ถ้าถามผมว่าแบรนด์ไหนดีไซน์สมาร์ทโฟน และยัดสเปกสมาร์ทโฟนได้ตรงใจสาวๆ บ้าง OPPO คือหนึ่งในแบรนด์ที่ผมจะนึกถึงล่ะ อย่างน้อยๆ เหล่าผู้ติดตามทาง Twitter ของผม ที่ประกอบไปด้วยสาวๆ ทั้งที่ยังวัยรุ่นอยู่และที่พ้นวัยรุ่นมาได้พักนึงแล้ว เขาก็มองๆ OPPO F9 ที่เป็นรุ่นล่าสุดในตระกูล F ซึ่งโดดเด่นทั้งดีไซน์ฝาหลังลายสะท้อนแสง และจอแสดงผลแบบเต็มจอ มีติ่งเป็นหยดน้ำเล็กๆ อันเดียว เป็นทางเลือกสำหรับสมาร์ทโฟนราคากลางๆ ตัวต่อไปของเขาเลยล่ะ
OPPO F9 ตัวที่ผมได้มาลองเป็นสี Starry purple ที่สาวๆ หลายคนน่าจะชอบ เพราะมันเป็นสีม่วงไล่ระดับ และเหมือนมีประกายเพชรกระจายอยู่เต็มด้านหลัง สวยมากทีเดียว นี่คงเป็นสมาร์ทโฟนตัวแรกๆ ที่ผมอยากจะเริ่มรีวิวจากด้านหลังก่อน (ฮา) นอกจากดีไซน์สีสันที่สวยงามแล้ว ด้านหลังมันก็มีกล้องดิจิทัลคู่ตามสมัยนิยม ตัวหลักความละเอียด 16 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง F1.8 ส่วนตัวรองเป็นความละเอียด 2 ล้านพิกเซล รูรับแสง F2.4 ทำหน้าที่เป็นแค่ Depth sensor หรือเซ็นเซอร์วัดระยะลึกเท่านั้น แล้วก็มี Dual-tone flash มาให้ กับตัวสแกนลายนิ้วมือ
ถ้าปิด Navigation keys แล้วเปิดใช้ Smart gestures แทน ก็จะให้ความรู้สึกเหมือนใช้งาน iPhone X ได้อยู่ ซึ่งผมว่าสะดวกกว่า Navigation keys มาก
ดีไซน์กล้องหน้าแบบหยดน้ำ ติ่งเล็กมาก ภาพเลยเต็มหน้าจอมากขึ้น
ส่วนด้านหน้า เป็นหน้าจอแสดงผลแบบ IPS LCD ขนาดจอแสดงผล 6.3 นิ้ว ความละเอียด 2340×1080 พิกเซล สัดส่วนการแสดงผล 19.5:9 ตามสมัยนิยมเช่นกัน กินเนื้อที่แทบจะเรียกว่าเต็มหน้าจอ กล้องดิจิทัลด้านหน้าความละเอียด 24 ล้านพิกเซล F2.0 เป็นเลนส์มุมกว้างระยะโฟกัส 26 มม. อยู่ในติ่งรูปหยดน้ำบนหน้าจอ ซึ่งนี่ทำให้จอแสดงผลมันค่อนข้างเต็มหน้าเครื่องแบบจริงจัง
ด้านหลัง OPPO F9 สี Starry purple สวยงามมาก โดยเฉพาะเมื่อดูสะท้อนกับแสงแดด
กล้องคู่ด้านหลัง และตัวสแกนลายนิ้วมือ
ไม่เข้าใจว่าทำไม OPPO ยังเลือกใช้พอร์ต Micro USB 2.0 อยู่ กับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ แบบนี้
