Osmo Pocket เป็นไอเท็มยอดนิยมในหมู่บล็อกเกอร์มากครับ ปลายปีที่ผ่านมานี่เห็นเพื่อนๆ บล็อกเกอร์ของผมเกือบ 50% ต้องมีใช้เหอะ นั่นขนาดตอนนั้นยังไม่สามารถใช้งานได้ เพราะยัง Activate ไม่ได้จนกว่าจะ 15 ธ.ค. 2561 นะนั่น แต่ตอนนี้พร้อมใช้งานแล้ว ผมก็ได้ร้าน lnwGadget ที่เอื้อเฟื้ออุปกรณ์มาให้ลองเล่น แล้วรีวิวให้ได้อ่านกันครับ
ลองแกะกล่อง DJI Osmo Pocket กันก่อน มีอะไรบ้าง
ตัวที่ผมได้มาทดลอง ไม่ใช่ของใหม่แกะกล่องนะครับ เป็นเดโมยูนิตที่ทางร้านเขาเอื้อเฟื้อไว้สำหรับให้บล็อกเกอร์ได้รีวิวกัน แต่คิดว่าของภายในกล่องก็ไม่น่าจะมีอะไรแตกต่างไปจากนี้ครับ มันประกอบไปด้วย ตัว Osmo Pocket เองพร้อมซองใส่ แล้วก็มีอะแด็ปเตอร์สำหรับใช้เสียบกับสมาร์ทโฟน มีให้สองแบบคือ Lightning และ USB Type-C กับสายชาร์จแบบ USB Type-C ให้อีกเส้น

ตัวกล้อง Osmo Pocket จะสไตล์เดียวกับ DJI Osmo แบบเดิมๆ คือเป็นกิมบอล (ไม้กันสั่น) ที่มีกล้องดิจิทัลในตัว ถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอได้ มีหน้าจอแสดงผลขนาดกระจิ๋ว 1 นิ้วแบบสัมผัส และปุ่มกด 2 ปุ่ม ทำหน้าที่เป็นปุ่มบันทึกภาพอันนึง และปุ่มเปลี่ยนโหมด ซึ่งทำหน้าที่เป็นปุ่ม Power ด้วยอีกปุ่มนึง

เหนือปุ่มมันจะมีแผ่นสไลด์ปิดอยู่ สไลด์ถอดมันออกมา แล้วเอาอะแด็ปเตอร์ใส่เข้าไป ตามแต่ว่าเราใช้สมาร์ทโฟนแบบไหนอยู่ ก็เลือกเอา Lightning (iPhone/iPad) หรือ USB Type-C (Android)

ด้านข้างจะมีสล็อตเอาไว้ใส่ MicroSD card ใส่ได้สูงสุด 256GB ครับ โดยรองรับ File format สองแบบ คือ FAT32 สำหรับกรณีความจุ ≤ 32GB หรือ exFAT สำหรับกรณีความจุ
≥ 64GB ซึ่งทั้งคู่สามารถเปิดได้ทั้งบน Windows และ macOS อย่างไม่มีปัญหาอะไร ส่วนด้านล่างของตัวกล้อง ตรงด้ามจับ เป็นพอร์ต USB Type-C เอาไว้สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ครับ

ตัวซองใส่ เรียกว่าออกแบบมาดี ใส่ได้พอดีเป๊ะ แบบชนิดที่เรียกว่าไม่ต้องแกะหรือถอดอะไรเลย ใครที่ใช้งานแบบที่เอาตัวอะแด็ปเตอร์ติดไว้กับตัว Osmo Pocket ตลอดก็ไม่ต้องแกะออก เพราะมันเจาะรูเว้นเอาไว้ให้แล้ว และการถอด MicroSD card ก็สามารถทำได้เลย ไม่ต้องแกะมันออกจากซอง และการชาร์จแบตเตอรี่ก็เช่นกัน ดีงามมาก
ขนาดของมันกะทัดรัดมาก ใส่ลงไปในกระเป๋ากางเกงได้สบายๆ เลยครับ สมชื่อ Osmo Pocket จริงๆ
ลองเล่น DJI Osmo Pocket
ถึงเวลาลองเล่นจริงๆ ครับ การใช้งาน DJI Osmo Pocket นี่มีสองวิธีครับ แบบง่ายสุดก็คือการใช้งานแบบไม่ต้องง้อสมาร์ทโฟน แบบนี้สะดวกดีครับ เราจะใช้งานตัว DJI Osmo Pocket เหมือนเป็นกิมบอลติดกล้องไปเลย เหมาะสำหรับสถานการณ์ที่เป็นพวกแอ็คชันมาก คือ ถ่ายไปเดินไป อะไรแบบนี้เลย การควบคุมทำผ่านปุ่มและหน้าจอสัมผัสขนาด 1 นิ้วบนตัวเครื่องนั่นแหละ

