เมื่อพูดถึงแบรนด์ที่ทำ Fitness tracker ชื่อดัง เราจะนึกถึง Fitbit ครับ ผมเองก็เป็นผู้ใช้ Fitbit คนนึงแหละ คือ มันเป็นแบรนด์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แบบผมอะ คือ ไม่ได้ออกกำลังกายแบบจริงจัง แต่เน้นที่การปรับปรุงพฤติกรรม หรือไลฟ์สไตล์ชีวิตของตัวเองมากกว่า (แต่จะปรับมาปรับน้อยก็อีกเรื่องนะ … ฮา) มันสามารถเฝ้าติดตามพฤติกรรมความฟิตของเราได้ทั้งตอนใช้ชีวิตปกติ ตอนออกกำลังกาย ตลอดไปจนถึงตอนนอนเลยทีเดียวครับ และล่าสุดนี่ผมก็เพิ่งได้ Fitbit Charge 3 ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อเดือนที่แล้วมารีวิวให้ได้อ่านกัน
เช่นเดียวกับหลายๆ รุ่นของ Fitbit เจ้า Charge 3 นี่ก็มาพร้อมกับรุ่นปกติ และ Special edition โดยตัวที่ผมเอามารีวิวนี่ เป็นรุ่นปกติครับ เป็นสีดำ ซึ่งพอแกะกล่องออกมาแล้ว สิ่งที่เราจะเห็นก็คือ ตัว Fitbit Charge 3 ซึ่งมาพร้อมกับสายสีดำแบบสั้น แล้วก็มีสายสีดำแบบยาวมาให้อีกชุดนึง มีคู่มือให้เล่มเล็กๆ และที่ชาร์จ ซึ่งเป็นแบบตรงรุ่น

หลังจากได้ใช้อุปกรณ์ของ Fitbit ไปไม่ต่ำกว่า 5 รุ่นแล้ว ผมต้องขอบอกว่า สิ่งนึงที่ Fitbit น่าจะทำอย่างมากก็คือ การสร้างมาตรฐานของที่ชาร์จอุปกรณ์ ครับ คือ ไม่ต้องถึงขนาดใช้มาตรฐานสากลอย่าง USB Type-C เลยก็ได้ อันนั้นผมเข้าใจว่าจะเป็นการสร้างข้อจำกัดในการออกแบบตัวอุปกรณ์ แต่การออกแบบ “ขั้วชาร์จ” ให้เป็นมาตรฐาน แล้วสามารถใช้ร่วมกันได้ในหลายๆ รุ่น น่าจะเป็นสิ่งที่ดีครับ เพราะ Wearable แบบนี้ บางคนก็อาจจะอยากมีหลายๆ แบบ เพื่อให้ตอบโจทย์ด้านแฟชั่นด้วย เช่น ผมอาจจะอยากใส่ Fitbit Ionic ตอนทำงานและตอนออกกำลังกาย แต่ตอนเที่ยวชิลๆ อาจจะอยากใส่ Fitbit Charge 3 เป็นต้น ถ้าต้องเก็บรักษาที่ชาร์จสองอันนี่วุ่นน่าดู (ลองนึกว่าตอนนี้ผมมี Fitbit Ionic, Alta HR และ Charge 3 สิ)
แต่ยังไงซะ ดีไซน์ของ Fitbit Charge 3 ก็ทำออกมาได้ดีครับ เป็น Fitness tracker ที่ขนาดกำลังดีมาก ไม่เล็กจนเกินไป และไม่ใหญ่จนเกินเหตุ บอกได้เลยว่าจะอยู่บนข้อมือของคุณผู้ชายหรือคุณผู้หญิงนี่ จะไม่ทำให้ดูแบบ รูปร่างไม่สมตัวแน่ๆ แต่แอบรู้สึกว่าตัวเลือกของ “สี” ที่มีให้ มันน้อยไปหน่อยครับ คือตอนนี้มี
- รุ่นปกติ มีสองสี คือ
- สายสีดำ ตัวเรือนสีกราไฟต์
- สายสีน้ำเงินเทา ตัวเรือนสีโรสโกลด์
- Special edition มีสองสีคือ
- สายสปอร์ตสีขาว ตัวเรือนสีกราไฟต์ (ซึ่งจะมีสายสีดำแถมมาให้อีกเซ็ต)
- สายสีลาเวนเดอร์เป็นแบบผ้าถัก ตัวเรือนสีโรสโกลด์ (ซึ่งจะมีสายสีน้ำเงินเทาแถมมาให้อีกเซ็ต)

ที่เหลือคือต้องไปหาซื้อเพิ่ม เป็นอุปกรณ์เสริมครับ ซึ่งก็จะมีสายหนัง หรือสายซิลิโคนแบบสปอร์ตให้เลือกสีต่างๆ
ดีไซน์ของ Fitbit Charge 3
ตัวเรือนไม่มีอะไรมากครับ หน้าจอเป็น OLED แบบ Greyscale ตัวกระจกเป็น Gorilla Glass 3 ซึ่งอาจจะดูเป็นกระจกรุ่นเก่าไปหน่อย แต่ในฐานะ Wearable แล้ว ผมว่ามันก็เพียงพอดี หน้าจอนี่เป็นแบบสัมผัสครับ

