ก่อนหน้านี้มีโฆษณาบน Facebook ที่ขายพวกแฟลชไดร์ฟปลอม อ้างอิงยี่ห้อดังๆ แล้วก็บอกว่าเนี่ย ความจุ 1TB บ้าง 2TB บ้าง เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดไรงี้ ผมก็พยายามเตือนเสมอๆ ว่ามันปลอมนะ แต่ก็มีคนเชื่อกันอยู่เรื่อยๆ … วันนี้ผมจะมาทำให้ดูว่า การทำแฟลชไดร์ฟปลอมให้มีความจุเยอะกว่าที่เป็นจริงมันทำได้ง่ายแค่ไหน ถ้าซื้อมาใช้แล้วมีความเสี่ยงอะไรไหม แล้ววิธีการดูของปลอมนี่จะดูยังไง
ออกตัวล้อฟรีก่อน
วิธีการทำไม่ยากเลย ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีด้วยซ้ำในการทำ ขอแค่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Linux แต่ผมจะไม่มาสอนวิธีทำนะครับ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่เอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้นอกจากแกล้งเพื่อนหรือไปหลอกลวงชาวบ้าน แต่บล็อกตอนนี้จะมาบอกให้รู้ว่ามันปลอมกันจริงๆ และปลอมกันได้ไม่ยาก และเราจะดูยังไงว่ามันปลอม?
Flash drive 2TB ปลอม ทำได้ง่ายมาก
เพื่อจะมาเขียนบล็อกตอนนี้ ผมไปคุ้ยๆ กล่องเก็บของก็ไปเจอ Flash drive ของชำร่วยที่ได้มาจากงานของ Samsung อันนึงครับ ความจุ 4GB … ย้ำ แค่ 4GB เท่านั้นนะครับ … ก็ของแจกฟรีตามงาน แถมได้มาตั้งนานแล้ว ความจุย่อมไม่มากมายอะไร
จากรูปด้านบน จะเห็นว่าผมเอามาเสียบกะเครื่องคอมพิวเตอร์ที่รันระบบปฏิบัติการ Windows 10 แล้วก็เห็นว่า Flash drive นี้ความจุ 4GB นะครับ (เนื่องจากวิธีคำนวณ 1GB มันไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเลยเห็นมันเขียนว่า 3.76GB นะ อยากรู้ว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ อ่านบล็อก ทำไมฮาร์ดดิสก์ความจุไม่เต็มตามป้ายที่บอก)
ทีนี้เอาไปจิ้มกะเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็น Linux แล้วรันคำสั่งใน Shell นิดหน่อย เอากลับมาจิ้มอีกที กลายเป็น 2TB ไปแล้วจ้า (เลขมันขึ้นเป็น 1.86TB เพราะตอนผมไปปรับเลข ผมใส่ไป 2,000,000,000 กิโลไบต์เนาะ) เห็นแมะ โกงเลขกันง่ายจะตาย ฉะนั้น ใครที่ซื้อ Flash drive 1TB หรือ 2TB มาแล้วเห็นตัวเลขมันเป๊ะตามที่โฆษณา อย่าเพิ่งไปปักใจเชื่อนะครับ ของแบบนี้มันโกงกันได้ … คุณต้องคิดนะ SSD ความจุ 1TB ตอนนี้ยังหมื่นกว่าๆ แล้ว USB flash drive มันจะมาขาย 1TB หรือ 2TB แค่ไม่กี่ร้อยได้ยังไง แล้วคุณเชื่อเหรอ ไอ้เรื่องศุลกากรที่เขาแอบอ้างอ่ะ? (ผมไปดูมาโฆษณานึง อยากบอกว่าแค่รูปแบบของเว็บมันก็ไม่น่าเชื่อถือแล้วเหอะ ภาพหลายภาพก็ตัดต่อไม่เนียนฝุดๆ)
แล้วถ้าเจอของปลอม มันจะมีปัญหาตรงไหน?
