หลังจากได้รีวิวโน้ตบุ๊กของ ASUS ไปสองตัวอย่างต่อเนื่อง คือ ZenBook 13 และ ZenBook S (ซื้อเองใช้เอง) ตัวล่าสุดที่ได้มารีวิว ด้วยความเอื้อเฟื้อของ ASUS Thailand ก็คือนี่ครับ ASUS Zenbook Pro 15 UX580GD ตัวท็อป Core i9-8950HK 2.90GHz 6-core แรม 16GB SSD 512GB และการ์ดจอ nVidia GeForce GTX 1050 Ti ถือว่าเป็นตัวที่สเปกแรงที่สุดเท่าที่จะหาได้แล้วมั้งสำหรับตระกูล ZenBook ตอนนี้ ด้วยสนนราคาค่าตัว 89,900 บาท และน้ำหนัก 1.88 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเบาพอสมควร สำหรับตัวเครื่องไซส์นี้
แกะกล่อง ASUS ZenBook Pro 15
เช่นเดียวกับ ASUS ZenBook S กล่องของ ASUS ZenBook Pro 15 ก็ทำออกมาแบบสองชั้นครับ กล่องของโน้ตบุ๊กจริงๆ มันอยู่ด้านใน ซึ่งแกะออกมาแล้ว ก็ไม่ได้มีอะไรอยู่ในนั้นเยอะหรอกนะครับ มันก็มี
- ตัวเครื่องโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 15 UX580UD
- อะแดปเตอร์แบบแรงเวอร์วัง 19.5V 7.7A หรือพูดง่ายๆ 150W ซึ่งมีขนาดใหญ่ประมาณนึง (ไซส์ของมันน้องๆ อะแดปเตอร์ QNAP NAS TS-453A ของผมเลย)
- ตัวแปลงพอร์ต USB Type-C เป็น RJ45 (พอร์ต LAN)
- ตีนตุ๊กแกไว้รัดสาย
มาพูดถึงดีไซน์ของตัวเครื่อง ASUS ZenBook Pro 15 กันบ้าง

ดีไซน์ของ ASUS ZenBook Pro 15 ดูเรียบหรูดีมาก ตัวเครื่องเป็นโลหะทั้งเครื่อง พร้อม Finishing touch เป็นลายกิ๊บเก๋ดี มีหน้าจอขนาดบิ๊กเบิ้ม 15.6 นิ้ว มีขอบจอที่ไม่ใหญ่มาก 7.3 มม. และด้วยความที่ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่นี่แหละ การวางแป้นพิมพ์ของคีย์บอร์ดก็เลยทำได้สบายๆ ครับ การวางเลย์เอาต์ของปุ่มต่างๆ มีระยะห่างที่กำลังดีมากๆ เลย แต่ถ้าจะให้ผมติ ผมว่าคงเป็นการที่เอาปุ่มพวก Power, Home, PgUp, PgDn, และ End ไปวางไว้ขวาสุด ซึ่งทำให้คนที่ชินกับคีย์บอร์ดบนโน้ตบุ๊กทั่วๆ ไป อาจจะพิมพ์แล้วเผลอไปกดโดนได้ เพราะปกติปุ่มอย่าง Del, Backspace, Enter, Shift อะไรพวกเนี้ย มันจะเป็นปุ่มที่อยู่ขวาสุดของคีย์บอร์ดแล้ว

จุดที่โดดเด่นกว่าโน้ตบุ๊กตัวอื่นๆ ก็คือ TouchPad ขนาดใหญ่ที่ ASUS เรียกว่า ScreenPad เพราะว่ามันคือหน้าจอแสดงผลแบบสัมผัสขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920×1080 พิกเซล) เป็นจอแสดงผลแบบ IPS+ มุมมองกว้าง 178 องศา และมีกระจกที่เคลือบกันรอยนิ้วมือครอบ รองรับการสัมผัสพร้อมกันสูงสุด 4 นิ้วเลย

หน้าจอแสดงผลมีกล้องเว็บแคมความละเอียด VGA และรูไมโครโฟนแบบสเตริโออยู่ด้านข้าง ในส่วนของลูกเล่นด้าน Security ก็มีตัวสแกนลายนิ้วมือที่อยู่ในที่ที่แตะใช้งานไม่ยาก


