แฟนผมมองหาโน้ตบุ๊กตัวใหม่มาแทนของเก่าที่ผมซื้อให้เมื่อหลายปีก่อน เพราะแบตเตอรี่มันเสื่อมแล้ว และโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นแบบบางเบามันก็ไม่สามารถซื้อแบตเตอรี่มาเปลี่ยนใหม่ได้เองแล้วอะ และสุดท้ายรุ่นที่เข้ารอบก็คือ ASUS ZenBook 13 UX331UAL ที่ผมกำลังจะรีวิวให้อ่านนี่ ด้วยสเปก Intel Core i5-8250U มาพร้อมกับแรม 8GB และความจุ 256GB โดยมีน้ำหนักเบาแค่ 985 กรัม ในสนนราคา 29,900 บาทเท่านั้น ทำให้มันตอบโจทย์แฟนผมทั้งในแง่ของน้ำหนักเบา สเปกดีสำหรับการใช้งาน และสนนราคาต่ำกว่า 3 หมื่นบาท
แกะกล่อง ASUS ZenBook UX331UAL
เปิดกล่องออกมา สิ่งที่อยู่ในกล่องก็มีตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook UX331UAL นี่ แล้วก็มีอะแด็ปเตอร์สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหัวปลั๊กแบบแบน (US Plug) โดยหัวที่ใช้เสียบกับโน้ตบุ๊กเป็นแบบหัวกลม ซึ่งดูเชยๆ หากเทียบกับหัวเสียบของ MacBook Pro หรือ Microsoft Surface Pro นอกจากนี้ในกล่องก็มีอะแด็ปเตอร์แปลงจาก USB Type C เป็น RJ-45 หรือพอร์ตแลนนั่นเอง
ตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook UX331UAL นั้นเป็นแบบ Clam shell สามารถกางหน้าจอได้กว้างสุด 145 องศา ซึ่งมากเพียงพอสำหรับนำไปใช้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการวางบนโต๊ะทำงานหรือวางบนตัก หน้าจอมีขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด Full HD 1920×1080 พิกเซล ไม่ใช่จอสัมผัส แต่มีขอบจอภาพค่อนข้างบางทีเดียว ASUS เขาเรียกว่า NanoEdge แต่ถ้าถามความเห็นผม มันบางจริง แต่มียี่ห้อที่บางกว่านี้ ฉะนั้นชื่อ NanoEdge นี่ เวอร์วังเกินจริงไปหน่อย
วัสดุที่ใช้ทำตัวเครื่อง ASUS เขาว่าคือแมกนีเซียมอัลลอย ที่มีความทนทาน และแข็งแรง มีน้ำหนักเบากว่าอลูมิเนียมอัลลอย เลยทำให้เจ้านี่มีน้ำหนักแค่ 985 กรัมเท่านั้นเอง และความหนาของตัวเครื่อง จุดที่หนาสุดก็แค่ 13.9 มม. แต่ยังมีพอร์ตการเชื่อมต่อให้ค่อนข้างครบเครื่องดังนี้
- HDMI เอาไว้เชื่อมต่อกับจอแสดงผลภายนอก
- พอร์ต USB 3.1 Gen 1 ให้มาสองพอร์ต
- พอร์ต USB Type C (3.1 Gen 1) ให้มาอีกพอร์ตนึง
- ช่องเสียบหูฟังและไมโครโฟน 5 มม.
