วันนี้ไม่รู้นึกยังไง คุ้ยๆ กล่องเก็บสมาร์ทโฟนเก่าๆ พวกรุ่นที่ทำใจทิ้งไม่ลง ก็หยิบ HTC EVO 3D ขึ้นมาครับ เจ้านี่ถือเป็นหนึ่งในตำนานกล้องคู่รุ่นแรกๆ ของสมาร์ทโฟนเลยครับ (รุ่นแรกจริงๆ คือ LG Optimus 3D แต่พอดีผมขายรุ่นนี่ไปแล้ว เก็บไว้แต่ HTC EVO 3D ตอนนั้นตัดสินใจแบบนี้เพราะ LG ใช้ชิปแปลกกว่าเพื่อนคือ TI OMAP4430) เลยคิดว่าจะเขียนบล็อกเล่าตำนานกล้องคู่บนสมาร์ทโฟนให้อ่านกันซักหน่อย
คือ ในยุคที่เดี๋ยวนี้กล้องคู่แทบจะเป็นมาตรฐานของสมาร์ทโฟนไปแล้ว หากเราย้อนกลับไป 7 ปีที่แล้ว มันคือ นวัตกรรมเลยนะครับ
กล้องคู่ในยุคแรก: 3D Camera
ตอนนั้นกล้องดิจิทัลด้านหลังของสมาร์ทโฟนนี่ ความละเอียดซัก 5 ล้านพิกเซลก็อย่างหรูแล้ว สมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ในยุคนั้น Samsung Galaxy SII นี่กล้องหลัง 8 ล้านพิกเซลเองครับ แต่ตอนนั้น ทั้ง LG และ HTC เขาไม่อยากไปเดินเกมแข่งจำนวนพิกเซลกับค่ายอื่น เลยไปทำกล้องคู่มา เพื่อใช้ถ่ายเป็นภาพสามมิติแทน

พูดง่ายๆ คือในขณะที่ค่ายอื่นเน้นไปที่จำนวนพิกเซลเยอะ ภาพความละเอียดสูง และสวย LG กับ HTC ก็เน้นไปที่ความละเอียดสูงพอสมควร แต่ได้ความสมจริงเพิ่มขึ้นด้วยภาพที่เป็นสามมิติ มีตื้นมีลึกจริงจัง
กล้องคู่ในยุคนั้น ไม่เหมือนยุคปัจจุบันครับ (เดี๋ยวค่อยเล่าว่ายุคปัจจุบันเป็นยังไง) เขาออกแบบให้เลนส์ทั้งสองอันอยู่ห่างกันในระยะที่เหมาะสม โดยจำลองว่าเป็นมุมมองจากดวงตาทั้งสองข้างของเรา

ในความเป็นจริงแล้ว เวลาที่มนุษย์เรามองอะไรก็ตาม ดวงตาข้างซ้ายและขวา จะเห็นภาพเดียวกันในมุมมองที่ต่างกันนิดนึงครับ ไม่เชื่อ ลองปิดตาซ้ายแล้วมองด้วยตาขวา จากนั้นลองปิดตาขวาแล้วมองด้วยตาซ้ายดู จะเห็นได้เลยว่ามุมมองที่เห็นมันไม่เหมือนกัน

ส่วนเวลาแสดงผลบนหน้าจอสมาร์ทโฟนนั้น เขาก็จะใช้เทคโนโลยี Parallax barrier ในการแสดงผล คือ เขาจะแบ่งหน้าจอแสดงผลเป็นเส้นๆ แล้วแต่ละเส้นจะแสดงผลภาพสำหรับดวงตาข้างซ้ายและข้างขวา
นี่บอกเลยนะ ภาพที่ถ่ายด้วย HTC EVO 3D ถ้าจัดองค์ประกอบภาพเหมาะๆ ให้ดึงความเป็น 3D ออกมาได้ดีๆ ภาพมันดูบนจอ HTC EVO 3D นี่ สมจริงสุดๆ
แต่แนวคิดนี้ไปไม่รอดครับ เพราะรูปที่ถ่ายมามันดูเป็นสามมิติยากมาก คนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ HTC EVO 3D หรือ LG Optimus 3D นี่ได้ดูเป็นแค่รูปปกติอ่ะ แถมจอแสดงผล 3D แบบ Parallax barrier นี่แม้จะมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องใส่แว่นดู แต่ข้อจำกัด(อย่างแรง)คือมันทำให้เมื่อยกล้ามเนื้อตามาก บางคนไม่เหมาะกับหน้าจอแบบนี้อย่างแรง แถมตอนใช้หน้าจอเป็น 3D ความละเอียดในการแสดงผลมันลดหายไป 50% อีกตะหาก (เพราะต้องเอามาแบ่งแสดงผลแยกตาซ้าย-ขวา)
กล้องคู่ยุคถัดๆ มา: ความพยายามทำให้สมาร์ทโฟนเหมือน DSLR หรือ Mirrorless