ด้วยความที่เป็นโน้ตบุ๊กขนาดใหญ่ ด้านข้างก็เลยมีพอร์ตต่างๆ มาให้แบบจัดเต็ม ไม่เหมือนพวกรุ่นบางๆ เราจะเห็นว่ามีพอร์ต HDMI และ Thunderbolt 3 มาให้อีกสองพอร์ตอยู่ที่ด้านซ้ายของตัวเครื่อง และมีช่องเสียบอะแดปเตอร์ด้วย เนื่องจากโน้ตบุ๊กตัวนี้ต้องการพลังไฟในการชาร์จระดับ 150W ก็เลยไม่เหมาะจะทำให้ใช้พอร์ต Thunderbolt 3 ในการชาร์จได้อะนะ ส่วนด้านขวาของตัวเครื่องเรามีพอร์ต USB 3.1 Gen 2 ให้สองพอร์ต กับสล็อตใส่ MicroSD card และช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม.
ที่น่าแปลกใจคือ ทำไม ASUS เลือกใส่สล็อต MicroSD card แทนที่จะเป็น SD card ล่ะเนี่ย นึกไม่ออกจริงๆ คือ พอจะเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้โลกเราใช้ MicroSD card กันเยอะกับพวกสมาร์ทโฟน แต่การ์ดพวกนี้ไม่ใช่อะไรที่จะถอดเปลี่ยนกันง่ายๆ ฉะนั้นการถ่ายโอนข้อมูลเข้าสมาร์ทโฟน ทำผ่านสายเคเบิลสะดวกกว่า และในฐานะโน้ตบุ๊กรุ่น Pro ที่เอาไว้ทำงาน ก็น่าจะมีสล็อตที่รองรับ SD card จากกล้องดิจิทัลมากกว่านะ

ตัวเครื่องหน้าจอก็กางได้ 145 องศา เพียงพอต่อการใช้งานทั้งแบบวางโต๊ะ หรือวางตัก สบายๆ แต่ด้วยน้ำหนักตัว 1.88 กิโลกรัมในสมัยนี้ คงไม่ค่อยมีใครอยากเอามาวางตักซักเท่าไหร่แหงๆ และที่สำคัญคือ ลำโพงที่ได้รับการ Certified โดย harman/kardon นี่อยู่ด้านล่างครับ ฉะนั้นการวางบนโต๊ะจะทำให้ได้คุณภาพของเสียงที่ดีกว่านะครับ
ได้เวลาหยิบ ASUS ZenBook Pro 15 UX580GD มาใช้งาน
ด้วยสเปกที่ ASUS จัดมาให้แบบพอสมควรเลย ตัวท็อปที่ผมได้มารีวิวนี่สเปกแบบนี้เลยนะครับ
Processor | Intel® Core™ i9-8950HK 2.9GHz 6-core |
Graphics | nVidia® GeForce® GTX1050 |
Display | 15.6” LED-backlit 4K UHD (3840×2160) Touchscreen PANTONE® validated |
2nd Display | 5.5” FHD (1920×1080) Super IPS+ display ทำหน้าที่เป็น ScreenPad |
RAM | 16GB 2400MHz DDR4 |
Storage | 512GB PCIe® SSD |
Ports | 2×Type-C™ USB 3.1 Gen 2 (Thunderbolt™ 3) 2×Type-A USB 3.1 Gen 2 1×HDMI 1×Combo audio jack 1×MicroSD card slot |
Camera | VGA webcam |
Wireless connectivity | Dual-band 802.11a/b/g/n/ac Gigabit-class WiFi Bluetooth 5.0 |
Battery | 71Wh 8-cell lithium-polimer สามารถใช้งานต่อเนื่องได้สูง 9.5 ชั่วโมง |
Weight & Dimensions | ขนาด (สูง×กว้าง×ลึก) 18.9×365×241 มม. หนัก 1.88 กิโลกรัม |
สเปกนี่แบบว่า เอามาใช้งานต่างๆ ได้ดีประมาณนึงเลย ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างพวกงานเอกสารออฟฟิศ ที่ไม่ต้องใช้สเปกขนาดนี้ร้อก แต่ว่าได้ประโยชน์จากหน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่ 15.6 นิ้ว และความละเอียดสูงระดับ 4K มากกว่า ไปจนถึงงานตัดต่อกราฟิกหรือตัดต่อวิดีโอ ที่จะได้อานิสงส์จากการ์ดจอแยก nVidia GeForce GTX1050 แรม 4GB และ SSD แบบ PCIe ×4 ที่ให้ความเร็วในการอ่านสูงสุด 3GB/s เขียนเร็วสูงสุด 1.7GB/s ซึ่งผมลอง แล้ว แม้จะไม่ได้ผลออกมาตามสเปกเป๊ะๆ แต่ก็เห็นคร่าวๆ ว่าเร็วปรี๊ดอยู่

