน ในทางกลับกัน ถ้าเราเปิดเวอร์ชันแท็บเล็ตเอาไว้อยู่ ต่อให้เราพับหน้าจอเก็บแล้ว ต่อให้เปิดแอปขึ้นมาในโหมดสมาร์ทโฟน มันก็จะแสดงผลเป็นเวอร์ชันแท็บเล็ตอยู่ดี
แต่อันนี้ผมไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้าเป็นพวก Samsung Galaxy Fold หรือ Huawei Mate X หรือพวกจอพับได้อันอื่นๆ มันจะเป็นยังไงอะนะ
โหมดแท็บเล็ตมีประโยชน์น้อยกว่าที่คิด… เพราะไม่มีแอปรองรับเท่าที่คิด
เอาเข้าจริงๆ ผมไม่ได้ใช้แท็บเล็ตที่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มานานพอสมควรครับ เลยไม่ทันสังเกต แต่พอได้ลองใช้ ZTE Axon M มาพักใหญ่ๆ แล้วพบว่า แอปบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์นี่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่การแสดงผลแบบแท็บเล็ตน้อยกว่าที่คิดครับ แอปจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่มีโหมดแท็บเล็ต ขนาดแอปยอดนิยมอย่าง แอปจำพวก ช้อปออนไลน์อย่าง Lazada หรือ Shopee หรือแม้แต่ LINE for Android นี่ก็มีแต่โหมดสมาร์ทโฟนครับ ใช้แนวตั้งอย่างเดียว

ซึ่งถ้ามันใช้ในโหมดแท็บเล็ตไม่ได้ ประโยชน์มันก็น้อยลงไปแบบเห็นได้ชัดเลยแหละ แต่ถ้าแอปมันรองรับโหมดการแสดงผลแบบแท็บเล็ตแล้ว มันก็จะใช้ประโยชน์เรื่องพื้นที่การแสดงผลได้เหมือนแท็บเล็ตนั่นแหละ อนาคต ถ้าเกิดว่า Form factor นี้กลายมาเป็นกระแสหลัก ก็อาจจะทำให้แอปหันมารองรับการแสดงผลของแท็บเล็ตมากขึ้น
และอย่าลืมว่า แม้การแสดงผลแทบจะเป็น 1:1 ไม่มีด้านไหนยาวสั้นกว่ากันชัดเจนมาก แต่มันก็ยังมีด้านที่เป็น แนวตั้ง (Portrait) กับแนวนอน (Landscape) อยู่ครับ ซึ่งการตะแคงไปด้านต่างๆ ก็จะให้การแสดงผลที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่ามันจะดูเหมือนว่าด้านไหนก็เหมือนกันก็ตามนะครับ
การเล่นเกมบนอุปกรณ์จำพวก Foldable
แอปเกมนี่ดูจะเป็นอะไรที่มีการออกแบบมาให้รองรับการแสดงผลแบบแปลกๆ ของอุปกรณ์ต่างๆ ที่รันระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ครับ การเล่นบนอุปกรณ์จำพวก Foldable ก็สามารถทำได้สบายๆ เลยครับ แต่สำหรับ ZTE Axon M นี่อาจจะความน่ารำคาญอันเกิดจากเส้นแบ่งหน้าจออยู่บ้าง แต่บน Foldable รุ่นใหม่ๆ จะไม่มีความรำคาญนี้

แต่ถ้าหากอุปกรณ์จำพวก Foldable แพร่หลายมากขึ้น นักพัฒนาแอปจำพวกเกมต้องกลับมาอัพเดตแอปให้เหมาะสมอีกนะครับ เพราะเท่าที่ดูจากที่ผมลองเล่น ROV, Asphalt 9 มาเนี่ย แม้ว่าแอปจะแสดงผลได้ในอัตราส่วนการแสดงผลแปลกๆ นี่ แต่รู้สึกได้เลยว่าพื้นที่ในการแสดงผลมันจำกัดลงไปแบบเห็นได้ชัด คือ ความละเอียดของหน้าจอที่เพิ่มขึ้นมา ไม่ได้เพิ่มพื้นที่ในการมองเห็นในเกมเลย กลับกัน เราเห็นภาพในเกมน้อยลงด้วย ภาพที่ได้เหมือนโคลสอัพขึ้นมาเลยครับ ซึ่งถ้าไม่มีการอัพเดตแอปให้รองรับละก็ ไม่ใช่แค่กับ ZTE Axon M หรอก แต่ Samsung Galaxy Folder หรือ Huawei Mate X ก็น่าจะเจอปัญหาเดียวกันตามมา