รอบๆ ตัวเครื่องที่เหลือก็เป็นปุ่ม Volume +/- และถาดใส่ซิมกับ MicroSD card อยู่ตรงด้านซ้ายมือ ปุ่ม Power อยู่ตรงขวามือ ด้านบนมีแค่รูไมโครโฟนสำหรับตอนถ่ายวิดีโอ แล้วก็ทำ Active noise cancellation ส่วนด้านล่างนี่ยังมีรูไมโครโฟนกับรูหูฟัง 3.5 มม. พอร์ต Micro USB สำหรับเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์และชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งรองรับ VOOC Flash charge ด้วย แล้วก็มีลำโพงของตัวเครื่องด้วย … ณ จุดนี้ ยังแอบเคืองอยู่เลยว่า รุ่นใหม่ขนาดนี้แล้วทำไมยังใช้พอร์ต Micro USB อยู่(วะ)
ในส่วนของสเปกทั่วไป เจ้านี่มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล MediaTek MT6771 Helio P60 ที่ผลิตด้วยสถาปัตยกรรมระดับ 12 นาโนเมตร Octa-core (4×2.0GHz Cortex-A73 และ 4×2.0GHz Cortex-A53) กับ GPU เป็น Mali-G72MP3 ซึ่งนับว่าเป็นหน่วยประมวลผลสำหรับตลาดระดับกลางที่ทาง MediaTek เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งได้เพิ่มหน่วยประมวลผลในส่วนของ AI เข้าไป (ตามสมัยนิยมอีกเช่นกัน)
แต่แม้ว่าจะเป็นสเปกระดับกลาง แต่มันก็มาพร้อมแรม 6GB กับความจุ 64GB ซึ่งมาเพียงพอสำหรับการใช้งานแล้ว นอกจากนี้ก็อย่างที่เห็นว่าดีไซน์ของถาดใส่ซิมมันดีมากพอที่จะทำให้เราใส่ซิม 2 ซิมได้พร้อมๆ กับ MicroSD card ซึ่งสามารถใส่ได้สูงสุด 256GB
ในส่วนของการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ก็รองรับ 4G ได้ครบทุกย่านในประเทศไทย ไม่ว่าจะ 900MHz, 1800MHz, 2100MHz หรือแม้แต่ 2300MHz ด้วย ส่วน WiFi ก็รองรับ 802.11a/b/g/n/ac เลยทีเดียว เรียกว่ารองรับเทคโนโลยีใหม่ครบครันอยู่
User Interface ของ ColorOS 5.2
User Interface ของ ColorOS 5.2
OPPO F9 มาพร้อมกับ ColorOS 5.2 ที่อยู่บนพื้นฐานของ Android 8.1 Oreo ซึ่งแน่นอนว่ามีการเพิ่มฟีเจอร์บางอย่างเข้าไปเอง เช่น Phone Manager ที่ให้เรากำจัดพวกไฟล์ขยะบนเครื่อง ตั้งค่า App permissions หรือสแกนไวรัสก็ได้, เวลาจะกรอกรหัสผ่าน ก็เลือกเปิดใช้ Secured keyboard (เป็นประโยชน์มากสำหรับกรณีที่ผู้ใช้งานบางคนชอบใช้คีย์บอร์ดจากผู้พัฒนาทั่วไป ที่อาจไว้ใจไม่ได้ว่าจะมีการดักทำ Key logger (ดักดูว่ากดปุ่มอะไรบ้าง) เอาไว้หรือเปล่า ดังนั้นอย่างน้อยๆ เวลากรอกรหัสผ่าน ก็ทำผ่าน Secure keyboard ซะก็วางใจได้มากขึ้น อะไรแบบนี้

ในการปลดล็อกหน้าจอ OPPO F9 ก็มาตามสมัยนิยม คือ สามารถทำได้ทั้งการสแกนลายนิ้วมือหรือสแกนใบหน้า ซึ่งทำได้ค่อนข้างรวดเร็วดี และแม้ว่าดีไซน์กล้องหน้าแบบติ่งรูปหยดน้ำจะทำให้ไม่สามารถใส่เซ็นเซอร์อินฟราเรดเข้าไปได้ แต่ซอฟต์แวร์ก็มีการใช้แสงสว่างจากหน้าจอมือถือนี่แหละ ช่วยส่งหน้าเราให้สว่างพอที่จะสแกนได้ เวลาสแกนในที่ที่สภาพแสงน้อย และต้องบอกตรงๆ ว่า ค่อนข้างทำงานได้เร็วดีอยู่ครับ

