ผมซื้อ ASUS ZenBook S UX391UA มาหลังจากที่ผมพาแฟนไปซื้อ ASUS ZenBook 13 UX331UAL ไปก่อนหน้า และผมก็ได้รีวิวตัวนั้นไปแล้ว ถึงเวลาที่ผมจะมารีวิวเจ้า ZenBook S ตัวนี้ซักทีครับ ในภาพรวมแล้ว ASUS ZenBook S ตัวนี้ เป็นโน้ตบุ๊กที่ดีไซน์กะเจาะตลาดกลุ่มคนที่อยากได้โน้ตบุ๊กที่บางและเบามากๆ แต่ยังคงอยากได้ประสิทธิภาพที่ดี รองรับพอร์ตการเชื่อมต่อใหม่ๆ และสนนราคาไม่แรงมากจนเกินไปนัก
ในขณะที่แฟนผมเลือกใช้ ASUS ZenBook 13 UX331UAL เพราะต้องการสเปกแบบพอประมาณ เพื่อคุมงบประมาณการซื้อให้อยู่ในช่วงต่ำกว่า 3 หมื่นบาท หรือไม่เกิน 3 หมื่นต้นๆ เป้าหมายของผมก็คือ การซื้อโน้ตบุ๊กที่ประสิทธิภาพดีพอสมควร (อย่างน้อย Core i5 7th Gen หรือ 8th Gen) และขอเน้นแรมที่ 16GB ครับ และผมก็ต้องพบว่า โน้ตบุ๊กที่มาพร้อมกับแรม 16GB นี่หายากชิบหายเลยครับ
เหตุผลที่ตัดสินใจเลือก ASUS ZenBook S UX391UA
จริงๆ มีโน้ตบุ๊กหลายตัวเลยที่เป็นตัวเลือกการตัดสินใจของผม แต่มาจบที่ 3 ยี่ห้อ 3 รุ่นสุดท้าย คือ
- Dell XPS 13 (2018) ตัวนี้คือโน้ตบุ๊กในฝันมากๆ ครับ เป็นรุ่นที่ผมชอบจอแสดงผลที่ใช้มากที่สุด เป็นจอสัมผัสด้วย (มีรุ่นที่ไม่มีจอสัมผัสด้วย) และมีสเปกตามที่ต้องการทั้งหมด เช่น แรม 16GB และ Thunderbolt 3 เป็นต้น แต่ตัวนี้ต้องถูกตัดออกจากตัวเลือกไปเพราะรุ่นที่อยากได้ สนนราคา 79,000 บาท!
- HP Spectre X360 13-ae512TU ตัวนี้เทียบกันในสามรุ่น เป็นตัวที่ใช้ CPU รุ่นเก่าสุด คือ ในไทยยังขายตัวที่เป็น Core i 7th Gen อยู่เลย แต่มันรองรับจอสัมผัสด้วย มองในแง่ของความพร้อมรองรับทุกรูปแบบการใช้งาน เจ้านี่เป็นตัวเลือกที่ดี แต่ต้องตัดมันออกจากตัวเลือกไปเพราะว่า มันมีแต่รุ่นแรม 8GB ขายอะ แถมสนนราคาก็แอบแพงพอๆ กับ ASUS ZenBook S ที่เป็นรุ่นใหม่กว่า
- ASUS ZenBook S UX391UA เป็นตัวเลือกของผมในคราวนี้ เพราะน้ำหนักตรงตามเป้าหมายสุด คือ 1 กิโลกรัม มีแรม 16GB รองรับ Thunderbolt 3 ด้วย และสนนราคาอยู่ในเกณฑ์รองรับได้ที่ 49,990 บาท
สุดท้ายคือ ผมไปได้เจ้า ZenBook S นี่มาในราคา 44,900 ที่งาน Commart เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาครับ เสียดายตรงที่ บัตรเครดิตที่ผมมีดันไม่เข้าร่วมโปรผ่อน 0% ฮะ
แต่อยากคอมเม้นต์ใส่ ASUS Thailand มากว่า คิดจะขายเจ้ารุ่นนี้จริงป่าวเนี่ย คือ ของหายากมาก ตัวเครื่องเดโมที่ปกติจะเอาไปวางไว้ตามร้านคอมพิวเตอร์ชั้นนำต่างๆ ก็ไม่มี ขนาดผมไปถึงงาน Commart นี่ก็หาซื้อแทบไม่ได้ ดีว่าได้ร้านนึงที่เขาสั่งแล้วมีของเข้ามาสามเครื่องพอดี (บังเอิญมากๆ) เลยรีบขอดูของแล้วซื้อโดยไวเหอะ
แกะกล่อง ASUS ZenBook S UX391UA เป็นยังไงบ้าง?
