เมื่อวานผมเขียนรีวิวแท่นชาร์จแบบ USB แบบ 8 พอร์ตยี่ห้อนึงซึ่งซื้อแบบออนไลน์มาไป แล้วได้อ่านคอมเม้นต์บนเฟซบุ๊กเพจของผม แล้วก็รู้สึกได้ว่า เฮ้ย! ผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อยเลยนะ ที่ไม่เข้าใจเรื่องสเปกของแท่นชาร์จ โดยเฉพาะเรื่องของกำลังไฟในการชาร์จ วันนี้ผมก็เลยขอเขียนอธิบายให้อ่านกันหน่อย ว่าเรื่องนี้มันสำคัญยังไง
จริงๆ ผมเขียนอธิบายไปแล้วในบล็อกนั้น แต่ผมอยากจะย้ำอีกทีในบล็อกอีกตอน เผื่อจะมีคนมาค้น Google มาเจอบล็อกตอนนี้แทน (ฮา) ว่าเวลาซื้อที่ชาร์จหรือแท่นชาร์จสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต สิ่งนึงที่เราต้องนำมาใช้พิจารณาคือ กำลังไฟหรือกระแสไฟทั้งหมดที่เจ้าที่ชาร์จหรือแท่นชาร์จมันจะจ่ายได้ ครับ
กำลังไฟ และ กระแสไฟ
กำลังไฟมีหน่วยเป็นวัตต์ (Watt หรือ W) กระแสไฟมีหน่วยเป็นแอมป์ (Ampere, Amp หรือ A) มันคือสเปกที่ที่ชาร์จหรือแท่นชาร์จมันมักจะบอกเอาไว้ เราแค่รู้อย่างใดอย่างนึงก็ได้ครับ เวลาเราจะเปรียบเทียบว่าที่ชาร์จหรือแท่นชาร์จอันไหน มันจ่ายไฟได้มากกว่ากัน เราก็เปรียบเทียบไอ้สองเลขนี้แหละ
- ถ้าเรารู้หน่วยเป็นวัตต์ เราก็เอามาหาร 5 ซะ ก็จะได้หน่วยเป็นแอมป์ เพราะตามมาตรฐานแล้ว พอร์ต USB มันควรจะจ่ายไฟที่ 5 โวลต์ (Volt หรือ V) นั่นเอง ยกเว้นว่าตัวที่ชาร์จมันจะรองรับมาตรฐานอื่น เช่น Quick Charge หรือ Fast Charge หรือ VOOC … แต่ยังไงซะ เวลาเราเอามาเปรียบเทียบ ใช้เลข 5 หารแหละ ง่ายดี
- ถ้าเรารู้หน่วยเป็นแอมป์ ก็จบเลย ใช้เลขแอมป์นั่นแหละ เพียงแต่ก็ต้องให้แน่ใจว่า เลขโวลต์คือ 5 นะ ถ้าไม่ใช่ ให้เอาเลขโวลต์คูณเลขแอมป์ เพื่อให้กลายเป็นวัตต์
อ่ะ ดูตัวอย่างด้านล่างนี่ Anker PowerPort Speed 2 Ports มีพอร์ต USB 2 พอร์ตตามชื่อรุ่น และจ่ายไฟได้รวม 39 วัตต์ ครับ มันรองรับ Quick Charge 3.0 ด้วย

ส่วนตัวนี้ ยี่ห้อ LDNIO รุ่น A4403 เป็นแบบมี USB 4 พอร์ต จ่ายไฟได้รวม 3.4A เทียบกับของ Anker แล้ว คุณว่าแบบไหนดีกว่ากันครับ?