อย่างในกรณี Flash drive ที่ผมปลอมตัวเลขด้านบน จะเห็นว่าความจุจริงๆ มันอยู่ที่ 4GB นะครับ แต่ระบบคอมพิวเตอร์มันมองเห็นเป็น 2TB ซึ่งหากมีการทดสอบก็อปปี้ไฟล์มาลง มันก็ก็อปได้ไม่มีปัญหาครับ ตราบเท่าที่ไฟล์มันไม่ได้ใหญ่เกินความจุจริงๆ แต่ปัญหามันจะเกิดขึ้นหากเราพยายามโยนไฟล์เข้าไปเยอะๆ จนมันเกินความจุ ซึ่งอาจได้ผลมาแบบใดแบบนึงในสองแบบนี้
- แบบไม่สร้างปัญหามาก คือ พอมันเต็มความจุจริงแล้ว ระบบก็ไม่ทำการก็อปปี้ข้อมูลไปใส่ต่อครับ มันก็หยุดไป หรือ Error
- แบบสร้างความชิบหาย คือ พอมันเต็มความจุจริงแล้ว มันจะก็อปไปทับไฟล์ที่มีอยู่วนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะก็อปครบ แต่นั่นหมายความว่าข้อมูลหายไปไม่มากก็น้อยเลย (เพราะโดนก็อปปี้ทับ)
แล้ววิธีการดูจะดูยังไง?
สำหรับวิธีการดูนั้น ผมเห็นเมืองนอกเขาสอนวิธีใช้โปรแกรมงี้ ใช้ดูด้วยระบบปฏิบัติการ Linux งี้ แต่เท่าที่ผมลองดูเอง ผมพบว่าวิธีการดูที่ง่ายที่สุดก็คือ ไปใช้โปรแกรม Disk Management ของระบบปฏิบัติการ Windows ครับ

จากรูปด้านบนจะเห็นว่าพอเข้ามาที่โปรแกรม Disk Management แล้ว แม้ว่าด้านบนที่แสดงรายชื่อของ Volume ต่างๆ จะแสดง Drive D: ของผม ซึ่งก็คือเจ้า Flash drive ที่ผมปลอมแปลงเลขความจุ (อันนี้แสดงเป็น 1.4TB แล้ว เพราะผมลองเปลี่ยนเลขอีกรอบ ให้ลดน้อยลงไปอีกนิด) แต่ด้านล่างที่มันแสดงข้อมูลจาก Physical disk และ Partition มันจะแสดง Drive D: เป็นความจุ 3.75GB หรือก็คือประมาณ 4GB ซึ่งเป็นความจุจริงครับ
แล้วถ้าเผลอซื้อ Flash drive ปลอมพวกนี้มาแล้วจะทำยังไง?
หลายๆ เว็บเขามีการสอนวิธีแก้ไขให้ตัวเลขมันกลับมาถูกต้อง แต่สำหรับผม ผมมองว่าหากไปซื้อของปลอมแบบนี้มา ผมว่าฮาร์ดแวร์มันไม่มีความน่าเชื่อถือนะ คุณจะอยากเสี่ยงเหรอ? ไปหาซื้อใหม่ เอายี่ห้อที่น่าเชื่อถือ ซื้อจากร้านที่น่าเชื่อถือดีกว่านะครับ … ไอ้ที่เห็นในโฆษณาอ่ะ มันตัดต่อกันไม่เป็น แต่ของปลอมที่ขายๆ กันอ่ะ บางทีมันอาจจะเนียนฝุดๆ เลยก็ได้นะครับ เดี๋ยวนี้การยิงเลเซอร์ทำลวดลายต่างๆ หรือเลขความจุบนวัสดุจำพวกพลาสติกหรือโลหะเนี่ยไม่ยากแล้ว เครื่องยิงเลเซอร์นี่มีขายกันถูกๆ เครื่องละไม่กี่พันบาทเองก็มีนะเออ (วันไหนมีตังค์ก็ว่าจะลองซื้อมายิงเล่นซักเครื่องอยู่)