สมกับที่เป็นรุ่นท็อป ราคาเกือบครึ่งแสนครับ กล่องใส่เนี่ย ถูกแบ่งออกเป็นสองชั้นครับ ชั้นแรกก็คือกล่องแพ็กเกจปกติ ที่แกะออกมาแล้ว เราจะเห็นกล่องอยู่ด้านใน 2 กล่อง กล่องแรกคือกล่องใส่ตัวโน้ตบุ๊ก ส่วนอีกกล่องคือ กล่องใส่อะแดปเตอร์และ USB Type-C converter ครับ และอีกหนึ่งสิ่งที่มาในกล่องด้วย คือ ซองใส่โน้ตบุ๊กที่แถมมาด้วย เป็นแบบหรูหราดูไฮโซอีกเช่นกัน

ภายในกล่องใส่โน้ตบุ๊ก ก็จะมีตัว ASUS ZenBook S UX391UA ซึ่งออกแบบมาดูดีงามมาก เปิดกล่องแล้วมันจะยกตัวเครื่องโน้ตบุ๊กให้เอียงขึ้นมาเล็กน้อย อารมณ์คือ ตอกย้ำกิมมิกดีไซน์ ErgoLift (เดี๋ยวค่อยพูดถึงตอนรีวิวตัวเครื่องนะ) ส่วนอีกกล่องก็จะมีอะแดปเตอร์แบบ 65 วัตต์ หัวเป็น USB Type-C กับ USB Type-C converter ที่แปลง USB-C ออกมาเป็น USB-A (USB 3.1) และ HDMI กับมีพอร์ต USB-C PD (Power Delivery) มาให้อีกอันนึง ทำให้เราไม่ต้องไปหาหัวแปลงเพิ่ม ถ้าเราไม่ได้ต้องการใช้ช่องเสียบอะไรมากนัก
รีวิวตัวเครื่อง ASUS ZenBook S UX391UA
ตอนหยิบเครื่องออกมาจากกล่องนี่แบบว่า เหยยยยยย มันเบา ดีงามมาก สำหรับคนที่ใช้ Microsoft Surface 3 Pro จนชิน พวกโน้ตบุ๊กที่หนักซัก 1.3 กิโลกรัมนี่ก็อยากจะบอกว่ารู้สึกได้แล้วอ่ะว่าหนัก มันก็เลยเป็นเหตุผลที่เลือกซื้อ ZenBook 13 UX331UAL ให้แฟน และสอยเจ้า ZenBook S UX391UA นี่ให้ตัวผมเองนี่แหละ
ตัวเครื่องเอง เป็นแบบ Clamshell หรือดีไซน์แบบฝาพับที่ปิดแบบหอยนั่นแหละ สามารถกางได้ 145 องศา ด้วยดีไซน์ที่เขาเรียกว่า ErgoLift หรือก็คือ พอกางหน้าจอออกแล้ว ตัวหน้าจอนี่แหละ จะไปยกเอาตัวเครื่องเอียงขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อให้คีย์บอร์ดเอียงทำมุม 5.5 องศา ที่ทำให้รู้สึกพิมพ์สะดวกสบายขึ้น
การที่ฐานตัวเครื่องมันกระดกก้นเอียงขึ้นมาเล็กน้อยเนี่ย นอกจากจะทำให้พิมพ์สะดวกแล้ว การระบายความร้อนก็จะทำได้สะดวกขึ้น เพราะอากาศสามารถไหลเวียนเข้ามาถึงด้านล่างของตัวเครื่องได้ และในขณะเดียวกัน ตอนเอาไปใช้งานแบบวางตัก จุดที่เป็นจุดร้อนของตัวเครื่อง ก็จะไม่ต้องสัมผัสกับหน้าขาของเรา ก็จะไม่รู้สึกร้อนเวลาใช้งานด้วย
