ข่าวคราวของการนำระบบ Social credit มาใช้อย่างเต็มรูปแบบในประเทศจีน ภายใน พ.ศ. 2563 หรืออีกสองปีข้างหน้านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการพูดถึงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 แล้ว และก็มีการนำระบบนี้มาเริ่มใช้ทีละนิดๆ แล้วด้วย โดยแรกเริ่มนี่เห็นเขาว่าการเข้าร่วมโครงการเป็นไปโดยสมัครใจก่อน แต่พอถึงปี พ.ศ. 2563 แล้วก็จะเป็นภาคบังคับแล้ว (พูดง่ายๆ ทุกคนต้องเข้าร่วมโครงการ)
โครงการนี้นับได้ว่าเป็นโครงการที่ใช้ Big data ครั้งใหญ่ (ลองนึกถึงจำนวนประชากรในประเทศจีน และจำนวน “พฤติกรรม” ที่เก็บข้อมูลไว้) ผสมผสานกับระบบ Big brother (หมายถึง กล้องวงจรปิดจำนวนมาก เห็นว่ามีเครือข่ายใหญ่ระดับ 200 ล้านกล้องเลยทีเดียว) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ซึ่งเอาไว้ในการตรวจจับและยืนยันตัวบุคคลจากอัตลักษณ์ต่างๆ (เช่น ใบหน้า หรือ รถยนต์ที่เป็นเจ้าของ อะไรแบบนี้)
แล้ว Social credit นี่เขาคิดคะแนนกันยังไง?
- ประวัติเครดิตของประชาชน เช่น จ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟตรงเวลาไหม
- ความสามารถในการบรรลุเป้าหมาย ซึ่งหมายถึงความสามารถในการทำตามข้อตกลงในสัญญา คงจะอารมณ์ว่าเบี้ยวบ่อยไหม อะไรแบบนี้ละมั้ง
- คุณลักษณะของบุคคล เช่น มีการยืนยันข้อมูลส่วนบุคคลหรือยัง ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน โทรศัพท์เบอร์อะไร อะไรแบบนี้
- พฤติกรรม และ ความชื่นชอบส่วนตัว นิสัยการช้อป สินค้าที่ซื้อ พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ถูกเอามาคิดเป็นคะแนนได้หมด เช่น ซื้อผ้าอ้อมเด็กเยอะๆ แสดงว่าเป็นพ่อแม่ที่ใส่ใจลูก เอาคะแนนบวกไป เล่นเกมออนไลน์นานๆ แสดงว่าไม่ตั้งใจเรียน ก็ลบคะแนนออก อะไรแบบนี้เป็นต้น
- เพื่อน หรือ เครือข่าย ทั้งตัวเลือกของเพื่อนที่เรามี หรือแม้แต่พวกข้อความหรือเนื้อหาที่โพสต์บนโซเชียลมีเดีย จะมีผลต่อคะแนนทั้งนั้น

แนวคิดของ Social credit นี่ ก็คือใครที่ทำดี มีพฤติกรรมที่รัฐบาลจีนพึงประสงค์ ก็จะได้คะแนนสูงๆ แล้วคะแนนสูงๆ นี้ก็จะให้ประโยชน์ต่างๆ กับคนที่มีคะแนนสูง เช่น
- ถ้าไปเข้าเว็บหาคู่ ก็มีโอกาสที่ชื่อจะถูกจับคู่มากกว่าคนอื่น
- ได้ส่วนลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำค่าไฟ
- เช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือ สังหาริมทรัพย์ โดยไม่ต้องวางมัดจำ
- กู้เงินก็ได้ดอกเบี้ยถูกกว่าปกติ
แต่ถ้าเกิดว่าคะแนนต่ำๆ ละก็ โอกาสหรือความสะดวกบางอย่างของประชาชนก็จะถูกริดรอนออกไปครับ เช่น
- ซื้อตั๋วเครื่องบินหรือรถไฟไม่ได้
- ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ใช้ลดลง
- ตัวเองหรือลูก อาจจะถูกแบนไม่ให้เข้าเรียนในโรงเรียนดีๆ
- โอกาสในการหางานตำแหน่งดีๆ ก็ยาก
- ไปพักในโรงแรมดีๆ ก็ไม่ได้
จะเห็นได้ว่าการใช้งาน Social credit ของประเทศจีนนี่ มันเข้าข่ายหลักการดัดพฤติกรรมในทางพฤติกรรมศาสตร์เลยนะครับ คือ เอาสิทธิประโยชน์ที่ได้จากคะแนนสูงๆ มาเป็นเสริมแรงทางบวก (Positive reinforcement) ในการทำให้คนอยากมีพฤติกรรมที่ประเทศจีนต้องการ และในขณะเดียวกัน หากคะแนนต่ำ ก็จะถูกเอาความสะดวกสบายบางอย่างออกไป เป็นการเสริมแรงทางลบ (Negative reinforcement) เพื่อให้คนงดการมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของรัฐบาลจีนครับ
ผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดจาก Social credit
จากข้อมูลของ The Guardian เขาว่าตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในประเทศจีนก็จะถูกดึงเข้ามาร่วมในระบบ Social credit นี่ โดยจะต้องมีเลข “Unified social credit code” 18 หลัก ซึ่งนั่นก็จะทำให้รัฐบาลจีนสามารถติดตามธุรกิจทั้งหมดได้ และก็จะมีการขยายผลไปยังองค์กรไม่หวังผลกำไร เอ็นจีโอ สมาพันธ์การค้า และองค์กรเพื่อสังคมต่างๆ ด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทที่เข้าร่วมระบบ Social credit แล้วได้คะแนนดี ก็จะเหมือนๆ กับประชาชนครับ คือ ได้เงื่อนไขการกู้เงินดีกว่า เข้าถึงระบบโน่นนี่ได้ดีกว่า ในขณะที่บริษัทที่คะแนนน้อยๆ ก็อาจจะต้องเผชิญกับเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจที่ยุ่งยาก เป็นต้น
ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน
แม้จะบทลงโทษของการมี Social credit ต่ำ จะไม่ได้ทำให้บุคคลต้องโดนจับ โดนขัง หรือโดนปรับ แต่การเอา “ความสะดวก” ออกไปจากชีวิตของคนที่มี Social credit ต่ำเนี่ย บางอย่างมันก็อาจจะมองได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิบุคคลไปนะ เช่น การห้ามซื้อตั๋วเครื่องบินยังงี้ การไม่ให้เรียนในโรงเรียนดีๆ ยังงี้
อันนี้ก็ยังเป็นประเด็นที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนก็ยังต้องจับตามองกันต่อไปครับ แล้วท่านผู้อ่านล่ะ มีความเห็นยังไงเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ? คอมเม้นต์แบ่งปันความเห็นกันหน่อยได้นะ