ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่บนโลกโซเชียลมีเดีย เมื่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง และสามารถจัดตั้งสมาคมกีฬาอีสปอร์ตได้ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ เขาประกาศกันตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วล่ะ แต่ในฝั่งของผู้ที่ทำงานด้านคุ้มครองเด็กและเยาวชน ยังคงไม่เห็นด้วยกับคำประกาศของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอยู่ และยังคงเดินหน้าที่จะคัดค้านต่อไป
ทั้งเหตุและผลของฝ่ายที่คัดค้านการเป็นกีฬาของอีสปอร์ต และฝ่ายที่สนับสนุนให้อีสปอร์ตเป็นกีฬาได้ ผมได้อ่านผ่านหูผ่านตามาพอสมควรแล้ว ทั้งบนเว็บบอร์ดต่างๆ ข่าวต่างๆ รวมถึงบนโลกโซเชียลมีเดีย โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกว่าข้อถกเถียงเหล่านี้คงไม่จบไม่สิ้นง่ายๆ แน่ๆ เพราะดูแต่ละฝ่ายจะขาดความเข้าใจถึงประเด็นของอีกฝ่ายอย่างจริงจัง
ผมเลยคิดว่า ในฐานะบล็อกเกอร์ และคนที่เคยเล่นเกมแบบติดงอมแงมมาก่อน ก็จะขออธิบายในประเด็นต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายพูดถึงกัน ในแบบที่เป็นกลาง เผื่อใครได้อ่านบทความนี้แล้ว จะได้เข้าใจถึงเหตุผลของทั้งสองฝ่าย และจะได้สามารถตัดสินใจได้อย่างเป็นกลางมากขึ้น
ประเด็นเรื่องเด็กติดเกม
เด็กติดเกม เป็นเหตุผลหลักอันนึงที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง เพื่อคัดค้านการให้อีสปอร์ตเป็นกีฬา แต่ก่อนอื่น ผมอยากให้เข้าใจคำว่า เด็กติดเกม ก่อนครับ ว่าเวลาพูดถึง “ติดเกม” มันไม่ใช่แค่ เล่นเป็นระยะเวลานานๆ หรือบ่อยๆ เท่านั้นนะครับ เพราะถ้าแค่นั้นเราจะเรียกได้ว่าเป็น “เด็กที่เล่นเกมบ่อยและใช้เวลาไปกับเกมมาก” มันต้องอีกพฤติกรรมนึงที่ต้องมีควบคู่ไปด้วยจึงจะเรียกได้ว่าติดเกม นั่นคือ
- หากเล่นอยู่แล้วถูกบอกว่าให้เลิกเล่น จะมีอาการขัดขืน ไม่ยอม ก้าวร้าว ดื้อ อะไรแบบนี้
- หากไม่ได้เล่น จะมีอาการหงุดหงิด อยากเล่น และอาจจะไประบายอารมณ์กับสิ่งของ หรือ คนรอบข้าง
จริงๆ ถ้าดูๆ ไปแล้ว มันก็คล้ายๆ กับอาการของคนติดยานั่นแหละครับ แบบเนี้ย ถึงจะเรียกว่าติดเกม คนที่เล่นเกมเยอะๆ นานๆ บ่อยๆ ทุกคน ไม่ใช่คนติดเกม และก็ไม่ได้มีแค่เด็กเท่านั้นที่จะติดเกม เพียงแต่เด็กมีแนวโน้มที่จะติดเกมมากกว่าผู้ใหญ่ก็เท่านั้น … และในกรณีที่ติดเกมนี้ ทางการแพทย์เรียกว่าเด็กป่วยเป็นโรคติดเกมครับ
ทีนี้มาดูสถานการณ์เด็กติดเกมในประเทศไทยบ้างว่าเป็นยังไง อ้างอิงจากการวิเคราะห์สถานการณ์ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กทม. พบว่า ปี พ.ศ.2560 มีเด็กป่วยเป็นโรคติดเกมรายใหม่มาเข้ารับการรักษา 129 ราย หรือเพิ่มจากปี พ.ศ.2559 ถึง 6 เท่าตัว นี่แสดง และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. ชี้ว่า พ.ศ. 2559 คาดกันว่ามีเด็กไทยเข้าข่ายติดเกม แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วยประมาณ 1.3 ล้านคน
ทีนี้เข้าใจหรือยังครับ ว่าทำไมฝั่งที่ทำงานด้านคุ้มครองเด็กเขาถึงเป็นกังวลเรื่องเด็กติดเกม