- สล็อต MicroSD card (ซึ่งก็แอบแปลกใจว่าทำไมไม่ให้มาเป็นสล็อต SD card)
ตัวเครื่องมีไฟ LED แสดงสถานะทั้งการชาร์จแบตเตอรี่และการเปิดใช้งานเครื่อง โดยแยก LED คนละดวงกัน
ตัวแป้นพิมพ์มีขนาดใหญ่การจัดเรียงปุ่มเรียกว่าเกือบจะเป็นมาตรฐานทั้งหมด ปุ่มที่ใช้งานไม่บ่อยก็ถูกรวมไปอยู่กับปุ่มอื่นๆ แล้วให้เราเลือกใช้โดยการกดปุ่ม Fn ควบคู่ไปด้วย ก็เรียกว่าพิมพ์สะดวกดี มีไฟส่งสว่างใต้แป้นพิมพ์ปรับได้ 3 ระดับ
Touchpad มีขนาดใหญ่มาก แต่ก็มีระบบป้องกันเคอร์เซอร์ของเมาส์เลื่อน เวลาที่อุ้งมือเผลอไปโดนเวลาพิมพ์ ซึ้งอาจจะไม่ได้ป้องกันได้ 100% แต่ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพโอเคทีเดียว และก็มีตัวสแกนลายนิ้วมือ เอาไว้สำหรับใช้ล็อกอินเข้าเครื่องด้วยลายนิ้วมือ ซึ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างมากมาย
ASUS ZenBook 13 UX331UAL มีให้เลือกสองสี คือ Deep Dive Blue (ตัวที่แฟนผมซื้อมา และผมเอามารีวิวนี่) กับ Rose Gold Limited Edition แต่ก็อย่างที่เห็น มันลิมิตเต็ดอิดิชันไง เลยไม่มีสี Rose Gold ให้หาซื้อง่ายๆ ทั้งๆ ที่มีดูน่าจะสวย แอบเสียดาย
ประสบการณ์ใช้งาน ASUS ZenBook 13 UX331UAL
ในแง่การถือไปไหนมาไหนเพื่อใช้งาน มันดีงามมาก มันบาง 13.9 มม. ไม่ทำให้กระเป๋าตุง อะแด็ปเตอร์ก็มีขนาดเล็ก กะทัดรัด พกพาสะดวก (แต่ข้อเสียคือ เวลาชาร์จแบตเตอรี่แล้วแอบร้อน) น้ำหนักแค่ 985 กรัมนี่ขอย้ำบ่อยๆ เพราะมันคือปัจจัยหลักที่แฟนผมเลือกซื้อโน้ตบุ๊กตัวนี้เลยครับ ใส่ไปในเป้แล้วชิลมากๆ (กรุณาอย่าเอาไปเทียบกับ iPad Pro)
ด้วยสเปกของตัวหน่วยประมวลผล Intel Core i5-8250U และหน่วยความจำ 8GB ก็ต้องตอบว่าสเปกดีพอสำหรับการใช้งานทั่วไป ไม่ว่าจะท่องเว็บ ทำงานเอกสาร ดูหนัง ฟังเพลง รวมถึงการตกแต่งกราฟิกและตัดต่อวิดีโอแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนด้วย

ประสิทธิภาพของ SSD ที่ใช้บน ASUS ZenBook 13 UX331UAL ตัวนี้มีประสิทธิภาพกลางๆ ครับ ลองทดสอบด้วย Crystal Disk Mark 6.02 แล้ว ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential อยู่ที่ เขียน 556.6MB/s และอ่าน 261.6MB/s ก็ความเร็วประมาณ SSD ที่ใช้กับ Microsoft Surface Pro 3 หรือพวก SSD อย่าง WD Blue SSD ครับ มันไม่ได้ความเร็วจี๊ดจ๊าด แต่ถ้าเทียบกับฮาร์ดดิสก์แล้ว มันก็เร็วกว่าพอสมควรอยู่ดี การบูตเครื่องติดภายในเวลาไม่นานเลย
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก SSD ที่ใช้ ไม่ใช่ระดับดีเลิศมาก ฉะนั้นประสิทธิภาพการใช้งานของเจ้า ASUS ZenBook 13 UX331UAL ตัวนี้ จึงถูกจำกัดไว้ที่ความเร็วของ SSD มากกว่าที่ประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลหรือหน่วยความจำล่ะครับ ในความเห็นของผม
ตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ นี่สิ่งนึงที่ผมทดลองก่อนเลยก็คือความเร็วในการตื่นจากโหมด Sleep ครับ เพราะมันคือสิ่งที่จะทำให้เราใช้งานโน้ตบุ๊กได้ใกล้เคียงกับแท็บเล็ตเลย เพราะไม่ใช้ก็ไม่ต้องปิดเครื่อง และจะใช้เมื่อไหร่ก็ค่อยเปิดหน้าจอก็พร้อมใช้งานได้เลย
Touchpad ใหญ่นี่ดีงามจริงๆ นั่นแหละครับ ผิวสัมผัสลื่นดีงามมาก ใช้ควบคุมเคอร์เซอร์เมาส์ได้ดีทีเดียว และแม้ว่าอุ้งมือจะเผลอไปโดนบ้างอะไรบ้าง ก็จะไม่ไปเคลื่อนเคอร์เซอร์เมาส์โดยพละการง่ายๆ และมันยังรองรับ Multitouch อีก ฉะนั้นฟีเจอร์ต่างๆ ของระบบปฏิบัติการ Windows 10 (ที่ติดตั้งมาให้ด้วยคือ Windows 10 Home 64-bit) ก็เลยใช้ได้ครบเลย ข้อเสียก็คือ มันลื่นไปนะผมว่า ผมหมายถึง ตัว Touchpad มัน Sensitive ไปหน่อย ทำให้เลื่อนเคอร์เซอร์เร็วไป (ไปปรับแก้ได้ใน Settings ของ Windows) และบางครั้ง การใช้สองนิ้วแตะลาก มันดันมองเป็นการ Pinch zoom ไปซะงั้นก็มี อันนี้ผมว่า ASUS ต้องปรับปรุง
ASUS จัดซอฟต์แวร์มาให้ซะหลายตัวเลย เช่น เกมหลายเกม (ซึ่งแอบเกะกะ และแนะนำให้ถอนการติดตั้งออกเหอะ เปลืองเนื้อที่) และก็มีแอปลงมาให้หลายตัวเลย ซึ่งถ้าถามผม ที่เป็นประโยชน์ในการใช้งานหลักๆ ก็จะมีสองตัวคือ Quick Fan ที่เอาไว้เปลี่ยนโหมดการทำงานของพัดลมระหว่างทำงานเต็มประสิทธิภาพ (เสียงจะดังหน่อย) กับทำงานแบบเงียบเชียบ กับ ASUS Battery Health Charging ที่เอาไว้เปลี่ยนโหมดการชาร์จแบตเตอรี่ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งเลือกได้ 3 โหมด คือ
- Full capacity mode เอาไว้ใช้ตอนทำงานแบบไม่เสียบปลั๊กจะดีที่สุด แต่หากเสียบปลั๊กอยู่มันก็จะชาร์จแบตตลอดเวลาเพื่อพยายามรักษาแบตเตอรี่ให้เต็ม 100% ซึ่งจะทำให้อายุแบตเตอรี่สั้นลง
- Balance mode ใช้ตอนที่จะทำงานไปเสียบปลั๊กไปนั่นแหละครับ โน้ตบุ๊กจะพยายามรักษาแบตเตอรี่ให้อยู่ที่ 80% ซึ่งทำให้เราพร้อมทำงานต่อแม้จะต้องถอดปลั๊กออกก็ยังมีแบตเตอรี่เหลือ และในขณะเดียวกันก็ช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ด้วย
- Maximum lifespan mode เหมาะสำหรับคนที่ใช้งานแบบเสียบปลั๊กตลอดเวลาบ่อยๆ โหมดนี้จะรักษาระดับแบตเตอรี่ไว้ที่ 60% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะที่สุดสำหรับการยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่

ที่เหลือก็แค่เลือกใช้โหมดให้เหมาะสมกับการใช้งานละครับ
นอกจากนี้ ASUS ก็มีของแถมมาให้ ได้แก่ Dropbox 25GB และ McAfee LifeSafe แบบเดโมให้ 30 วัน

ครับ ถ้าใครใช้ Dropbox อยู่ก็เท่ากับได้เนื้อที่เพิ่มล่ะ มีประโยชน์ครับ แต่สำหรับ McAfee LifeSafe นี่ผมตอบยากแฮะ เพราะโดยส่วนตัวผม ผมว่า Windows Defender ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows ก็โอเคแล้ว ขนาดคนขายที่ร้านที่ขายเจ้าโน้ตบุ๊กตัวนี้ให้แฟนผมยังบอกเลยว่าถอดมันออกเหอะ ประหยัดเนื้อที่ ประหยัดทรัพยากรเครื่อง (ฮา) แถมมันน่ารำคาญด้วย เพราะมันชอบเด้งเตือนเป็นระยะๆ ซึ่งอยากบอกตรงๆ ว่า ถ้าไม่แถมไลไซ่ส์ให้ 1 ปี อย่ามาบอกว่าเป็นการแถมเลยครับ มันแค่ทดลองใช้ 30 วัน จากนั้นก็จะพยายามขายมากกว่าเหอะ

