ไม่คิดว่าซักวันนึงมันจะมาถึงจุดนี้ได้ วันที่ตัดสินใจซื้อเครื่องฟอกอากาศมาใช้ที่บ้านครับ คือ จริงๆ ที่ห้องฝุ่นมันก็ไม่ได้เยอะอะไรเท่าไหร่ แต่ก็อยากจะนอนหายใจแบบสบายๆ ตัวบ้างอะไรบ้าง และ Xiaomi Air Purifier 2S มันก็มีจัดโปรโมชันลดราคาจนหาซื้อออนไลน์ได้แค่สามพันปลายๆ ถึงสี่พันต้นๆ (แล้วแต่ช่วง) ก็เลยถือโอกาสจัดมาใช้ แล้วก็เขียนรีวิวให้ได้อ่านกันด้วยเลยครับ
ผมใจเร็วด่วนได้ไปหน่อย สอยมาในราคา 4,390 บาท แต่จริงๆ แล้วในช่วง 11.11 ตอนที่ผมสอยมาอ่ะ ถ้ารออีกนิด มันมีร้านที่หาซื้อได้ในราคา 3,790 บาทด้วยซ้ำ (แง) แต่ช่างมันครับ พลาดแล้วก็คือพลาด

พูดถึงเรื่องดีไซน์ของ Mi Air Purifier 2S กันก่อน
ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ประมาณนึง ตามสเปกคือ 24 ซม. × 24 ซม. × 52 ซม. พูดง่ายๆ คือ ตอนไปวางจะกินพื้นที่ 576 ตร.ซม. เท่านั้นเอง ส่วนตัวเครื่องก็มีความสูง 52 ซม. เท่านั้นเอง

ตัวเครื่องก็เป็นดีไซน์ที่กินพื้นที่แบบสี่เหลี่ยมจตุรัส สะดวกในการเอาไปวางเข้ามุมต่างๆ ในบ้านได้ไม่ยาก หรือจะวางสะเปะสะปะ ตรงนั้นที ตรงนี้ที ก็ไม่ได้กินพื้นที่อะไรมากมาย กินเนื้อที่น้อยกว่าพัดลมอีกเหอะ

ตัวเครื่องออกแบบมาเป็นสีขาวสวย รอบๆ ตัวเครื่องคือรูจำนวนมากที่เอาไว้สำหรับดูดอากาศเข้า และจะมีพัดลมขนาดใหญ่เอาไว้สำหรับระบายอากาศที่กรองแล้วออกมา มันมีปุ่มเปิดปิดอยู่ตรงมุมด้านนึงของด้านบน และมีโฟโต้เซ็นเซอร์เอาไว้ตรวจจับความสว่างของห้องด้วย ซึ่งเอาไว้ทำอะไรนั้น เดี๋ยวจะพูดถึงอีกที
ดีไซน์แบบทาวเวอร์ของ Xiaomi Mi Air Purifier 2S ประกอบกับรูระบายอากาศรอบตัว และพัดลมระบายอากาศด้านบน มันก็จะมีการไหลของอากาศตามที่อธิบายในวิดีโอด้านบนครับ (เอามาจากเว็บไซต์ของ Xiaomi)

แกะฝาด้านหลังออกมาไม่ยาก ฝาหลังจะมีภาพบรรยายวิธีการเปลี่ยนไส้กรองอากาศครับ อันที่แถมมาให้นี่เป็นแบบสีฟ้าคือไส้กรองอากาศแบบปกติ ไว้กรองฝุ่นกับกลิ่นได้ แต่มันมีอุปกรณ์เสริมเป็นไส้กรองสีม่วง ที่เป็นแบบฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย ราคาของไส้กรองก็อยู่ประมาณ 800-1,000 บาท แล้วแต่ใครจะหาร้านน่าเชื่อถือได้

