หลังจากที่เขียนบล็อกเกี่ยวกับ QNAP NAS ได้สองปีโดยประมาณ ผมก็พบว่ามีหลายคนสอบถามเข้ามาทางเพจเฟซบุ๊ก สอบถามคำถามเรื่องการใช้งาน QNAP NAS ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นมือใหม่มาก และเน้นการใช้งานในระดับผู้ใช้งานทั่วไปเหมือนผมเลย ผมเลยถือโอกาสขอเริ่มหลักสูตร QNAP NAS 101 บนบล็อกของผม เผื่อจะได้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำหรับการใช้งาน QNAP NAS สำหรับบุคคลทั่วไปครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บทความชุดนี้ จะเป็นบทความต่อเนื่อง เมื่อเขียนได้เยอะๆ แล้ว ผมจะทำเมนูให้เข้าถึงได้ง่ายๆ ไว้บนหน้าบล็อกอีกทีครับ และอย่างที่เห็น บทความมันชื่อ QNAP NAS 101 นั่นหมายความว่า เนื้อหามันจะเป็นเรื่องพื้นฐานจริงๆ ครับ ผมจะพยายามรวบรวมพื้นที่ฐานผู้ใช้งานตามบ้านจะได้ใช้กันไว้ในนี้ให้มากที่สุด
เนื่องจาก QTS 4.5.3.1652 มีการเปลี่ยนแปลง UI ของหน้าจอ Smart Installation ใหม่ ผมจึงมาอัปเดตรูปในบทความนี้ให้ทันสมัย ดังนั้น พวกชื่อรุ่น หรือ IP address อาจจะมีแตกต่างออกไปบ้างนะครับ

ก่อนอื่น ขอขอบคุณ QNAP Thailand ที่เอื้อเฟื้ออุปกรณ์สำหรับใช้ประกอบการเขียนบทความนี้ และ Western Digital Thailand ที่เอื้อเฟื้อฮาร์ดดิสก์ WD Red มาให้ใช้เขียนบทความเช่นกัน เพราะลำพังบล็อกเกอร์ต๊อกต๋อยแบบผม คงไม่สามารถหาซื้อมาเขียนเป็นงานอดิเรกแบบนี้ได้ (ฮา) โดยในครั้งนี้คือ QNAP TS-351 รุ่น 3-bay ราคาประหยัดเหมาะสำหรับ Small Office Home Office (SOHO) และ WD Red 5TB ครับ
ในตอนแรกนี้ เราจะมาเริ่มต้นกันตั้งแต่ตอนซื้อ QNAP NAS กันใหม่ๆ เลยครับ ว่าเราจะติดตั้งใช้งานมันยังไง
3 ขั้นตอนหลักในการเซ็ต QNAP NAS ครั้งแรก
แกะกล่อง QNAP NAS มาแล้ว มันก็จะขึ้นอยู่กับว่าคุณซื้อรุ่นไหนมา รายละเอียดในการติดตั้งก็จะแตกต่างกันไปเล็กน้อย แต่ในภาพรวมแล้ว การติดตั้ง QNAP NAS จะมีขั้นตอนหลักๆ คือ
● ติดตั้งฮาร์ดดิสก์ ซึ่งจะติดตั้งได้กี่ลูก ก็สุดแท้แต่ว่าคุณซื้อรุ่นกี่ bay มาครับ ในบทความ EP1 นี้ ผมจะเริ่มจากการสมมติว่าคุณซื้อฮาร์ดดิสก์มาลูกเดียว
● เสียบสาย LAN เพราะ NAS ย่อมาจาก Network-Attached Storage หรือพูดง่ายๆ การจะใช้งานก็ต้องต่อ LAN ครับ
● เสียบปลั๊กไฟ แล้วก็เปิด
ข้อควรระวังในการติดตั้งฮาร์ดดิสก์
การติดตั้งฮาร์ดดิสก์เพื่อใช้งาน จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีกฎว่าจะต้องเรียงลำดับอะไรยังไงหรอก แต่ผมอยากให้รู้ว่า QNAP NAS มันมีการกำหนดหมายเลขประจำ Bay เอาไว้ คุณจะเอาฮาร์ดดิสก์ลูกไหนไปติดตั้งที่ Bay อะไร ก็อยากให้จำเอาไว้ให้ดี

สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ผมอยากแนะนำว่า ไล่เลขเอาเลยครับ ถ้ามีลูกเดียวก็ใส่ไปใน Bay เลข 1 ก่อน แล้วเวลาเพิ่มก็ค่อยใส่ไปใน Bay เลข 2, 3,… ต่อไป
ถามว่าทำไมเรื่องนี้สำคัญ? ก็เพราะเวลาที่เราอยากจะอัพเกรด QNAP NAS ไปเป็นรุ่นอื่น หรือเกิดเหตุสุดวิสัย QNAP NAS เสีย แล้วต้องเปลี่ยนไปใช้ QNAP NAS ตัวอื่น ด้วยคุณสมบัติ Migration มันจะทำให้เราสามารถย้ายเครื่องไปได้ โดยไม่ต้องวุ่นวายอะไรมากเลย แต่เงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเรียงลำดับการใส่ฮาร์ดดิสก์ให้ถูกต้องครับ
การเสียบสาย LAN เพื่อต่อกับระบบเครือข่าย
ผมเข้าใจดีว่าบ้านสมัยใหม่นี่เขาใช้ WiFi กันหมดแล้ว และแม้ว่า QNAP NAS จะรองรับการเชื่อมต่อกับ WiFi ด้วย แต่คุณก็ต้องไปซื้อ USB WiFi Dongle มาเสียบ ซึ่งต้องได้รุ่นแบบที่เป๊ะๆ กับ Compatibility list ด้วย ผมเคยพยายามแล้ว วุ่นชิบเป๋ง (ฮา) ฉะนั้น สำหรับบุคคลทั่วไป ผมแนะนำให้เริ่มจากเสียบสาย LAN นี่แหละ
แต่นี่ก็เท่ากับว่า คุณต้องเอา QNAP NAS ไปติดตั้งใกล้ๆ กับ WiFi Router นะครับ ซึ่งปกติแล้วเวลาติดตั้ง ผู้ให้บริการก็มักจะแถมหรือให้ยืม WiFi Router มาอยู่แล้ว และพวกเนี้ย ก็มักจะมี LAN มาให้ 4 พอร์ต เอามาเสียบตรงนี้แหละ

QNAP NAS แต่ละรุ่นก็จะมีจำนวนพอร์ต LAN มากน้อยแตกต่างกันไป โดยรุ่นที่ผู้ใช้งานตามบ้านใช้กันก็มักจะเป็น 1-4 พอร์ต แล้วแต่ แต่ทั้งหมดจะเป็น Gigabit LAN ครับ ซึ่งสำหรับผู้ใช้งานตามบ้าน พอร์ต Gigabit LAN แค่พอร์ตเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับการใช้งานประมาณนึง โดยเฉพาะถ้าต่อกับ WiFi 802.11n ซึ่งความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 600Mbps เท่านั้น
เช็กด้วยว่า…
อยากให้ท่องจำไว้ด้วยว่า เราจะได้ประโยชน์จากแบนด์วิธของ Gigabit LAN ของ QNAP NAS เราก็ต้องต่อมันเข้ากับพอร์ต Gigabit LAN ของ Switch หรือ Router ด้วย พวก WiFi Router สมัยนี้เขาใช้พอร์ต Gigabit LAN (10/100/100Mbps) กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่ก็อาจจะมีส่วนน้อยที่ยังเป็น 10/100Mbps อยู่ครับ ถ้าเราไปเสียบกับ Switch หรือ Router พวกนั้น แบนด์วิธเราก็จะน้อยลง
ทำการ Initialize QNAP NAS
พอใส่ฮาร์ดดิสก์เรียบร้อย เสียบปลั๊ก เสียบสาย LAN เปิดสวิตช์แล้ว ก็พร้อมจะเริ่มกระบวนการตั้งค่า QNAP NAS ได้แล้ว ซึ่ง QNAP เขามีวิธีเซ็ตแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เลย แต่ผมกลับยังรู้สึกว่า ถ้าจะเซ็ตแบบชิลๆ ละก็ ทำผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์สะดวกกว่ามา ฉะนั้น ใน QNAP NAS 101 EP1 นี่ ผมเลยขอพูดถึงการติดตั้งผ่านคอมพิวเตอร์ก่อนนะครับ
แนะนำให้ไปดาวน์โหลดโปรแกรม Qfinder Pro มาก่อน มันมีทั้งเวอร์ชันบน Windows, macOS และ Ubuntu Linux เลยครับ โดยหลักๆ แล้ว Qfinder มันจะทำหน้าที่คือ ช่วยค้นหาแล้วแสดงรายการของ QNAP NAS ทั้งหมดที่เราได้เชื่อมต่อเอาไว้ในระบบเครือข่าย