ในแง่ของการใช้งานด้านความบันเทิง เจ้านี่มาพร้อมกับลำโพง Harman Kardon กันเลยทีเดียว ตัวลำโพงถูกติดตั้งอยู่ที่ด้านล่างของตัวเครื่อง ด้านซ้ายและขวา ค่อนมาทางด้านหน้าของเครื่อง โดยมีเสียงที่ดังพอสมควร
พูดถึงเรื่องการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ เจ้า ASUS ZenBook 13 UX331UAL ตัวนี้ค่อนข้างเพียงพอครับ เพราะแม้ตัวเครื่องจะบางแต่ก็มีพอร์ต USB-A มาให้สองพอร์ต จะต่อเมาส์ ต่อพริ้นเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ก็สบายๆ และสามารถเพิ่มเติมได้อีกด้วย USB-C อีกพอร์ตนึง เพียงแต่การต่อออกจอแสดงผลภายนอก ทำได้ผ่านพอร์ต HDMI เท่านั้นเอง ซึ่งต้องหาซื้อตัวแปลงมาต่างหากครับ เพราะ ASUS ให้มาแค่อะแด็ปเตอร์แปลง USB-C เป็น RJ-45
จุดเด่นของ ASUS ZenBook 13 UX331UAL ไม่ได้อยู่ที่สเปกแรงสุดติ่งครับ แต่อยู่ที่การจัดมาให้แบบพอดิบพอดีต่อการใช้งานทั่วไป แล้วเน้นไปที่การออกแบบให้บางเบา พกพาสะดวก เพราะยุคนี้โน้ตบุ๊กหนักแค่ 1.4 กิโลกรัมหลายๆ คนก็อาจจะบ่นว่าหนักแล้ว (ฮา) และที่ ASUS ยังสามารถทำราคาได้ระดับ 29,900 บาท แม้จะใส่สเปกมาประมาณนี้และบางเบาขนาดนี้ ก็เพราะตัดเอาหน้าจอแบบสัมผัสออกไปด้วยนี่แหละ
การตัดจอสัมผัสออกไปนั้น บอกตรงๆ ว่าไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการใช้งานมากนักครับ นี่บอกในฐานะคนใช้ Microsoft Surface Pro 3 เลย เพราะการใช้งาน Windows ส่วนใหญ่นั้นจะใช้คีย์บอร์ดและเมาส์สะดวกกว่าอยู่แล้ว จอสัมผัสมันช่วยอำนวยความสะดวกให้เราในบางกรณีเท่านั้นแหละครับ เช่น ตอนจะท่องเว็บ หรือตอนจะอ่านข้อมูลแบบเร็วๆ เป็นหลัก การที่ตัดจอสัมผัสออกไป ไม่ได้ทำให้การใช้งานลำบากขึ้นแต่อย่างใด
ในส่วนของแบตเตอรี่ แม้จะได้ลองใช้ไปถึงสัปดาห์แล้ว แต่ผมก็ยังไม่ได้ลองจริงจังระดับว่าใช้ยาวๆ จนแบตเตอรี่หมดนะ แต่ลองใช้งานทำเอกสาร ท่องเว็บบ้างผ่าน WiFi และอื่นๆ ผ่านไป 4 ชั่วโมง แบตเตอรี่เหลือเกินครึ่งครับ ฉะนั้นคิดว่า เอาตัวรอด 8 ชั่วโมงสำหรับการทำงานได้สบายๆ และระหว่างการใช้งาน ตัวเครื่องก็ไม่ได้ร้อนมากมายแต่อย่างใด
บทสรุปการรีวิว ASUS ZenBook 13 UX331UAL
สเปกระดับนี้ ถ้าไม่ติดเรื่องตัวเครื่องหนา หนัก บอกเลยว่า ASUS ZenBook 13 UX331UAL ถือว่าแพงกว่าที่ควรจะเป็น (ในแง่ของสเปก) ไปหน่อย แต่ถ้าน้ำหนักตัวเครื่อง และความสะดวกในการพกพา คือปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อโน้ตบุ๊กใช้งานของคุณ และจอสัมผัส หรือการแปลงร่าง 2-in-1 ไม่ได้สำคัญเลยละก็ ASUS ZenBook 13 UX331UAL นี่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีได้ครับ และนี่คือเหตุผลที่ผมกับแฟนเลือกสอย ASUS ZenBook 13 UX331UAL มาใช้งาน