เป็นประจำทุกปีที่กลุ่มบริษัทอเด็คโก้จะทำรายงานฐานเงินเดือนของอาชีพต่างๆ ในประเทศไทยมาแจกให้ดาวน์โหลดไปอ่านกัน จะได้รู้กันว่าอาชีพนี้ ประสบการณ์เท่านี้ เงินเดือนน่าจะได้ประมาณไหน ผมว่าเป็นประโยชน์มาก ทั้งต่อเด็กนักเรียนมัธยมปลายที่กำลังจะเลือกเส้นทางการศึกษา ทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัย เด็กจบใหม่ หรือแม้แต่คนที่กำลังจะเปลี่ยนงาน เพราะรู้เงินเดือน จะได้เลือกเรียน เลือกอาชีพที่ต้องการได้ หรือจะได้ต่อรองเงินเดือนได้อย่างมั่นใจหน่อย
สิ่งที่ต้องเข้าใจให้กระจ่างเกี่ยวกับ Thailand Salary Guide
ชื่อของมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น Guide หรือ แนวทาง เท่านั้น มันไม่ใช่งานวิจัยอะไร ข้อมูลทั้งหมด คือการสรุปจากที่ทางกลุ่มบริษัทอเด็คโก้เก็บรวบรวมข้อมูลมาได้ แน่นอนว่าอาจมีบริษัทที่ให้เงินเดือนต่ำกว่าเกณฑ์ใน Guide พอสมควร และในขณะเดียวกัน ก็อาจมีบริษัทที่ให้เงินเดือนสูงกว่าเกณฑ์มากเช่นกัน
Adecco Thailand Salary Guide นี่เขาทำมาตั้งกะปี 2007 นี่ก็ปาเข้าไป 12 ปีแล้ว แนะนำว่าควรจะไปดาวน์โหลดมาอ่านกันครับ และสำหรับเวอร์ชันของปีนี้ ผมอยากแนะนำให้อ่านในส่วนของเทรนด์ด้าน HR (หน้า 7-11) และ 10 ทักษะเพื่อเอาตัวรอดในยุคดิจิทัลในประเทศไทย (หน้า 12-13) ครับ ผมขอเอามาเล่าสู่กันอ่านแบบคร่าวๆ ตรงนี้ก่อนแล้วกัน อยากอ่านแบบละเอียดๆ ไปดาวน์โหลดอ่านเอาเองนะ
เทรนด์ HR ปี 2019
กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย รวบรวมข้อมูลเทรนด์จากทั่วโลก ทั้งจากฐานข้อมูลของอเด็คโก้เอง และจากบริษัทวิจัยต่างๆ ออกมาเป็น 5 เทรนด์ที่เหล่า HR ควรรู้ (และผมก็คิดว่าคนทั่วไปควรทราบเช่นกัน จะได้รู้ทัน HR … ฮา)
1. การเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล
กระแสของการเข้าสู่ยุคดิจิทัลมันมามากซักพักแล้วแหละ แต่ว่ามันก็จะยังคงมีอยู่ต่อไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ซึ่งหลายๆ อย่าง ก็อาจจะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI), ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ นอกจากนี้หลายๆ องค์กรก็จะพยายามเข้าสู่เทรนด์ด้วยกันผันตัวเองมาเป็น ที่ทำงานยุคดิจิทัล (Digital workplace) กันมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้จะส่งผลอะไรต่อคนทำงาน? ความต้องการคนที่มีทักษาด้านไอทีและดิจิทัลจะมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เราจะเห็นตำแหน่งงานมากมายที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี เช่น เมื่อบริษัทเริ่มนำระบบแชทบอทเข้ามาช่วยด้านบริการลูกค้า หรือธนาคารที่ลดจำนวนสาขาลง โดยทดแทนด้วยออนไลน์แบงก์กิ้ง เป็นต้น และถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี แต่คนทำงานก็ต้องปรับเปลี่ยนสไตล์การทำงานไปไม่มากก็น้อย
2. สังคมผู้สูงอายุ
ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรไทย 25% จะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากจะทำให้จำนวนแรงงานลดลงแล้ว แน่นอนว่าส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ว่างงานและกลายมาเป็นภาระให้แก่คนหนุ่มสาวในอนาคต ที่ต้องเลี้ยงดู