ใครที่ยังคุ้นชินกับปุ่มสามปุ่มแบบเก่าของ Android นั่นคือค่าเริ่มต้นที่ OPPO ตั้งมาให้ ซึ่งผมคิดว่าตัดสินใจได้ถูก แต่ถ้าใครไม่อยากให้ปุ่มมาเกะกะ จงไปที่ Settings > Smart & Convenient > Navigation Keys แล้วเลือกใช้ Gestures แทน มันจะได้ใช้การปาดนิ้วสั่งงานต่างๆ ได้เหมือนๆ กับ iPhone X หรือ iPhone Xs กันเลย ซึ่งจากที่ผมลองใช้มาทั้งบน OnePlus 6, Vivo X21, OPPO F7 และล่าสุดนี่ OPPO F9 มันสะดวกเอามากๆ ครับ เรียกว่าเคยตัวเลยทีเดียว

User Interface ของ OPPO F9 แม้ว่าจะมีความเป็น Android อยู่พอสมควร แต่ในหลายๆ อย่าง ก็หยิบสิ่งดีๆ มาจาก iOS ด้วยเช่นกัน ก็ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ยี่ห้อนึงที่ให้ประสบการณ์ในการใช้งานแอปต่างๆ คล้ายๆ กับ iOS ครับ
ความสามารถอื่นๆ ที่ OPPO F9 มีให้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานทั่วๆ ไป ในการใช้งานต่างๆ ก็เช่น
- OPPO Cloud เอาไว้แบ็กอัพพวกรูปภาพ, ที่อยู่ติดต่อ, SMS และอื่นๆ
- Clone Apps เอาไว้สร้างสำเนาของแอปจำพวก Social media ที่บางคนชอบใช้หลายๆ Account พร้อมๆ กัน เช่น Facebook, Facebook Messenger, LINE อะไรแบบนี้
- Game Space เป็นฟีเจอร์ที่ช่วยให้การเล่นเกมทำได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าอัตโนมัติเพื่อให้เหมาะกับการเล่นเกม การจำกัดการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตของแอปอื่นๆ แล้วให้แน่ใจว่าเกมที่เล่นอยู่จะถูกจัดลำดับความสำคัญสูงกว่าแอปอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ลองเอา OPPO F9 มาดูหนังฟังเพลงดู ลำโพงตัวเครื่องของ OPPO F9 คือเสียงดังดีประมาณนึง แต่ว่าค่อนข้างจะเน้นไปที่เสียงกลางกับเสียงสูงไปนิดนึง เปิดดังๆ แล้วเจอจังหวะเสียงสูงเยอะๆ นี่คือ แสบแก้วหูทีเดียว ไม่แนะนำให้เปิดดังเต็มสตรีมฮะ ส่วนเสียงย่านต่ำนั้น
สำหรับใครที่สนใจเรื่องการเล่นเกม เดี๋ยวนี้เขาไม่ห่วงกันเรื่องเล่นเกมไม่ได้ แต่เขาห่วงกันเรื่องเล่นเกมอย่าง ROV หรือ PUBG แล้ว เฟรมเรตมันจะต่ำ กราฟิกจะเล่นแบบความละเอียดสูงไม่ได้ อะไรแบบนี้ ซึ่งก็บอกกันตรงๆ เลยว่า ด้วยประสิทธิภาพของ CPU และ GPU แล้ว แนะนำให้เล่นที่กราฟิกระดับต่ำหรือกลาง จะได้เล่นได้ลื่นๆ หน่อยครับ เล่นกราฟิกความละเอียดสูงๆ นี่คือจะรู้สึกถึงอาการกระตุกได้เลยแหละ