จากข้อมูลของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. ชี้ว่าสาเหตุของเด็กติดเกมนั้น ร้อยละ 72 เกิดจากการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมของครอบครัว เช่น ขาดวินัย ไม่มีข้อกำหนดการเล่นเกม และนี่ก็เป็นเหตุผลนึงที่ฝั่งที่สนับสนุนอีสปอร์ตเอามาค้าน โดยบอกว่า ผู้เล่นอีสปอร์ตนั้นจะมีวินัยต่อตนเองในการฝึกฝน รู้จักแบ่งเวลาเล่น และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง (เพราะสภาพร่างกายส่งผลโดยตรงต่อผลงานการเล่นเกม)
ตรงนี้แหละครับที่เป็นประเด็น เพราะการมีวินัยเป็นคุณลักษณะหนึ่งของตัวบุคคล แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีวินัย ไม่ใช่แค่เด็กนะครับ ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่มีวินัยเช่นกัน นอกจากนี้เราจะเห็นได้ว่าเกมในปัจจุบัน มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้คนมาเล่นกันเยอะๆ และติดพันกับเกมมากขึ้น โดยใช้เทคนิคทางจิตวิทยาต่างๆ เข้ามาสอดแทรกเพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกติดพัน ยิ่งทำให้เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่จะติดเกมได้สูงขึ้น การที่เรียกอีสปอร์ตว่าเป็นกีฬา (และสามารถเป็นอาชีพสร้างรายได้) ถูกใช้เป็นข้ออ้างของเด็กหลายคนต่อพ่อแม่ในการเล่นเกมไป
อย่าไปยกเอาตัวเองหรือใครก็ตามมาเป็นตัวอย่างเลยครับว่าเล่นเกมเยอะแล้วไม่ได้ติดเกม คนเรามันไม่เหมือนกัน ในขณะที่บางคนเล่นเกมเยอะมาก แต่ไม่ติดเกม สามารถแบ่งเวลาเล่น หรือเลิกเล่นได้ ก็ยังอีกหลายคนที่เล่นเยอะพอๆ กัน แต่ติดเกม ไม่สามารถแบ่งเวลาให้เหมาะสม หรือเลิกเล่นได้
จริงๆ แล้ว การติดเกมมันไม่ได้เกี่ยวกับว่าอีสปอร์ตเป็นกีฬาหรือไม่ แต่มันอยู่ที่มันจะมีวิธีใดที่จะทำให้เด็กที่เล่นเกมทุกคนมีวินัย รู้จักแบ่งเวลาในการเล่น ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำหน้าที่ในส่วนนี้ให้ดี และในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเกม หรือผู้ให้บริการเกมต่างๆ ก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างนะครับ เช่น
- การสนับสนุนการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองในการสร้างวินัยให้แก่เด็ก
- การวางนโยบายเพื่อจำกัดอายุของผู้เล่นหรือจำกัดเวลาการเล่นของผู้เล่น
- การไม่ทำโฆษณาที่มุ่งเป้าไปที่เด็ก
ฉะนั้น แทนที่จะมาถกเถียงกันเรื่องอีสปอร์ตเป็นกีฬาหรือไม่ ควรจะมาหารือกันดีกว่าว่าจะมีมาตรการใด ทั้งจากภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ และภาคเอกชนที่ทำธุรกิจเกม มาสร้างเสริมวินัยให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กที่เล่นเกมทั้งหมดได้รู้จักแบ่งเวลา ไม่กลายเป็นเด็กติดเกม
องค์ประกอบกีฬาทั้ง 3 ข้อ
เป็นประเด็นถกเถียงที่น่าสนใจอีกประเด็นนึง ที่ฝ่ายสนับสนุนอีสปอร์ตก็แย้งกลับได้ชัดเจนมาก (ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวของผม ผมก็เห็นด้วย) องค์ประกอบกีฬาทั้ง 3 ข้อนั้นมีดังนี้
- ต้องมีกฎกติกาที่ชัดเจน
- ต้องไม่ไปสู่ความรุนแรง
- ต้องมีคณะกรรมการมาดูแลหากเกิดการละเมิดข้อตกลง เช่น ผิดกติกาให้ออก หรืองดการแข่งขัน เป็นต้น
ซึ่งถ้าให้ผมยืนอยู่ฝ่ายสนับสนุนอีสปอร์ตเป็นกีฬา ผมก็คงต้องบอกว่าอีสปอร์ตนั้น