รอบๆ ตัวเครื่องเรียบง่ายครับ คงเพราะมันบาง ส่วนหนาที่สุดคือ 12.9 มม. เท่านั้นเอง มันเลยใส่พอร์ตอะไรเข้าไปได้ไม่เยอะ ด้านซ้ายจะมีแค่พอร์ต USB Type-C (USB 3.1 Gen 1) ที่เอาไว้ชาร์จแบตเตอรี่ได้ด้วย แล้วก็มีไฟ LED แสดงสถานะการชาร์จแบตเตอรี่และการทำงานของ SSD ส่วนด้านขวาเป็นพอร์ต Thunderbolt 3 (USB 3.1 Gen 2) อีกสองพอร์ต ซึ่งสามารถใช้ชาร์จแบตเตอรี่ได้ด้วยเช่นกัน … พูดง่ายๆ จะชาร์จแบตให้กับ ASUS ZenBook จะเสียบพอร์ตไหนก็ได้ครับ … ถ้าสังเกตดีๆ ตรงฐานจอด้านขวา จะมีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. อยู่ หมดห่วงว่าจะใช้หูฟังแบบเดิมๆ กับมันไม่ได้ แต่ในความเห็นของผม อยากใช้แบบชิกๆ ก็หาหูฟังแบบบลูทูธมาใช้ดีกว่า

มาพูดถึงแป้นพิมพ์กับทัชแพดกันบ้างครับ แม้ว่าเจ้านี่จะมีขนาดกะทัดรัด แต่การออกแบบปุ่มกดแต่ละปุ่มนี่ เน้นความสะดวกและแม่นยำในการพิมพ์จริงๆ ครับ ผมลองเอามาใช้พิมพ์โน่นนี่นั่น ทำงาน พิมพ์บล็อก อะไรต่อมิอะไรที่ต้องเน้นพิมพ์หนักๆ แล้วเนี่ย รู้สึกได้ว่าพิมพ์ได้สบายมากๆ ไฟส่องใต้คีย์บอร์ด สามารถปรับความสว่างได้สามระดับ ตอนพิมพ์ในที่มืดๆ อย่างเช่น ในห้องนอน หรือระหว่างบินไฟล์ทข้ามทวีป ทำได้สบายๆ

ทัชแพดมีขนาดที่ใหญ่ ใช้งานสะดวก และมี Intelligent palm rejection ที่ป้องกันไม่ให้อุ้งมือของเราไปขยับเคอร์เซอร์เมาส์โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังรองรับ Multi-touch gesture มากถึง 4 นิ้ว ตรงมุมด้านบนขวาของทัชแพดเป็นตัวสแกนลายนิ้วมือ เมื่อใช้ร่วมกับ Windows Hello แล้ว ก็จะสามารถสแกนลายนิ้วมือเพื่อปลดล็อกเครื่องโดยไม่ต้องใส่รหัสผ่านได้

หน้าจอแสดงผล ขนาด 13.3 นิ้ว ไม่เล็ก และไม่ได้ใหญ่อลังการ จอภาพแบบ NanoEdge มีความหนาของขอบจอ 5.9 มม. (ด้านซ้ายและขวา) มีกล้องเว็บแคมความละเอียดระดับ HD (0.9 ล้านพิกเซล) พร้อมไฟ LED แสดงสถานะว่ากล้องเว็บแคมถูกเปิดใช้งานอยู่ และไมโครโฟนแบบสเตริโอ ซ้าย-ขวา
ตัวที่ผมซื้อมาเป็นสีเดียวที่มีวางจำหน่าย คือ Deep dive blue หรือสีน้ำเงินเข้ม ดีไซน์ของเครื่องเป็นโลหะชิ้นเดียว ตรงฝานี่เป็นแบบ Diamond-cut สี Rose gold สวยเลยแหละ ฝาตัวเครื่องเป็นลวดลาย Spun-metal finish แบบ 40-step (ในรีวิวของผมจะไม่เห็นลวดลายนี้ เพราะผมเคลือบฟิล์มหุ้มไปแล้ว) ในแง่ดีไซน์ผมบอกได้เลยว่าชอบมาก ดูหรูหราดี มันคือโน้ตบุ๊กสำหรับคนที่ต้องการความเบาง บาง เรียบหรู จริงๆ
รีวิวเรื่องสเปกและประสบการณ์ใช้งาน ASUS ZenBook S UX391UA
ในประเทศไทย เห็นเขาว่าเอามาขายสามรุ่น แต่เวลาไปค้นหาทีไร เจอขายแต่รุ่นท็อปตลอดอะ แต่จริงๆ แล้ว มันแยกออกมาเป็นสามรุ่น สามราคา แบบนี้ครับ