ด้วยความที่การสั่งงานส่วนใหญ่ทำผ่านหน้าจอสัมผัส เลยทำให้ Fitbit Charge 3 มีปุมอยู่ปุ่มเดียว ทำเป็นแบบ Pressure button มันไม่ใช่ปุ่มจริงๆ แต่เวลากดแล้ว ตัวเรือนจะมีการสั่นเล็กน้อย เพื่อให้รู้ว่ามันรับรู้แล้วนะ ว่าเรากดแล้ว ปุ่มนี้ทำหน้าที่เป็นการกดปุ่ม Back หรือ ย้อนกลับไปเมนูก่อนหน้านั่นเอง

ด้านหลังของตัวเรือนจะมีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และขั้วทองเหลืองสามจุด เอาไว้เชื่อมต่อกับอะแดปเตอร์ชารืจของ Fitbit Charge 3 ครับ ตัวเซ็นเซอร์นี่จะทำงานวัดอัตราการเต้นของหัวใจของเราต่อเนื่องเป็นระยะ ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงที่เราสวมใส่เลย
การถอดเปลี่ยนสาย สามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก และรวดเร็วอย่างมาก และแม้ว่าจะมีสายมาให้แค่สองขนาด แต่มันก็น่าจะครอบคลุมขนาดข้อมือของผู้ใช้งานส่วนใหญ่ได้สบายๆ
วิจารณ์ Fitbit Charge 3 ในไลฟ์สไตล์การใช้งาน
ในมุมมองของผม จุดขายสำคัญของ Fitbit ก็คือ ความสามารถในฐานะ Fitness tracker ที่ช่วยติดตาม “พฤติกรรม” ของเราได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่สวมใส่ และรุ่นที่ขนาดกะทัดรัดอย่าง Fitbit Charge 3 เนี่ย ทำให้เรารู้สึกว่าไม่เกะกะเลยแม้จะต้องสวมใส่ตลอดทั้งวัน เพียงแต่ถ้าเกิดว่าเราใส่รุ่นสายมาตรฐานของมัน เราอาจจะต้องคอยถอดออกบ้าง เพื่อทำความสะอาดข้อมือของเรา และเพื่อทำความสะอาดตัว Fitbit Charge 3 ไม่งั้นเดี๋ยวได้มีกลิ่นเหม็น อันเกิดจากความหมักหมมของเหงื่อของเรานั่นแหละ

หน้าจอ OLED แบบ Greyscale ของเจ้านี่ ผมว่ามีไว้เพื่อสองวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อให้สามารถใช้งานกลางแจ้งได้โดยไม่ต้องพึ่งพาไฟส่องสว่างเพิ่ม และเพื่อประหยัดพลังงานครับ เพียงแต่ผมไม่แน่ใจว่าทำไมถ่ายรูปตอนอยู่กลางแดดแล้ว มันถ่ายจอติดไม่เต็มก็ไม่รู้

แต่ถ้ามาถ่ายในที่ร่ม ผมก็ถ่ายภาพของจอ OLED ได้ปกตินะ ไม่รู้ว่าทำไมถ่ายกลางแจ้งไม่เวิร์ก แต่บอกเลยว่าในการใช้งานจริง มันไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ครับ สายตาของผมไม่ได้รู้สึกว่าหน้าจอมันกระพริบ หรือแสดงผลไม่ครบแต่อย่างใด

Fitbit Charge 3 มีความเป็น Smart device มากขึ้น คือมันรองรับการติดตั้งแอปต่างๆ ด้วย เพียงแต่ตอนนี้ผมยังไม่เห็นตัวเลือกของแอปให้ดาวน์โหลดใน fitbit app บนสมาร์ทโฟน แต่ในการใช้งาน Fitbit Charge 3 นั้น เราสามารถเข้าถึงแอปต่างๆ (ซึ่ง Fitbit เตรียมไว้ให้ประมาณนึงแล้ว) ได้ด้วยการแตะหน้าจอแล้วปาดจากขวาไปซ้าย แล้วแตะเลือกแอปที่ต้องการเปิดครับ