คำตอบก็คือ อย่าคิดว่ามีพอร์ตเยอะแล้วจะดีกว่านะครับ แม้ว่า Anker ที่เห็นในรูปด้านบน จะมีแค่สองพอร์ต แต่มันรองรับ Quick Charge 3.0 และจ่ายไฟได้ 39 วัตต์ นั่นหมายความว่า มันจ่ายไฟแบบ Quick Charge 3.0 ได้สองพอร์ตพร้อมๆ กันเลยครับ ในขณะที่ LDNIO นั้น แม้จะมี 4 พอร์ต แต่จ่ายไฟได้ 5V และกระแสสูงสุด 3.4A ฉะนั้นก็มีค่าเท่ากับ 17 วัตต์เท่านั้น จำนวนวัตต์น้อยกว่าเท่าตัว แต่จำนวนพอร์ตมากกว่าเท่าตัวเช่นกัน ดังนั้น พอร์ตนึงก็จ่ายไฟเฉลี่ยได้น้อยกว่าของ Anker ซะอีก
Quick Charge 3.0
มาตรฐาน Quick Charge 3.0 ของ Qualcomm นั้น จะจ่ายไฟได้ระหว่าง 3.2V – 20V โดยปรับแรงดันไฟขึ้นทีละ 200mV และจ่ายไฟสูงสุด 18 วัตต์ ซึ่งถือว่ามากกว่าการชาร์จด้วยที่ชาร์จแบบ 5V 2A (10 วัตต์) ทั่วไปถึง 80% เลยทีเดียว
ถ้าสมมติว่าทั้งสองยี่ห้อจ่ายไฟ 5V เท่ากัน
- Anker จ่ายไฟได้ 39 วัตต์ มีสองพอร์ต เท่ากับแต่ละพอร์ตจ่ายไฟได้เกือบๆ พอร์ตละ 4A
- LDNIO จ่ายไฟได้ 17 วัตต์ มีสี่พอร์ต เท่ากับแต่ละพอร์ตจ่ายไฟได้ราวๆ พอร์ตละ 0.85A เท่านั้นเอง
เวลาจะเลือกซื้อที่ชาร์จหรือแท่นชาร์จ ต้องดูว่าเราจะเอามาใช้กับอะไรด้วย
ก่อนจะเลือกซื้อที่ชาร์จหรือแท่นชาร์จ กลับมาย้อนดูอุปกรณ์ที่เราจะเอาไปชาร์จด้วย ว่ามันคืออะไร ต้องการกำลังไฟยังไง วิธีดูง่ายๆ คือ หยิบเอาที่ชาร์จของอุปกรณ์พวกนั้นแหละ มาดูสเปก ยกตัวอย่างเช่น Xiaomi Mi Mix 3 นี่ หยิบที่ชาร์จออกมาดู เป็นแบบ Quick Charge 3.0 จ่ายไฟ 5V ที่ 2.5A ฉะนั้น เวลาจะเลือกซื้อที่ชาร์จหรือแท่นชาร์จ เราก็ควรเลือกไอ้ที่รองรับ Quick Charge 3.0 หรือถ้าเป็นแบบทั่วไป จ่ายไฟ 5A ก็เลือกแบบที่จ่ายได้ 2.1A อะไรแบบนี้

แต่จริงๆ แล้ว Xiaomi Mi Mix 3 รองรับ Quick Charge 4.0+ นะจ๊ะ
ถ้าอ่านสเปกกันจริงๆ จะรู้ว่า จริงๆ แล้ว Xiaomi Mi Mix 3 จริงๆ รองรับเทคโนโลยีการชาร์จถึง Quick Charge 4.0+ แล้ว เพียงแต่ไอ้ที่ชาร์จที่แถมมา มันแค่เป็นแบบ Quick Charge 3.0 เท่านั้นแหละ ณ เวลาที่เขียนบล็อกตอนนี้ ผมยังไม่เห็นใครเอาที่ชาร์จที่รองรับ Quick Charge 4.0+ มาขาย อยากได้คงต้องไปซื้อจาก Aliexpress
ถ้าเป็นของ Samsung ก็จะรองรับ Fast Charge ส่วน OPPO ก็รองรับ VOOC ฉะนั้นเวลาที่จะเลือกซื้อ ก็พิจารณาพวกนี้ด้วยนะครับ ถ้าเกิดอยากจะใช้ฟีเจอร์ชาร์จเร็วแบบนี้
แต่ถ้าไม่อยากคิดเยอะ คิดมาก ชาร์จแบบธรรมดาๆ ก็ได้ (วะ) ก็ให้พิจารณาง่ายๆ ว่าไม่ว่าที่ชาร์จมันจะมีกี่พอร์ต อย่างน้อยๆ เมื่อพิจารณาจากกำลังไฟสูงสุดแล้ว พอเสียบอุปกรณ์มันทุกพอร์ตพร้อมๆ กัน อย่างน้อยๆ ก็ควรจะจ่ายไฟได้ซักพอร์ตละ 1A หรือใกล้เคียงที่สุด … เพราะอะไร? ก็เพราะว่าโดยมาตรฐานแล้ว สมาร์ทโฟนปัจจุบันจะกินไฟอย่างน้อย 1A ในการชาร์จแบตเตอรี่ ส่วนแท็บเล็ตก็จะกินไฟราวๆ 2A ครับ