การใช้งาน Qfinder Pro ถ้าเจอ Firewall ของระบบปฏิบัติการ เช่น Windows Defender Firewall มันแจ้งเตือน ก็ให้ติ๊กตรง Private networks แล้วคลิก Allow access ไปนะครับ

เปิด Qfinder Pro ขึ้นมา มันจะทำการสแกนระบบเครือข่ายโดยอัตโนมัติ แล้วก็จะเจอ QNAP NAS ตัวใหม่ที่เราเพิ่งติดตั้งไป พร้อมบอกได้เลยว่า มัน IP Address อะไร เราก็แค่คลิก Yes ไป เพื่อเริ่มกระบวนการตั้งค่าผ่าน Smart Installation Guide
อะไรคือการ Initialize?
Initialize มันคือการเริ่มต้นใช้งาน QNAP NAS ตั้งแต่ต้น มันต่างจาก Factory reset ครับ การทำ Factory reset มันจะแค่ลบข้อมูลออกจากฮาร์ดดิสก์ และใช้การตั้งค่าที่เป็น Default ของโรงงาน แต่มันก็จะอยู่ในสถานะที่เรียกว่า พร้อมใช้งาน เพียงแต่พร้อมใช้ในแบบเบสิกสุดๆ
แต่ Initialize มันจะกลับไปให้เริ่มตั้งค่าตั้งแต่แรกสุด เหมือนเพิ่งซื้อมาหมาดๆ แล้วเปิดใช้งานเป็นครั้งแรกเลย ตัว QNAP NAS จะยังไม่พร้อมใช้งาน ณ จุดนี้

พอคลิก Yes แล้ว มันจะเปิดหน้าเบราวเซอร์ขึ้นมา (อยู่ที่ว่าเราเซ็ตอะไรเป็น Default บนเครื่องเรา) ด้านบนจะแสดงให้เห็นว่า QNAP NAS ใช้เฟิร์มแวร์เวอร์ชันอะไรอยู่ ส่วนมุมบนขวาจะเป็นชื่อรุ่น และภาษาที่ใช้ ผมถนัดภาษาอังกฤษ ฉะนั้นผมจะขอเขียนบทความนี้ด้วยเมนูภาษาอังกฤษนะครับ แต่มันมีภาษาไทยให้เลือก เผื่อใครอยากจะอ่านให้สะดวกขึ้น เราเริ่มต้นด้วยการคลิก Start Smart Installation ครับ

ที่เพิ่มเติมมาตั้งแต่ QTS 4.5.3.1652 คือการเตือนให้อัปเดตเฟิร์มแวร์ก่อนครับ เพราะช่วงหลังๆ นี่มีคนใช้ QNAP NAS เยอะมากแล้ว เลยมีผู้ไม่หวังดีมุ่งโจมตีมากขึ้น ในกรณีนี้ ผมแนะนำให้เลือกคลิกปุ่ม Check for Update เพื่ออัปเดตเฟิร์มแวร์เป็นเวอร์ชันล่าสุดก่อน แต่หากใครกะใช้ QNAP NAS แบบไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือ ไม่สะดวกจะอัปเดตเฟิร์มแวร์ในตอนนี้ (ผมไม่แนะนำนะ) ก็จะ Skip ไปก็ได้ครับ หรือ ถ้า QNAP NAS ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ก็สามารถไปดาวน์โหลดเฟิร์มแวร์เวอร์ชันล่าสุด โดยไปดาวน์โหลดได้จากหน้าเว็บไซต์ของ QNAP แล้วเราก็เลือกว่าจะดาวน์โหลดสำหรับอุปกรณ์อะไร รุ่นไหน