อัตราการพึ่งพิง (Dependency ratio)
อัตราการพึ่งพิง ถ้าให้อธิบายง่ายๆ ก็จะหมายถึงเปอร์เซ็นต์ของคนวัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) ต่อประชากรที่ไม่ได้ทำงาน (อายุน้อยกว่า 15 ปี หรือ มากกว่า 65 ปี) ครับ ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารโลก ในปี 1960 ไทยเรามีอัตราการพึ่งพิงอยู่ที่ 85% แต่ปี 2017 ตกลงมาเหลือ 40% เท่านั้นเอง
ถามว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบอะไรต่อนายจ้าง? นายจ้างต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับนโยบายขององค์กร เพื่อแก้ปัญหาความท้าทายด้านประชากรนี้ ซึ่งอาจหมายถึงชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น (เพื่อให้ลูกหลานได้มีเวลาไปดูแลพ่อแม่หรือญาติที่สูงอายุ) และสวัสดิการวัยเกษียณ หรือการเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ โดยเฉพาะด้านการเงิน เป็นต้น
3. เหล่า Gen Z ผู้ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่
เรามาถึงยุคที่จะได้เห็นคน Gen Z (หมายถึงคนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2536) มาร่วมงานในองค์กรกันมากขึ้น ถึงเวลาที่เราจะต้องทำความเข้าใจพวกเขามากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ชอบงานที่มี “ความหมาย” พวกเขาต้องการสร้าง “อะไรบางอย่าง” ให้เกิดขึ้นกับสังคม พวกเขาจะตื่นเต้นและกระตือรือร้นหากได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญๆ
แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ชอบเทคโนโลยี และชอบความสมดุลในด้านหน้าที่การงานและชีวิต ฉะนั้น หากนายจ้างอยากจะได้ประโยชน์จากศักยภาพของพวกเขา คุณต้องเข้าใจพวกเขา รับฟังและให้โอกาส และปรับปรุงสถานที่ทำงานให้ทันสมัย ดูดีมีไลฟ์สไตล์ ถ้าพวกเขาแฮปปี้กับที่ทำงาน ประสิทธิภาพและผลงานก็จะตามมา
4. คนวัยทำงานที่ต้องการความยืดหยุ่น
เราได้เห็นกันแล้วว่ายุคนี้สมัยนี้ มีงานจำพวก “ลูกจ้างชั่วคราว” หรือ “ฟรีแลนซ์” กันเยอะขึ้น เมื่อมารวมเข้ากับปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานทักษะ ก็ยิ่งทำให้นายจ้างต้องปวดหัวกันมากขึ้น คน Gen Y และ Gen Z มีทัศนคติเรื่องการทำงานที่ต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น อยากเป็นายของตัวเอง และมองการทำงานแบบฟรีแลนซ์เป็นโอกาสในการหารายได้ที่เพิ่มขึ้นจากปกติ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ทั้งในเรื่องการสรรหาพนักงาน และการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรนานๆ ด้วย

5. การพัฒนาทักษะ (Upskilling) และการเปลี่ยนแปลงทักษะ (Reskilling)
โลกมันหมุนไปเร็วมาก คนเราจึงต้องตระหนักว่าชีวิตคือการเรียนรู้ เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ข้อมูลจากสำนักสถิติแรงงานชี้ให้เห็นว่า ทุกๆ 5 ปี ทักษะที่เรามีอยู่ในปัจจุบันจนหมดประโยชน์ลงไปครึ่งนึง และเราจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะใหม่ๆ เข้ามาชดเชย นั่นหมายความว่า ตัวนายจ้างเองก็ต้องตระหนักเรื่องนี้ และจัดให้มีการฝึกฝนทักษะแก่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทักษะของพนักงานให้รู้เพิ่มมากขึ้นด้วย

องค์กรใหญ่ๆ อย่าง Google เนี่ย เขาจะมีการออกแบบหลักสูตรการฝึกทักษะ ทำระบบการฝึกอบรมออนไลน์พร้อมใบประกาศณียบัตรรับรอง ที่บริษัทจำนวนมากต่างให้การยอมรับว่าเอามาเป็น Portfolio ในการสมัครงานได้ ซึ่งตรงนี้จะเข้ามาช่วยทั้งตัวคนทำงาน และองค์กรในด้านการพัฒนาทักษะและการเปลี่ยนแปลงทักษะ
ไม่คิดว่าจะเขียนมายาวขนาดนี้ เลยขอแบ่งออกเป็นสองตอนแล้วกันนะครับ เดี๋ยวจะมาเขียนให้อ่านต่อในตอนหน้า เรื่อง 10 ทักษะเอาตัวรอดในประเทศไทยยุคดิจิทัล