ในสมัยที่ประเทศไทยยังไม่รู้จักคำว่าบล็อก (Blog) … ไม่สิ ในโลกหล้าก็ยังไม่ค่อยมีคนเขียนบล็อกกัน ขณะที่ผมกำลังเรียนอยู่ปีสุดท้าย (โปรดอย่าถามว่าปีที่เท่าไหร่) ของมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2544 สมัยนั้นคนไทยเรานิยมเขียนไดอารี่ออนไลน์กันครับ สมัยนั้นที่เด่นๆ ก็มี thaidiarist.com, storythai.com กับ diaryhub.com (ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันแล้ว) แต่ด้วยความที่ผมดันไปมีเรื่องกับ diaryhub เลยทำให้ตัดสินใจออกมาเช่าโฮสต์ทำเว็บเองครับ
เริ่มเขียนตั้งแต่ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า CMS
แต่อย่าเพิ่งคิดว่าผมจะติดตั้งระบบ CMS (Content Management System) หรืออะไรแบบนั้นนะครับ ยุคนั้นโฮสต์ที่มีฐานข้อมูลมันไม่ได้เช่ากันได้ถูกๆ นะเออ แล้วไอ้พวก CMS ยอดนิยมสำหรับคนทำบล็อก อย่าง WordPress อะไรนี่ มันยังไม่มีเลยนะครับ (WordPress มันเริ่มพัฒนาตอน พ.ศ. 2546 ครับ) ตอนนั้นสิ่งที่ผมใช้เป็น Web application ที่พัฒนาด้วยภาษา Perl ชื่อว่า Greymatter ครับ

หลักการทำงานของ Greymatter ตอนนั้นเจ๋งมากครับ มันสร้าง Text-based database ขึ้นมาโดยไม่ต้องง้อฐานข้อมูลแบบ SQL แบบในปัจจุบันเลยนะ ยอมรับจริงๆ ว่าคนเขียนเทพมาก เวลาเขียนไดอารี่เสร็จ 1 ตอน มันจะสร้างเป็น HTML ขึ้นมา 1 ไฟล์เลย แล้วลองคิดสิว่าเขาต้องทำระบบ Text editor แล้วก็ทำระบบ Search ด้วย … อย่างไรก็ดี ตอนนั้นการเขียนไดอารี่ออนไลน์ด้วย Greymatter นี่ไม่ได้ง่ายนะครับ เพราะมันไม่มี Rich text editor แบบใน CMS ยุคปัจจุบัน
ทนไม่ไหว เลยเขียน CMS ใช้เอง แล้วทำไดอารี่หนักกบาลซะเลย
ต่อมา พ.ศ. 2546 ตอนนั้นผมยังไม่รู้จัก WordPress ครับ แต่ผมเริ่มไม่สะดวกในการเขียนไดอารี่ออนไลน์ด้วย Greymatter แล้ว ประจวบกับเริ่มหัดเขียน PHP พอดี เลยบ้าพลัง เขียน Diary Management System ขึ้นมาใช้เองซะเลย แล้วปีเดียวก็พัฒนาไปถึงเวอร์ชัน 2.1.0 ครับ เจ้านี่มีการใช้ Rich text editor มีระบบผู้ใช้งาน สามารถทำเป็นเว็บผู้ให้บริการไดอารี่ออนไลน์ได้ด้วย มีระบบธีมอีกตะหาก ผมทำคู่มือสร้างธีมแล้วก็วิธีการติดตั้งด้วยตนเอง จากนั้นก็แจกฟรีให้คนอื่นใช้ด้วย แบบว่า ใครอยากมีไดอารี่ออนไลน์เป็นของตัวเอง ก็ติดตั้งได้สบายๆ ไม่ต้องไปง้อใคร (ง้อเงินในกระเป๋าตัวเองพอ) ตอนนั้นจำได้ว่ามีหลายเว็บที่เอาโปรแกรมนี้ไปใช้เปิดบริการไดอารี่ออนไลน์ให้คนอื่นอยู่หลายเว็บ … แต่ตอนหลังก็ล้มหายตายจากไป เพราะไอ้คนพัฒนา (ผมเอง) ไม่ได้พัฒนาต่อยอด (ฮา)

