โน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ ถ้าต้องการเน้นบางและเบา เดี๋ยวนี้เขาถอดพวกพอร์ต USB-A ที่เป็นแบบดั้งเดิมออกไปแล้ว และหันไปใช้ USB-C กันหมด ยิ่งถ้าเป็น MacBook ยิ่งไม่ต้องพูดถึง รุ่นใหม่ๆ ก็เลิกใช้ USB-A กันไปแล้วเช่นกัน ในขณะที่อุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ ยังใช้พอร์ต USB-A กันอยู่เลยจ้า ส่งผลให้เราต้องไปหาอุปกรณ์จำพวก USB-C Hub มาใช้ไง และนี่ก็คือเหตุผลที่ผมมารีวิว Cheotech HUB-M05 6 in 1 Multiport USB-C Adapter ให้อ่านกันนี่แหละครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บล็อกตอนนี้ได้รับการเอื้อเฟื้อตัว Choetech Hub-M05 6 in 1 Multiport USB-C Adapter มาจากทาง Choetech ครับ แต่ความเห็นต่างๆ ที่ผมพูดถึงอุปกรณ์ตัวนี้ในบล็อกนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวของผมล้วนๆ ทาง Choetech ไม่ได้กำหนดเนื้อหามาให้แต่อย่างใด เขาขอแค่ให้แปะลิงก์วาร์ปเอาไว้ให้ เผื่อใครสนใจจะซื้อ … และ อ้อ! ท้ายบล็อกจะมีโค้ดส่วนลดให้ด้วยนะครับ สามารถใช้งานได้จนถึง 31 มีนาคม 2562 นี้เลย ใครอยากสอย อ่านบล็อกแล้วก็คงต้องรีบหน่อย
เริ่มจากแกะกล่องกันก่อนครับ ตัวกล่องมีขนาดไม่ใหญ่ และสิ่งของที่มาด้วยภายในกล่อง มันก็มีแค่ตัว Choetech HUB-M05 6 in 1 Multiport USB-C Adapter ตัวนี้ กับคู่มือการใช้งาน ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ อ่านได้เข้าใจดีเลย โดยมันจะบอกว่าเจ้านี่มีลักษณะการใช้งานอะไรยังไงบ้าง และมีสเปกเป็นยังไง

ก็สมกับชื่อผลิตภัณฑ์นะครับ เจ้านี่มาพร้อมกับพอร์ตการเชื่อมต่อ 6 อัน ประกอบไปด้วย
- USB-A (USB 3.1 Gen 1) จำนวนสองพอร์ต
- SD card reader
- HDMI รองรับ HDCP1.4 (ความละเอียด 3,840×2160 พิกเซล ที่ 30Hz)
- Gigabit LAN 1 พอร์ต
- USB-C PD (Power Delivery) รองรับ 20V 3A


ขนาดของตัว Hub ค่อนข้างกะทัดรัด มีน้ำหนักเบา วัสดุที่ใช้ทำตัว Hub เป็นอลูมิเนียมเคลือบสีดำเอาไว้ และตัวสาย USB-C ที่เอาไว้เสียบต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นไนลอนถัก ดูแข็งแรงทนทานทีเดียว
ทีนี้ก็ได้เวลาลองใช้งานครับ ตัวสเปกมันเขียนเอาไว้ว่ารองรับพวก MacBook ตั้งกะปี 2015 หรือใหม่กว่า และรองรับพวกโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ ที่มี USB-C แต่ว่าไม่ได้เขียนว่าพอร์ต USB-C ที่ใช้เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์มันมีแบนด์ว่าเป็นเท่าไหร่ และทีนี้ลองนึกว่ามันมีพอร์ตเชื่อมต่อตั้ง 6 แบบแน่ะ แล้วมันจะมีแบนด์วิธพอไหมล่ะเนี่ย? อันนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจ


ผมลองต่อออกจอแสดงผล พร้อมๆ กับทำการทดสอบความเร็ว External SSD สองตัวพร้อมๆ กัน พบว่า ตามสเปกแล้ว พอร์ต USB-A สองพอร์ตบน Hub นี่ แบนด์วิธที่ได้ควรจะเป็น 5Gbps ของ USB 3.1 Gen 1 แต่ความเร็วในการทดสอบที่ผมได้ มันอยู่ที่ราวๆ คือราวๆ 560MB/s หรือก็คืออยู่ในช่วง 5Gbps (ความเร็วทางทฤษฎีคือ 625MB/s) เท่านั้นเอง แต่วิธีทดสอบของผมมันไม่ได้เป็นมาตรฐาน ก็เลยตอบยากจริงๆ ว่าแบนด์วิธมันเป็นแบบที่ว่าจริงไหม แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าเราเอามาใช้แค่เสียบ USB Flashdrive หรือ External HDD เป็นหลัก ต่อให้เสียบสองตัวพร้อมกัน เราก็ไม่ได้ใช้แบนด์วิธเต็ม 5Gbps เลยด้วยซ้ำ เว้นซะแต่เราจะเอา External SSD หรือ USB SSD Flashdrive มาใช้นั่นแหละ

ถัดมา ผมลองทดสอบเพิ่มครับ คือ เอา External HDD ความจุ 2TB กับ 3TB มาเสียบดูว่าจะใช้งานได้ไหม เพราะในสเปกมันเขียนเอาไว้ว่า รองรับ External HDD ขนาด 2.5 นิ้ว และความจุไม่เกิน 1TB เพราะเป็นเรื่องของข้อจำกัดของกระแสไฟที่จ่ายได้ แต่จากที่ผมลองใช้ดูก็พบว่า แม้จะเสียบ External HDD ไปสองตัวพร้อมกัน เรียกใช้งานพร้อมกัน มันก็ยังทำงานได้อยู่นะ

ลองเอามาต่อจอแสดงผลภายนอก ออกทีวี 55 นิ้ว UHD ที่บ้าน ก็ใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาอะไรครับ ภาพเสียงมาโอเค แต่ด้วยข้อจำกัดตรงที่มันรองรับ HDCP1.4 เท่านั้น หรือก็คือได้ความละเอียด UHD แต่ที่ 30Hz มันจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่อยากเล่นเกมบนคอมพิวเตอร์แล้วต่อออกจอแสดงผลภายนอกนะครับ คือ แม้ว่ามันรองรับการแสดงผลที่ความละเอียดสูง แต่รีเฟรชเรตมันต่ำไปสำหรับคอเกม มันเหมาะเอามาต่อดูหนัง หรือนำเสนองานมากกว่า