ในส่วนของกราฟิก เผื่อใครอยากจะเอามาเล่นเกม ปกติแล้วมันจะใช้ชิป Intel UHD Graphic 630 VRAM 128MB แต่ถ้าเราเปิดเป็น High performance แล้ว มันจะหันมาใช้ nVidia GeForce GTX1050 แรม 4GB ครับ ซึ่งถ้าเป็นเกมยุคก่อนๆ ก็ไม่น่าห่วงอะไร ประสิทธิภาพของกราฟิกนี่เหลือเฟือครับ ดูจาก System Requirements แล้ว เอามาเล่น Street Figher V ได้สบายๆ อยู่นะ

ลองทดสอบด้วย Final Fantasy XV Benchmark ดู ถ้าปรับกราฟิกไปที่ระดับ HD และคุณภาพสูง ก็ยังพอเล่นได้อยู่นะ
แต่ถ้าเป็นเกมรุ่นใหม่ๆ กราฟิกโหดๆ อย่างเช่น Final Fantasy XV Benchmark แล้ว ต้องปรับกราฟิกลงมาเหลือความละเอียดระดับ HD (ซึ่งภาพดูแตกมากมายบนจอ 4K) ถึงจะได้คะแนนที่ระดับคุณภาพกราฟิกสูงได้แบบพอจะโอเค (คะแนนออกมา Standard)

หน้าจอแสดงผลของ ASUS ZenBook Pro 15 UX580GD นี่เป็นแบบ PANTONE® Validated ครับ มันหมายความว่าได้รับการยืนยันจากทาง Pantone ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสี และมาตรฐานสี ซึ่งถ้าเกี่ยวกับแวดวงคอมพิวเตอร์ มันก็คืองานด้านสิ่งพิมพ์ครับ การได้รับเครื่องหมาย PANTONE® Validated เนี่ย หมายความว่าหน้าจอแสดงผลนี้ สามารถแสดงผลสีตามระบบ Pantone Matching System (PMS) ได้ดีตามมาตรฐาน
ในส่วนคุณภาพของเสียงนั้น บอกได้เลยว่าลำโพงเสียงดังดีมาก และการที่ได้ Certified มาจาก harman/kardon นี่ก็แสดงว่ามันไม่ใช่ขี้ๆ แล้ว ผมลองเอาไปเปิดคลิป Sound Test Dolby Atmos ดู มันตอบสนองต่อเสียงย่านต่างๆ ได้ดีทีเดียวเลยละครับ ยังแอบรู้สึกว่าเสียงดังและดีกว่า ASUS ZenBook S ของผมซะอีกอ่ะ แง่งๆ
แต่ในส่วนของความร้อนของตัวเครื่อง ต้องเข้าใจว่าเจ้านี่มันประสิทธิภาพสูงนะครับ ทั้งตัว CPU และ GPU ต่างก็สามารถเอาไปใช้งานแบบโหดๆ ได้ ผมลองรัน Final Fantasy XV Benchmark ไป 6 รอบดู พบว่าความร้อนของด้านล่างของตัวเครื่องมันร้อนแบบจัดจ้านมาก ชนิดที่เรียกว่าผมไม่คิดว่าจะมีใครอยากจะเอามันมาวางตักใช้งานแน่นอน
ScreenPad ดูว้าว แต่การใช้งานจริงยังน่าลุ้น
ฟีเจอร์นึงที่ต้องขอแยกเป็น Section ต่างหากในการรีวิวเลยก็คือ ScreenPad ครับ ดีไซน์ที่เอาจอแสดงผลแบบสัมผัส มายัดใส่ตรงส่วนที่เป็น TouchPad แล้วให้มันสามารถทำหน้าที่ได้หลายแบบ ซึ่งได้แก่
- ScreenPad จะเป็นเหมือนจอแสดงผลพิเศษ ที่แสดงฟังก์ชันบางอย่างได้ (ต้องดาวน์โหลดแอปมาติดตั้งเพิ่ม) เช่น เป็น Music player, แสดงปฏิทินและตารางนัดหมาย, เป็น NumPad หรือเป็นเครื่องคิดเลข เป็นต้น
- Extension Display จะทำหน้าที่เป็นเหมือนจอแสดงผลที่สอง สามารถเอาพวกหน้าต่างโปรแกรมต่างๆ มาปล่อยไว้ในนี้ได้เลย
- TouchPad mode จะปิดการแสดงผล และใช้ SceenPad ในฐานะ TouchPad ทั่วๆ ไป

ในส่วนของการใช้งานแบบ ScreenPad เหมาะที่สุดคือการต่อเมาส์ใช้ครับ เพราะขณะที่อยู่ในโหมดนี้ ScreenPad จะไม่สามารถใช้งานเป็น TouchPad ได้ครับ เพราะมันจะทำหน้าที่เป็นแอปนั้นๆ แบบเต็มจอยกเว้นแอป ScreenPad Office เพราะมันยังเหลือเนื้อที่ใช้แตะเป็น TouchPad ได้อยู่