หน้าจอแสดงผลจะทำหน้าที่เป็น View finder และเราจะสามารถเข้าถึง Settings ต่างๆ ได้โดยการปัด ขึ้น ลง ซ้าย หรือ ขวา
- ปัดขึ้น จะเป็นการปรับตัวเลือกกล้อง 4 แบบ คือ
- Re-center กล้อง ให้กล้องกลับมาอยู่ในตำแหน่งตรงกึ่งกลาง
- หมุนกล้อง 180 องศา สลับไปมาระหว่างถ่ายภาพแบบปกติหรือถ่ายเซลฟี่
- เลือกว่าจะแพนกล้องแบบช้าหรือเร็ว เลือกให้เหมาะสำหรับความต้องการในการถ่ายวิดีโอ
- โหมดของกิมบอล มีให้เลือกสามแบบ คือ Follow ก็เหมือนกับการล็อกแกน X เอาไว้ เหมาะสำหรับการถ่ายแบบแพนรอบๆ วัตถุ หรือต้องถ่ายระหว่างการเคลื่อนไหว, Tilt locked คือการล็อกกล้องเอาไว้ไม่ให้แหงนขึ้นหรือก้มลง และ FPV หรือ First-Person View ซึ่งเอาไว้ถ่ายวิดีโอในช็อตที่เหมือนกับเรามองด้วยตาของเราเอง กล้องจะพยายามถ่ายตรงไปข้างหน้าเสมอ
- ปัดลง จะมี 3-4 ตัวเลือกครับ ได้แก่
- ตัวเลือกซ้ายสุด (จริงๆ) จะมีเฉพาะบางโหมด ถ้าเป็นโหมดถ่ายภาพนิ่ง มันจะเป็นการเปิดโหมดบิวตี้ ถ้าเป็นโหมดวิดีโอก็จะเป็นการเลือกถ่ายแบบ Super fine และถ้าเป็นโหมด Timelapse จะเป็นการเลือกว่าจะถ่ายภาพนิ่งหรือวิดีโอ
- ตัวเลือกที่สอง (ในบางโหมด นี่คือตัวเลือกซ้ายสุด) ซึ่งจะเป็นตัวเลือกแรกของทุกโหมดเสมอ คือ Settings ครับ เข้ามาแล้วจะเห็นตัวเลือกสองหน้า หน้าละ 4 อัน คือ
- แบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ บอกเป็น %
- Calibration
- เปิดปิดการควบคุมการ Tilt ของกล้องจากจอสัมผัส
- กำหนดระยะเวลาปิดเครื่องอัตโนมัติ
- ความจุ MicroSD card ที่เหลืออยู่
- อุปกรณ์เสริม ที่ผมคาดว่าติดตั้งเพิ่มผ่านตัวอะแด็ปเตอร์แบบสไลด์
- Anti-Flicker เลือกได้เป็น 50Hz และ 60Hz
- More ซึ่งจะให้เราไปปรับพวก ภาษา, รีเซ็ตตัวเครื่อง, ข้อมูลอุปกรณ์
- อัตราส่วนการแสดงผลของหน้าจอ เป็นแบบเต็มจอ หรือแบบภาพกว้างขึ้นอีกนิด (แต่จะมีขอบดำบนและล่าง)
- ความสว่างของหน้าจอ ปรับได้ 3 ระดับ
- ปัดซ้าย คือการดูรูปหรือวิดีโอที่ถ่ายเอาไว้ (แบบ Thumbnail) อยากดูเต็มๆ ต้องไปเปิดจากสมาร์ทโฟน หรือไม่ก็โยนไฟล์ไปบนคอมฯ เอา แต่เราจะสามารถปัดซ้ายอีกที เพื่อเห็นสองตัวเลือก คือ Favourite รูปนี้ กับ ลบรูปนี้ ได้อีก
- ปัดขวาเป็นการเลือกโหมดถ่าย มีให้เลือกคือ ภาพนิ่ง (Photo), วิดีโอ (Video), สโลว์โมชัน (Slow-mo), Timelapse และ พาโนรามา (Pano) แต่ละโหมดก็จะปรับตั้งค่าได้ เช่น ความละเอียดของภาพหรือวิดีโอที่จะถ่าย อะไรแบบนี้

