มีแฟนเพจที่เป็นมือใหม่หัดใช้ NAS อินบ็อกซ์มาถามผมว่า เขาซื้อ QNAP NAS มาแล้ว และจัด WD Red 8TB มาใส่ 3 ลูก ทำ RAID5 แล้วดันได้เนื้อที่มาแค่ราวๆ 14TB เท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่ซื้อฮาร์ดดิสก์มาตั้ง 24TB แน่ะ แล้วพอไปเช็กดูก็พบว่า เนื้อที่ฮาร์ดดิสก์มีแค่ 7.28TB ต่อลูกเอง ทำไมถึงเป็นแบบนั้น อัพเฟิร์มแวร์แล้วก็ไม่หาย
ก็อยากจะขอบอกทุกท่านที่สังเกตในเรื่องเดียวกันนี้ว่า มันไม่เกี่ยวกับเฟิร์มแวร์หรอกครับ และมันก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ฮาร์ดดิสก์ที่แปะป้ายว่า 8TB มันจะมีเนื้อที่จริงประมาณ 7.28TB
บล็อกตอนนี้จะมาไขข้อข้องใจให้ได้อ่านกันครับ จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และก็มีคนถามมาตลอดครับ มีคนมาตอบอยู่เรื่อยๆ เช่นกัน … ก็ดีเหมือนกัน เขียนย้ำอีกซักหนครับ เพราะจะว่าไป ถ้าลองคิดว่าซื้อฮาร์ดดิสก์มา 8TB ได้ความจุจริง 7.28TB เนี่ย มันหายไป 720GB เลยนะเออ ไม่ใช่น้อยๆ เลย

อ่ะ ให้ดูของผมก่อนเลย QNAP TS-453A ของผมใส่ WD Red 8TB ไว้ 3 ลูก และมี 6TB ไว้ 1 ลูก ซึ่งก็คือลูกแรกนี่แหละ (จริงๆ ผมไม่แนะนำให้ทำ RAID5 ด้วยฮาร์ดดิสก์ที่ไม่เท่ากันแบบนี้นะครับ เพราะว่า RAID5 มันจะคิดความจุจากความจุของฮาร์ดดิสก์ที่ต่ำที่สุดเป็นหลัก ฉะนั้นแม้จะใส่ 8TB ไป 3 ลูก และ 6TB 1 ลูก มันจะคิดที่ 6TB เป็นหลักครับ) ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ความจุของฮาร์ดดิสก์ที่รายงานบน Storage manager ก็บอกว่าอยู่ที่ 5.46TB ครับ แล้วมันหายไปไหน 0.54TB หรือ 540GB ละเนี่ย?
คำตอบมันอยู่ที่วิธีการคิดว่า 1TB เท่ากับเท่าไหร่
เราจะคุ้นชินกับวิธีคิดแบบ SI Unit ครับ นอกจากเขาจะกำหนดมาตรฐานหน่วยการวัดแล้ว มันยังมีเรื่องของคำว่า Prefix อีกด้วย ซึ่งเราจะคุ้นกันดีแบบนี้ครับ
1 กิโล = 1,000
1 เมกะ = 1,000 กิโล
1 กิกะ = 1,000 เมกะ
1 เทระ = 1,000 กิกะ
เราก็เลยคิดกันว่า 8TB (8 เทระไบต์) ก็จะเท่ากับ 8,000,000,000,000 ไบต์ นั่นเอง คิดแบบนี้มันก็ง่าย จริงปะ เพราะมันหารด้วย 1,000 ตลอดแนว แต่ว่าเวลามันเป็นคอมพิวเตอร์ มันไม่ใช่แบบนี้อ่ะครับ เพราะสำหรับคอมพิวเตอร์แล้ว มันคิดแตกต่างกันออกไปแบบนี้ครับ
1 ไบต์ = 8 บิต
1 กิโลไบต์ = 1,024 ไบต์
1 เมกะไบต์ = 1,024 กิโลไบต์
1 กิกะไบต์ = 1,024 เมกะไบต์
1 เทระไบต์ = 1,024 กิกะไบต์
ทีนี้เวลาที่พวกผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์เขาจะแปะความจุของฮาร์ดดิสก์ เขาก็จะมีสองทางเลือกคือ จะคิดตามแบบ SI Unit หรือตามแบบคอมพิวเตอร์ครับ ซึ่งแน่นอนว่าการหารด้วย 1,000 แบบ SI Unit นี่ให้ตัวเลขออกมาสูงกว่าคิดตามแบบคอมพิวเตอร์ เลยไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะคิดตามแบบ SI Unit มากกว่า จริงปะล่ะ
ฉะนั้น ฮาร์ดดิสก์ 8TB ก็จะมี 8,000,000,000,000 ไบต์ แล้วพอคิดแบบ SI Unit ก็จะได้ความจุ 8TB นั่นเอง แต่เวลาคอมพิวเตอร์เขาตรวจสอบความจุอ่ะ เขาคำนวณด้วยวิธีแบบคอมพิวเตอร์ครับ ฉะนั้นมันก็เลยออกมาแบบนี้
8,000,000,000,000 ไบต์ = 8,000,000,000,000 ÷ 1,024 = 7,812,500,000 กิโลไบต์
7,812,500,000 กิโลไบต์ = 7,812,500,000 ÷ 1,024 = 7,629,394.53125 เมกะไบต์
7,629,394.53125 เมกะไบต์ = 7,629,394.53125 ÷ 1,024 = 7,450.58059692382 กิกะไบต์
7,450.58059692382 กิกะไบต์ = 7,450.58059692382 ÷ 1,024 = 7.27595761418342 เทระไบต์
หรือปัดเศษแล้วก็เป็น 7.28TB นั่นเอง
และนี่คือคำตอบของคำถามที่แฟนเพจอินบ็อกมาถามว่า ทำไมฮาร์ดดิสก์ 8TB เลยมีความจุแค่ 7.28TB ครับ และหากใช้วิธีเดียวกันนี้ คำนวณฮาร์ดดิสก์ 6TB ของผม หรือ 6,000,000,000,000 ไบต์ ก็จะได้เท่ากับ (((6,000,000,000,000 ÷ 1,024) ÷ 1,024) ÷ 1,024) ÷ 1,024 = 5.45696821063756 เทระไบต์ หรือประมาณ 5.46TB นั่นเอง เป๊ะไหมล่ะ?
สรุปก็คือความจุไม่ได้หาย แค่วิธีคิดไม่ตรงกัน
ถ้าให้ฟันธง ก็ต้องบอกว่าวิธีคิดแบบที่คอมพิวเตอร์แสดงผลให้ดู คือวิธีคิดที่ถูกต้องที่สุดครับ แต่ผู้ผลิตสื่อบันทึกข้อมูล (ไม่ใช่แค่ WD หรอกนะ ยี่ห้อไหนๆ ก็เหมือนกัน) เขามักจะคิดแบบง่ายๆ ตาม SI Unit ด้วยการหาร 1,000 ความแตกต่างของตัวหารระหว่าง 1,000 กับ 1,024 เนี่ย มันทำให้เกิดความแตกต่างกันขึ้นมา ซึ่งความแตกต่างมันเริ่มเห็นชัดเจน และมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อความจุมันเยอะขึ้นครับ ลองไปสังเกตกับฮาร์ดดิสก์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่แฟลชไดรฟ์ดูสิครับ มันก็อาการเดียวกันนั่นแหละครับ