ในส่วนของพอร์ต Gigabit LAN นั้น ทดสอบแล้วก็ได้ความเร็วที่ระดับ 1Gbps อยู่ โดยผมลองทดสอบเอาไปต่อกับตัว Switch แล้วทำการถ่ายโอนข้อมูลกับ QNAP NAS ที่บ้าน แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าไม่ใช่ภายในออฟฟิศละก็ คงไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้อะครับ เพราะตามบ้านคนทั่วไปเดี๋ยวนี้น่าจะเปลี่ยนมาใช้การเชื่อมต่อผ่าน WiFi กันหมดแล้ว ยิ่งปีนี้เขาเปิดมาตรฐานใหม่ของ WiFi คือ WiFi 6 (802.11ax) ที่ให้ความเร็วรับส่งข้อมูลต่อ 1 เสาสัญญาณที่ 1.2Gbps และสามารถใช้ได้แบบ 8 เสา (ความเร็วรวม 10Gbps) นี่แบบ ผู้ใช้งานตามบ้านยิ่งน่าจะหาเหตุผลมาเสียบสาย LAN ได้ยากจริงๆ
ส่วนพอร์ต USB-C PD ที่มีมาให้นั้น เอาไว้ชาร์จแบตเตอรี่สถานเดียวจริงๆ ครับ ผมลองเอา WD My Passport SSD มาเสียบดู คอมพิวเตอร์ก็มองไม่เห็นครับ ต้องไปเสียบพอร์ต USB-A สถานเดียว ก็โอเคนะ รับได้ เพราะว่าถ้าเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ ที่ให้พอร์ต USB-C มาอย่างเดียว เดี๋ยวนี้เขามักจะให้มา 2-3 พอร์ต ฉะนั้น ถ้าเสียบ Choetech Hub-M05 6 in 1 Multiport USB-C Adapter ตัวนี้แล้ว อยากเสียบอุปกรณ์ต่อพ่วงที่เป็น USB-C ละก็ ก็ไปเสียบที่ช่องอื่นแทนได้
ที่ผมห่วงคือเรื่องความร้อนมากกว่า เพราะต่อกับอะแดปเตอร์ขนาด 60 วัตต์ได้ มันจะเกิดความร้อนมากน้อยแค่ไหน เลยลองเอาอะแดปเตอร์ของ ASUS ZenBook S มาต่อดู อันนั้นมัน 65 วัตต์ (20V 3.25A) ซึ่งถือว่าเกินสเปกไปนิดหน่อย แต่ลองชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม ความร้อนบนตัว Hub มันก็แค่ อุ่นจางๆ จับถือได้สบายๆ ไม่มีปัญหาเลย
ถามว่ามันมีข้อจำกัดตรงไหน? ผมว่าน่าจะเป็น
- มันไม่มีพอร์ต VGA มาให้ ซึ่งในอนาคตพอร์ตนี้ก็ไม่ได้สลักสำคัญเท่าไหร่แล้ว เพราะพวก Projector หรือจอคอมพิวเตอร์ที่จะต่อ มันก็จะรองรับ HDMI กันหมดแล้ว รองรับความละเอียดสูงกว่า คุณภาพของภาพดีกว่า แถมสามารถส่งข้อมูลเสียงได้ด้วย แต่ในปัจจุบัน ใครที่จะใช้กับ Projector รุ่นเก่าในออฟฟิศ หรือเป็นนักศึกษาที่ Projector ในห้องเรียนมันยังไม่ได้อัพเกรด พอร์ต VGA ก็ยังสำคัญอยู่
- ตัว USB-C มันรองรับการใช้งานร่วมกับ Windows และ macOS และ Chromebook Pixel ครับ มันเอาไปใช้กับสมาร์ทโฟนที่เป็น USB-C เพื่อเพิ่มพอร์ตต่างๆ ไม่ได้นะครับ
บทสรุปการรีวิว Choetech HUB-M05 6 in 1 Multiport USB-C Adapter
สนนราคาของเจ้านี่อยู่ที่ $53.88 หรือราวๆ 1,700 บาทครับ พวก USB-C Hub ที่พอร์ตเชื่อมต่อเยอะๆ ก็ราคาประมาณนี้แหละครับ ตัว Choetech ก็ถือเป็นทางเลือกอีกทางสำหรับคนที่ต้องการ USB-C Hub ไปใช้กับโน้ตบุ๊กหรือ MacBook ที่บ้านได้ เพียงแต่อย่างที่บอก มันไม่เหมาะสำหรับการเอามาเชื่อมต่อกับจอแสดงผลเพื่อเล่นเกม และใครอยากเอาไปใช้กับสมาร์ทโฟน ก็ไม่ใช่คำตอบ
สำหรับคนที่สนใจอยากซื้อ คลิกลิงก์ด้านล่างนี่ได้เลยครับ เป็นวาร์ป สามารถใส่โค้ด KAHUBM05 แล้วราคามันจะเหลือ $39.99 (ประมาณ 1,270 บาท) ครับ ในส่วนของการรับประกัน ก็ไม่ต้องห่วง เพราะว่ามันให้ Refund ได้ภายใน 30 วัน และมีการรับประกัน 18 เดือน (เงื่อนไขตาม Refund policy) ซึ่งหากมีปัญหา สามารถติดต่อกับทีม Support ได้ (อีเมลแอดเดรส และเบอร์ Toll-free ไปยังสหรัฐอเมริกา อยู่ในคู่มือแล้ว) เท่าที่ผมลองคุยกับตัวแทนของ Choetech เขาบอกว่าหากเสียจากข้อบกพร่องด้านคุณภาพ เขาก็พร้อมจะส่งของใหม่มาเปลี่ยนให้เลย และ (ขึ้นอยู่กับกรณี) เราอาจจะไม่ต้องส่งของกลับด้วยฮะ