- i5-8250U / RAM 8GB ราคา 39,990 บาท
- i7-8550U / RAM 8GB ราคา 46,990 บาท
- i7-8550U / RAM 16GB ราคา 49,990 บาท
แต่เนื่องจากผมต้องการแรม 16GB ผมก็มีทางเลือกเดียวคือรุ่นท็อปครับ เพราะบางขนาดนี้ พวกแบตเตอรี่, และแรม (แต่ SSD มันเป็นแบบ PCIe ฉะนั้นน่าจะอัพเกรดเองได้ แต่รุ่นท็อปก็ให้มา 512GB แล้ว ก็นึกไม่ออกว่าจะอัพเกรดอะไรอีก) น่าจะโดนบัดกรีติดมาในเครื่อง ไม่น่าจะสามารถอัพเกรดอะไรได้อีก ฉะนั้น เลือกอันที่ใช่สำหรับเราเลยดีที่สุด ฉะนั้น สเปกเครื่องของผม คือตามนี้ครับ
CPU | Intel® Core™ i7-8550U processor 1.8GHz quad-core with Turbo Boost (up to 4.0GHz) and 8MB cache |
GPU | Integrated Intel® UHD Graphics 620 |
RAM | 16GB 2133MHz LPDDR3 (on-board) |
SSD | 512GB PCIe® SSD |
Display |
|
Ports |
ทุกพอร์ตรองรับการชาร์จแบตเตอรี่ (Fast charge) เชื่อมต่อกับจอแสดงผล และการถ่ายโอนข้อมูล |
Audio |
|
Camera | HD Webcam |
Wireless connectivity |
|
Battery |
|
Dimensions & Weight |
|
ตัว ASUS ZenBook S UX391UA นี่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home เลย ฉะนั้นไม่ต้องไปหาซื้อไลเซ่นส์มาเพิ่ม แต่ถ้าเกิดใครอยากจะใช้ทำงานแบบล็อกอินเข้าโดเมนของบริษัท ต้องไปอัพเกรดเอาเองนะครับ
ในด้านประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลเนี่ย Intel Core i7-8550U ที่สามารถเร่งความเร็วไปได้สูงมากถึง 4.0GHz และชิป Intel UHD Graphics 620 นี่ แรงเหลือเฟือสำหรับการใช้งานเอกสาร ดูหนัง ฟังเพลง แล้วถ้าจำเป็นต้องตัดต่อรูปภาพ ออกแบบกราฟิก หรือแม้แต่ตัดต่อวิดีโอแบบง่ายๆ (แค่ระดับ Full HD ไม่ใช่ระดับ 4K) ก็ยังสามารถพอถูไถไปได้ประมาณนึงครับ
SSD ที่เอามาใช้ด้วยนี่สมกับเป็นรุ่นท็อปจริงๆ ครับ ถือว่าเอาใจใส่ดี และสมควรแล้วที่จะต้องความเร็วขนาดนี้ หากมีพอร์ต Thunderbolt 3 ครับ เพื่อที่จะได้รองรับการถ่ายโอนข้อมูลด้วยความเร็วสูงได้แบบจริงจัง นี่ทำให้นึกถึงการทำงานร่วมกับ QNAP NAS รุ่นที่รองรับ Thunderbolt 3 เลยนะ ดาวน์โหลดไฟล์หนังมาเก็บไว้บนเครื่อง แล้วโยนเข้าไปที่ NAS ผ่านพอร์ต Thunderbolt 3 นี่ แป๊บๆ เสร็จแน่นอน

SSD ที่เร็วขนาดนี้ บวกกับแรม 16GB นี่จะช่วยให้การใช้งานโปรแกรมทำได้รวดเร็วดี ขนาดผมลองเปิด GIMP ที่ปกติแล้วกว่ามันจะโหลดโน่นนี่นั่นเสร็จคือนานมาก เจ้า ZenBook S นี่เปิดแป๊บเดียวติดเลยครับ คือ ไม่ถึงขนาดกดปุ๊บติดปั๊บ แต่มันก็เร็วกว่าไปเปิดบนเครื่องอื่นๆ มากมายแล้ว

