ข่าวปลอม เป็นปัญหาระดับโลกครับ เจอกันหมดทั่วโลก ทั้งๆ ที่หลายๆ ข่าวนั้นมันดูแป๊บเดียวก็รู้แล้วว่าเป็นข่าวปลอม วิธีกำจัดข่าวปลอมนี่ยากมาก เพราะบนโลกโซเชียลมีเดียมันเผยแพร่ข้อมูลต่อกันได้รวดเร็ว และถ้าจะมองในแง่ของความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ก็เน้นไปที่ผู้กระทำผิดที่เป็น “ผู้นำเข้าข้อมูล” หรือ “ผู้เผยแพร่ข้อมูลทั้งที่รู้อยู่ว่าข้อมูลนั้นผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์” ซึ่งการจะตามหาผู้นำเข้าข้อมูลคนแรกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และตัวผู้ที่แชร์ๆ กันเนี่ย ส่วนใหญ่ก็ไม่ทันไหวตัวว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ นอกจากนี้ พวกข่าวปลอมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ด้วย เลยทำให้การดำเนินการทางกฎหมายค่อนข้างยากครับ
เมื่อเช้านี้บน Timeline ของ Twitte ของผม ผมเจอโพสต์นึงที่พูดถึงคลิปที่เป็นข่าวเครื่องบินลงจอดฉุกเฉิน หลังจากที่เครื่องโดนพายุจนหมุนติ้ว ที่เซินเจิ้น โดยเขาว่าต้นทางบอกว่าเป็นข่าววันที่ 12 ครับ
แม้ว่าผู้ที่ทวีตจะบอกว่า “ถ้าข่าวนี่จริง” ก็ตาม แต่เขาก็ได้ใส่แฮชแท็ก #ข่าวจริง #ข่าววันนี้ และติดแท็กสำนักข่าวอย่าง สปริงนิวส์ และ คมชัดลึก เอาไว้ด้วย
ทีนี้ได้เวลามาวิเคราะห์กันครับ ว่าดูได้ยังไงว่าคลิปนี้ของปลอม และทำไมถึงไม่ควรแชร์ หรือ โพสต์ถึงคลิปนี้ในแบบที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์คนนี้ได้ทำ
ดูยังไงว่าคลิปเป็นข่าวปลอม?
ขอบอกก่อนว่าเดี๋ยวนี้ข่าวปลอมทำได้เนียนขึ้นเยอะมาก เพราะมันมีการผสมผสานข้อมูลข่าวที่เป็นจริงเข้ามาร่วมด้วย ส่งผลให้มันดูน่าเชื่อถือขึ้น เพราะมักจะมีพวกโลโก้ หรือ แบรนด์ของสำนักข่าวใหญ่ๆ ติดมาด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะจับไต๋ไม่ได้เลยนะครับ แต่ต้องช่างสังเกต และรู้จักค้นคว้านิดนึง ซึ่งวิธีจับไต๋นั้นก็มี
สังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับคลิป
ยกตัวอย่างเรื่องข่าวปลอมเครื่องบินลงฉุกเฉินในคลิปด้านบนนะครับ จากต้นทางเขาบอกว่าเป็นข่าววันที่ 12 (ไม่บอกเดือน) แต่พอเราดูในคลิป จะเห็นว่ามันเขียนว่า 深圳宝安机场 เป็นภาษาจีน อ่านว่า เซินเจิ้นเป่าอันจีฉ่าง หรือ สนามบินเซินเจิ้นเป่าอัน นั่นเอง และมันเป็นคลิปเกี่ยวกับการร่อนลงจอดฉุกเฉินจริงๆ ด้วย ไอ้ความเป็นจริงที่ผสมมานี่แหละ ทำให้มันดูน่าเชื่อถือขึ้นอีกนิดครับ
แต่ถ้าสังเกตดีๆ เราจะเห็นว่าตรงแถบแดงๆ มันเป็นตัวบอกวันกับเดือนที่เกิดเรื่อง คือ 8月28日 หรือ วันที่ 28 สิงหาคม อ้าว! มันไม่ใช่วันที่ 12 ตามที่บอกไว้ตอนแรกนี่นา