อีกรูปแบบของการใช้งานคือ เสียบกับตัวสมาร์ทโฟนซะ ซึ่งจะต้องดาวน์โหลดแอป DJI Mimo มาใช้ (มีทั้งเวอร์ชัน Android และ iOS ไปหาดู) แต่จริงๆ แล้ว ยังไงซะเราก็จำเป็นต้องใช้แอปนี้อยู่แล้ว เพราะต้องใช้มัน Activate ตัว DJI Osmo Pocket อะนะ (ซึ่งผมดันลืมพูดถึงไปในตอนแรก … ฮา)

ปัญหาที่ผมพบตอนที่เสียบสมาร์ทโฟนใช้งานแล้วก็คือ มันเหมาะกับการใช้งานแบบถือสองมือครับ เพราะ User Interface ของแอป มันมีโน่นนี่ให้ปรับเยอะ และกระจายอยู่ทั้งสองฝั่งของหน้าจอเลยทีเดียว ต่อให้เราปรับทุกอย่างเรียบร้อย และพร้อมถ่ายโดยไม่ต้องไปเซ็ตอะไรเพิ่ม ผมก็ไม่อยากแนะนำให้ถือมือเดียว เพราะสิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวเจ้า Osmo Pocket เอาไว้กับสมาร์ทโฟนของเราก็คือ หัวของพอร์ตเชื่อมต่อครับ อย่าเสี่ยงๆ

ไม่อย่างนั้น ก็ต้องไปหาอุปกรณ์เสริมเป็นตัวจับสมาร์ทโฟนและ Osmo Pocket ในเวลาเดียวกันแบบในรูปด้านบนครับ อันนี้มีที่ให้เสียบไมค์ด้วย ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องคุณภาพเสียงอีกต่างหาก