- มีกฎกติกาที่ชัดเจน ทั้งในส่วนของการแข่งขัน (เพราะถ้าไม่ชัดเจนละก็มีดราม่าแน่) และแม้แต่ในตัวเกมก็มีกฎกติกาของเกมชัดเจนเช่นกัน
- อันนี้เถียงยาก เพราะมีงานวิจัย และมีข่าวจำนวนไม่น้อยที่แสดงให้เห็นว่าเกมนำไปสู่ความรุนแรงได้ แต่กีฬาอื่นๆ เองก็ใช่ว่าจะไม่เคยนำไปสู่ความรุนแรง เช่น ฟุตบอลเองก็เคยมีทะเลาะวิวาท (จำได้ไหม เคสบอลไทยจะไปมวยโลกเนี่ย) แบดมินตันไทยก็เคยกลายเป็นมวยสดกันมาแล้ว กีฬาบางอย่าง เช่น มวยปล้ำ มวย เอง ก็เป็นกีฬาที่มีความรุนแรงอยู่ในตัวมันเอง
- ส่วนเรื่องการมีคณะกรรมการมาดูแลเนี่ย มันตั้งไม่ยากเลยนะ อีสปอร์ตก็ตั้งได้
ฉะนั้น ถ้าถามผม เรามาถกเถียงกันที่ประเด็นนี้ไปมันเปล่าประโยชน์ครับ ไปหยิบประเด็นอื่นมาอภิปรายกันดีกว่า
มีนักกีฬาอีสปอร์ตเพียงไม่กี่คนที่บรรลุไปถึงจุดสูงสุด
นี่เป็นอีกประเด็นที่มีการถกเถียงกัน และผมก็มองว่าหากเถียงกันเรื่องนี้มันก็ไม่มีทางจบหรอกครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นกีฬาอื่นๆ หรืออีสปอร์ต จุดสูงสุดมันก็มีได้ไม่กี่คนหรอกครับ ไม่อย่างนั้นมันจะเรียกว่าจุดสูงสุดเหรอครับ? ถ้าทุกคนเป็นที่หนึ่งในโลกเหมือนกันหมด ก็จะไม่มีใครโดดเด่น และไม่สามารถนำมาใช้เป็นโมเดลให้คนอื่นอยากทำตามได้หรอกครับ
สุดท้ายมันอยู่ที่กฎกติกาควบคุม
เอาเข้าจริงๆ แล้ว อีสปอร์ตก็เหมือนกับอินเทอร์เน็ต เหมือนกับโซเชียลมีเดีย มันคือเทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน มันมีความเป็นธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับที่นายแพทย์ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ที่ว่า
สังคมพ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงเด็กหลายคนไม่เข้าใจผลกระทบว่าจะไปสู่การเสพติดได้อย่างไร และธุรกิจนี้ก็มีจริยธรรมไม่ดีพอ ไม่ได้มองถึงผลกระทบใดๆ เลย มีแต่การโปรโมทให้ข้อมูลผิดๆ มากมาย โดยละเลยผลกระทบของ ‘เด็ก’ เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นที่ตั้ง และเราไม่มีกฎกติกาควบคุม
ผมไม่อยากให้เราต้องมาเถียงกันด้วยเรื่องแค่ว่า อีสปอร์ตเป็นกีฬาหรือไม่ เลยครับ ผมอยากให้เราเอาเวลาไปร่วมกันคิดดีกว่าว่าเราจะมีมาตรการอะไรมารับมือกับการมาของอีสปอร์ต จะทำยังไงให้เกิดกฎกติกาควบคุม เพื่อป้องกันปัญหาเด็กติดเกม เพื่อสร้างวินัยให้กับพวกเด็กๆ ที่อยากเล่นเกม อยากเป็นผู้เล่นอีสปอร์ต เช่น
- มาตรการในการควบคุมการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ หรือส่งเสริมการเล่นเกมหรืออีสปอร์ต โดยเฉพาะ การไม่ให้โฆษณามุ่งเป้าไปที่เด็ก
- การร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ทั้งตัวภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่คุ้มครองเด็ก ในการวางกฎเกณฑ์ร่วมกัน
- การส่งเสริมการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ (Digital literacy) และการเล่นเกมที่เหมาะสม การฝึกวินัย ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่สำหรับตัวเด็กๆ เท่านั้น แต่รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง และครู ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับตัวเด็กอีกด้วย