อีกจุดนึง ซึ่งดูยากขึ้นอีกนิดหน่อย คือรายละเอียดของเครื่องบินครับ ดูตรงส่วนหางในช็อตที่เครื่องบินมันหมุนติ้วตอนแรก จะเห็นว่าหางมันมีลวดลายที่ไม่เหมือนกับหางของเครื่องบินในข่าวช่วงหลังครับ นี่ก็เป็นหลักฐานที่บอกว่ามันเป็นคลิปตัดต่อ

ถ้ามันน่าทึ่งหรือดราม่าขนาดนี้ ก็ลองค้นหาข่าวบน Google ดูสิ
ข่าวปลอมที่แชร์กันบนโซเชียลมีเดีย มักจะเป็นข่าวที่แบบดูแล้วน่าทึ่ง น่าสงสาร ดราม่า อะไรประมาณนี้ มันถึงได้กระตุ้นต่อมอยากแชร์ต่อ เพราะรู้สึกว่า “เรื่องนี้ต้องบอกต่อ” นั่นเอง แต่ถ้าเราฉุกคิดซักนิด เราควรจะค้น Google ดูหน่อยครับว่ามีข่าวเรื่องนี้ไหม
ก็ลองค้นดูเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษดูครับ ผลที่ผมได้เจอก็ประมาณนี้ครับ


ตอนค้นด้วยภาษาไทย Google ค้นเจอแค่ข่าวเดียวของ TNN24 ที่บอกว่ามีเครื่องบินลงจอดฉุกเฉินจากเครื่องยนต์มีปัญหาที่เซินเจิ้น เป็นข่าววันที่ 29 สิงหาคม ส่วนการค้นด้วยภาษาอังกฤษ มีหลายข่าวที่พูดถึงเรื่องนี้ เป็นข่าววันที่ 28 สิงหาคม ซึ่งพูดถึงเครื่องบินลงจอดฉุกเฉิน แต่เป็นเรื่องของล้อเครื่องบินเสียหาย ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับพายุเลย
ทำไมถึงไม่ควรแชร์ในแบบที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์คนนี้ทำ?
การแชร์ข่าวปลอมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เป็นอะไรที่ว่ากันไม่ได้ แต่ทำไมผมถึงบอกว่าไม่ควรแชร์ในแบบที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์คนนี้ทำล่ะ? เขาก็บอกว่า “ถ้านี่เป็นข่าวจริง” แล้วนี่นา … คำตอบของผมคือ
- การใช้แฮชแท็ก #ข่าวจริง มันอาจจะทำให้หลายๆ คน ไม่ทันสังเกตว่านี่คือข่าวปลอม
- การแท็กสำนักข่าวอื่นๆ ซึ่งอาจจะเข้าใจว่าสำนักข่าวนั้นๆ อาจจะไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะเผยแพร่ข่าวต่อไป แต่ในความเป็นจริง เราก็เห็นอยู่ว่ามีกรณีที่สำนักข่าวบางทีก็เอาคลิปที่เป็นข่าวปลอมไปเผยแพร่โดยไม่ได้เช็กข่าวให้ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ แล้วเคสที่เป็นที่โจษจันที่สุด ก็คือตอนที่สถานี KTVU News เผยแพร่ชื่อของนักบิน Asiana Airlines ที่ตก โดยไม่ได้ทันระวังตัวว่าเป็นข้อมูลที่มาจากเรื่องตลกเหยียดเชื้อชาติครับ
ถ้าอยากให้เด็กยุคใหม่มี Digital literacy ผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นตัวอย่างให้ดู
เราคุยกันมาตลอดครับว่าอยากให้เด็กยุคใหม่ที่โตมาในยุคดิจิทัลแบบนี้มี Digital literacy หรือ การรู้เท่าทันสื่อ แต่ถ้าเราที่เป็นผู้ใหญ่ไม่เป็นตัวอย่างให้ดูซะก่อน แล้วเราจะทำยังไงให้เด็กๆ เขารู้เท่าทันสื่อกันล่ะ ฉะนั้น ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่อย่างเราต้องระวัง เช็กก่อนแชร์ แล้วเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กได้ดู เพื่อเราจะได้สอนพวกเขาได้กันนะครับ