เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้ยินข่าวแว่วๆ เข้ามา เกี่ยวกับเรื่องเกมมรณะที่ชื่อว่า MOMOCHALLENGE ที่เขาว่าเป็นเกมที่ทำเอาเด็กและเยาวชนในสองสามประเทศทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายไปหลายรายทีเดียว ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องเกมมรณะแนวนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ ก่อนหน้านี้ก็มี Blue Whale Challenge ซึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศรัสเซีย พ.ศ. 2558-2559 โดยตอนนั้นคาดว่ามีเด็กวัยรุ่นเสียชีวิตไปเพราะเกมมรณะนี่ไปกว่า 130 คน ส่วนเคส MOMOCHALLENGE นี่ ก่อนหน้านี้มีข่าวกันไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา และเมื่อเร็วๆ นี้ก็เริ่มกลับมาเป็นข่าวอีกรอบ ก่อนที่ BBC จะออกมาชี้แจงว่าเป็นเรื่องหลอกลวงบนโลกอินเทอร์เน็ต
BBC บอกว่า MOMOCHALLENGE เป็นเรื่องหลอกลวง แต่โซเชียลมีเดียลือก็กันไปไกลแล้ว
ในบทความชื่อ Momo challenge: The anatomy of a hoax นั้นบอกว่า #MOMOCHALLENGE นี่ถูกเซ็ตมาเหมือนจะเป็นตำนานเมือง (Urban legend) ที่ว่าตัวละคร Momo เนี่ย มันจะแฮกเข้าไปใน WhatsApp แล้วสร้าง “คำท้า” ให้พวกเด็กๆ ทำตาม เช่น ให้ทำร้ายตัวเอง เป็นต้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือพอลือๆ กันไปแล้วเป็นไวรัล (Viral) ก็ปรากฏรูปของ Momo กันเต็มโซเชียลมีเดียไปหมด

มีการร่ำลือว่ามีพวกโฆษณาบน YouTube ที่โปรโมตคลิปวิดีโอ ที่คลิกไปแล้ว ก็จะเป็นการเปิดวิดีโอ #MOMOCHALLENGE นี่ขึ้นมา ซึ่งก็จะทำให้เด็กๆ กลัว แต่ภายหลังทาง YouTube ได้ทำการตรวจสอบแล้วก็ประกาศอย่างเป้นทางการว่าไม่พบหลักฐานใดๆ ที่ชี้ให้เห็นว่ามีวิดีโอโปรโมต Momo challenge บน YouTube และพวกวิดีโอที่สนับสนุนให้คนมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายนั้นขัดต่อนโยบายของ YouTube
และอย่างที่บอกครับ ต่อให้ต้นเรื่องจริงๆ มันเป็นแค่เรื่องหลอกลวง เพียงแต่คนอาจจะเชื่อเรื่องพวกนี้ได้ไม่ยากเลยนะครับ โดยเฉพาะพวกเด็กๆ ครับ อย่าลืมนะครับ เรามีหนังแนวพวกตำนานเมืองอยู่ไม่น้อยเลยนะครับ เริ่มตั้งแต่ต้นตำรับอย่าง The Ring ไปจนถึงยุคโซเชียลอย่าง Kairo ผีอินเทอร์เน็ต (เวอร์ชันฮอลลีวู้ดคือ Pulse) หรือ Friend Request เป็นต้น
ผมอ่านแท็ก #MOMOCHALLENGE บน Twitter ที่พวกฝรั่งต่างชาติเขาพูดถึงเรื่องนี้กัน อยากบอกว่าอ่านๆ แล้ว นึกว่าเป็นพล็อตหนังสยองขวัญเหอะ ที่แบบว่าจะมีภาพหรือวิดีโอของ Momo มาพูดบงการให้ทำร้ายตัวเอง ยังกะหนังผีจริงๆ
จะจริงหรือจะหลอก พ่อแม่ก็ควรจะรู้เท่าทันเอาไว้
แต่จะเป็นเรื่องจริงหรือลวงโลก แต่เมื่อมันเป็นประเด็นท็อปฮิตขึ้นมา สิ่งที่ตามมาก็คือการแชร์ต่อๆ กันไป และบางคนที่มองเรื่องนี้เป็นเรื่องสนุก ก็มีการทำคลิป ทำภาพตัดต่อ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งตรงนี้ต่างหากล่ะครับที่เป็นเรื่องต้องระวัง เพราะว่าอะไรพวกเนี้ย มันอาจจะมาถึงลูกหลานของเราได้แบบไม่รู้ตัว แล้วบางอันอ่ะ มันทำออกมาเนียนจริงจังมากเลยนะครับ ลองคิดดูสิว่า ถ้าลูกหลานเราเจอใครส่งคลิปแบบด้านล่างนี่มาให้ โดยหลอกให้เชื่อว่าคือเรื่องจริง นี่มันจะเป็นยังไง
ฉะนั้น คนที่เป็นพ่อแม่เนี่ย ผมก็อยากจะขอเตือนเอาไว้ให้หนักๆ เลยนะครับ ว่าเรื่อง Digital literacy หรือ การรู้เท่าทันสื่อ มันเป็นเรื่องสำคัญครับ ไม่เพียงแค่จะได้แยกแยะว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม แล้วอะไรที่กำลังเป็นประเด็นที่อาจเสี่ยงต่อลูกหลานของเรา