ตัวไส้กรองที่แถมมาให้ เป็นแบบกรอง 3 ชิ้น ตามที่ Xiaomi โม้เอาไว้ในเว็บก็คือ ชั้นแรกจะเอาไว้กรองพวกฝุ่นละอองและพวกเส้นขนใหญ่ๆ ส่วนชั้นที่สองที่อยู๋ตรงกลาง ใช้เทคโนโลยีตัวกรองระดับ H11 ของบริษัท Toray ประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถดักจับฝุ่นเล็กระดับ 3 ไมครอนได้ ซึ่งรวมถึงไรฝุ่น เชื้อรา และแบคทีเรีย และชั้นสุดท้าย เป็นแอคติเวเต็ดคาร์บอนคุณภาพสูง ที่สามารถกำจัดพวกฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งมีงานวิจัยที่ว่าเจ้านี่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และพวกกลิ่นต่างๆ ได้ดี

แกะกล่องมาตอนแรก ไม่ได้อ่านคู่มืออะไรเลย เลยงงว่าแล้วจะเปิดใช้งานมันได้ยังไง เพราะไม่มีสายไฟไว้ให้เสียบ อ่อ มันเก็บไว้อยู่ด้านในตัวเครื่อง (สงสัยเพื่อประหยัดพื้นที่กล่อง) แต่มองจากด้านในนี่จะเห็นชัดเจนเลยครับ ว่าไอ้รูพรุนๆ นี่ มันรูอากาศเข้าแบบจริงจังมาก

ตรงเหนือฝาเครื่องในส่วนของไส้กรองจะมีฝาปิดเล็กๆ อีก ซึ่งต้องเอานื้วแหย่ไปที่ตัวล็อกซึ่งอยู่ตรงด้านบนด้านในของฝาปิดไส้กรอง เพื่อเปิดออกมา มันจะเป็นเซ็นเซอร์เลเซอร์ที่เอาไว้ตรวจจับฝุ่นเพื่อวัดคุณภาพของอากาศนั่นเอง ส่วนปุ่มที่อยู่ด้านบนอีกทีนี่เอาไว้เปิดปิดหน้าจอ OLED ของตัวเครื่องที่เอาไว้แสดงข้อมูลต่างๆ ครับ

ตัวหน้าจอ OLED นี่จะปรับระดับความสว่างได้อัตโนมัติตามสภาพแสงครับ ก็ได้ข้อมูลมาจากโฟโต้เซ็นเซอร์ที่ผมเขียนถึงไปด้านบนนั่นแหละ
การใช้งาน Xiaomi Mi Air Purifier
การเปิดใช้งานไม่ยุ่งยากครับ Xiaomi Mi Air Purifier สามารถทำงานได้ด้วยตัวมันเอง ไม่ต้องเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนใดๆ เลย ฉะนั้น แม้จะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ก็ยังสามารถใช้งานมันได้ครับ พอเปิดเครื่องมาแล้ว มันก็จะวัดคุณภาพของอากาศโดยใช้เซ็นเซอร์เลเซอร์ในตัวนั่นแหละ
รู้ไว้ใช่ว่า…
ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index หรือ AQI) ซึ่งในแต่ละประเทศมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกันไป แต่หลายๆ ที่ รวมถึงพวกแอปและอุปกรณ์อย่างเครื่องฟอกอากาศนี่ มักจะใช้สมการของ Environmental Protection Agency (EPA) ของสหรัฐอเมริกา (เรียกว่า US AQI) มันเลยยากที่จะบอกว่าเลขมันหมายถึงอะไร เลยมักจะใช้ดูค่าสีเอาครับ ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษเอาครับ

แต่หากใครต้องการควบคุมจากระยะไกลผ่าน WiFi และดูข้อมูลได้ด้วย ก็เชื่อมต่อกับแอป Mi Home ครับ ทำได้ง่ายๆ ไม่ยาก ซึ่งเจ้านี่ช่วยเราทำงานหลายเรื่อง เช่น อัพเดตเฟิร์มแวร์ให้กับ Xiaomi Mi Air Purifier 2S หรือตั้งค่าการทำงานโดยอัตโนมัติไม่ว่าจะเป็นการปิดแบบอัตโนมัติ หรือการทำงานในแบบฉบับของ IoT

