การแข่งขันกันระหว่างแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์กำลังดุเดือด เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ขายของออนไลน์ได้ไม่ยากแล้ว จากเดิมที่ต้องทำเว็บ ทำระบบขายของ ไหนจะต้องติดต่อ Payment gateway อีก การมีร้านค้าเยอะๆ มองในแง่ดีก็เท่ากับมีลูกค้าเยอะขึ้นด้วย แต่ในทางกลับกัน เราก็ได้เห็นร้านค้าเอาของปลอมมาหลอกขายมากขึ้นด้วยเช่นกันครับ
ก่อนหน้านี้ที่เจอกันบ่อยมากก็คือโฆษณาบน Facebook ที่ขายพวกสินค้าปลอมครับ โดยมีการอ้างมากมายหลายแบบ เช่น ปิดโรงงานเลยขายแบบเลหลังงี้ สั่งเข้ามาแล้วมีปัญหาอะไรซักอย่าง แต่ส่งกลับประเทศก็ไม่คุ้ม เลยเอามาขายถูกๆ งี้ แล้วก็ไม่ใช่ว่าซื้อแล้วไม่ได้ของนะครับ ของน่ะได้มา แต่มันมาไม่ตรงปกครับ

แต่หลังๆ เนี่ย เราจะได้เห็นพวกสินค้าปลอมบนเว็บไซต์ขายของออนไลน์บ่อยมากขึ้นครับ เช่นเคย ส่วนใหญ่ก็จะอ้างอิงแบรนด์ดังๆ เอารูปของจริงมาให้ดู แต่ราคาจะถูกกว่าของจริงอย่างมากครับ เช่น ด้านล่างนี่ MicroSD card ของ Samsung รุ่น EVO Plus ความจุ 64GB ขายแค่ 199 บาท ราคายั่วใจคนมาก จริงไหมล่ะ แต่รู้ไหมว่าเจ้านี่ราคาจริงอ่ะ 799 บาทนะครับ (อ้างอิงราคาซื้อออนไลน์จาก PowerBuy วันที่ 10 กันยายน 2561)

ข้อเสียของแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์แบบที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ร้านค้ามาขายเนี่ย คือ มันไม่สามารถระบุ “ราคากลาง” ของสินค้าได้ ฉะนั้นร้านค้าก็จะมีสิทธิในการตั้ง “ราคาเต็ม” กับ “ราคาลด” ได้ตามใจชอบ ซึ่งปกติแล้วก็จะถูกนำไปใช้สร้างภาพว่าราคามันลดลงมาเยอะ ด้วยการตั้งราคาเต็มให้เวอร์เข้าไว้ แล้วก็ตั้งราคาลดที่แทบจะเป็นราคาปกติของสินค้า ซึ่งเคยมีเคสเวอร์ๆ แบบ ตั้งราคาทีวี 43 นิ้วไว้ 1.8 ล้าน แล้วลดราคา 99% ลงเหลือ 11,290 บาท อะไรแบบนี้ก็เคยมีมาแล้วบน Lazada

แต่หลังจากมันเป็นเคสที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากบนโซเชียลมีเดีย ก็ดูเหมือนการตั้งราคาเวอร์ๆ แบบนี้จะลดน้อยลงไป ไม่รู้ว่าเพราะเจ้าของแพลตฟอร์มเข้มงวดขึ้น หรือเพราะเขาเลิกทำกันเพราะไม่มีใครหลงกลแล้วก็ตามแต่ ที่เหลือตอนนี้ ก็มักจะเป็นการตั้งราคาเต็มเป็น “ราคาเปิดตัว” ซึ่งอาจจะไม่ใช่ราคาปกติในปัจจุบันแล้ว เวลาที่เอามาลดราคาแล้ว ก็เลยจะได้ดูลดเยอะๆ หน่อย เป็นต้น
แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาเยอะมาก ก็คือ การตั้งราคาเต็มเอาไว้ให้ต่ำกว่าราคาจริงของสินค้าของแท้ แล้วเอาของปลอมมาขาย โดยตั้งราคาลดไว้แค่ประมาณนึง อย่างเช่น Samsung EVO Plus ตัวเมื่อกี้ พอเอามาตั้งราคาเต็ม 499 บาท แล้วลดลงมาเหลือ 199 บาท มันก็ยังคงเป็นการลดราคาในแบบที่อ้างกันได้ว่าเป็นราคาโปรโมชันพิเศษ อะไรแบบนี้ แต่เอาเข้าจริงๆ คนซื้อไปนี่แบบว่า ใช้งานไม่ได้ เหมือนโดนหลอกอะไรแบบนี้เลยนะครับ พวกของปลอมพวกนี้ เขาใช้วิธีปลอมความจุของแฟลชไดร์ฟครับ ทำได้ไม่ยากเลย ผมเคยเขียนบล็อกให้อ่านแล้ว
แล้วถ้าถามว่า วิธีการดูว่าของปลอมให้ออก ทำยังไง? ขอตอบว่าวิธีง่ายที่สุดเลยคือ ดูว่ามีคนโดนหลอกไปก่อนหน้าไหม เพราะส่วนใหญ่เขาจะมาคอมเม้นต์สินค้าหรือร้านค้าเอาไว้ เพื่อไม่ให้มีเหยื่อรายอื่นครับ ยกตัวอย่างเช่น รูปด้านบน ที่เป็นคอมเม้นต์ของแฟลชไดร์ฟยี่ห้อ Kingston ปลอม ความจุ 64GB ที่จำหน่ายบนร้านหนึ่งบนเว็บ Lazada ครับ จะเห็นว่ามีคนโดนไปเยอะแล้ว และกลับมาด่าทุกรายครับ
อีกวิธีนึงคือดูจากราคาครับ ถ้ามันถูกเวอร์ให้คิดไว้ก่อนเลยว่าเป็นของปลอม … อย่าลืมนะครับ ขายของมันต้องมีกำไร แล้วร้านเล็กๆ มันไม่ได้มีทุนหนาแบบบริษัทใหญ่ๆ ที่จะจัดโปรโมชันลดราคาต่ำกว่าทุนเวอร์ๆ ได้ ส่วนเรื่อง ราคาเต็ม ที่ถูกตั้งไว้หลอกๆ ผมแนะนำให้กูเกิ้ลหาราคากลางจริงๆ ของสินค้าชิ้นนี้ ถ้าจะให้ดีที่สุด ก็ไปเทียบกับราคาของสินค้าชนิดเดียวกัน จากร้านที่น่าเชื่อถือ (เช่น ที่ผมไปเทียบราคาขาย MicroSD card Samsung EVO Plus จากเว็บ PowerBuy เป็นต้น)
แต่สุดท้าย มันคือเกมแมวไล่จับหนู
การหลอกลวง มันใช้มุกเดิมๆ ไม่ได้ตลอดไปหรอกนะครับ เพราะคนเขาจะจับไต๋ได้ ฉะนั้นพวกมิจฉาชีพก็จะคิดค้นวิธีใหม่ๆ ขึ้นมาหลอกเราได้เรื่อยๆ แหละ เพราะอย่างเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีการตัดต่อวิดีโอ เอาฟุตเทจของพวกคนดังทั้งบนทีวีหรือออนไลน์ ไปหลอกขายสินค้าก็มีมาแล้ว ดูได้จากข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ด้านล่างนี่ได้นะครับ