ในส่วนของการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมภายนอก ข่าวร้ายคือ เจ้านี่ให้มาแต่พอร์ต USB Type-C ซึ่งปัจจุบันอุปกรณ์ส่วนใหญ่ยังเป็น USB-A กันอยู่ แต่ไม่ต้องห่วง เพราะ ASUS เขาแถม USB-C converter มาให้ มันจะทำให้เราได้พอร์ต USB-A กับ HDMI มาอย่างละพอร์ต และยังสามารถเสียบสายชาร์จแบบ USB-C ได้ เพราะมีพอร์ต USB-C PD (Power Delivery) มาให้ ข่าวดีคือ พอร์ต Thunderbolt 3 ที่ให้มาสองพอร์ต พอร์ตนึงเอาไว้เสียบไอ้ USB-C converter นี่ จะได้มีแบนวิธเหลือๆ สำหรับทั้งต่อจอแสดงผล เสียบอุปกรณ์ USB-A ส่วนอีกพอร์ต เอาไว้เสียบ USB-C to USB-A hub จะได้เพิ่มจำนวนพอร์ต USB-A ที่เป็น USB 3.1 Gen 1 ได้อีกอย่างน้อย 4 พอร์ต แบบที่แบนด์วิธจัดเต็ม 5Gbps ตามสเปก
จะว่าไปแล้ว สิ่งที่ผมต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนมาใช้ ASUS ZenBook S ตัวนี้ก็มีสามเรื่องหลักๆ เมื่อเทียบกับตอนใช้ Microsoft Surface 3 Pro ก็คือ
- หน้าจอมันไม่ใช่หน้าจอสัมผัสแล้ว ถามว่าจริงๆ แล้วได้ใช้บ่อยไหม เมื่อเทียบเวลากับภาพรวมทั้งหมด คำตอบคือไม่ใช่ แต่ว่าการที่สัมผัสหน้าจอได้ มันช่วยอำนวยความสะดวกในหลายๆ เรื่องเลยนะ เช่น ตอนที่จะต้องการดูเว็บแบบชิลล์ๆ ต้องการแตะลิงก์ หรือ เลือกไอคอนบางอย่างแบบเร็วๆ การสัมผัสหน้าจอได้มันสะดวกจริงๆ
- หน้าจอไม่สามารถกางแบบ 180 องศาได้แล้ว ซึ่งบอกตรงๆ ว่า การที่มันกางได้ 180 องศา มันเป็นอะไรที่ผมชอบมาก เวลาที่จะคุยงานกันแบบวงเล็กๆ แล้วอยากจะให้ทั้งวงได้เห็นหน้าจอ กาง 180 องศามันสะดวกอ่ะ แต่เจ้า ZenBook S นี่จะกางได้แค่ 145 องศาเอง
- ด้วยความที่บาง มันเลยตัดพอร์ต USB-A ออกไปหมดเลย และพอร์ตต่อจอแสดงผลภายนอกก็โดนตัดออกไปด้วย สิ่งที่ได้มาคือ USB Type-C 3 พอร์ต โดยพอร์ตนึงเป็น USB 3.1 Gen 1 (พอร์ตซ้ายมือที่มีพอร์ตเดียว) กับอีกสองพอร์ตที่อยู่ขวามือเป็น Thunderbolt 3 (USB 3.1 Gen 2)
อย่างที่บอกไปในตอนต้นครับ คีย์บอร์ดออกแบบมาดี พิมพ์เพลินเลยแหละ ไม่มีปัญหา ทัชแพดก็ใหญ่ใช้งานง่าย และไม่ต้องห่วงว่าอุ้งมือของเราจะไปโดนแล้วเคอร์เซอร์เมาส์ขยับครับ ผมลองแล้ว มันฉลาดพอ แต่ไม่ถึงกับ 100% แต่ก็ใกล้เคียง ส่วน Multigesture แบบ 4 นิ้ว ทำให้เราใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows 10 แบบหลายเดสก์ท็อปได้สะดวกคล้ายๆ กับเครื่อง MacBook เลยครับ การปาดนิ้ว 4 นิ้วพร้อมกันไปทางซ้ายและขวา เป็นการเปลี่ยนเดสก์ท็อป สะดวกมาก