ในส่วนของการใช้งานทั่วไป แน่นอนว่าคือการเอามาตรวจจับกิจกรรมที่เราทำทั้งวันนั่นแหละครับ ซึ่งมันจับได้ทั้งการนับก้าว อัตราการเต้นของหัวใจ การเผาผลาญแคลอรี่ของเรา ซึ่งเราสามารถแตะที่หน้าจอ แล้วปาดนิ้วขึ้น เพื่อดูข้อมูลพวกนี้ได้ หรือจะดูผ่านแอป Fitbit บนสมาร์ทโฟนก็ได้
ถ้าเราจะเริ่มออกกำลังกาย เราก็สามารถเข้าโหมด Exercise เพื่อบอกให้ Fitbit เริ่มจับการออกกำลังกายของเราได้ ซึ่งรองรับทั้งการ เดิน, วิ่ง, ปั่นจักรยาน, ว่ายน้ำ, เวทเทรนนิ่ง ตัว Fitbit Charge 3 ออกแบบมาให้กันน้ำได้ลึก 50 เมตร ฉะนั้นหมดห่วงเรื่องเหงื่อออก ใส่วิ่งกลางฝน หรือแม้แต่ใส่ว่ายน้ำได้เลย (แต่เขาก็ไม่แนะนำให้ใส่ตอนอาบน้ำนะ และการใส่ว่ายน้ำเสร็จแล้ว ก็ควรถอดออกมาเช็ดทำความสะอาดด้วย) สิ่งนึงที่รุ่นนี้ไม่มีก็คือ GPS ครับ ฉะนั้นหากต้องการดูความเร็วและเส้นทางในการวิ่งหรือปั่นจักรยาน ก็จะต้องพกสมาร์ทโฟนไปเชื่อมต่อด้วยนะครับ
แต่ถึงจะไม่ได้เลือก Fitbit Charge 3 ก็พร้อมจะตรวจจับการออกกำลังกายให้โดยอัตโนมัตินะ ด้วยฟีเจอร์ SmartTrack เพียงแต่ผมก็อยากแนะนำว่าควรจะเลือกด้วยตัวเองดีที่สุดครับ

แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่ Fitbit ทำได้ดีคือการตรวจจับพฤติกรรมการนอนของเรา ซึ่งมันบอกเราได้เลยว่าคืนนึงเรานอนไปกี่ชั่วโมง หลับไปตอนไหน หลับลึกหลับตื้น หรือตื่นมากลางดึก (ทั้งที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) บ่อยแค่ไหน และ Fitbit Charge 3 นี่มันมีเซ็นเซอร์ Relative SpO2 มาด้วย ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ในการตรวจวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดสัมพัทธ์ ที่ทำให้อนาคตเมื่อมีการอัพเดต ตัวแอปก็น่าจะตรวจพบภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ หรือ Sleep apnea ได้อีกด้วย (มีการเขียนถึงฟีเจอร์นี้ในบล็อกของ Fitbit แต่ผมยังไม่เห็นในแอป)

แบตเตอรี่ของ Fitbit Charge 3 อึดสมคำโฆษณาครับ สามารถอยู่ได้สบายๆ 7 วันเลยทีเดียว ซึ่งถือว่านานกว่ารุ่นก่อนสองวัน ถือเป็นเรื่องดี เพราะเวลาผมต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ มักจะอยู่ในช่วงประมาณ 5-7 วัน เลยทำให้ไม่ต้องพกสายชาร์จไปเพิ่ม แค่ให้แน่ใจว่าคืนก่อนเดินทางชาร์จแบตเตอรี่เอาไว้ให้เต็มเป็นพอ
ในฐานะ Smart device ตัว Fitbit Charge 3 สามารถทำการแจ้งเตือนต่างๆ ให้กับเราได้ โดยดึงข้อมูลมาจากสมาร์ทโฟน ใครโทรมาก็สั่นเตือนบอกเราได้ แต่มันมีข้อเสียสำหรับคนไทย (ซึ่ง Fitbit ยังไม่มีวี่แววว่าจะอัพเกรดให้ซะที) นั่นก็คือ มันไม่รองรับภาษาไทยครับ
บทสรุปการรีวิว Fitbit Charge 3
Fitbit Charge 3 ยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจนสำหรับคนที่สนใจ Fitness tracker อยู่ครับ ด้วยสนนราคาค่าตัวที่ไม่แพงมาก คือ 6,490 บาท แต่รองรับการตรวจจับกิจกรรมหลากหลาย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับสายสุขภาพที่ต้องการวัดกิจกรรมที่หลากหลายจริงๆ แต่หากใครต้องการ Fitness tracker เฉพาะทาง อาจจะต้องลองศึกษาเพิ่มเติมว่าตัวไหนน่าจะเหมาะกว่าครับ
Fitbit Charge 3 จริงๆ ผมอยากบอกว่ามันทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ให้ข้อมูลมากกว่า ความสามารถจริงๆ มันอยู่ที่ตัวแอป Fitbit ที่ติดตามข้อมูลให้กับเรา ให้ข้อเสนอแนะ และสามารถใช้ติดตามอะไรอย่างอื่นที่เซ็นเซอร์วัดไม่ได้ เช่น การดื่มน้ำ การทานอาหาร หรือแม้แต่ในกรณีของคุณผู้หญิงก็การมีประจำเดือน และคำนวณระยะเวลาไข่สุกให้ด้วย (ซึ่งอันนี้ผมไม่รู้จะรีวิวให้ยังไง … ฮา)
หากใครสนใจ Fitbit Charge 3 ไปหาซื้อได้จาก Fitbit Flagship Store ใน Lazada ครับ