ถึงจะเรียกว่าเป็นไดอารี่ออนไลน์ก็เหอะ แต่ไดอารี่ของผมมันเป็นไดอารี่หนักกบาลครับ ผมตั้งชื่อมันว่า ไดอารี่หนักกบาลของไอ้บอล เพราะตอนนั้นเนื้อหามันโคตรหนักกบาลจริงๆ เนื่องจากมีความตั้งใจที่จะเผยแพร่ความรู้ที่มีมากมายบนอินเทอร์เน็ต แต่มันดันเป็นภาษาอังกฤษ ผมก็เลยแปลเนื้อหาจากเว็บไซต์ต่างๆ (เว็บโปรดคือ HowStuffWorks) มาให้ได้อ่านกัน ตลอดเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2545 – 2548) ผมเขียนไดอารี่ออนไลน์เฉลี่ยวันละตอน (บางวันเขียน 2-3 ตอน) ผมมีบทความเกิน 1,000 ตอนเลยในช่วงนั้น
การทำอาหารแบบ Freeze dry ก็มีคนตัดเอาเนื้อหาของบล็อกของผมไปโพสต์ในเว็บบอร์ด
คำถามบน Pantip.com ว่ากล้องมองในที่มืดทำงานยังไง
ก็มีคนเอาไดอารี่หนักกบาลของผมไปอ้างอิงเป็นคำตอบให้คนอื่น
รายงานคู่มือการใช้งานและความปลอดภัยของแสงเลเซอร์ในโครงการวิทยาการรหัสลับเชิงควอนตัม มีการอ้างอิงถึงไดอารี่ของผมด้วย
ไดอารี่ของผมหนักกบาลแค่ไหน … ก็มีหลายคนเอาไปใช้เพื่อตอบคำถาม เอาไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ (จริงๆ คุณไม่ควรทำแบบนั้นนะคร้าบ) กันด้วยครับ
ในยุคผม ตอนนั้น Blognone เขาชื่อว่า “บล็อกนั้น” ไม่ใช่ “บล็อกนัน”
รู้จัก blognone.com ไหมครับ? เดี๋ยวนี้ใครๆ เรียกเว็บนี้ว่า บล็อกนัน ชื่อบริษัทที่ดูแลเว็บนี้ก็คือ บริษัท บล็อกนัน จำกัด เช่นกัน แต่จริงๆ แล้ว ในยุค พ.ศ. 2548 เขาเรียกตัวเองว่า บล็อกนั้น ครับ ดูได้จากชื่อรางวัลประกวดบล็อกครับ

ตอนนั้นก็มีคนเสนอชื่อไดอารี่หนักกบาลของผมไปเข้าประกวดรางวัลด้วยเช่นกัน แต่ผมไม่ได้ชนะกับเขาหรอกนะ (ฮา) ส่วนทำไม blognone ถึงได้ชื่อว่า บล็อกนั้น มาร์กเขาเคยเขียนอธิบายเอาไว้ครับ ไปอ่านกันเอาเอง
รูปอวตาร (Avatar) หนุ่มแว่นผมชี้ … ผมไม่ได้วาดเองนะครับ
ช่วงแรกๆ ที่เป็นบล็อกเกอร์ คนที่เห็นผม กับรูปอวตารที่ผมใช้ มันเหมือนกับตัวผมมาก เลยถามผมประจำว่าผมวาดเอาหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ใช่ครับ

อวตารอันนี้ ผมได้มาจากตอนพยายามหาอวตารสำหรับใช้กับ MSN Messenger (ใช่ครับ ยุคนั้นยังไม่มี LINE และ MSN Messenger ยังครองเมืองอยู่ … แต่ตอนนี้โดนผนวกไปรวมเป็น Skype แล้ว) ผมมาสะดุดกับลายเส้นการ์ตูนของรูปอวตารอันนี้ แล้วก็เลยสืบไปจนรู้ว่าเว็บไหนเป็นเว็บที่ใช้สร้างอวตารนี้ครับ ซึ่งก็คือ Planet Creation’s Avatar Creator ครับ (ตอนนี้เว็บกลายเป็น meontee.com ไปแล้ว และตัวโปรแกรมสร้างอวตารก็ใช้ Flash ที่เบราวเซอร์ปิดการใช้งานกันไปแล้วด้วยเช่นกัน) นี่ถ้าเผลอลบรูปอวตารทิ้งทั้งหมด สงสับคงต้องเปลี่ยนอวตารกันไปเลย … แต่ก็อย่างที่เห็น ผมใช้อวตารนี้มาสิบกว่าปีแล้วครับ
ชื่อ กาฝาก นั้นมีที่มายังไง?
คือช่วงสมัยที่เขียนไดอารี่ออนไลน์ในยุคแรกๆ ผมเขียนไดอารี่ออนไลน์ของตัวเอง แล้วก็เอาเวลาว่างไปอ่านไดอารี่ออนไลน์ของคนอื่นๆ แล้วก็ไปคอมเม้นต์พวกเขาครับ ผมตื่นเช้าก็เลยไปอ่านแต่เช้า สมัยนั้นเขาเรียกเจิมเป็นคอมเม้นต์แรก แล้วผมเจิมแบบ ยาวมาก คอมเม้นต์ผมบางทียาวกว่าไดอารี่ที่เขาเขียนอีก ผมก็เลยโดนเรียกว่าไอ้กาฝาก เป็นกาฝากไดอารี่
จากนั้นมา ผมก็เลยเรียกไดอารี่ออนไลน์ของตัวเองว่าเป็น เดอะกาฝากไดอารี่ แล้วก็ใช้ชื่อนี้เรื่อยมาจนถึงตอนเล่นโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter หรือ Facebook และใช้เป็นนามปากกาตอนเขียนหนังสือหรือเขียนบล็อกด้วยฮะ