พูดถึงการถ่ายภาพบ้าง ในแง่ของ User Interface กล้องนั้น OPPO F9 จะมีความคล้ายคลึงกับของ iOS ครับ เรื่องนึงที่ผมว่ามันไม่สะดวก ก็คงเป็นเรื่องของการตั้งค่า ซึ่งดูเหมือน OPPO จะอิงตามระบบปฏิบัติการ iOS มากไปหน่อย คือ ให้การตั้งค่ามันไปอยู่ในส่วนของ Settings > System apps แทนที่จะให้เข้าถึงจากแอปกล้องได้เลยเหมือนยี่ห้ออื่นๆ ที่สำคัญคือ การปรับตั้งค่าต่างๆ นี่ผมว่ายังน้อยกว่ายี่ห้ออื่นๆ อีกนะ
ภาพโดย OPPO F9
ภาพโดย OPPO F9
ภาพโดย OPPO F9 เปิด HDR
ภาพโดย OPPO F9 เปิด HDR
ภาพโดย OPPO F9
ในส่วนของคุณภาพของภาพถ่ายที่ได้นั้น คุณภาพที่ได้ผมว่าก็ตามที่ควรจะเป็นสำหรับสมาร์ทโฟนราคาระดับกลาง และเซ็นเซอร์ระดับ 16 ล้านพิกเซล เรียกว่าไม่ได้เลิศหรู แต่ก็ไม่ได้แย่อะไร ชัตเตอร์ก็เร็วดี พกไปถ่ายตอนเที่ยวก็สบายๆ ครับ แต่ที่ผมชอบคือ HDR ดูจะทำงานได้ดีพอสมควร เพียงแต่ภาพที่ได้ โทนของภาพจะออกมานุ่มนวลลงไปพอควรเลย
ภาพถ่ายด้วย OPPO F9 แบบปกติ
ภาพถ่ายด้วย OPPO F9 แบบเปิด Super vivid
ที่ผมชอบอีกอันนึงคือโหมด Super vivid ที่จะเร่งความอิ่มของสีของภาพถ่ายให้มากขึ้น ซึ่งเหมาะทั้งถ่ายภาพอาหาร หรือวิวทิวทัศน์ พวกต้นไม้ ท้องฟ้า มากทีเดียว
นอกจากนี้ กล้องหลังเองก็มี AI ช่วยในการปรับแต่งค่าต่างๆ ของกล้องได้ตามลักษณะของภาพที่จะถ่าย ซึ่งมันสามารถจดจำได้มากถึง 16 ซีนถ่ายภาพ ซึ่งมันควรจะทำงานโดยอัตโนมัติ แต่ว่าจากที่ผมทดสอบดู ผมพบว่าเครื่องที่ผมได้มารีวิวนั้น โหมด AI มันไม่ทำงานอะ ผมลองถ่ายหลายๆ ภาพ ทั้งวิว ทั้งอาหาร ไม่มี AI มาช่วยผมเลย ก็เลยไม่รู้ว่าจะรีวิวภาพถ่ายในโหมด AI ยังไงอ่ะนะ

สำหรับสาวๆ ที่ชอบเซลฟี่ โหมด AR Sticker น่าจะเป็นที่ถูกใจ เพราะสามารถตกแต่งภาพถ่ายเซลฟี่ (หรือถ่ายด้วยกล้องหลังก็ได้) ให้ดูมุ้งมิ้งน่ารักได้มากขึ้น และแน่นอนว่ากล้องหน้า 25 ล้านพิกเซล ที่ OPPO F9 จัดมาให้ ยิ่งถ่ายภาพได้สวยกว่ากล้องหลังอีกแน่นอน

นอกจากนี้ โหมดกล้องหน้าถ่ายเซลฟี่เนี่ย มันมี AI Beauty 2.1 ให้อีก ช่วยสแกนใบหน้า แล้วทำการปรับแต่งให้โดยอัตโนมัติ ฟรุ้งฟริ้งกิงก่องแก้วมาก ขอบอก แต่ถ้าหนุ่มๆ ถ่ายละก็ … ดูตัวอย่างจากภาพเซลฟี่ของผมเองก็แล้วกัน