ตามสเปกแล้ว เจ้านี่มีอัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate หรือ CADR) อยู่ที่ 310 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่า หากห้องสูงประมาณ 4 เมตร ก็จะสามารถผลิตอากาศบริสุทธิ์ให้ห้องขนาดประมาณ 77 ตารางเมตรได้ใน 1 ชั่วโมงครับ
รู้หรือไม่…
อัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ หรือ CADR นี่ เป็นมาตรฐานหน่วยวัดที่ถูกกำหนดขึ้นโดย Association of Home Appliance MAnufacturers (AHAM) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ค่า CADR นี้จะใช้ระบุประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศ โดยบอกเป็นปริมาตรของอากาศบริสุทธิ์ที่ถูกผลิตออกมาได้ต่อนาทีหรือต่อชั่วโมง ค่า CADR ยิ่งมาก แสดงว่าเครื่องฟอกอากาศมีประสิทธิภาพยิ่งดี
การทำงานของ Xiaomi Mi Air Purifier 2S นี่มีด้วยกัน 3 โหมดหลัก คือ
- Auto ปรับความเร็วในการทำงานของตัวเครื่องโดยอัตโนมัติให้เหมาะสมกับคุณภาพของอากาศ พูดง่ายๆ คือ ถ้าอากาศคุณภาพแย่ ก็จะทำงานหนักหน่อยเพื่อเร่งผลิตอากาศบริสุทธิ์ออกมา ถ้าอากาศคุณภาพดี ก็จะทำงานแบบชิลๆ เพื่อรักษาคุณภาพของอากาศไป
- Night เอาไว้ใช้ตอนกลางคืน จะทำงานแบบเงียบเชียบ แทบไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย
- Manual ปรับระดับแรงลมของพัดลมด้วยตัวเอง
จากที่ผมใช้งานมาพักใหญ่ๆ ต้องบอกว่า ผมใช้มันในโหมด Auto มาตลอด ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรนะครับ มันสะดวกดีด้วย เพราะมันปรับแรงลมโดยอัตโนมัติ และเหมาะสมกับการใช้งานจริงๆ ถือว่าฉลาดมาก

ตอนที่ผมทดสอบ ผมเอาไปเปิดตรงห้องนั่งเล่น ซึ่งติดกับห้องครัว และเป็นจังหวะที่แม่กำลังทำผัดกะเพราพอดีเลยครับ ผลก็คือคุณภาพของอากาศแย่ลงแบบทันตาเห็น ตัวเลข AQI พุ่งไปแถวๆ 157 เลย แต่พอเปิดใช้งาน Xiaomi Mi Air Purifier 2S ปุ๊บ คุณภาพอากาศก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็วเลย ไม่กี่นาทีค่า AQI ก็ลดลงมาเหลือราวๆ 20 ซึ่งแม้จะไม่ได้สุดยอด แต่ก็หายใจหายคอคล่องสบาย ไม่แสบจมูกเลยล่ะ
บทสรุปการรีวิว Xiaomi Mi Air Purifier 2S
เดี๋ยวนี้เครื่องฟอกอากาศราคาไม่แพงแล้วครับ หาซื้อมาไว้ติดบ้านซักเครื่องผมว่าก็เป็นความคิดที่ดีเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่ชอบเปิดห้องหรือเปิดบ้านให้อากาศถ่ายเทประมาณนึง เพราะเดี๋ยวนี้อากาศนอกบ้านในหลายๆ พื้นที่ในกรุงเทพ หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ ของประเทศไทยก็ไม่ได้ดีเหมือนแต่ก่อนแล้ว จริงไหมล่ะ สุขภาพปอดของเรา เราก็ต้องดูแลกันเอาเองครับ
ใครสนใจสั่งซื้อ คลิกลิงก์ด้านล่างได้เลยฮะ จัดวาร์ปไว้ให้แล้ว
หมายเหตุ
ตารางด้านล่างคือเกณฑ์ของดัชนีคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สรุปว่าไส้กรองสีฟ้ากันได้หมดเลยหรอครับ เห็นในรีวิวหลายๆที่บอกต้องใช้สีเขียวถึงกรองได้ครอบคลุมทุกอย่าง
กันได้แค่ฝุ่นนะคร้าบ ยกเว้นสีม่วง เห็นมันโม้ว่าจะช่วยกรองพวกเชื้อโรคได้ แต่บอกตรงๆ ว่า ถ้าผมจะเอาเครื่องดูดฝุ่นที่กรองเชื้อโรค ผมคงใช้ยี่ห้ออื่น ของ Xiaomi ผมเอาไว้เน้นกรองฝุ่นเลย