HTC ยังไม่เข็ด นี่บอกเลย ออก HTC One M8 มาในปี 2014 (แต่ช่วงนั้น HTC เริ่มแสดงให้เห็นแล้วว่าตัวเองขาลง) ตัวนี้มีกล้องหลังคู่ โดยตัวหลักเป็นกล้องสี ความละเอียด 4 ล้านพิกเซล มาพร้อมแนวคิด Ultrapixel ว่าไม่ต้องให้พิกเซลเยอะ แต่ขอพิกเซลใหญ่ จะได้รับแสงได้ดี ถ่ายในสภาพแสงน้อยได้ดี ส่วนกล้องตัวที่สองเป็นความละเอียด 2 ล้านพิกเซล ทำหน้าที่เป็น Depth sensor
แต่ด้วยความที่ภาพความละเอียดมันแค่ 4 ล้านพิกเซล หน่วยประมวลผลก็ประสิทธิภาพไม่สูง ซอฟต์แวร์ก็ยังไม่ได้ฉลาดมาก ไอ้โหมดโบเก้มันก็เลยเป็นได้แค่กิมมิกเฉยๆ ไป
แต่แนวคิดนี้ถัดมาได้รับการนำไปปรับใช้โดยยี่ห้ออื่นๆ เช่น Huawei, Honor, Vivo เพียงแต่มีความละเอียดของกล้องหลักมากขึ้น และตัว Depth sensor ก็มีความละเอียดมากขึ้นเช่นกัน หรือ มีเทคนิกปลีกย่อยเสริมเข้าไปอีก เช่น Huawei เลือก Depth sensor เป็นเซ็นเซอร์ขาว-ดำ เพราะสามารถให้ข้อมูลระยะลึกได้ดีกว่าเซ็นเซอร์สี เป็นต้น

ตอนที่ LG เริ่มทำกล้องคู่บ้างใน LG G5 (ภาพด้านบนเป็น LG G6 นะครับ เพราะผมไม่มี G5) เขาเลือกที่จะแหวกแนวด้วยการใส่เลนส์สองมุมแทน คือ เลนส์มุมปกติแบบที่สมาร์ทโฟนเขามีกัน กับเลนส์แบบ Ultrawide ที่ถ่ายได้กว้าง 120 องศา

เลนส์ Ultrawide เนี่ย มันไม่ช่วยในเรื่องการถ่ายโหมดโบเก้ แต่มันช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ในการถ่ายรูปด้วยสมาร์ทโฟน เพราะเก็บภาพได้กว้างขึ้นในระยะถ่ายเท่าเดิม หลายๆ ยี่ห้อ เช่น Moto หรือ ASUS ก็หันมาใช้แนวทางนี้ในกล้องคู่ของตนเอง

และในปีเดียวกันนั้นเอง Apple ก็โดดลงมาเล่นกล้องคู่กับเขาบ้าง โดยทำมาเป็นเลนส์สองระยะโฟกัส ตัวนึงเรียกเลนส์มุมกว้าง (แต่จริงๆ มันก็มุมปกตินั่นแหละ) อีกตัวคือเลนส์เทเลโฟโต้ ระยะเท่ากับซูม 2x จากเลนส์ปกติ แนวคิดของ Apple คือ เลนส์สองตัวนี้มาช่วยเรื่องการซูมภาพ ให้ได้ Optical zoom 2x นั่นเอง และยังช่วยในเรื่องการทำโหมดโบเก้ด้วย ซึ่งแนวทางนี้ อีกหลายค่ายก็เลือกทำตาม เช่น Samsung เป็นต้น

และในปี 2016 อีกเช่นกัน ที่ Lenovo ก็ปล่อย Phab 2 Pro สมาร์ทโฟนที่ร่วมในโปรเจ็กต์ Tango ของ Google ตัวนี้มีกล้องสามตัว (เกินกล้องคู่ไปแล้ว) เป็นกล้องหลัก, Depth sensor และ Motion sensor เพื่อเอาไว้รองรับเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) โดยเฉพาะ ซึ่งผมได้ไปเห็นตอนเขาประกาศความร่วมมือในงาน CES2016 ที่อเมริกามา และจากที่ผมได้คุยกับนักพัฒนาด้าน AR ในไทยที่ได้ลองเจ้านี่แล้ว บอกเลยว่ามันแจ่มมาก แต่น่าเสียดายที่มันเน้นเชิงพัฒนามาก เลยไปในตลาด Mass ไม่รอด (ฮา)
แต่แนวคิดกล้องสามตัวก็โผล่มาบนสมาร์ทโฟนเรือธงตัวล่าอย่าง Huwei P20 Pro ที่มีเลนส์สามตัว ตัวนึงคือเลนส์หลัก 40 ล้านพิกเซล อีกตัวเป็น Depth sensor 20 ล้านพิกเซล เอาไว้ใช้ในโหมดโบเก้ และสุดท้ายคือเลนส์ 8 ล้านพิกเซล แต่มีระยะโฟกัสอยู่ที่ Optical zoom 3x ของเลนส์หลักนั่นเอง

ส่วนอนาคตนั้น กล้องบนสมาร์ทโฟนจะไปได้อีกไกลแค่ไหน ก็น่าสนใจที่จะติดตามดูนะครับ เช่น Light ที่เป็นบริษัทที่ผลิตกล้องตัวเดียว 16 เลนส์เนี่ย เขาก็ซุ่มทำสมาร์ทโฟนที่มี 9 เลนส์อยู่ ตอนนี้ยังมีแค่ Prototype ก็ยังไม่รู้ว่าจะออกมาขายจริงได้เมื่อไหร่ แต่ราคาคงแรงพอควรล่ะ