ในฐานะกล้องคู่ ก็ต้องมีโหมดโบเก้ครับ ซึ่ง OPPO เรียกว่า Portrait mode เหมือนกับ Apple นั่นแหละ และมีโหมดปรับแสงแบบสตูดิโอเหมือนของระบบปฏิบัติการ iOS เลย เพียงแต่ว่าดูลูกเล่นจะน้อยกว่า และไม่ได้ใช้หลักการของกล้องเลนส์สองระยะโฟกัส เพียงแต่ว่าใช้เซ็นเซอร์ความละเอียด 2 ล้านพิกเซลมาบอกระยะลึกของภาพครับ การถ่ายภาพในโหมด Portrait นี้ เลือกความเบลอของภาพไม่ได้ และไม่สามารถกล้องมาตั้งค่าต่างๆ ได้ทีหลังด้วย
สำหรับแบตเตอรี่ความจุ 3,500mAh นี่ เท่าที่ลองใช้แบบทั่วๆ ไป เล่นโซเชียลมีเดียเป็นระยะๆ โทรศัพท์บ้าง ใช้นำทาง GPS บ้าง ปรากฏว่ามันตะลุยกับผมมาได้วันกว่าๆ เลยทีเดียว ยังเหลือราวๆ 17% แต่โหมดประหยัดพลังงานก็จะเริ่มเข้ามาตัดฟีเจอร์บางอย่างออกแล้ว เช่น Backgroud sync หรือแม้แต่การสั่นของตัวเครื่องเวลาพิมพ์ ไรงี้ แต่มันรองรับการชาร์จแบบเร็วด้วย VOOC ฉะนั้นแม้จะมีเวลาชาร์จแบตแค่ 5 นาที เขาก็บอกว่าคุยโทรศัพท์ต่อเนื่องได้นาน 2 ชั่วโมงแล้ว

เออ พูดถึงการนำทางด้วย GPS ผมต้องขอบ่นหน่อย เพราะ OPPO F9 นี่ แม้ว่าดูเหมือนจะจับสัญญาณดาวเทียมได้ไวดี แต่ดูจะขาดความแม่นยำไปหน่อยแฮะ เพราะเท่าที่ลองดู ในเส้นทางที่ผมเคยขับขี่และลองใช้ GPS บนสมาร์ทโฟยี่ห้ออื่นๆ นำทางมา ทั้งรุ่นระดับไฮเอนด์หรือระดับกลาง ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ OPPO F9 นี่มีสองสามครั้งที่พิกัดของรถผมมันคลาดเคลื่อนจนเล่นเอา Google Maps เข้าใจผิด แล้ว Re-route ผมใหม่ซะจนแบบ ถ้าเชื่อมันคงมีลงทางด่วนผิดกันบ้างล่ะ หรือเลี้ยวผิดกันบ้างล่ะ
บทสรุปการรีวิว OPPO F9
OPPO F9 ถือเป็นสมาร์ทโฟนราคาระดับกลางที่ไม่เลวทีเดียวครับ ราคาไม่แพงมาก สเปกได้มาดีประมาณนึง (แต่แอบเสียดายที่ใช้หน่วยประมวลผลเป็น MediaTek Helio P60 แทนที่จะเป็น Snapdragon 660AIE ซึ่งดีกว่าในแง่ของประสิทธิภาพทั้ง CPU และ GPU ในความเห็นผม แต่ OPPO F9 ก็ยังจัดเป็นสมาร์ทโฟนที่มีกล้องดิจิทัลที่ถ่ายรูปออกมาโอเค และมีกล้องหน้าที่ประทับใจสาวๆ ขาเซลฟี่อีกด้วยครับ นี่ยังไม่นับที่ดีไซน์ออกมาสีสวย มุ้งมิ้งมี สี Starry purple นี่คือสวยงามฝุดๆ
ถ้าจะให้หาข้อติเจ้า OPPO F9 ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องของ GPS ที่ความแม่นยำสู้ของยี่ห้ออื่นไม่ได้ (จากที่ผมทดสอบใช้งานจริง) นั่นแหละครับ