เวลาไปเจอพวกรูปประกอบโฆษณาขายที่ชาร์จหรือแท่นชาร์จอ่ะ ก็อย่าไปเชื่อรูปให้มากนัก เพราะมันมักจะอวดว่ามีที่ชาร์จสำหรับอุปกรณ์มากมาย เช่นรูปด้านบนเนี่ย มี 8 พอร์ต อวดว่าชาร์จสมาร์ทโฟนได้ 4 เครื่อง แท็บเล็ตอีก 4 เครื่อง โดยมี 4 พอร์ตจ่ายไฟได้สูงสุดพอร์ตละ 1A และอีก 4 พอร์ตจ่ายไฟได้สูงสุดพอร์ตละ 2.1A ถ้าเสียบพร้อมกันนี่คือต้องจ่ายไฟได้ 62 วัตต์เลยทีเดียวนะเออ ก็ต้องไปดูอีกว่า แล้วไอ้ที่ชาร์จหรือแท่นชาร์จนี่ จริงๆ แล้ว มันจ่ายไฟได้ 62 วัตต์จริงไหม อย่างไร
แล้วถ้ามันจ่ายไฟได้ไม่พอกับความต้องการของอุปกรณ์ มันจะเป็นยังไง?
ถ้าจ่ายไฟได้ไม่พอ ก็ต้องดูแล้วว่าที่ชาร์จมันมีคุณภาพยังไง บางยี่ห้อบางรุ่น มันมีชิปคอยควบคุมการจ่ายไฟ มันอาจจะเลือกจ่ายไฟให้อุปกรณ์ส่วนนึงแบบเต็มเหนี่ยว อีกส่วนก็งดจ่ายไฟไปก่อน ฉะนั้นส่วนนึงก็จะชาร์จได้ปกติ อีกส่วนก็จะชาร์จไฟไม่เข้า อะไรแบบนี้ หรือไม่ก็แบ่งจ่ายไฟเท่าๆ กันทุกอุปกรณ์ ก็ชาร์จช้ากันไปตามๆ กันทุกชิ้น เป็นต้น
แต่ถ้าที่ชาร์จมันคุณภาพห่วย มันอาจจะจ่ายไฟแบบไม่สม่ำเสมอ ติดๆ ดับๆ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่ออายุการใช้งานแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ครับ ถ้าเจออาการชาร์จติดๆ ดับๆ เวลาที่เสียบชาร์จอุปกรณ์ทีละเยอะๆ แบบนี้ จงอย่าใช้ครับ เดี๋ยวพาลจะพาแบตเตอรี่เสื่อมกัน
แล้วทำไมผู้ผลิตเขาไม่ทำให้มันจ่ายไฟได้เยอะๆ ล่ะ?
ง่ายๆ เลย ต้นทุน ครับ ถ้าจ่ายไฟได้เยอะ ต้นทุนมันก็แพงเสะ แล้วยังมีเรื่องการออกแบบการระบายความร้อนอีก เพราะยิ่งจ่ายไฟได้วัตต์สูงๆ ความร้อนก็ยิ่งสูงตามมา มันก็ต้องออกแบบให้ระบายความร้อนได้ดีๆ เสียต้นทุนไปกับเรื่องนี้อีก และต้องใช้วัสดุดีๆ ที่ทนความร้อน อายุการใช้งานจะได้ยืนยาว และเผลอๆ ต้องเพิ่มระบบป้องกันอีก เช่น ป้องกันการกระแสไฟเกินกำหนด หรือ ความร้อนมากเกินไป อะไรแบบนี้

ที่สำคัญ คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีอุปกรณ์เยอะ หรือแม้จะมีหลายชิ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเสียบชาร์จทุกชิ้นพร้อมกันซะเมื่อไหร่ล่ะ ส่วนมากเขาหาซื้อแบบหลายๆ พอร์ตเอาไว้ เพื่อจะได้ไว้รองรับอุปกรณ์ที่มีหลายหลาย เช่น เคสของผม มันมีทั้งสมาร์ทโฟนรุ่นประหยัดที่ยังใช้หัว Micro USB อยู่ มีบางตัวใช้ USB Type-C และบางตัวที่ผมเปลี่ยนมาใช้หัวแบบแม่เหล็กแล้วด้วย ผมก็จะเสียบสายรอไว้ จะชาร์จอุปกรณ์ไหน ก็แค่เลือกสายให้เหมาะสมก็เท่านั้นเอง
สายชาร์จเองก็สำคัญ
เลือกซื้อที่ชาร์จหรือแท่นชาร์จที่เหมาะสมสำหรับอุปกรณ์เรียบร้อย แต่ดันลืมซื้อสายชาร์จที่เหมาะกับอุปกรณ์ด้วย (จริงๆ ใช้ไอ้ที่แถมมากับอุปกรณ์นั่นแหละ ดีสุด แต่บางทีเราก็อยากมีสายเพิ่มเผื่อไว้พกพา) มันก็จบกันนะครับ

สมมติคุณมีที่ชาร์จที่จ่ายไฟได้ 2.1A แต่ดันเลือกใช้สายที่รองรับแค่ 1A สุดท้าย เวลาชาร์จอุปกรณ์จริง ไฟมันก็ชาร์จแค่ 1A นะจ๊ะ และถ้าที่ชาร์จดันไม่สนใจ จะจ่ายไฟ 2.1A มาตลอด ภาระก็จะตกอยู่ที่สายชาร์จ อายุการใช้งานมันอาจจะสั้นเอาง่ายๆ นะเออ ไม่ดีๆ