วันนี้ผมจะไปเที่ยวที่ตลาดน้ำทุ่งบัวแดง จ.นครปฐม ครับ แน่นอนว่าผมไม่เคยไปที่นี่มาก่อน นี่แค่ว่าตามรอยเพื่อนร่วมงานที่ไปมาก่อนหน้า แต่ผมก็ไม่ได้หวั่นอะไรนะว่าจะหลงทาง เพราะว่าสามารถใช้ Google Maps นำทางได้ (แต่เอาเข้าจริงๆ แอบหลงไปนิดนึง เพราะตอนค้นว่าตลาดน้ำทุ่งบัวแดง Google Maps มันดันพาไป อำเภอบางเลน เฉยๆ พาไปประตูน้ำเลย … ฮา … ฉะนั้นใครที่อยากไปจริงๆ ต้องให้แน่ใจว่ามันขึ้นเป็นจุดหมายภาษาอังกฤษว่า Red Lotus Floating Market นะครับ)

ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว ไม่ใช่สมาร์ทโฟนทุกเครื่องจะนำทางด้วย GPS ได้ดีนะครับ เพราะคุณสมบัติการนำทางด้วย GPS มันยังไม่ใช่มาตรฐานที่สมาร์ทโฟนทุกเครื่องต้องมี มันต้องเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นที่ทำออกมาเฉพาะจริงๆ อย่างเช่น Garmin ASUS Nuvifone M10 อะไรแบบนี้

ที่เป็นแบบนี้เพราะสมัย 10 ปีก่อน อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ Mobile internet มันยังไม่แพร่หลาย มีค่าใช้จ่ายที่สูง และที่สำคัญที่สุดคือ ความเร็วช้าเป็นเต่าเลยครับ แต่เดี๋ยวนี้ (#10YearChallenge) สมาร์ทโฟนทุกเครื่อง แม้กระทั่งไอ้ที่เครื่องละพันกว่าบาท ราคาแบบ Entry level ก็สามารถใช้นำทางด้วย GPS ได้แล้ว เปิดเน็ต 3G ก็แรงพอที่จะใช้ Google Maps นำทางได้สบายๆ และที่สำคัญ ระบบปฏิบัติการหลักๆ อย่าง iOS และ Android ต่างก็มีบริการ Maps เป็นของตัวเอง
การมาของ GPS Navigation ไม่ใช่แค่ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น การไปในสถานที่ที่เราไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักทาง สะดวกขึ้น เท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย เพราะเราสามารถให้ GPS Navigator ช่วยนำทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ ช่วยในเรื่องการวางแผนการท่องเที่ยวได้ตลอดเส้นทาง (ผมชอบใช้ตอนวางแผนการขับรถท่องเที่ยวไทย) ทั้งในและต่างประเทศ

แต่การที่คนเราพึ่งพา GPS Navigator มากเกินไป มันก็อาจส่งผลเสียได้เหมือนกันครับ มีนักวิจัยที่ McGrill University ทำการศึกษาเพื่อหาผลกระทบของการใช้เทคโนโลยี GPS Navigation ที่มีต่อสมอง ซึ่งพวกเขาพวกว่า ปกติแล้วสมองของมนุษย์ในส่วนฮิปโปแคมปัสจะขยายตัว เพื่อใช้เก็บข้อมูลของเส้นทางใหม่ๆ ในขณะที่คนเราจะเริ่มเข้าสู่โหมดเดินทางโดยอัตโนมัติ หรือ Auto pilot เมื่อได้ไปๆ มาๆ ในเส้นทางเดิมๆ บ่อยๆ และปัญหาก็คือ การใช้ GPS Navigator ในการนำทางเนี่ย มันจะทำให้เราเข้าสู่โหมดที่คล้ายกับ Auto pilot นี่ได้ง่ายขึ้น บ่อยขึ้น เพราะเราไม่ต้องไปสนใจกับเส้นทางมาก (โดยปกติแล้วมนุษ์จะใช้วิธีการจดจำพวก Landmark ต่างๆ เพื่อเอามาสร้าง Cognitive map ของเส้นทาง ซึ่งเราเรียกเทคนิคนี้ว่า Spatial navigation)
ตรงนี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่ทำโดย University College London ที่พบว่าคนขับแท็กซี่ที่มีประสบการณ์ยาวนาน เรียนรู้เส้นทางมายาวนาน จะมีเนื้อสมองสีเทา หรือ Grey matter ในส่วนของฮิปโปแคมปัสข้างขวาใหญ่กว่าคนทั่วไป และยิ่งมีประสบการณ์มายาวนาน ก็จะมีเนื้อสมองส่วนนี้มาก

ดังนั้น นักวิจัยเชื่อว่า การพึ่งพาอาศัย GPS Navigation บ่อยๆ อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อโรคภับด้านสติปัญญาที่เพิ่มขึ้นได้ แต่การจะตัดใจจากประโยชน์ของ GPS Navigation นี่ มันก็ช่างยากเช่นกัน เพราะว่าสมองของเราจะมีความพยายามในการตัดเอาข้อมูลที่ไม่สำคัญออกไป เพื่อลดภาระในการประมวลผล และนั่นก็เลยทำให้เรานิยมใช้ GPS Navigator เพราะเราจะได้ไม่ต้องประมวลผลมากเรื่องเส้นทาง แต่นั่นก็ทำให้เราไม่ได้ให้โอกาสสมองได้ทำงานเลย และนอกจากนี้ การเอาแต่พึ่งพา GPS Navigator ก็ยังทำให้ทักษะในการอ่านแผนที่และหาเส้นทางของเราลดลงด้วยนะ
แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีทางบรรเทาปัญหานี้นะครับ มันยังมีแนวทางอยู่ เช่น
- หากเป็นการเดินทางซ้ำๆ เส้นทางเดิมๆ ก็พยายามละความสนใจจาก GPS Navigator แล้วมาใส่ใจกับสิ่งต่างๆ รอบเส้นทางบ้าง พยายามหัดจดจำเส้นทาง แล้วใช้แค่ GPS Navigator เป็นแค่ตัวช่วยพอ
- ลองศึกษาเส้นทางที่ GPS Navigator แนะนำมา ว่าเดินทางไปยังไง แล้วลองเดินทางโดยไม่ต้องพึ่งพา GPS Navigator ดู
เพียงเท่านี้ คุณก็จะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GPS Navigator ในขณะที่ยังคงได้ฝึกทักษะด้านเส้นทางและพัฒนาสมองต่อไป