หน้าจอแสดงผลเป็นแบบ Antiglare กันแสงสะท้อน กันได้ดีทีเดียว … จนกระทั่งผมเอาไปติดฟิล์มกันรอย (ซึ่งจริงๆ ไม่จำเป็นหรอกนะ) แล้วเลือกติดแบบใส ผลก็คือ หน้าจอมันไม่สะท้อนแสงครับ ฟิล์มแม่งสะท้อนเต็มๆ (ฮือๆ) หรือจะเอาฟิล์มกันรอยออกดีวะ (ฮา) ถ้าต้องการใช้เพื่อความบันเทิง บอกได้เลยว่าหน้าจอแบบ Antiglare นี่ช่วยได้เยอะ แต่ที่มีปัญหาสำหรับผมกลับไม่ใช่หน้าจอแสดงผลครับ แต่เป็นลำโพง ซึ่งได้การรับรองจาก harman/kardon คือ เสียงดีครับ เสียงดีทีเดียว ไม่เสียชื่อ harman/kardon แต่ลำโพงเสียงเบาเอามากๆ เปิดดัง 100% แล้วก็ยังไม่ได้กระหึ่มเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับพื้นผิวที่เราจะวางตัวเครื่องด้วย ถ้าพื้นผิวแข็ง และสะท้อนเสียงได้ดี ก็จะได้เสียงที่ดังขึ้นมาหน่อย แต่ถ้ามาเจอพื้นผิวที่ดูดซับเสียง เช่น วงบนตักมีเสื้อผ้าหนาๆ อะไรแบบนี้ เสียงก็จะอู้อี้ลงไปเลย
แบตเตอรี่… ASUS โม้เอาไว้ว่าอยู่ได้นาน 13.5 ชั่วโมง แต่นั่นคือภายใต้สภาพแวดล้อมของการทดสอบ ซึ่งได้แก่ ใช้รุ่น Intel® Core™ i5-8250U, 8GB RAM, Full HD display, 256GB SATA SSD โดยเปิด WiFi ไว้ ปรับความสว่างหน้าจอไปที่ 71% แล้วทดสอบด้วย MobileMark® 2014 Office Productivity scenario แต่จากที่ผมลองใช้งานจริงๆ ต่อ WiFi เข้าเน็ต พิมพ์บล็อก ทำงานเอกสาร ฯลฯ แบตเตอรี่จะอยู่ได้ราวๆ 6 ชั่วโมง หรือเกือบๆ 7 ชั่วโมงในบางที ไม่ขอเรียกว่าอยู่รอดได้ทั้งวัน (แอบเสียวไปนิด) แต่ก็เพียงพอสำหรับการพกไปทำงานนอกสถานที่ซักครึ่งวันแบบไม่มีปลั๊กให้ชาร์จแบตเตอรี่ครับ
และด้วยความที่มันรองรับ Fast charge พอมีโอกาสได้ชาร์จแบตเตอรี่ ก็จะสามารถชาร์จกลับมาให้มีแบตเตอรี่มากพอใช้งานต่อเนื่องได้อีกยาวๆ ในเวลาไม่นานมาก ซึ่ง ASUS บอกว่าสามารถชาร์จแบตเตอรี่จาก 0%-60% ได้ภายใน 49 นาทีครับ ยังไม่ได้ลองถึงขนาดนั้น เพราะปกติจะใช้งานอยู่สองลักษณะ คือ ใช้ต่อเนื่องยาวๆ แล้วมาเสียบแบตเตอรี่ทีเดียวตอนจบ กับเสียบปลั๊กค้างเอาไว้เลยน่ะ