ถัดมาคือการตั้งชื่อ QNAP NAS ซึ่งสามารถตั้งได้สูงสุด 14 ตัวอักษร โดยสามารถใส่ตัวอักษรภาษาอังกฤษ a-z และ A-Z, ตัวเลข 0-9 และเครื่องหมายแดช ( – ) ได้เท่านั้น
และอย่าลืมกำหนดรหัสผ่านสำหรับผู้ใช้งานชื่อ admin ซึ่งเป็นผู้ใช้งานที่จะมีสิทธิสูงสุดตลอดกาลของ QNAP NAS นี้ แนะนำว่าอย่าใส่รหัสผ่านแบบง่อยๆ เดาง่ายๆ ล่ะครับ แต่ก็อย่าให้ยากจนเกินไปจนจำไม่ได้ล่ะ
เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็คลิก Next ไป
ถ้าลืมรหัสผ่านจะทำยังไง?
ทางที่ดีที่สุดคืออย่าลืมรหัสผ่าน รหัสผ่านคือชีวิตจิตใจ จำไว้ แต่ถ้าเกิดลืมขึ้นมา QNAP NAS ยอมให้เรารีเซ็ตเครื่อง เพื่อให้การตั้งค่ากลับไปเป็นค่าเริ่มต้นจากโรงงานได้ ซึ่งจะทำให้รหัสผ่านของ admin ถูกตั้งเป็น admin แต่นั่นก็ทำให้เราต้องไปตั้งค่าอื่นๆ ให้กลับมาเหมือนเดิม วุ่นวายเอาการอยู่นะครับ

ถัดมาคือการตั้งวันที่และเวลา เราจะต้องเลือก Time zone ของเราก่อน สำหรับประเทศไทย ก็คือ GMT+07:00 Bangkok, Hanoi, Jakarta แบบในรูปนั่นแหละ จากนั้นตรง Date/Time เราจะมีให้เลือก 3 ตัวเลือกคือ
● Same as the computer/device time อันนี้คือ เอาเวลาของเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ อุปกรณ์ที่เราใช้ Initialize QNAP NAS นี้อยู่ มาเป็นเวลาของ QNAP NAS เลย
● Input Manually อันนี้คือ เราไปเลือกวันเดือนปีและเวลาเอาเอง
● Synchronize with an Internet time server automatically อันนี้คือ ไปซิงก์เวลากับเซิร์ฟเวอร์ซักตัวที่ถูกออกแบบมาให้เป็นตัวกำหนดเวลามาตรฐาน
สำหรับบุคคลทั่วไป จะเลือกตัวเลือกไหนก็ไม่ใช่ปัญหาหรอกครับ แต่ผมมักจะเลือกตัวเลือกที่สาม และใช้เซิร์ฟเวอร์ตามที่ QNAP NAS แนะนำมาให้ คือ pool.ntp.org นั่นแหละ เพราะผมก็เซ็ตเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ทุกตัวในบ้าน ให้ไปซิงก์เวลามาจากที่นี่เหมือนกันหมด ส่วนกรณีของผู้ใช้งานในภาคธุรกิจ อาจจะมี NTP server ใช้เอง ก็เซ็ตไปที่นั่นซะ
NTP server คืออะไร?
Network Time Protocol server หรือ NTP server คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนนาฬิกาหลักของเครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่ายที่เชื่อมต่อเข้ามาเพื่ออาศัยข้อมูลเวลา เราจำเป็นต้องมี NTP server เพื่อให้แน่ใจว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่อยู่ในระบบ จะมีเวลาตรงกันเป๊ะๆ ซึ่งมันจะช่วยส่งผลให้การบันทึกเวลาของการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในระบบเครือข่าย มันมีลำดับเวลาที่มีความน่าเชื่อถือ
พูดง่ายๆ ในขั้นตอนการตั้งวันที่และเวลา ผมแนะนำว่าให้คลิก Next ไปเลย ไม่ต้องไปตั้งค่าอะไรมันหรอกครับ

