สมัยก่อน พวกแผ่นผีซีดีเถื่อนหรือแม้แต่การดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะกับระบบปฏิบัติการ Windows และ Microsoft Office นี่มีหลายรูปแบบ สมัยแรกๆ ก็จะเป็นการเอา Product key ของแท้มาใช้กับหลายๆ เครื่อง ผมยังจำได้ดีในยุค Windows 98 ผมนี่จำ Product key ได้แม่นแบบไม่ต้องเปิดดูเหอะ เพราะยุคนั้นต้อง Format แล้วลง Windows ให้ชาวบ้านบ่อยมาก (ฮา) แต่เมื่อเวลามันผ่านไป วิธีการละเมิดลิขสิทธิ์ก็เปลี่ยนไป
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อเจตนาชี้ช่องให้ละเมิดลิขสิทธิ์กันนะครับ แม้สมัยยังเป็นนักเรียนนักศึกษา ผมจะใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มาตลอด แต่ปัจจุบันทำงานหาเงินได้แล้ว ก็ใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์กันหมดแล้ว อันไหนเลือกประหยัดตังค์ได้ ก็ไปใช้ฟรีแวร์ครับ ซอฟต์แวร์ดีๆ ฟรีๆ ก็มีเยอะในโลกหล้านี้นะเออ
อย่างที่บอก การละเมิดลิขสิทธิ์ Windows และ Microsoft Office ในยุคแรกๆ คือการใช้ Product key แท้ อันเดียวครอบจักรวาล ลงมันเป็นสิบเป็นร้อยเป็นพันเครื่อง ที่ทำแบบนี้ได้เพราะยุคนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟูครับ Microsoft เขาไม่สามารถตรวจสอบได้

จนกระทั่งมาถึงยุค Windows XP อินเทอร์เน็ตเริ่มเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ใครๆ ก็มีอินเทอร์เน็ตใช้กัน Microsoft ก็เลยเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ เพื่อไฝว้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่สุดท้ายครับ ไม่นาน ก็มีคนแหกแนวป้องกันไปจนได้แหละ ด้วยวิธีการต่างต่างนานา แต่ฟีเจอร์ Windows Activation นี้ก็ยังคงมีมาอยู่เรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันนะ

จนกระทั่งมาถึงยุค Windows 10 ที่ Microsoft เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่ คือแม้ว่าจะยังขายระบบปฏิบัติการ Windows 10 อยู่ แต่เลิกทำเวอร์ชันใหม่แล้ว โดยเลือกที่จะอัพเดตต่อเนื่อง พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้าไป คล้ายๆ กับระบบปฏิบัติการ macOS เพียงแต่ว่ายังไม่เห็นแผนที่จะเปลี่ยนเลขเวอร์ชัน และการอัพเดตเหล่านี้ แจกกันฟรีๆ หรือพูดง่ายๆ คือ ซื้อทีเดียวแล้วก็จะอัพเกรดได้เรื่อยๆ ส่วนจะใช้ได้นานแค่ไหนก็อยู่ที่ว่าเราได้ไลเซ่นส์มาแบบไหน ถ้าเป็นแบบ Retail เราจะสามารถส่งต่อไลเซ่นส์ไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ได้ แต่ถ้าเป็นแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) ซึ่งมักจะมีราคาถูกกว่า Retail ก็จะไม่สามารถย้ายเครื่องได้ เพราะไลเซ่นส์มันมากับตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราซื้อ
Retail vs OEM vs Volume
Windows 10 มันมีหลายเวอร์ชัน แต่หลักๆ แล้ว ไลเซ่นส์มันจะมี 3 แบบใหญ่ๆ คือ
– Retail ซึ่งก็คือการขายปลีก คิดซะว่า Windows 10 คือซอฟต์แวร์ตัวนึง เราจะเอาไปติดตั้งกับเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องไหนก็ได้ ติดตั้งเสร็จ อยากย้ายเครื่อง ก็ย้ายได้ เพียงแต่เราต้องเคารพเงื่อนไขว่าเราจะติดตั้งใช้บนเครื่องคอมพิวเตอร์แค่เครื่องเดียว
– OEM เป็นการขายแบบ Bundled มากับเครื่องคอมพิวเตอร์ Microsoft จะคิดราคาถูกกว่าปกติ มันก็เลยจะไม่ไปเพิ่มราคาตัวเครื่องมากนัก แต่ข้อจำกัดคือ ไม่สามารถย้ายไลเซ่นส์ไปเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้
– Volume เป็นไลเซ่นส์ที่คนทั่วไปไม่ได้ใช้กันหรอกครับ มันคือการเหมามาจาก Microsoft เอาเลยว่าจะซื้อสำหรับผู้ใช้งานกี่คน ใช้กันเยอะในหมู่องค์กร จะมีการตั้ง Key Management Server (KMS) เพื่อใช้ Activate ตัว Windows และตรวจสอบการ Activation ครับ หากไม่ได้เชื่อมต่อกับ KMS เป็นระยะเวลานึง ก็จะเท่ากับว่าไลเซ่นส์หมดอายุไป
ในยุคที่คนเราประกอบคอมพิวเตอร์น้อยลง ซื้อคอมพิวเตอร์ประกอบเสร็จมากขึ้น โดยเฉพาะพวกโน้ตบุ๊ก เพราะเดี๋ยวนี้โน้ตบุ๊กไม่ได้แพงมากแล้ว (แม้บางยี่ห้อบางรุ่นจะยังโคตรแพงอยู่ก็ตาม) และส่วนใหญ่ก็จะมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows ด้วย ฉะนั้นโดยปกติแล้ว คนทั่วไปก็จะไม่จำเป็นต้องลง Windows แบบละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว

แต่ก็ยังมีบางคน ที่ประกอบคอมพิวเตอร์เองเพื่อเล่นเกม หรือ ภาคธุรกิจ SMEs บางที่ ที่อยากประหยัดงบ ยังมีความอยากซื้อ Windows ในราคาประหยัดอยู่ มันก็เลยเปิดช่องให้เกิดธุรกิจใหม่ รูปแบบการละเมิดลิขสิทธิ์แบบใหม่ๆ นั่นก็คือ การขาย Key แท้ของ Windows ซึ่งต่างจากการละเมิดลิขสิทธิ์แบบเดิม เพราะ Microsoft จะมองว่าเป็นของแท้ถูกลิขสิทธิ์จริงๆ (แหงสิครับ เพราะมัน Key แท้จริงๆ แค่มันใช้แบบผิดเงื่อนไขการใช้งาน ซึ่งเท่ากับละเมิดลิขสิทธิ์นั่นแหละ แต่การตรวจสอบมันทำยากกว่า)
ผมได้ลองแจ้งไปยังเพื่อนๆ ที่อยู่ Microsoft แล้ว ก็ไม่แน่ใจว่า Microsoft ได้ดำเนินการอะไรไปบ้างหรือยัง แต่ยังไม่เห็นจะมีความคืบหน้าอะไรให้เห็นกันนะครับ เจ้าของแพลตฟอร์มที่เป็นแหล่งขายเนี่ย ก็ดูจะไม่ได้มีมาตรการอะไรมาจัดการด้วย ทั้งๆ ที่ Microsoft มี Official Store อยู่บนนั้นก็ตาม … หรือจริงๆ แล้ว Microsoft ยกธงขาวไปแล้วก็ไม่รู้สินะ