ผมยังไม่ได้ลองใช้แบบยาวๆ นานๆ หลายๆ ปี เลยไม่รู้ว่าอายุแบตเตอรี่นี่ได้ขนาดไหน แต่ระหว่างการใช้งาน ก็อยากแนะนำให้ใช้โปรแกรม ASUS Battery Health Charging นี่ในการปรับตั้งค่าการ Charge และ Discharge แบตเตอรี่ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งาน ณ ขณะนั้น เช่น ถ้าเกิดใช้แบบไม่เสียบปลั๊ก ก็ตั้งเป็น Full Capacity Mode ไปเลย แต่ถ้าเสียบปลั๊กใช้งานค้าง ก็ตั้งเป็น Balance mode หรือ Maximum lifespan mode ไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ให้คิดเผื่อด้วยว่าเราจะต้องถอดปลั๊กเอาออกไปใช้งานนานแค่ไหนด้วย เพราะใน Balance mode หรือ Maximum lifespan mode นี่มันจะคุมการ Discharge ไว้ให้ระดับแบตเตอรี่ไม่เต็มครับ
เท่าที่ลองใช้งานมา ไม่ชอบ ASUS ZenBook S UX391UA ตรงไหน?
นี่เป็นคำถามที่ดี และอยากตอบในฐานะคนใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กส่วนตัวจริงๆ ผมขอเรียบเรียงเป็นข้อๆ แบบนี้ก็แล้วกัน
- ลำโพงเสียงดังน้อยไป เมื่อเทียบกับหลายๆ ยี่ห้อที่ผมเคยใช้ก่อนหน้า การวางตำแหน่งลำโพงอยู่ด้านหน้ามันก็ดี แต่มันเหมือนว่าตั้งใจให้วางตัวเครื่องบนพื้นผิวที่แข็งซะมากกว่าเอาไว้ทำงานแบบวางบนตัก เลยทำให้ลำโพงเสียงไม่ดังมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาวางบนตัก … ไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก อย่างที่บอก หาหูฟังมาเสียบได้ แต่ก็ยังมีหลายกรณีที่ผมก็จำเป็นต้องเปิดเสียงจากลำโพงอยู่ดี ผมเลยอยากให้เสียงมันดังอีกนิด
- เหมือนกับตอนที่ผมรีวิว ASUS ZenBook 13 UX331UAL ครับ คือมันมีการติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสของ McAfee มาให้เลย แต่เป็นเวอร์ชันทดลองใช้งาน 30 วัน ซึ่งถ้าจะใช้ต่อก็ต้องจ่ายค่าไลเซ่นส์ไปฮะ คือ ถ้ามันฟรี 1 ปีผมจะไม่ว่าเลย ถือว่าเป็นความเอาใจใส่ต่อลูกค้า แต่แบบ ทดลองใช้ 30 วันนี่มันโฆษณาให้กับแบรนด์ชัดๆ อ่ะ แบบนี้เอามาแล้วก็ต้องมาวุ่นวายกับการถอนการติดตั้งอีก

- ตำแหน่งปุ่ม Home/End/PgUp/PgDn ที่เอาไปวางไว้ด้านบน แทนที่จะเป็นซ้อนอยู่ตรงปุ่มลูกศร แล้วใช้การกด Fn เอา คือจะว่ามันดีตรงที่ไม่ต้องกดปุ่ม Fn ก็สามารถกด Home/End/PgUp/PgDn ได้ แต่เวลาพิมพ์จริงๆ อยากบอกว่ามันไม่ถนัดเท่าการกดปุ่ม Fn ควบคู่กับปุ่มลูกศร (อันนี้ความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ)
- ซองใส่โน้ตบุ๊ก มันออกแบบมาให้ใส่แต่โน๊ตบุ๊กจริงๆ อย่างน้อยออกแบบให้ใส่ USB-C converter ที่แถมมาด้วยเซ่
แล้วเท่าที่ลองใช้มา ชอบ ASUS ZenBook S UX391UA ตรงไหนบ้าง?