เซ็นเซอร์กล้อง 12 ล้านพิกเซล เลนส์มุมกว้าง 80 องศา รูรับแสง F2.0 ให้ภาพที่เรียกว่าดูดีกว่ากล้องดิจิทัลของสมาร์ทโฟนอยู่ไม่น้อย และการที่มันเป็น Gimbal ในตัว ส่งผลให้หมดห่วงเรื่องภาพเบลอจากการสั่น (แม้ว่าจะกันสั่นแค่สามแกน) น้ำหนักแค่ 116 กรัม เรียกว่าเบากว่าสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงในปัจจุบันเยอะ (ยกเว้นจะเสียบกับสมาร์ทโฟนนั่นแหละ หนักสองเท่าเลยงานนี้)
รูรับแสงแค่ F2.0 แต่เวลาที่ถ่ายภาพแล้ววัตถุอยู่ใกล้ๆ พอสมควร เราก็ได้หลังละลายนิดๆ นะ (ดูจากรูปดอกบัวด้านบน) แต่ถ้าอยากใช้งานแบบ Standalone คือ ไม่มีสมาร์ทโฟนมาเกี่ยวข้อง แนะนำว่าซื้อ Controller wheel มาเสริมครับ (เสียบกะสไลด์อะแด็ปเตอร์นั่นแหละ) แล้วเราจะควบคุมการแพนและ Tilt ของกล้องได้ ซึ่งจะดีงามมาก แต่ตัวเดโมที่ผมได้มารีวิว ไม่มีเจ้านี่มาให้ครับ เลยอดลอง
จุดเด่นอีกจุดของ Osmo Pocket นี่คือโหมดถ่ายภาพแบบพาโนรามา ที่เลือกได้ว่าจะถ่ายแบบ 180 องศา หรือ 3×3 แต่ที่น่าแปลกใจคือ ขนาดความละเอียดของภาพแบบ 3×3 นั้น กลับมีแค่ 4.6 ล้านพิกเซลเท่านั้น ถ้าเป็นภาพแบบ 180 องศา เป็นการต่อภาพ 4 ภาพ และได้ความละเอียด 4.2 ล้านพิกเซลเท่านั้นเอง ซึ่งผมแอบผิดหวัง เพราะอุตส่าห์เอาภาพความละเอียด 12 ล้านพิกเซลมาต่อกันเยอะแยะขนาดนี้ แม้ว่าการ Stich ภาพจะทำให้เสียความละเอียดไปบ้างเหอะ มันก็ไม่ได้เยอะขนาดนี้
ลองเอามาถ่ายวิดีโอบ้าง แบบ 4K 60fps กันเลย เอาให้เต็มพิกัด ภาพที่ได้ ออกมาดีงามมาก ถ้าสภาพแสงสว่างๆ ยิ่งดีงามเลยครับ คมชัดจริงจัง ด้านบนนี่เป็นโหมด Follow ครับ ถ่ายแฟนตอนเล่นโกคาร์ทไฟฟ้าของ MONOWHEEL ที่ผมพูดถึงไปเมื่อวันก่อน ส่วนด้านล่างเป็นการลองโหมด FPV ของกล้อง โดยผมขับโกคาร์ทไฟฟ้าไป แล้วก็ถ่ายด้วย Osmo Pocket ไปด้วย ให้บรรยากาศของภาพที่เหมือนกับมองผ่านจากตาของผมเอง
ด้วยความที่ผมไม่มี MicroSD card ที่เป็นแบบความเร็วสูง (แนะนำ SanDisk Extreme Class V30) การบันทึกวิดีโอที่ความละเอียด 4K 60fps จึงสะดุดอยู่ที่ 1:08 ครับ เพราะการ์ดเริ่มเขียนข้อมูลไม่ทัน ระบบมันจะแจ้งเตือนเลยว่าเขียนไม่ทันแล้วจ้า ฉะนั้น เมื่อซื้อ Osmo Pocket มาใช้ ผมก็อยากแนะนำให้ซื้อ SanDisk Extreme Class V30 ความจุซัก 64GB มาใช้ ก็จะดีครับ (32GB น้อยไปหากคิดจะถ่าย 4K 60fps เป็นหลัก)
แบตเตอรี่ของ Osmo Pocket เป็นแบบลิเธียมโพลิเมอร์ ความจุ 875mAh ถือว่าไม่ได้เยอะมาก แต่เนื่องจากมีหน้าจอแสดงผลกะทัดรัดมาก ก็เลยทำให้ใช้งานได้ยาวนานพอสมควร เอาเป็นว่าอยู่ได้ประมาณ 2 ชั่วโมงครับ (จะนานกว่านี้ หรือสั้นกว่านี้ อยู่ที่พฤติกรรมการใช้งานด้วย ถ้าถ่าย 4K 30fps รัวๆ แบตก็จะหมดเร็วกว่านี้)
บทสรุปการรีวิว DJI Osmo Pocket
ผมไม่แปลกใจว่าทำไมบล็อกเกอร์ชอบกันจังกับเจ้านี่ มันเป็นกล้องพร้อม Gimball ในตัวที่ราคาไม่แรงมาก แต่ให้ภาพคุณภาพดีทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ ถ่ายภาพได้ทั้ง MOV และ MP4 เรียกว่าพร้อมสำหรับการตัดต่อด้วย มีอุปกรณ์เสริมพอสมควร ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน และที่สำคัญ อุปกรณ์เสริมไม่แพงมาก (โดยเฉพาะถ้าไม่ใช่ของแบรนด์มันเอง) ขนาดก็พกพาสะดวกสุดๆ ใครจะใช้เป็นอุปกรณ์หลักก็ได้ เป็นอุปกรณ์เสริมก็ไม่ได้ทำให้พกพาลำบากขึ้นไปมากกว่าเดิมเท่าไหร่ ใครอยากเป็น Vlogger โดยเฉพาะสายท่องเที่ยว ผมก็อยากแนะนำให้ลองไปหามาเล่นดู ติดใจก็ซื้อได้
ขอบคุณร้าน lnwGadget ที่เอื้อเฟื้อ Osmo Pocket มาให้ทดสอบ แต่ขอยืมอีกซักพักนึงนะ ขอเอามาเขียนเทียบกับ GoPro Hero 7 ก่อน ทาง PR ของ GoPro เขาให้มาลอง อิอิ แต่ใครสนใจอยากซื้อ ไปซื้อได้ที่ร้าน lnwGadget เลยครับ สั่งออนไลน์ก็ได้ที่นี่