นอกจากเรื่องการแสดงผลในอัตราส่วนพิศดารแล้ว ก็ยังมีเรื่อง Screen continuity แบบที่ทางทีมพัฒนา Android เขาบอกนั่นแหละครับ นี่ผมลองพับหน้าจอ ZTE Axon M เก็บเป็นสมาร์ทโฟนระหว่างที่กำลังเล่น ROV อยู่ ผลที่ได้ก็คือ ภาพมันเบี้ยวๆ ไปแบบนี้เลย เห็นไหมอะ
แล้วการดูหนัง ดู YouTube บนจอพับได้แบบนี้ล่ะ?
YouTube เป็นแอปนึงที่รองรับการสลับไปมาระหว่างโหมดสมาร์ทโฟนและโหมดแท็บเล็ตได้ค่อนข้างดีครับ แล้วก็เป็นแอปที่ดูจะมีอนาคตกับอุปกรณ์จำพวก Foldable มากทีเดียว

พอกางหน้าจอออกเป็นหน้าจอใหญ่ๆ มันก็จะเห็นภาพแบบใหญ่ๆ มากกว่าสมาร์ทโฟนได้ แต่ด้วยความที่อัตราส่วนการแสดงผลมันเป็นแบบแทบจะ 1:1 ก็เลยจะเห็นแถบสีดำด้านบนกันด้านล่างหนาๆ หน่อยครับ

แล้วเรื่องแบตเตอรี่ล่ะ สูบไหม?
ก็สูบแบตเอาเรื่องระดับนึงล่ะครับ เพราะหน้าจอแสดงผล คือส่วนที่กินแบตเตอรี่อยู่แล้ว ถ้าไม่ใช่อันดับหนึ่งก็อันดับสองเลยแหละ แล้วด้วยขนาดของตัวเครื่องที่จำกัด ใส่แบตเตอรี่เข้าไปได้ไม่เยอะ (ขนาด Huawei Mate X ก็ใส่ไปได้แค่ 4,500mAh เท่านั้น) เพราะมันยังคงนับเป็นสมาร์ทโฟนอยู่ เลยทำให้หนามาก หนักมาก แบบแท็บเล็ตไม่ได้ครับ แต่จากที่ผมลองใช้ ZTE Axon M มา ในการใช้งานแบบปกติ มันก็เอาอยู่นะ รอดได้ 1 วันล่ะ ส่วนนึงก็เพราะว่า เราไม่ได้ใช้งานมันในฐานะของแท็บเล็ตตลอดเวลาหรอกครับ เราจะได้ใช้จริงๆ ก็ตอนที่แบบว่า ได้นั่งสบายๆ ชิลๆ แล้วค่อยกางออกมาอ่านโน่นอ่านนี่ครับ มันก็เลยไม่ได้สูบแบตแบบตลอดเวลา
ความเห็นส่วนตัว… สมาร์ทโฟนจอพับได้จะมีประโยชน์ตรงพื้นที่การแสดงผล
จนถึงทุกวันนี้ ผมไม่รู้สึกว่าเราจะได้ประโยชน์จาก Multitasking มากเท่าไหร่ จากการใช้งานสมาร์ทโฟนจอพับได้ เมื่อเทียบกับพวกเครื่องคอมพิวเตอร์ครับ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มันยังไปไม่ถึงขั้นนั้น (อนาคตไม่แน่) เพราะต่อให้มันเปิดแอปได้ 3 ตัวพร้อมๆ กัน มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้งานทั้งสามแอปได้เต็มเหนี่ยวเหมือนใช้ทีละแอป

ในทางกลับกัน มันมีประโยชน์ในแง่ของการแสดงผล ได้เห็นข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่เราต้องการเห็นข้อมูลพร้อมๆ กันจากหลายแอป อันนี้เราจะได้ประโยชน์ อาจจะมีการพิมพ์บนแอปต่างๆ บ้างนิดหน่อย แต่ไม่มาก ลักษณะของการใช้งานน่าจะออกมาในรูปแบบนั้นมากกว่าครับ เช่น ผมกำลังอ่านนิยายภาษาจีน หรือกำลังเรียนบทเรียนภาษาจีน ก็สามารถเปิดดิชันนารีภาษาจีนเอาไว้สำหรับหาคำศัพท์ได้ด้วย อะไรแบบนี้
และจะดียิ่งกว่านี้ ถ้าเกิดว่า Samsung ทำ Galaxy Note Fold (ชื่อปนๆ กันดีแมะ) ที่แบบว่ามี S Pen ด้วย เพราะมันจะแจ่มมาก ใช้จดโน้ตได้ทั้งตอนที่เป็นโหมดสมาร์ทโฟน และถ้าพื้นที่เขียนไม่สะใจ ก็กางมันออกมา เขียนในโหมดแท็บเล็ตซะ แจ่มสุดๆ