- SSD ที่ความเร็วสูง ดีงามมาก โดยเฉพาะถ้าเกิดเราทำงานกับไฟล์ขนาดใหญ่ๆ ต้องถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมากๆ โดยที่เรามี External SSD ที่รองรับ USB 3.1 Gen 2 อยู่ มันโอนงานเร็วปรี๊ดมาก
- ดีไซน์แบบ ErgoLift ที่ยกตัวเครื่องไป 5.5 องศา พิมพ์ถนัดมือขึ้นยังไม่พอ เอามาวางบนตักเราไม่รู้สึกตัวเครื่องร้อนด้วยซ้ำ คือ แม้ว่า ASUS จะบอกว่าความร้อนที่เกิดขึ้นมาน้อยกว่ารุ่นก่อน 5 องศา และเท่าที่ผมลอง มันก็ไม่ได้ร้อนมากมายอะไร แต่เวลาที่ใช้งานไป ชาร์จแบตเตอรี่ไป มันอุ่นตักได้ประมาณนึงเลยนะ การที่ตัวเครื่องส่วนนั้นมันเอียงลอยขึ้น มันทำให้ตักเราไม่ต้องไปสัมผัสกับพื้นผิวอุ่นๆ ร้อนๆ นี้
- จอแสดงผลของ ASUS ZenBook S UX391UA นี่อาจจะไม่ดีเลิศเท่า Dell XPS 13 (2018) แต่ผมก็มองว่ามันโอเคทีเดียว ASUS บอกว่าเขาใช้ ASUS Eye Care technology ในการลดแสงสีฟ้าลงไป 30% เพื่อให้สบายตาขึ้น
- น้ำหนักเบาดีงามมาก อะแดปเตอร์แม้จะมีขนาดไม่เล็ก แต่ก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก พกพาสะดวก โดยเฉพาะเวลาที่จะต้องพกพาไปข้างนอก แล้วมั่นใจว่าแบตเตอรี่เอาอยู่ ไม่ต้องพกพาที่ชาร์จไปนี่คือดีงาม
บทสรุปการรีวิว ASUS ZenBook S UX391UA
จะหาว่าผมอวยเพราะเสียตังค์ซื้อมาตั้งครึ่งแสน จะด่าว่าแย่ก็เสียดายเงิน แบบนี้ก็ได้ แต่จากที่ผมได้ลองใช้งาน ก็ต้องบอกเลยว่า ในภาพรวมผมประทับใจกับดีไซน์ที่สวยงาม ความบางและเบา ที่แบบว่าพกพาไปไหนมาไหนสะดวกมากๆ ถือไปกางทำงานในร้านกาแฟเก๋ๆ ได้เลย ด้วยแรมที่ให้มาเหลือเฟือ 16GB และ SSD ประสิทธิภาพสูง ความเร็วในการอ่านเกิน 3GB/s แบบนี้ เปิดโปรแกรมอะไรก็เร็วปรี๊ดปร๊าดมาก
สนนราคา 49,990 บาท (หรือถ้าเกิดหาได้ที่ 44,900 บาทแบบผม) ถือว่าคุ้มค่ากับดีไซน์และประสิทธิภาพที่ได้ แต่ที่จะทำให้หงุดหงิดใจ ก็อาจจะเป็นเรื่องการที่มันหาซื้อยากนี่แหละมั้งครับ