ถัดมาคือการกำหนด IP address ให้ QNAP NAS ซึ่งเราเลือกได้ว่าจะให้กำหนดแบบอัตโนมัติผ่าน DHCP หรือจะเลือกกำหนดเอาเองตามอัธยาศัยก็ได้ ตรงนี้สำหรับผู้ใช้งานตามบ้าน ผมว่าให้เป็นการกำหนดอัตโนมัติผ่าน DHCP มาก็ได้ เพราะตราบเท่าที่ยังไม่ปิดเครื่องแล้วเจออุปกรณ์อื่นที่ต่อมาแย่งเอา IP address ไป มันก็ยากที่ QNAP NAS ที่ติดตั้งอยู่บนเครือข่ายตามบ้านจะถูกเปลี่ยน IP address ครับ
นอกจากนี้ แม้ IP address จะถูกเปลี่ยน แต่ Qfinder Pro มันก็ช่วยค้นหาจนเจอได้แหละว่า IP address มันกลายเป็นอะไร และแอปพวก Qfile, Qmanager อะไรพวกนี้ มันก็มีความสามารถในการค้นหา QNAP NAS ได้โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว (ไว้ค่อยพูดถึงแอปพวกนี้ใน EP หลังๆ นะ)
ฉะนั้นตรงนี้ คุณก็แค่คลิก Next ไป หรือไม่ก็ไปกำหนด IP address, Gateway, DNS ตามแต่ว่าเครือข่ายของคุณจะตั้งค่ากันยังไง
DNS 8.8.8.8 ของใคร?
สำหรับคนที่ไม่รู้จะตั้งค่า DNS server เป็นอะไรดี อาจจะเลือกใช้ Google Public DNS ก็ได้ครับ มันคือ 8.8.8.8 และ 8.8.4.4 เป็นบริการที่ Google ให้ใช้กันฟรีๆ เพื่อให้ผู้คนได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น (เพราะ DNS สามารถแปลง URL เป็น IP address ได้เร็ว) และมีความปลอดภัยมากขึ้น (เพราะ Google จะทำการบล็อกหรือขึ้นบัญชีดำพวกเว็บไซต์ที่เป็นภัยเอาไว้ให้เรา)

ถัดมาคือการเลือก File transfer service ครับ QNAP NAS สามารถรองรับได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Windows, macOS และ Linux แต่เราไม่จำเป็นต้องเลือกทั้งหมดนะครับ เลือกเฉพาะเท่าที่จำเป็นพอก็ได้ คือ ให้คิดเอาเลยว่า จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบปฏิบัติการอะไร มาเชื่อมต่อกับวง LAN ของเราเพื่อเข้าถึง QNAP NAS นี้บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็น Windows กับ Mac ครับ ก็ติ๊กไปแค่นี้พอ
ไม่ต้องห่วง ติ๊กไปแค่ Windows แต่ในอนาคตอยากเพิ่ม Mac, Linux ก็มาตั้งค่ากันทีหลังได้

ขั้นตอนที่ 5 เราแค่อ่านทบทวนว่าการตั้งค่าต่างๆ ที่เราเลือกไป เป็นไปตามนี้จริงๆ นะ แล้วก็คลิก Apply ไป

จะปรากฏหน้าจอเด้งเตือนมาว่าการทำ Initialization นี้จะลบข้อมูลที่มีอยู่ในฮาร์ดดิสก์หมด ต้องการลุยต่อไหม แน่นอนว่าเราอยากจะทำ Initialize อยู่แล้ว เราก็คลิกปุ่ม Initialize ไป

สุดท้าย ก็แค่รอครับ QNAP NAS จะเริ่มทำการตั้งค่าตามที่เราได้เลือกเอาไว้ ซึ่งเคสของ EP1 ที่ใส่ฮาร์ดดิสก์ไปแค่ลูกเดียวนี้ รอไม่นานมากก็เรียบร้อย จริงๆ แล้ว ขั้นตอนน้อยกว่าแบบที่ใส่ฮาร์ดดิสก์ไป 2 ลูกขึ้นไปนิดนึงด้วย เพราะไม่ต้องเลือก Harddisk configuration ครับ (มีลูกเดียว จะให้ Config อะไรล่ะ)

จากนั้น พอทุกอย่างเกือบเรียบร้อย มันก็จะเริ่มนับเวลาถอยหลังประมาณ 5 นาที เพื่อเอาการตั้งค่าไปใช้กับในระบบครับ

พอเซ็ตทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็จะเห็นหน้าจอตามด้านบนครับ คลิก Go to NAS Management ก็จะเข้าไปที่หน้าจอที่เรียกว่า QTS ซึ่งเป็นหน้าจอสำหรับบริหารจัดการ และใช้งาน QNAP NAS ผ่านเบราวเซอร์ครับ