ในโหมด ScreenPad นี้ จะทำงานได้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ว่ามีแอปรองรับแค่ไหนด้วย ซึ่งปัจจุบันมีแค่ 9 แอป แต่ทาง ASUS บอกว่าจะเปิด API ให้นักพัฒนาเข้ามาพัฒนาแอปเพิ่มได้ แต่ผมก็ยังกังขาว่า ScreenPad ที่ไม่ได้เป็นมาตรฐานฮาร์ดแวร์ของระบบปฏิบัติการ Windows จะมีใครอยากทำแอปมารองรับกันบ้างละเนี่ย งานนี้ก็ต้องดูว่า ASUS จะจับมือกับบริษัทซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ พัฒนาแอปมาให้ ScreenPad ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานโปรแกรมยอดนิยม (เช่น Microsoft Office, โปรแกรมตระกูล Adobe ต่างๆ อะไรแบบเนี้ย) ได้มากน้อยแค่ไหนล่ะ เพราะเท่าที่มีอยู่ตอนนี้มันยังไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่จริงๆ
พอมาใช้โหมด Extension Display ก็ขอให้นึกซะว่าเจ้า ScreenPad นี่เป็นหน้าจอที่สองที่มีขนาด 5.5 นิ้ว ติดมากับตัวเครื่องเลยก็แล้วกัน ในแง่ของการใช้งาน ผมว่ามันจะเหมาะกับงานใดๆ ก็ตาม ที่ปกติเราต้องใช้สองจอครับ เช่น เราต้องการตกแต่งกราฟิก หรือ วิดีโอ แล้วเราก็แยกเอาส่วนที่ดูผลลัพธ์ มาแสดงบน ScreenPad อะไรแบบนี้ หรือ เรากำลังทำงานไป แล้วก็อยากเปิด YouTube ดูไปด้วย ซึ่งการใช้งานในโหมดนี้ แม้ว่าจะสามารถเลือกโหมดเป็น Cursor mode ที่ให้เรายังคงใช้ ScreenPad เป็น TouchPad ได้อยู่ แต่ผมอยากบอกว่ามันเหมาะกับการใช้โหมดนี้คู่กับเมาส์มากกว่าครับ


น่าเสียดายแค่ว่า ขนาดหน้าจอของ ScreenPad มันแค่ 5.5 นิ้วเท่านั้น ฉะนั้นจะเอามาใช้ในฐานะจอที่สอง มันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มากทีเดียว จะเอามาไว้อ่านข้อมูลแล้วพิมพ์ไปพร้อมๆ กัน มันก็เล็กเกินไป อะไรแบบนี้
จุดนึงที่สังเกตได้จากการลองใช้ ScreenPad มาพักใหญ่ๆ (มากๆ) และเอามาใช้ทั้งในงานพิมพ์เอกสาร
บทสรุปการรีวิว ASUS ZenBook Pro 15 UX580GD
ด้วยสเปกที่ให้มา และการใส่ ScreenPad เข้ามาให้ จึงไม่น่าแปลกใจที่รุ่นท็อปจะราคาสูงระดับ 89,900 บาทครับ แต่ในส่วนของดีไซน์และฮาร์ดแวร์มันก็สมกับราคาค่าตัวแล้วจริงๆ มันคือโน้ตบุ๊กขนาด 15.6 นิ้วที่มีน้ำหนักเบา แต่สำหรับผมที่ยอมใช้ 13 นิ้วแต่หนัก 1 กิโลกรัมแล้ว (และอายุเยอะแล้ว) เจ้านี่หนักเอาเรื่องอยู่ครับ เหมาะสำหรับเอามาวางตั้งโต๊ะ แล้วย้ายไปมาใช้ในบ้าน หรือวางประจำที่ออฟฟิศไปเลยมากกว่า (ยกเว้นคุณจะขับรถไปทำงาน)
แต่จากที่ลองเอามาใช้ทำงานในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเอกสาร ท่องเว็บ ดูหนังฟังเพลง เล่นเกม หรือแม้แต่งานกราฟิก ตัดต่อวิดีโอ ความลื่นไหลในการใช้งานของเจ้า ASUS ZenBook Pro 15 นี่ น่าประทับใจมาก บอกได้เลยว่าลองใช้แล้ว Productivity ของตัวเองดีขึ้นเลยแหละ … ที่เหลือมันก็อยู่ที่งบที่เรามีแล้วละนะ นี่แทบอยากจะขายเครื่องโน้ตบุ๊กที่มีอยู่ทั้งหมด ระดมเงินไปซื้อเจ้านี่มาไว้ติดบ้านซักตัวเลยอะ เหอๆ