เข้าสู่ตอนที่สอง ซึ่งเป็นตอนจบของการที่ผมจะเขียนถึงเนื้อหาที่น่าอ่าน จาก Adecco Thailand Salary Guide 2019 นอกเหนือไปจากการดูว่าตำแหน่งงานของเราตอนนี้ หรือที่เราอยากทำในอนาคต เงินเดือนอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่กันแน่ ใครยังไม่ได้อ่านตอนแรก ย้อนกลับไปอ่านตอนแรกก่อนได้นะครับ กับ 5 เทรนด์ด้าน HR ที่จะมาแรงปี 2562 นี้ แต่ในตอนนี้ เราจะพูดถึง 10 ทักษะสำหรับเอาตัวรอดในยุคดิจิทัลของประเทศไทย
ที่งานประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ได้มีการเผยถึงเทรนด์ของโลกที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อตลาดแรงงาน นั่นก็คือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง, ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI), Big data และ Cloud computing โดยเทรนด์เหล่านี้ได้มีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 แล้ว และจะมีบทบาทสำคัญยาวไปจนถึงปี 2565 กันเลยทีเดียว และเป็นที่คาดการว่าสัดส่วนของการทำงานระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรหรือระบบอัลกอริธึมจะอยู่ที่มนุษย์ 58% ต่อเครื่องจักร 42% และด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อที่จะได้อยู่รอด มีงานทำกันครับ และสำหรับในประเทศไทยแล้ว ต่อไปนี้คือ 10 ทักษะที่เราควรมีเอาไว้
1. ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)
ความฉลาดทางอารมณ์ บางที่เรียก Emotional Quotient บางที่ก็เรียก Emotional Intelligence มันคือ ความสามารถในการตระหนักและเข้าใจถึงอารมณ์ทั้งของตัวคุณเองและของผู้อื่น และรวมถึงความสามารถในการควบคุมและเก็บอารมณ์ของคุณเอาไว้ได้ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างผาสุข
2. ภาวะผู้นำ และการมีอิทธิพลเชิงสังคม
เราต้องเรียนรู้ที่จะมาเป็นผู้นำของทีม มีความรับผิดชอบ สามารถแนะนำแนวทางให้กับผู้อื่นได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมที่จะสร้างแรงบันดาลใจ และเสริมอำนาจ (Empower) ให้กับทีม เพื่อทำงานให้กับองค์กรด้วยเช่นกัน
3. การใช้เหตุผล การแก้ปัญหา และการสรรสร้างไอเดียใหม่ๆ
เราต้องมีความสามารถในการค้นหาไอเดียใหม่ๆ ที่ใช้ได้จริงๆ มานำเสนอ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญของกรบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสินค้าและบริการที่มีนวัตกรรม
4. ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นต้นแบบ ความเป็นผู้ริเริ่ม
เราต้องมีความสามารถในการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เคยมีใครคิดได้มาก่อน แล้วสามารถนำมาปรับใช้ได้จริงๆ
5. การคิดวิเคราะห์ วิเคราะห์ แยกแยะ
เราต้องมีความสามารถในการใช้ตรรกะ และการคิดวิเคราะห์ ในการประเมินผลดีผลเสีย หาทางเลือกอื่นๆ และข้อสรุปต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจในการแก้ปัญหาได้
6. การแก้ปัญหาที่ซ้อน
ลำพังแค่ความสามารถในการแก้ปัญหามันไม่พอครับ เพราะโลกนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน (ฮา) เราจึงต้องมีความสามารถในการนำเอาความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่มี มาช่วยในการระบุปัญหา จากนั้นก็ประมวลผลข้อมูลและหาวิธีการแก้ปัญหาหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ได้
7. การคิดเชิงวิเคราะห์ และการสรรสร้างนวัตกรรม
เราต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล และคิดอย่างเป็นตรรกะ เพื่อระบุรากเหง้าของปัญหาให้ได้ และต้องมีความสามารถในการปรับตัวหรือค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาด้วย
8. การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
เราต้องมีความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มั่นเข้ามามีส่วนร่วม มีประสบการณ์ในกระบวนการการเรียนรู้ มีความกระตือรือร้นสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเรียนรู้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเอามาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างไร
9. การวิเคราะห์และประเมินระบบ
เราต้องสามารถทำความเข้าใจว่าระบบทำงานยังไง เปลี่ยนแปลงยังไง และสามารถพิเคราะห์และประเมินถึงประโยชน์ต่างๆ แล้วเลือกตัวเลือกที่ดีที่สุดในการปรับปรุงระบบ และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบได้
10. การออกแบบเทคโนโลยีและการเขียนโปรแกรม
แน่นอนที่สุด หากเป็นไปได้ ในยุคดิจิทัลคุณต้องออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการของผู้ใช้งานได้ และถ้าจะให้ดีที่สุด ก็ต้องเขียนโปรแกรมได้ด้วยละนะ